ความยั่งยืนของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต


“คุณธรรมนำใจ ใช้เงินเป็นเครื่องมือ”

                         การทำงานในบทบาทของพัฒนากร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  งานหรือกิจกรรมที่พัฒนากรส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน  ดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า งานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นงานหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชนที่โดดเด่นด้วยหลักการ พึ่งพาตนเอง และหลักการมีส่านร่วมโดยแท้จริง

                         จากประสบการณ์ในการทำงานในบทบาทของพัฒนากร  มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ในระยะเริ่มแรกเป็นการสร้างงานให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน  ด้วยหลักการพัฒนาชุมชน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตถือเป็นงานหนึ่งที่ผู้บริหารในระยะเวลานั้นให้ความสำคัญ จึงทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นมากมาย
แต่ปัญหาก็ตามมา มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มเลิกกิจการ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การคดโกง การยักยอก จนมีคำพูดที่ว่า ตั้งกลุ่มเป็นงานง่าย  แต่ทำให้กลุ่มมีความยั่งยืนเป็นงานยาก  จึงทำให้เกิดคำถามอยู่ในใจพัฒนากรว่า ทำอย่างไร ถึงจะทำให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมีความยั่งยืน เราจึงมีความจำเป็นต้องหันกลับไปมองข้างหลังถึงภูมิหลังของกลุ่มออมทรัพย์ฯ นั้นๆ ว่ามีการก่อเกิดมาอย่างไร มีขั้นตอนการดำเนินการจัดตั้งเป็นไปตามหลักการของกรมการพัฒนาชุมชนหรือไม่  เราพบว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตหลายกลุ่มมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนส่งเสริม ในการจัดตั้ง เช่น กลุ่มสัจจะเงินล้าน  กลุ่มสัจจะออมทรัพย์สามัคคีธรรม ฯลฯ

                          เมื่อเรานึกถึงบทบาท ภารกิจ  ของพัฒนากรแล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามีบทบาทในการส่งเสริม  สนับสนุน  สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชน ไม่ว่ากลุ่มออมทรัพย์ฯ กลุ่ม นั้น ๆ จะก่อเกิดมาจากที่ไหน ที่สำคัญคือเมื่อเราสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนแล้ว ประชาชนมีความเข้าใจ ในหลักการสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน คุณธรรมนำใจ  ใช้เงินเป็นเครื่องมือ

                          การทำงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จแบบยั่งยืน มีความจำเป็นต้องสร้าง กระบวนการเรียนรู้  ให้กับสมาชิกและคณะกรรมการกลุ่ม ให้เข้าใจและต้องปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่อย่างแท้จริง  เจ้าหน้าที่ (พัฒนากร)  ให้คำแนะนำที่ถูกต้องตามแนวทางและหลักการของกรมการพัฒนาชุมชน ออกเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ  ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจึงเข้าไป   ยึดหลักการมีส่วนร่วม สิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คือ การฝึกสมาชิกให้มีคุณธรรม 5 ประการ (ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน  และความไว้วางใจกัน)  ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตก็ยุติเมื่อนั้น

ข้อเขียนโดยคุณปรีชา  จันทร์อยู่    สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

หมายเลขบันทึก: 387530เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท