รายงานผลการนิเทศการศึกษาแบบคลินิค เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์


ศน.ภาณุพงศ์ แสงดี ศึกษานิเทศก์ สพท. ขอนแก่น เขต 4

ในระหว่างฝึกประสบการณ์การนิเทศผมได้มีโอกาส 
เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านเพี้ยฟานโนนสวรรค์
ซึ่งเป็นโรงเรียนดีประจำตำบลของ สพท.ขอนแก่น เขต 4 และเป็นโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายที่ผมรับผิดชอบ การไปเยี่ยมครูในครั้งนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และได้ทราบสภาพการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของโรงเรียนว่าปัจจุบันมีครูที่ทำหน้าที่สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพียง 1 คน  และเป็นครูที่พึ่งจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ ซึ่งเดิมเคยทำงานด้านการสอนที่เป็นการสอนเด็กโต  คือสอนในวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น จบการศึกษาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป  มีความชำนาญและแม่นในเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์   แต่การสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งด้านวัยวุฒิและวุฒิภาวะของเด็กนักเรียนกับการสอนที่ครูเคยสอนในวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น ทำให้ครูมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ครูขาดความมั่นใจในการสอนนักเรียน ผมจึงคิดที่จะช่วยครูแก้ปัญหาโดยทำการนิเทศแบบคลินิก  ผมเริ่มทำงานโดยได้อธิบายรูปแบบของการนิเทศแบบคลินิกให้ครูรับทราบว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร   มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างไร และมีประโยชน์ต่อตัวครูอย่างไร เพื่อให้ครูผู้สอนได้ตระหนักถึงการปรับปรุงพฤติกรรมในการจัดการเรียนการสอนซึ่งก็ได้ตอบรับการรับการนิเทศคลินิกในครั้งนี้  หลังจากที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับการนิเทศแบบคลินิกแล้ว  ก็ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์   ซึ่งครูผู้สอนมีความหนักใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จึงร่วมกันทำแผนภูมิก้างปลา (ทาชิกาวา) 

         จากการวิเคราะห์แผนภูมิก้างปลา (ทาชิกาวา)  พบว่าสาเหตุของปัญหาที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือตัวครูผู้สอน ถึงร้อยละ 50 ปัญหาคือ กิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ  ขาดความรู้ความชำนาญ ไม่มีเวลาในการเตรียมการสอน  และทำการสอนในหลายวิชา  จึงตกลงเลือกปัญหากิจกรรมการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ เพื่อแก้ไขปัญหาและทำการนิเทศคลินิกในครั้งนี้

          เมื่อได้แนวทางแก้ไขปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว  จึงพิจารณาเครื่องมือที่จะใช้ในการสังเกตการสอนร่วมกัน ได้คัดเลือกแบบสังเกตการสอนในชั้นเรียนและแบบบันทึกกิจกรรมการเรียน การสอน โดยใช้แบบสังเกตการสอนในชั้นเรียนและแบบบันทึกกิจกรรมการเรียน การสอนของหน่วยศึกษานิเทศน์  สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ  (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  ,  กระทรวงศึกษาธิการ , 2542 )  จากนั้นผมจึงได้นัดครูในการสังเกตการณ์สอนในวันที่ 2  สิงหาคม  2553   เมื่อถึงวันที่ผมนัดครูไว้ผมได้ ทำการสังเกตการสอน ในคาบที่ 3  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โดยใช้เครื่องมือแบบสังเกตการสอนในชั้นเรียนและแบบบันทึกการสังเกตการสอนที่ได้ตกลงร่วมกันไว้   ซึ่งจากการสังเกตโดยภาพรวมครูผู้สอนดำเนินการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่เตรียมไว้  มีปฏิสัมพันธิ์กับนักเรียนดี แต่ยังควบคุมชั้นเรียนไม่ได้เท่าที่ควรยังมีนักเรียนบางส่วนที่ไม่สนใจในบทเรียนที่ครูสอน มีการคุยและหยอกกันบ้าง  การตอบคำถามนักเรียนยังพูดเสียงเบา  ผมจึงได้ชี้แนะแนวทาง  โดยให้แฟ้มข้อมูลตัวอย่างของบทเรียนสำเร็จรูป  เพื่อครูผู้สอนจะได้ทำเพิ่มเติมให้เพียงพอ  และผมได้ถ่ายเอกสารหน้าที่มีรูปภาพซึ่งไม่สามารถโรเนียวได้  ให้กับครูผู้สอนไว้เพื่อเตรียมเข้าเล่ม   แล้วนัดครูว่าจะกลับมาสังเกตการณ์สอนอีกครั้งในวันที่  6  สิงหาคม  2553  ผมได้ทำการสังเกตการสอนอีกครั้ง ในคาบที่ 2               โดยใช้เครื่องมือแบบสังเกตการสอนในชั้นเรียนและแบบบันทึกการสังเกตการสอนที่ได้ตกลงร่วมกันไว้   พบว่า ครูผู้สอนจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปเพิ่มเติมไม่ทันเวลา  เนื่องจากมีภาระงานมากและระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป  จึงได้ให้นักเรียนศึกษาเป็นกลุ่มร่วมกันเหมือนเดิม  การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น  และได้นัดประชุมให้ข้อมูลป้อนกลับในวันที่  9  สิงหาคม  2553   จากการสังเกตการสอน 2 ครั้ง  ผมได้วิเคราะห์ผลจากแบบบันทึกการสังเกตการสอน พบว่า  ผู้สอนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครั้งที่ 1  อยู่ในระดับ  ดี   คะแนนเฉลี่ย 4.19  ครั้งที่ 2 อยู่ในระดับ ดีมาก  คะแนนเฉลี่ย 4.57  จากการสังเกตพฤติกรรมการสอนครูผู้สอนมีพัฒนาการในการสอนที่ดีขึ้น  ซึ่งในครั้งแรกได้เริ่มให้นักเรียนใช้บทเรียนสำเร็จรูปโดยไม่ได้นำเข้าสู่บทเรียน  และยังไม่ได้ศึกษาแผนการสอนให้ละเอียด  ต่อมาในครั้งที่ 2   ครูผู้สอนได้ศึกษาบทเรียนสำเร็จรูปจนเข้าใจและมีการเตรียมพร้อมในการสอนและค้นพบวิธีในการตกลงร่วมกับเด็กในการเรียน  โดยการบอกเป้าหมายในการเรียนให้นักเรียนเข้าใจและชี้แนะทางเลือกให้นักเรียนได้ปฏิบัติ  ซึ่งนักเรียนก็มีความเข้าใจและสามารถศึกษาบทเรียนสำเร็จรูปด้วยตนเองอย่างซื่อสัตย์ได้  จากการแก้ไขปัญหาขาดสื่ออุปกรณ์ในการเรียนการสอน  โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปดังกล่าวทำให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น   ฉะนั้นบทเรียนสำเร็จรูป  จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้   และเชื่อมั่นว่าครูผู้สอนจะสามารถสร้างบทเรียนสำเร็จรูปได้ด้วยตนเองในเนื้อหาอื่น ๆ  ที่จะต้องทำการสอนต่อไปได้  ผมได้แจ้งข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการสอนแก่ครูผู้สอน โดยการนำแบบแบบสังเกตการสอนในชั้นเรียน  และแบบสังเกตกิจกรรมการเรียนการสอน มาให้ครูผู้สอนได้ดูผลของการสังเกต ครูผู้สอนมีความพึงพอใจในพัฒนาการของตนเอง

     ผมและครูผู้สอนจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ร่วมกัน  โดยมีความเห็นว่า บทเรียนสำเร็จรูป สามารถนำมาใช้จัดการเรียนการสอนกับนักเรียนได้ผลดี  ซึ่งครูผู้สอนยอมรับว่านักเรียนมีความสนใจในการศึกษาบทเรียนสำเร็จรูป  และได้บอกว่าได้นำบทเรียนสำเร็จรูปนี้ไปใช้กับห้องเรียนอื่น ๆ   นักเรียนมีความพึงพอใจและสามารถศึกษาด้วยตนเองได้  ทำให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจมากขึ้น โดยร่วมกันพิจารณาพฤติกรรมของผู้สอนที่ต้องเปลี่ยนแปลงดังนี้

     -  เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสอน

     -  อ่านเอกสารที่จะต้องสอนให้เข้าใจก่อน

     -  มีการนำเข้าสู่บทเรียนก่อนที่จะให้นักเรียนเริ่มศึกษาบทเรียนสำเร็จรูป

     -  จัดสร้างบทเรียนสำเร็จรูปให้เพียงพอแก่จำนวนนักเรียน

      นอกจากได้วางแผนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการสอนร่วมกันแล้วยังได้สรุปแนวทางในการปรับปรุงการสอนครั้งต่อไป  โดยครูผู้สอนคิดที่จะสร้างบทเรียนสำเร็จรูปขึ้นด้วยตนเองในเนื้อหาต่อ ๆ ไป  เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนและตัวครูผู้สอนเอง  ทำให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น ซึ่งลักษณะของบทเรียนสำเร็จรูปจะมีลักษณะที่  แบ่งเนื้อหาออกเป็นเนื้อหาย่อย ๆ  ทำให้เข้าใจได้ง่าย  และนักเรียนก็มีความสุขในการเรียน  ผมจึงได้มอบเอกสารคู่มือการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปไว้ให้ครูผู้สอนได้ศึกษาและฝึกสร้างบทเรียนด้วยตนเอง 

      ผมได้ทบทวนเหตุการณ์ในการนิเทศที่ผ่านมา  ตั้งแต่สร้างสัมพันธภาพ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา  หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เริ่มสังเกตการสอน 2 สัปดาห์   และวิเคราะห์การสังเกตการสอนร่วมกัน  แล้วได้ถามความรู้สึกของครูผู้สอนว่ารู้สึกอย่างไรในการนิเทศในครั้งนี้  ครูผู้สอนตอบว่า ดีมาก ทำให้มีความรู้สึกกระตือรือร้นในการสอนมากขึ้น มีความตระหนักในการเตรียมการสอนก่อนเข้าสอน  

ผู้สอนได้วิเคราะห์และประเมินพฤติกรรมการนิเทศ  ดังนี้

         - ผมให้ความช่วยเหลือและเอาใจใส่ดีมาก  สนับสนุนทั้งด้านเอกสาร และติดตามอย่างต่อเนื่อง

          - ปัจจัยของการนิเทศขึ้นอยู่กับการรับการประเมินของครูผู้สอน  การมีเวลาให้กับการนิเทศ  ซึ่งหากใช้เวลาในการนิเทศให้มากขึ้นจะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเช่นเดียวกัน

           - สัมพันธภาพระหว่างผมกับผู้สอนเป็นไปด้วยดี  ทำให้ไม่เกร็ง และไม่เครียดมาก

           - ผมได้ตกลงหัวข้อในการสังเกตร่วมกับผู้สอนก่อนที่จะเริ่มการสังเกต  ทำให้ผู้สอนทราบประเด็นที่จะทำการสังเกต  และเตรียมตัวได้ถูกต้อง            

            - เวลาในการนิเทศเหมาะสมดี  และควรทำให้ต่อเนื่องจะดีมาก

ผู้สอนได้อธิบายประโยชน์ที่ได้รับจากการนิเทศในครั้งนี้  ดังนี้

            - เป็นการกระตุ้นตัวเองให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น

           - ทราบบทบาทของตนเองชัดเจนขึ้น ตระหนักในการเตรียมการสอน

           - เกิดการเปรียบเทียบวิธีการสอน และทราบทางเลือกในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น

           -  ได้เรียนรู้ในการจัดกิจกรรมและแก้ไขปัญหา 

           - ค้นพบวิธีการแนะนำผู้เรียนในการเรียนบทเรียนสำเร็จรูปให้ได้ผล คือ  แจ้งเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนที่จะให้เริ่มศึกษาบทเรียน  และอธิบายทางเลือกในการเรียนระหว่างการเปิดดูเนื้อหาก่อนตอบคำถาม  กับอ่านให้เข้าใจก่อนตอบคำถามโดยไม่เปิดดู และอธิบายข้อดีข้อเสียให้นักเรียนได้ทราบ ทำให้นักเรียนเข้าใจและปฏิบัติตามข้อตกลง

            - ควรจะนำการนิเทศคลินิกไปเผยแพร่  เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเกิดมุมมองในการนิเทศการเรียนการสอนในหลายด้าน

ข้อคิดและข้อเสนอแนะ

     1)  เรื่องนโยบายของผู้บริหารโรงเรียน

           การนำโครงการนิเทศแบบคลีนิคเข้าไปใช้ในโรงเรียนที่จะได้ผลดีต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียน ที่มีนโยบายที่สอดคล้องและเห็นด้วยกับประโยชน์ของการนิเทศแบบคลีนิค จะทำการนิเทศได้ผลดี  และครูในโรงเรียนก็ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

      2)  เรื่องของตัวครูผู้รับการนิเทศ

          ครูผู้ได้รับการนิเทศต้องยินดีที่จะรับการนิเทศอย่างเต็มใจมีความเป็นคนใจกว้าง และยอมรับในข้อบกพร่องในการจัดการเรียนการสอนของตนเอง  และพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง  เพราะหากเป็นการบังคับให้รับการนิเทศนั้นการนิเทศจะไม่ได้ผลเลย

      3)  เรื่องเวลาในการนิเทศ

            ในการนิเทศคลินิกนั้น เวลาเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ควรจะนานจนเกินไป หรือเร่งรัดจนเกินไป  ควรจัดสรรเวลาในการนิเทศให้เหมาะสมกับปัญหาในการนิเทศ  และทำอย่างต่อเนื่อง             

      4)  เรื่องการมีมนุษยสัมพันธ์

           การเข้าไปนิเทศคลีนิคนั้น เราต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในโรงเรียนที่เข้าไปนิเทศด้วย เช่น ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน ภารโรง อย่างน้อยการพูดคุยพบปะนอกเหนือจากการนิเทศ ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศสร้างความคุ้นเคยไม่ทำให้รู้สึกว่าตัวผมเป็นคนแปลกหน้า   จะช่วยให้การนิเทศนั้นราบรื่นอีกขั้นหนึ่ง

        5)  การเผยแพร่การนิเทศคลีนิค

           ควรจะนำการนิเทศคลีนิคไปเผยแพร่  เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเกิดมุมมองในการนิเทศการเรียนการสอนในหลายด้าน

 

คำสำคัญ (Tags): #นิเทศแบบคลินิค
หมายเลขบันทึก: 386456เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2010 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ จะได้นำไปปรับใช้กับนักเรียนของตนเองค่ะ

ยินดีด้วยกับผลงานที่ได้รับคัดเลือก 1 ใน 6 ศน.คนเก่ง อนาคตไกล พี่กุ้งยินดีด้วยจริงๆ ขอบคุณสำหรับพื้นที่พักพิงให้เด็กชายเเคนได้มีเพื่อน มีอะไรคงได้เกื้อกูลกันระหว่างสองครอบครัว ยินดีเสมอ  ฝากรูปสองสาวมาให้คุณพ่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท