การถ่ายทอดตัวชี้วัดลงสู่ระดับบุคคล


วางระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน

            การทำงานของข้าราชการในยุค ปี 2553 มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานอย่างที่เรียกว่าพลิกแผ่นดินก็ว่าได้  สืบเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการไทย เมื่อปี พ.ศ.2545  ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางหลักในการพัฒนาระบบราชการไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน และเห็นชอบให้นำการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้การพัฒนาระบบราชการมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดในมิติด้านการพัฒนาองค์กรของส่วนราชการ

            จากการที่ข้าพเจ้านำเสนอให้หน่วยงานสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี เป็นหน่วยงานนำร่องในการถ่ายทอด (Cascading) ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายจากส่วนราชการลงสู่ระดับบุคคล ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ของจังหวัดอุทัยธานี  ทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะทำได้หรือไม่” เพราะแนวทางการดำเนินงานถ่ายทอดตัวชี้วัดลงสู่ระดับบุคคลที่สำนักงาน ก.พ.ร.กำหนดมีความซับซ้อนและยังไม่ชัดเจนนัก  ประกอบกับส่วนราชการยังคงยึดติดอยู่กับการทำงานในระบบเดิม ๆ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง  ฉะนั้นการจะสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงาน จึงเป็นปัญหาที่ต้องนำมาขบคิดเพื่อหาทางออก

            เมื่อคิดเช่นนั้น ตนเองจึงมองว่าการจะสร้างความเข้าใจกับคนอื่น  เราต้องเข้าใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้งว่าทำให้เกิดประโยชน์อย่างไรทั้งต่อองค์กร และบุคลากรก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งลงมือปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างได้ จึงทำการศึกษาการดำเนินการถ่ายทอดตัวชี้วัดลงสู่ระดับบุคคลอย่างจริงจัง  ทำให้เข้าใจว่าการดำเนินงานดังกล่าว
เป็นการวางระบบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันเวลา โดยเริ่มจากการกำหนดสิ่งที่องค์กรต้องการให้เป็นก็คือ วิสัยทัศน์  จากนั้นการทำงานก็จะเข้าสู่ระบบคือมีการกำหนดพันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์  เป้าประสงค์ของแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หรือวิธีการที่จะทำให้บรรลุ เป้าประสงค์นั้นๆ ได้โดยใช้การระดมความคิด และการระดมสมองจากผู้บริหารทุกระดับและบุคลากรในหน่วยงานเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและยอมรับ ซึ่งจะทำให้บุคลากรสามารถกำหนดตัวชี้วัดตอบสนองเป้าหมายขององค์กร ทำให้บรรลุผล  และสามารถเชื่อมโยงกับระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลงาน เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ตาม พรก.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ส่งผลให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติงานนำพาองค์กรมุ่งสู่ความเป็นเลิศตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยได้อย่างไม่ยากเย็น

            การดำเนินงานดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ บุคลากรในหน่วยงานทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ ติดตาม กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด นำ”กระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม”ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานพัฒนาชุมชนมาปรับใช้ให้สมกับเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ข้อเขียนโดยคุณจิณณพัต  สาครบุตร   สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี

หมายเลขบันทึก: 387533เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท