ตอนที่ 2 ต่อ...จากเมื่อวาน


แนวข้อสอบ อบต นักพัฒนาชุมชน3

กระบวนทรรศน์ (paradigm) เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างไร

กระบวนทัศน์ : นิยามความหมาย
ใน The Structure of Scientific Revolutions (ค.ศ. 1962) โทมัส เอส. คูหน์ (Thomas S. Kuhn) ซึ่งเป็นผู้ที่เริ่มต้นแนวคิดเรื่อง กระบวนทัศน์ (paradigm) นิยาม คำว่า กระบวนทัศน์ (paradigm) ในเชิงวิทยาศาสตร์ ไว้ว่า หมายถึง "กรอบแนวคิด (conceptual framework) หรือ โลกทัศน์ (worldview) ที่แตกต่างหลากหลายกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนทางวิทยาศาสตร์ (scientific community)"

คำว่า paradigm มี รากศัพท์ มาจากภาษากรีก จากคำว่า para (beside) และ deigma (example) และในความหมายดั้งเดิม หมายถึง แบบจำลอง (model) แบบแผน (pattern) หรือ ตัวอย่าง (example) ที่เป็นที่ยอมรับ อันมีนัยยะ ว่า เป็นตัวอย่าง สำหรับการทำซ้ำ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคูห์น กระบวนทัศน์ ในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีนัยยะเพียงแค่การทำซ้ำ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องมีการเชื่อมโยง (articulation) และ ระบุอย่างเฉพาะเจาะจง (specification) ต่อไปได้ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น (คำว่า paradigm แปลเป็นภาษาไทย ว่า "กระบวนทัศน์" โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2536 และ คำว่า "paradigm shift" แปลเป็นภาษาไทย ว่า การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ โดย ประสาน ต่างใจ)

ฟริตจอฟ คาปร้า (Fritjof Capra) นิยาม คำว่า กระบวนทัศน์เชิงสังคม (social paradigm) ใน The Concept of Paradigm and Paradigm Shift (1986) ในเวลาต่อมา ว่า หมายถึง "มโนทัศน์ (concepts) ค่านิยม (value) การรับรู้ (perceptions) และ การปฏิบัติ (practices) ที่ชุมชน (community) หนึ่งมีหรือกระทำร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ (vision) แห่งความเป็นจริง ที่เป็นพื้นฐานของการจัดระบบตนเองของชุมชนนั้น" (Capra, 1986 : 3) ดังนั้น สำหรับ คาปร้า กระบวนทัศน์ จึงมีนัยยะของ ทัศนะแม่บท ที่เป็นรากฐานของทัศนะอื่น ๆ ต่อมา

ประสาน ต่างใจ นิยาม กระบวนทัศน์ (paradigm ใน บุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ (พ.ศ. 2545) ) ว่า หมายถึง กระบวนทางความคิด ทางการรับรู้ ทางวิธีคิด และ การสะท้อนความคิด ให้เป็นความหมายหรือให้มีคุณค่าของมนุษยชาติ สำหรับดำรงอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ ประสาน ต่างใจ พัฒนานิยามดังกล่าว จาก นิยามของ วิลลิส ฮาร์แมน (Willis Harman) (ค.ศ. 1976) ที่ว่า "กระบวนทัศน์ คือ แนวทางพื้นฐานว่าด้วยความคิด การรับรู้ คุณค่า และการปฏิบัติที่สัมพันธ์เป็นการเฉพาะกับวิสัยทัศน์แห่งความจริง"

ใน มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ (พ.ศ. 2545) ประเวศ วะสี อธิบายเรื่อง กระบวนทัศน์ ด้วยแนวคิดเชิง พุทธปรัชญา เรื่อง ทิฏฐิ ว่า กระบวนทัศน์ หรือ ทัศนะ หรือ ทิฏฐิ นั้น จะนำไปสู่การปฏิบัติ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิจะนำไปสู่ สัมมาปฏิบัติ และมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ มิจฉาปฏิบัติ

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ อธิบายไว้ใน มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ ใน ปี พ.ศ. 2545 ว่า กระบวนทัศน์นั้น หมายถึง "ทัศนะแม่บท หรือ รากฐานของ วิธีคิดทั้งหมด เป็นทัศนะพื้นฐานหรือรากฐาน ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิธีคิดต่าง ๆ และ กำหนดวิธีคิดของมนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ กัน"

ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง พุทธกระบวนทัศน์เชิงนิเวศวิทยาแนวลึก (พ.ศ. 2542) โกศล ช่อผกา นิยามคำว่า กระบวนทัศน์ ว่า หมายถึง "แบบแผนการคิดหรือทัศนะพื้นฐานในการมองโลกและชีวิต ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความจริงหรือสารัตถะของสรรพสิ่ง และ/หรือ ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นมิติด้านอภิปรัชญา รวมทั้งมิติด้านญาณวิทยา ที่ว่าด้วยวิถีทางหรือวิธีการรู้ความจริงหรือสารัตถะ ตลอดจนธรรมชาติหรือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง โดยแบบแผนการคิดหรือทัศนะดังกล่าว เป็นตัวกำหนดระบบคุณค่า และ แบบแผนของระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และ ธรรมชาติของประชาคมหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง"

โดยสรุปแล้ว จะสังเคราะห์นิยามความหมายของ กระบวนทัศน์ (paradigm) ได้ว่า หมายถึง

"กระบวนทางความคิด ทางการรับรู้ ทางวิธีคิด และการสะท้อนความคิดให้เป็นความหมายหรือให้มีคุณค่าของมนุษยชาติ ในชุมชนหนึ่ง สำหรับดำรงอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่ง"

ที่มา : แนวคิดทางปรัชญา-สังคม-วิทยาศาสตร์

 ทีทรรศน์เกี่ยวกับเรื่องกระบวนทรรศน์
ชลลดา ทองทวี
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9773.html

เดี๋ยวมาเพิ่มเติมอีกนะ......

 

หมายเลขบันทึก: 388254เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท