เคล็ดลับดีดีที่คุณต้องอ่าน


ใครอยากเรียนเก่งอย่าลืมอ่านเคล็ดลับนี้นะคะ
เคล็ดลับการเรียนและการทำงานให้สำเร็จ PDF พิมพ์ ส่งเมล
เขียนโดย ดร   
Monday, 19 December 2005
ความจริงก็ไม่ใช่ความลับอะไร ใครๆ ก็รู้ก็หรือพอจะรู้กันทั้งนั้น แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำได้เป็นพักๆ ท้อบ้าง ถอยบ้าง เดินหน้าบ้าง
           
ถ้าจะเรียกว่าเป็น "เคล็ด" ก็น่าจะใช่ ถ้าเคล็ดหมายถึงวิธีการไปจนถึงพิธีกรรมบางอย่าง รวมไปถึงวิธีคิดอีกต่างหาก
           
ที่ไม่ใช่อะไรใหม่เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ 2,500 กว่าปีมาแล้วว่า ถ้ามีฉันทะ หรือมีใจรักและชอบในสิ่งที่ตนเองทำ ก็จะทำได้ไม่ยากนัก เพราะไม่ฝืนใจ ทำด้วยความสบายใจ คิดถึงสิ่งที่ทำตลอดเวลา เหมือนคิดถึงคนที่เรารัก อยากโทร.ไปหาวันละหลายเวลา เช้าสายบ่ายค่ำ คิดถึงเธอทุกลมหายใจ อะไรทำนองนั้น
           
การเรียนและการทำงานด้วยใจรักทำให้สิ่งที่เราทำเป็น "งานประจำ" ไม่ใช่งานอดิเรก ไม่ใช่งานสมัครเล่น ที่คิดอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็เลิก เป็น "พันธกิจ" (mission) ที่เราจะต้องทำให้สำเร็จ เป็นงานของ "มืออาชีพ" ที่พยายามทำให้ดีที่สุด ให้มีคุณภาพมากที่สุด ให้ได้มาตรฐานที่คนยอมรับ
           
ปราชญ์บอกว่า คนเก่งไม่ใช่คนที่ได้ทำสิ่งที่ตนชอบ แต่ชอบสิ่งที่ตนทำ

เมื่อมี
"ฉันทะ" แล้ว "วิริยะ" ก็ตามมาโดยไม่ยากนัก ความขยันหมั่นเพียร บากบั่น ไม่ท้อถอย มีความเสมอต้นเสมอปลาย หนักแน่นมั่นคง
           
มี "จิตตะ" คือการเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่าน มีสมาธิในสิ่งที่ทำ คิดถึงสิ่งที่ทำอยู่เสมอๆ
           
มี "วิมังสา" หรือการตรวจสอบ การไต่สวน การตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
           
ซึ่งก็เป็นหลักการที่ปรัชญาตะวันตกก็สอนไว้เมื่อ 2,500 ปีก่อนเช่นเดียวกัน เมื่อคนอย่างโสคราติสออกไปเดินแถวสนามหลวงกรุงเอเธนส์ พูดคุยกับคนหนุ่มคนสาว ตั้งคำถาม กระตุ้นให้คิด โต้แย้งให้หาคำตอบใหม่ๆ จนกระทั่งเกิดความรู้ใหม่ขึ้นมา คนเหล่านั้นเริ่มคิดต่างจากประเพณี เป็นตัวของตัวเอง จนโสคราติสถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาว่ายุยงให้คนหนุ่มคนสาวกระด้างกระเดื้อง ไม่อยู่ในรีตในรอยในกรอบของประเพณี
           
ถ้าเราคิดว่าจะเรียนหนังสือเพื่อจะได้รู้สิ่งที่คนอื่นเขาคิดเขาสอนเขาทำกันมาอย่างเดียวก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ท่องหนังสือเก่งก็พอแล้ว  แต่วันนี้มันไม่พอ โลกวันนี้เป็นโลกของความรู้ และไม่ใช่ความรู้เก่าๆ เดิมๆ แต่เป็นความรู้ที่ทุกคนต้องแสวงหา ค้นหา และพัฒนาขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และความต้องการของแต่ละคน
           
สิ่งที่โสคราติสได้ให้ไว้เป็นมรดก คือ การคิดแบบ "วิภาษวิธี" (dialectic) การเสวนาแบบโสคราติส ที่หมายถึงการค้นหาความรู้ ความจริงด้วยการตั้งคำถาม หาคำตอบ โต้แย้งให้ได้ข้อสรุป
           
เรียนแบบนี้จะเกิดความรู้ใหม่ เพราะวิเคราะห์สังเคราะห์เป็น เรียนแบบนี้ไม่ได้ใช้ความจำเป็นหลัก แต่ใช้ความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ใช้หลักเหตุผลในการวิเคราะห์ แยกแยะให้เห็นแง่มุมและประเด็น แล้วจึงหาข้อสรุปที่เป็นความรู้ใหม่
           
เรียนแบบนี้ไม่มีวันลืมสิ่งที่เราได้ค้นพบ แต่ถ้าเรียนแบบท่องจำสิ่งที่คนอื่นเขาบอกเรา ไม่นานเราก็จะลืม เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเข้าไปแค่ในสมองก้อนเล็กๆ ในหัวของเรา ไม่ได้เข้าไปในใจ เราไม่ได้ "เข้าใจ" สิ่งเหล่านั้น เพียงแต่จำอย่างเดียว
           
คนที่เรียนรู้เป็นจึงเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก สนทนา เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ มาก ค้นหาข้อมูลในแหล่งต่างๆ ไม่ว่าอินเตอร์เนท ห้องสมุด หรือสอบถามจากบุคคลผู้รู้ต่างๆ
           
การทำงานวันนี้ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องใช้ความรู้ ใช้ปัญญากันมาก และความรู้ก็มีอยู่มากมายหลายแห่ง ไม่ใช่เพียงในหนังสือ ในอินเตอร์เนทเท่านั้น แต่ในตัวคน ในสำนักงาน ซึ่งมีคนที่ทำงานมายาวนาน สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มามาก ทั้งทักษะและแนวคิดที่ได้เชื่อมโยงจนตกผลึก แต่หลายคนไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดให้คนอื่น ก้มหน้าก้มตาทำงาน
           
ยุคนี้พูดเรื่อง "การจัดการความรู้" (knowledge management) กันจนไม่รู้ว่าพูดเรื่องเดียวกันหรือไม่ จะอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามีเรื่องการเรียนรู้ มีกระบวนการเรียนรู้อยู่ในนั้นก็ไม่มีปัญหา
           
คนที่ทำงานสำเร็จจึงเป็นคนที่มี "อิทธิบาทสี่" เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแต่ในการทำ แต่ในการเรียนรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่ พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ "ศักยภาพ" (potential) กลายเป็น "ความสามารถ" (capacity) ที่ทำให้คนมี "กัมมันตะ" (active) ทำให้พลังที่ยังอยู่ข้างใจให้ออกมาข้างนอก ทำให้ความสามารถที่ยังไม่พัฒนาหรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ได้พัฒนา
           
และที่สำคัญ การเรียนก็ดี การทำงานก็ดี ถ้ามี "พรหมวิหารสี่" ก็จะเรียนและทำงานได้สำเร็จ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน ทั้งกับเพื่อน กับคนในระดับเดียวกัน เป็นมิตรกับทุกคน มีน้ำใจไมตรีกับผู้คน มีความกรุณาเอื้ออาทรต่อผู้ลำบากกว่า จนกว่า ด้อยกว่า หรือผู้น้อยกว่าตน 
           
มีมุทิตาจิตหรือมีจิตใจเป็นกุศลต่อผู้เก่งกว่า ดีกว่า อาวุโสกว่า สูงกว่า และปล่อยวางอย่างใช้ปัญญาต่อสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่เครียด ไม่เก็บกดหรือกดดันตัวเอง ไม่ไปเที่ยวอาสาแบกความทุกข์ของคนอื่น และทุกข์มากกว่าคนเหล่านั้นเสียอีก  แบ่งเบาความทุกข์นั้นดี แต่แบ่งมาด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการปลดปล่อย และทำให้เกิดความเป็นอิสระ
           
ขอให้ทุกท่านมีความสุขและประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน
คำสำคัญ (Tags): #social
หมายเลขบันทึก: 385827เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บทความดีจังเลยง่ะ ...เค้าอ่านดู ละ เกิดปัญญาในการใช้ชีวิตขึ้นมากเลยนะ ขอบใจมากเลย แล้วเป็นโอกาสดีที่ได้มาอ่าน^^

เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตได้ดีเลยนะเนี้ย...^^

คลิกเพื่อชมบล็อกของว่าน

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกแล้วคะ ขอบคุณมากคะ

ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่เท่ากับ ชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ใช่เลยครับ หลักการนี้สำคัญสำหรับ "คนสู้งาน"

ดีๆมีของดีมาแบ่งปันกัน

เป็นบทความที่ดีมาเลยขอรับ ~ *

ถ้าเราไม่มีใจรักสิ่งที่ทำก็คงไม่สำเร็จด้วยดี

แล้วเอาบทความดีดีมาให้อ่านอีกนะขอรับ

คุคุ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท