นปส.55 (24): ร้อยคนหนึ่งใจ


การบริหารทรัพยากรมนุษย์แนวใหม่มองคนเป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย การทำให้คนในองค์กรมีสมรรถนะ (Competency) มีความมุ่งมั่น (Commitment) และทุ่มเท (Engagement) เป็นเรื่องสำคัญมากและต้องทำให้เห็นคุณค่าคนอื่นๆ สามารถทำงานเป็นทีมได้ จะมีคนกี่คนในองค์กรก็ตามต้องมีใจเดียว "ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว" หรือ "ร้อยคนหนึ่งใจ"

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 9 ของการฝึกอบรม ผมขับรถกลับจากตากไปที่วิทยาลัยมหาดไทยคนเดียว แต่ก็มีเพื่อนจากเสียงเพลงสลับกับเสียงภาพยนตร์ที่ใช้ฝึกภาษาอังกฤษ นึกถึงการพัฒนาระบบราชการไทยที่นำเอาแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่มาร่วมกับกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและแนวคิดของหลักธรรมาภิบาล (Good governance) ที่ผมได้สรุปเป็นสูตรให้จำง่ายๆคือ REPEAT ที่แปลว่า ทำซ้ำ นั่นคือเรื่องดีๆอย่างหลักธรรมาภิบาลต้องทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ มาจากคำว่า

Rule of Law หลักนิติธรรม ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมาย

         Ethics/Integrity หลักคุณธรรมจริยธรรม

         Participation หลักการมีส่วนร่วม

         Economy หลักความคุ้มค่า ทำงานมีประสิทธิภาพ (ใช้ทรัพยากรน้อย) มีประสิทธิผล (บรรลุตามเป้าหมาย) และต้นทุนต่ำ

         Accountability หลักความรับผิดรับชอบหรือความรับผิดชอบต่อสังคม (ถ้าเป็นการรับผิดชอบต่อหน้าที่เรียกว่า Responsibility แต่ถ้ารับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปจึงเรียกว่า Accountability)

         Transparency หลักความโปร่งใส

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2553 เรียนรายวิชารัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประเทศ โดย รศ. ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้านการเมืองการปกครองที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมายนั้นมาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ

1. ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าอะไรคือรัฐธรรมนูญ อะไรคือประชาธิปไตย

2. กลไกการถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย (บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ) ทำงานได้ไม่ดี เกิดสภาพผัวเมีย

3. การบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น การชุมนุมทำได้ แต่การชุมนุมที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผิดกฎหมายก็ต้องมีมาตรการสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล

รัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยเป็นคนละเรื่องกัน การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีรัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองจึงไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติที่กำหนดให้การปกครองเป็นแบบใด เมื่อเข้าใจคลาดเคลื่อนก็เลยฉีกรัฐธรรมนูญด้วยรัฐประหาร เมื่อมีรัฐประหารอำนาจอธิปไตยไปอยู่ในมือของคณะผู้ทำรัฐประหาร การทำรัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่มีในโลก กลไกของประชาธิปไตยมี 2 กลไกคือกลไกรัฐธรรมนูญ กับกลไกภาคประชาชน การทำรัฐประหารจึงกระทบต่อกลไกรัฐธรรมนูญเท่านั้น

รัฐธรรมนูญจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ต้องเขียนรัฐธรรมนูญในเชิงปฏิบัติการ ต้องให้ครอบคลุมสิ่งที่จะดำเนินการจริง จะไปเขียนเชิงทฤษฎีไม่ได้และไม่เขียนลงรายละเอียดมากเกินไป เช่นของสหรัฐอเมริกา ใช้มากว่า 200 ปี ยังไม่เคยมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงทั้งฉบับเลย มีแค่การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติบางบทโดยการแนบท้าย ซึ่งมีแค่ 27 แนบท้าย (Amendment) จากการแก้ไข 15 ครั้ง

บ่าย พบอาจารย์ที่ปรึกษาการศึกษาอิสระครั้งที่สาม ผมได้นำเสนอกรอบแนวคิดการศึกษา พร้อมรายละเอียดของแบบสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง อาจารย์จรัญญาได้ช่วยชี้แนะให้ปรับเพิ่มเพื่อความสมบูรณ์มากขึ้น และให้รีบดำเนินการเก็บข้อมูลเพราะเกรงว่าจะเก็บข้อมูลไม่ทัน

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2553 รายวิชา การบริหารบุคคลภาครัฐแนวใหม่ โดย อาจารย์ฉัตรมงคล แน่นหนา แนวความคิดบริหารองค์การเดิมเน้นปัจจัยสี่คือคน เงิน พัสดุและกระบวนการ แต่สมัยใหม่เน้นที่ความรู้ความสามารถทักษะของคนซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ยาก แกนหลักการบริหารบุคคลภาครัฐแนวใหม่จึงมุ่งเน้นที่ 4 หลักสำคัญคือ หลักสมรรถนะ (Competency) หลักผลงาน (Performance) หลักคุณธรรม (Merit) และหลักคุณภาพชีวิต (Work Life quality)

การบริหารบุคคลภาครัฐเชิงกลยุทธ์จะต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร การพัฒนาสิ่งจูงใจและการกำหนดทิศทางการบริหารงานบุคคลที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจองค์การ เครื่องมือในการปรับบทบาทไปสู่การบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ส่วนราชการคือHR Scorecard กำหนดกรอบมาตรฐานความสำเร็จ 5 ด้านคือความสอดคล้องเชิงยุทธศาสตร์ ประสิทธิผลของHRM ประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตและความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานและความพร้อมรับผิดด้านHRM

การบริหารผลการปฏิบัติงานของข้าราชการแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนคือการวางแผนบริหารผลปฏิบัติงาน การติดตามการปฏิบัติงาน การประเมินผลการปฏิบัติงานและการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน อาจารย์ฉัตรมงคลให้ข้อคิดไว้ว่า “เมื่อเรายึดหลักผลงาน (Performance) เราต้องไม่ยึดติดกระบวนการ (Process)”

การบริหารผลการปฏิบัติงาน ต้องพิจารณาองค์ประกอบของผลงานที่ดีในองค์กร 4 ปัจจัยคือคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมของบุคลากรในงาน คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมประจำตำแหน่งงาน รูปแบบวิธีการบริหารของผู้นำ และบรรยากาศการทำงานในองค์กร นำมาพิจารณาวัดทั้งผลงานระดับบุคคลและผลงานขององค์กร โดยวัดทั้งเป้าประสงค์เชิงปริมาณซึ่งมุ่งเน้นผลระยะสั้นและเป้าประสงค์เชิงคุณภาพ (พฤติกรรม) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและผลในระยะยาว

สมรรถนะ (Competency) คือคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่ทำให้บุคคลากรในองค์กรปฏิบัติงานได้ผลงานโดดเด่นกว่าคนอื่นๆโดยแสดงคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่มากกว่าเพื่อนร่วมงานอื่นๆในสถานการณ์หลากหลายกว่าและได้ผลงานดีกว่าคนอื่น

ศักยภาพ (Potential) คือ ความสามารถ ความเก่งแอบแฝงของบุคคลที่คาดว่ายังมีอยู่แต่ยังไมได้ถูกนำมาใช้ในการทำงานจริงๆ การวัดศักยภาพจะเป็นการวัดความสามารถทางความคิดและการกระทำของบุคคลซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาต่อไปของบุคคล สามารถวัดศักยภาพได้ 7 ด้านคือด้านภาษา ด้านตัวเลข ด้านเหตุผล ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านความจำ ด้านการเรียนรู้และด้านความคล่องแคล่วในการใช้คำ

สมรรถนะหลักของข้าราชการไทย ถูกกำหนดไว้ 5 ประการคือการมุ่งผลสัมฤทธิ์ การบริการที่ดี การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ จริยธรรมและความร่วมแรงร่วมใจหรือการทำงานเป็นทีม

ช่วงบ่ายเรียนรายวิชา การเมืองภาคประชาชน โดย รศ. ดร. ปฐม มณีโรจน์ โดยการเมืองภาคประชาชนคือการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะโดยตรงโดยไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมืองหรือหน่วยงานราชการ การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำว่า “การเมืองไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” องค์ประกอบของการเมืองภาคประชาชนประกอบด้วย

1. เป็นการรวมกลุ่มกันของประชาชนที่เป็นทางการมากกว่าการรวมกลุ่มกันชั่วคราว มีโครงสร้างชัดเจนและมีแบบแผนปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่ม

2. สมาชิกที่อยู่ภายในกลุ่มนั้นต้องมีความรู้สึกเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจมากกว่าที่จะถูกบังคับหรือถูกผลักดันโดยองค์กรของรัฐเข้าไปจัดตั้งเกิด

3. เป้าหมายของสมาชิกกลุ่มจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ที่อยู่ในขอบข่ายของการกระทำการใดๆทั้งในทางบวกและทางลบต่อภาครัฐแต่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในภาคปฏิบัติสามารถทำได้ 3 แนวทางคือการริเริ่มกฎหมาย การลงประชามติ และการถอดถอน ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน มี 4 ทิศทาง ได้แก่

1. การเคลื่อนไหวร้องทุกข์หรือเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาที่ไมได้รับการเหลียวแล

2. การเคลื่อนไหวที่มุ่งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

3. การประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชน

4. การร่วมมือเชิงวิพากษ์กับรัฐหรือความผูกพันในทางสร้างสรรค์เพื่อเบียดแบ่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสังคม

หลังเลิกเรียนพี่แดงชวนไปลองเล่นกอล์ฟเนื่องจากพี่ๆหลายคนก็เพิ่งเริ่มหัดเล่นกันมีโปรอ๋อ ช่วยสอนให้ที่สนามซ้อมใกล้ๆวิทยาลัย ผมก็ลองไปหัดดูและก็รู้ว่าเล่นยากเหมือนกัน

ผมนึกถึงเรื่องการบริหารบุคคลภาครัฐแนวใหม่ ที่เน้นมองคนเป็นสินทรัพย์ การจะทำให้คนนำศักยภาพออกมาใช้ให้เกิดสมรรถนะเพื่อสร้างผลงานที่ดีได้ก็ต้องได้ใจเขาด้วย นั่นคือคนของเราต้องเก่ง มุ่งมั่น ทุ่มเท ให้องค์กร การประเมินผลงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนแบบใหม่ช่วงเมษายนที่ผ่านมากำหนดให้ใช้การพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน 70% และการประเมินสมรรถนะ 30% ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเพราะการประเมินสมรรถนะน่าจะใช้เพื่อการพัฒนาคนเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ประเมินความดีความชอบเพราะจะทำให้ประเมินยากและลำเอียงได้ง่าย

ในการประเมินผลงานนั้น ผมก็ได้เสนอให้มีการประเมินผลงานทั้งในส่วนของหน่วยงาน กลุ่มงานและเฉพาะบุคคลเพื่อจะได้ส่งเสริมให้มีการทำงานเป็นทีมและร่วมรับผิดชอบผลงานในภาพรวมของหน่วยงาน กลุ่มงานด้วย ไม่ใช่มุ่งเอาแต่เฉพาะงานส่วนตนอย่างเดียว ในการบริหารสมรรถนะควรมีการกำหนดตัวแบบสมรรถนะขององค์กรให้ชัดเจนว่าจะเป็นแบบไหน

อาจเป็นแบบสองคือสมรรถนะหลัก (Core competency) กับสมรรถนะตามงาน (Functional competency) หรืออาจเป็นแบบสามซึ่งผมเคยใช้ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตากคือสมรรถนะหลัก สมรรถนะตามบทบาท (Role competency) แยกผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติและสมรรถนะตามหน้าที่การงาน (Functional competency)

การบริหารผลการปฏิบัติงานกับการบริหารสมรรถนะเกื้อหนุนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ต่างกัน การบริหารสมรรถนะใช้พัฒนาคน ส่วนการบริหารผลการปฏิบัติงานใช้ให้รางวัลคน จึงไม่ควรใช้ร่วมกัน การบริหารสมรรถนะและบริหารผลการปฏิบัติงานไม่ใช่แค่การประเมินเท่านั้น ต้องเริ่มจากการกำหนดแนวทางต่างๆให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย

เมื่อประเมินสมรรถนะเสร็จจะได้ส่วนขาดเพื่อการพัฒนาของแต่ละบุคคล การพัฒนาคนให้ได้บรรลุตามที่ต้องการจะต้องทำให้เกิด KUSAVIA คือรู้อะไร (Knowledge) รู้อย่างไร (Understanding) ทำอย่างไร (Skill) อยากทำไหม (Attitude) เห็นคุณค่าไหม (Value) เกิดแรงกระตุ้นให้ทำไหม (Inspiration) แล้วปฏิบัติหรือไม่ (Action)

ก่อนนอนผมนึกถึงสมัยอยู่บ้านตากได้แต่งกลอนรวมใจให้ชาวโรงพยาบาลบ้านตาก “บ้านตากรวมใจ รู้รักสามัคคี ร้อยคนหนึ่งใจ”มีใจความว่า

บ้านตาก เมืองคนดี ที่เราอยู่

รวมใจ สู่ ร่วมกัน ร่วมฟันฝ่า

รู้รักกัน ร่วมต้าน อุปสรรคมา

สามัคคี ทั่วหน้า มาช่วยกัน

          ร้อยชีวิต ผองเรา ชาวบ้านตาก

          คนหมู่มาก ร่วมจิต ร่วมคิดฝัน

          หนึ่งเป้าหมาย สุขภาพดี ถ้วนหน้ากัน

          ใจเรานั้น ทำดี ที่พัฒนา”

ก็เลยใช้เวลาเขียนกลอนรวมใจให้ชาวโรงพยาบาลสามเงาด้วย อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของกันและกัน ทุ่มเททำงานในลักษณะ “ร้อยคนหนึ่งใจ” กว่าจะเขียนออกมาได้ก็ต้องคลุกคลีรับรู้ข้อมูลต่างๆของโรงพยาบาลเป็นปี ดังนี้

"สมเด็จย่า วีรสตรี ศรีกษัตริย์

ทรงเปิดฉัตร ศรัทธา ค่าไพศาล

โรงพยาบาล เป็นดุจมิตร จิตบริการ

สามเงา ผ่าน ขจัดทุกข์ จิตผูกพัน

          ร้อยชีวิต ผองเรา รวมใจสู้

          คนเราอยู่ เคียงใจ ไม่แปรผัน

          หนึ่งสมอง สองเท้า ก้าวด้วยกัน

          ใจเรานั้น แนบชิด สนิทใจ

คนสามเงา สู้ไม่ท้อ ขอตั้งมั่น

ร่วมสืบสาน ปณิธาน อันยิ่งใหญ่

เทิดคุณท่าน บริการ ด้วยหัวใจ

เพื่อคนไทย สุขภาพดี ที่นิรันดร์"

หมายเลขบันทึก: 387287เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท