ชีวิตและข้อคิดจากภาพยนต์: My Sister's Keeper


My Sister's Keeper

เมื่อมีเวลา และรู้สึกว่ามีพื้นที่อารมณ์เกิดขึ้น ผมชอบไปค้นภาพยนต์ DVD ที่สะสมไว้มาดู มีหลายเรื่องที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้ดู (แค่ตั้งใจว่าจะ...) เรื่องนี้คือ My Sister's Keeper ซื้อมาเพราะได้รับทราบว่าสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน palliative care ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ยิ่งต้องหาเวลาที่ "เหมาะสม" ในการชม เพราะจะต้องถอดอะไรๆ (หมายถึงเนื้อหาครับ) ออกมาพร้อมๆกันไปกับการชมด้วย ใครๆก็คงจะทราบว่าการชมภาพยนต์ครั้งแรกนั้นสำคัญที่สุด เราทำได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง และ first impression นี้ที่เราอาจจะคาดว่าส่งผลกับคนอื่นๆได้เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่การันตี แต่การชมครั้งแรกถ้าเราเตรียมตัว เตรียมใจให้ดี ก็มักจะดี

Synopsis

ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกัน ประพันธ์โดย โจดี พิคูลท์ (Jodi Picoult) ซึ่งผมยังไม่ได้อ่าน แต่จาก review โดยหลายๆคน คิดว่านอกจาก main plot เหมือนกันแล้ว อย่างอื่นๆต่างกันเยอะพอประมาณ รวมทั้งตอนจบ ซึ่งทำให้บรรดาแฟนๆพันธุ์แท้ของพิคูลท์บางท่านโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเอาที เดียวเมื่อได้มาชมภาคภาพยนต์ (ผมคิดว่าแฟนพันธุ์แท้พวกนี้บางทีก็เกินเลยไป และมีความคาดหวังที่ไม่สมจริง เพราะศิลป์ทางภาพยนต์และทางหนังสือนั้นสื่อกับคนรับคนละ channel ที่ต่างกันเยอะพอประมาณ อะไรจะไปคาดหวังแบบนั้นให้มันโมโหโกรธาไปทำไมหนอ)

ซา รา (คาเมรอน ดิแอซ) อดีตนักกฏหมายว่าความจำเป็นต้องผันตัวเองมาเป็นแม่เต็มตัว 24/7/12 คือตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี อย่างฉับพลันทันทีเมื่อวันหนึ่ง ลูกสาวคนรอง เคธ (โซเฟีย วาสซิลลีวา) ตื่นสาย พอเธอเข้าไปดู พลิกตัว ก็เห็นรอยจ้ำเลือดปรากฏเป็นปื้นใหญ่อยู่กลางหลังของเคธ และอีกไม่นานเธอและสามีนักผจญเพลิงไบรอัน (เจสัน แพทริก) และลูกชายคนโตเจสสี (อีวาน เอลลิงสัน) ก็ต้องรับรู้ข่าวร้ายที่สุดว่าเคธเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (acute promyelocytic leukemia)  ซาราลาออกจากการเป็นทนายความ อุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่เคธ ซึ่งตลอดช่วงการรักษา เต็มไปด้วยสภาวะการณ์ต่างๆเช่น ภูมิคุ้มกันตก ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย แม้ว่าจะมีญาติพี่น้องที่สนิทสนมกันมาช่วยเต็มที่ แต่ชีวิตของทั้งครอบครัวฟิตเจอราลด์ก็เสมือนกันเวียนว่ายอยู่รอบศูนย์กลาง คือชีวิตของเคธเพียงผู้เดียว

หลังจากที่ อาการของเคธ ทรง  ทรุด ทรง ทรุด และซาราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อวัยวะต่างๆของเคธจะประสบ ปัญหาทีละอย่างสองอย่าง ซาราก็ได้รับข้อเสนอจากหมอถึงการมีลูกอีกคน ที่มีการ engineer สารพันธุกรรมแบบที่ว่าจะสามารถเข้ากับเคธได้ร้อยเปอร์เซนต์ เมื่อจำเป็นเคธก็จะสามารถรับเอาอวัยวะของน้องสาวมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ ในที่สุดเคธ (และไบรอัน) ก็มีลูกสาวคนสุดท้องคือแอนนา (อบิเกล เบรสลิน) เพื่อเหตุผลนี้โดยเฉพาะ

แอนนาได้มีส่วน ช่วยเคธมากมายหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เธอยังอายุไม่กี่เดือนกี่ปี ถ่ายเลือด ถ่ายเม็ดเลือดขาว ถ่ายไขกระดูก จนอายุ 11 ปี (ในหนังสือแอนนาอายุ 13 ปี) อยู่มาวันหนึ่ง แอนนาก็เดินเข้าไปหาแคมเบล (อเลค บอลวิน) ทนายความชื่อเสียงโด่งดัง (success rate 91% ตามโฆษณา) เพื่อขอให้เป็นตัวแทนฟ้องร้องพ่อแม่ของเธอ ขอเรียกร้องสิทธิในการครองครองและตัดสินเพื่อร่างกายของเธอ ไม่ยอมที่จะให้พ่อแม่เป็นคนตัดสินแทนว่าจะให้/ไม่ให้อวัยวะของเธอกับใคร เมื่อไรอีกต่อไป

ภาพยนต์เรื่องนี้มี plot และ subplots หนามาก และอาจจะทำให้ "ความลึก" ของบางประเด็นหายไป (และทำให้แฟนหนังสือรู้สึกไม่ดื่มดำ่เท่า) แต่ผมคิดว่า ถ้าผู้ชมลองไม่ชมแบบห่างๆ แต่ชมแบบ sympathy กระโดดเข้าไปในตัวแสดงแต่ละตัว ในแต่ละฉาก และลองพยายาม "รู้สึก" ว่าน่าจะเป็นยังไง จะสนุกอย่างบอกไม่ถูก (บางคนที่ใจอ่อน อาจจะเลิกดูไปก่อน หรือดูอย่างแกนๆ อย่างจะจับผิด หรืออย่าง "ปิดอารมณ์" ซึ่งถ้าจะทำเช่นนั้น แนะนำว่าอย่าไปดูมันเลยเรื่องนี้ หยิบสตาร์วอร์มาดูดีกว่า)

ฟังเผินๆ ดูเหมือนแอนนาจะ "ร้ายกาจ" แต่ปรากฏว่าแอนนาสนิทกับพี่สาว เคธ อย่างมาก และไม่เคยมีการโกรธ การเกลียดอะไรเลย แอนนาจะเป็นเด็กที่ "ลุ่มลึก" (อย่างไม่มีเหตุผล) แต่ถ้าเราจินตนาการตามเนื้อเรื่อง เราก็จะพบว่าแอนนาถูกเลี้ยงดูมาเพื่อเป็น "คลังอวัยวะสำรอง" จริงๆ คือ ดูแลเหมือนไข่ในหิน จะมีแฟน เป็นเชียร์ลีดเดอร์ เป็น ฯลฯ ตามอำเภอใจนั้นไม่มี ไม่ได้ เพราะ first priority ที่ว่า "เธอเกิดมาทำไม" นั้น ถูกทำให้ clear ชัดเจนภายในครอบครัวมาแต่ไหนแต่ไร

ซาราเป็นแม่ที่ "ไม่มีวันยอมแพ้" นั่นคือ character ของเธอ ดูเหมือนภาพยนต์จะ "ใส่ไข่" ให้เธอมากเกินรสนิยมผมไปนิดหน่อย แต่ก็พอกล้อมแกล้ม อดีต lawyer ที่ไม่เคยแพ้ใคร เอาชนะทุกอย่างได้ถ้ามี will จนลืมไปว่าเธอกำลังเอาชนะอะไร (Death) โดยเอาใครเป็นเดิมพัน (เคธ และ แอนนา และครอบครัวของเธอ)

ไบรอันเป็นตำรวจดับเพลิง (ทำให้คุ้นเคยกับการพรากจาก?? รึเปล่า คิดเอาเอง) มีความอ่อนโยนแฝงอยู่ (เป็นเหตุผลที่เลือกเจสัน แพรทริก หนุ่มตาหวานจากเรื่อง Lost Boys) ซึ่งอาจจะอ่อนไปนิดกับการเป็นช้างเท้าหลัง มา rescue เนื้อเรื่องนิดหน่อยตอนปลาย

เจสสี ที่ในหนังสือให้บทเยอะกว่า เล่นเป็นลูกชายคนโตที่มีปัญหา dyslexia (ปัญหาการใช้ภาษา การพูด) แต่ปัญหาของเขาดูจิ๊บจ๊อยมากจนไม่มีใครมีเวลาจะสนใจ (ฉากที่เขาหายออกจากบ้าน กลับบ้านไม่ถูก กว่าจะกลับมาก็นานมากจนไม่แน่ใจว่าจะโดนดุหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครทราบด้วยซ้ำไปว่าเขาหายไป!! ก็ได้อารมณ์เนียนลึกๆดีเหมือนกัน)

แต่ตัวเองสองคนคือเคธและแอนนา

วัยรุ่นที่กำลังจะตาย คิดอะไรอยู่? อยากจะได้อะไร? อะไรคือ "คุณภาพชีวิต"?

child palliative care เป็นสาขาเฉพาะทางเพราะความ "ยาก" ของมัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมันเป็น untimely dead คือ ไม่เหมาะไม่ควร ส่งผลให้เกิดอารมณ์มาก (กว่าที่ผู้ใหญ่อายุใกล้ร้อยปีจะตาย) และพวกเราที่เป็นคนดูแลก็เผอิญ "เลยวัย" และดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้าใจเขา/เธอเสียแล้ว (ซึ่งก็น่าแปลกดี เพราะเราก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน) มุมมองของเราดูจะแตกต่างไปจากวัยรุ่นเกือบตลอดเวลา อารมณ์ตอบสนองของวัยรุ่นดูจะเป็นอะไรที่ "ยาก" แก่การคาดเดา

ชมคนแต่งหน้าเคธที่ทำให้เห็น "การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์" ของเคธได้สมจริง (ไม่เหมือนภาพยนต์ไทย ที่เมื่อผู้แสดงเป็น "โรคนางเอก (ALL)" ก็ยังสวยเช้งวับอยู่) ผู้ชมสามารถที่จะ empathy ลึกๆได้ตลอดเวลาโดยไม่เปลือง script บทพูดแม้แต่แอะเดียว ภาพลักษณ์ของวัยรุ่นสำคัญขนาดไหน? เราเคยใส่ใจอะไรกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนในการดูแลผู้ป่วยในวัยนี้? นอกเหนือจากเรื่อง biomedical แล้ว? เราควรจะทำอย่างไรเมื่อวัยรุ่นระเบิดอารมณ์ออกมา (ไม่ว่าเธอกำลังใกล้จะตายหรือไม่) ที่่น่าสนใจคือ ถ้าคำตอบเราคือ "เหมือนๆเดิม" นั่นก็แสดงว่าเรามีทัศนคติอย่างไรกับอารมณ์วัยรุ่นได้ดีพอสมควร

มีฉากที่เคธกับแอนนาสร้างมุขตลกจากการเป็นมะเร็ง (Are you cancer? No, I am Capricorn!! "เธอเป็นมะเร็งเหรอ..." "เปล่า! ฉันราศีมกรจ้ะ..." ใช้มุขเล่นคำ เพราะ cancer อาจจะแปลว่ามะเร็งก็ได้ หรือราศีกรกฏก็ได้) ก็น่าคิด เมื่อเราได้ยินคนไข้พูดเล่นตลกเรื่องมะเร็ง เราควรจะ react อย่างไร? ขำตาม หรือตกใจ หรืออย่างไหนหนังเรื่องนี้ที่ซาราบอกว่า This is not funny?

ตามธรรมเนียมของหาภาพยนต์แบบนี้ ที่จะมี narrative เป็นพักๆ แสดงความคิด ความรู้สึกของตัวละคร ที่ไม่ได้พูดออกมาดังๆ ก็ทำได้ดีพอสมควร นุ่มนวลกว่าที่จะออกมาเป็น visual ซึ่งอาจจะแรงไปสำหรับผู้ชม เรื่องนี้ที่น่าสนใจก็คือ น้ำหนักของครอบครัวที่มีต่อเรื่องราวทั้งหมดที่ค่อนข้างเยอะ และการใส่ subplots มาก ที่ทำให้เกิดความเหมือนจริงมากขึ้น (ในหนังสือจะมากกว่านี้เยอะ... ประเด็นนี้ที่ทำให้ผมไม่ค่อยชอบ Tuesday with Morrie มัน "เร็ว" ไปนิด ลวกๆไปหน่อย) แต่บางทีก็ overdo ไป เช่นอธิบายแม้กระทั่งทำไมแคมเบลถึงได้มายอมว่าความให้เด็ก 11 ชวบ (ผมคิดเอาเองว่าฝรั่งคิดว่าทุกอย่างมีเหตุผล คนเราจะไม่ทำอะไรออกมาโดย "ไม่มีเหตุผล" หรือแค่ "มันควรจะทำ" เท่านั้นกระมัง??)

มีมากมายหลายฉาก หลายคำพูด หลายการตัดสินใจที่สามารถทำมาเป็น theme discussion และสะท้อนกันในกลุ่มนักเรียนแพทย์ หรือทำเป็นฉากสมมติของ group therapy ที่ไหนๆที่คิดว่าอาจจะได้ประโยชน์ ผมจะไปซื้อหนังสือมาอ่าน และอาจจะนำมาเปรียบเทียบทีหลังถ้ามีอะไรเพิ่มเติม

NB: ภาพยนต์เรื่องนี้ซ่อน twist (หักมุม) ไว้พอสมควร ซึ่งผมไม่ได้นำมาพูด ณ ที่นี้ จะได้ไม่ spoil หนังเกินไป กระนั้นแฟนหนังสือก็บอกอีกว่า twist ในหนังมันเป็น minor twist หรือ​ "หักมุมเล็ก" ในหนังสือมีหักมุมใหญ่ที่น่าสนกว่านี้อีก!! (ยิ่งทำให้เราอยากอ่านมากขึ้นนะนี่!)

หมายเลขบันทึก: 384783เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2010 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับ  ได้รายละเอียดหนังหนึ่งเรื่องพร้อมได้อ่านลีลาการวิจาร์หนังที่เข้มทางการเน้นให้เห็นภาพของหนังได้ดี  ขอชื่นชม  ขอบคุณครับที่แบ่งปัน

ยินดีที่มาเยี่ยมเยียนครับผม คุณธนา

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ได้ชมรายการ "ใจเติมใจ" จาก TPBS  แล้วค่ะ  แต่ไม่ทราบจะนำรายการมาให้เพื่อน ๆ ชมได้อย่างไร ทำไม่เป็นค่ะ

ดีมาก ๆ เลยนะคะ ไม่จำเป็นแต่คนไข้เท่านั้นนะคะ คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมก็ย่อมปฏิบัติต่อกัน และทำความเข้าใจได้นะคะ

สวัสดีครับคุณครูคิม

เป็นธัมมะจัดสรรที่ทำให้ผมได้มาอยู่ท่ามกลางบุคคลใจโพธิสัตว์มากมาย และอย่างครูคิมว่าจริงๆ คือจะส่งผลต่อการที่เราจะทำอะไร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนรอบๆข้างไปด้วย

ไม่ทราบว่าจะดึง จะดูดรายการออกมายังไงเหมือนกันครับ แฮ่ะๆ

สวัสดีค่ะ

จะพยายามไปหาภาพยนต์เรื่องนี้มาดูค่ะ  จะได้เข้าใจความต้องการและรู้จักเติมสิ่งที่ขาดให้กับคนอื่นได้ตรงจุด  ขอขอบพระคุณค่ะ

ในภาพยนต์อาจจะไม่มีเฉลยนะครับ แต่มีอะไรที่ให้เราลองหาคำตอบเยอะมากจริงๆ

รู้สึกได้ประเด็น..มากกว่าดูหนังเองอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะ

คุณระพี

นั่นเป็นเพราะทุกครั้งที่เราดูหนัง เราทุกคนดูกันต่างแง่ต่างมุม พอมารวมกันจึงแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเรื่อยๆน่ะครับ แต่ถ้าเอามาเติมกันไปเรื่อยๆก็จะยิ่งเพิ่มพูนไปอีก

คุณหมอคะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่คุณหมอเอาเรื่องมาแชร์ให้หลายๆ คนได้มอง เพราะเชื่อว่ามีมุมให้มองหลายมุมทีเดียว เมื่ออ่านแล้ว ก็จะพยายามหาเวลาดูหนังค่ะ (หาหนังมาดูไม่ยาก แต่หาเวลา.. ยากกว่า คงเพราะตัวเองไม่ค่อยดูโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์)

สำหรับเรื่องลักษณะนี้แป๊วก็เคยเดินเฉียดๆ มาแล้วเช่นกัน แต่คงมองคนละมุมกับซาร่า (คุณแม่ในเรื่อง)

แป๊ว

==============================

และนี่คือเหตุผล – ความรู้สึกของแม่ที่เขียนใน Email ที่ส่งให้คุณหมออิศรางค์ เมื่อช่วง พ.ค.51

...... .. สำหรับตัวเองแล้ว

- ถ้า HLA ไม่ตรงกัน ก็จบโดยตัวมันเองคือ ธรณ์เป็นผู้บริจาคไม่ได้ ธรณ์ก็ไม่ต้องเจ็บตัว

- ถ้า HLA ตรงกัน ก็ลำบากใจที่จะต้องตัดสินใจ คือไม่อยากให้ลูกเจ็บพร้อมกัน 2 คน เลย แล้วการที่ธรณ์จะเป็นผู้ให้นั้น ธรณ์อาจจะเหมือนกึ่งถูกบังคับ ไม่ได้เป็นผู้เลือกที่จะให้ด้วยตัวเอง รู้สึกเหมือนกับว่า เราละเมิดสิทธิ์ของธรณ์กลายๆ ไปทำให้ธรณ์ต้องเจ็บโดยที่ธรณ์ไม่เต็มใจ

พอผลออกมาว่า HLA ไม่ตรงกัน ก็รู้สึกว่าไม่ได้ผิดหวังอะไร ปัญหาที่คิดจบด้วยตัวมันเอง เราไม่ต้องเป็นผู้เลือก - บังคับลูก ธรรศก็ไม่ต้องทำให้ธรณ์เจ็บตัว เพียงแต่การกระทำต่อๆ ไปจะมีธรรศเป็นตัวศูนย์กลางของทางเลือก ไม่ว่าจะทางที่ทำให้ธรรศดีขึ้น หรือถ้าจะเป็นไปตามวาระมันก็จะเป็นไปโดยตัวธรรศเอง โดยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่เต็มใจ ซึ่งอย่างน้อยก็จะได้ไม่มีกรรมต่อกัน แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็รักลูกทั้ง 2 คน นะคะ รักพอๆ กัน ไม่ใช่ไม่อยากให้ธรรศหาย แต่บางการกระทำมันอดรู้สึกไม่ได้ว่า ถ้าต้องทำแบบนั้น จะไม่ยุติธรรมกับธรณ์รึเปล่า เพราะธรณ์ไม่ได้มีส่วนตัดสินใจ ถ้าจะมีใครมองว่าคิดแปลกๆ ก็ยอมรับค่ะ ........

เรายังมีความหวังเสมอที่จะรักษาธรรศ แต่พร้อมกันนั้นเราก็ต้องยอมรับความจริงเรื่องโรคที่ธรรศเป็นอยู่ด้วยค่ะ บางครั้งการที่เรากล้าที่จะยอมรับความจริง มันก็ทำให้เราไม่กลัวจนเกินไป ทำให้เรามีสติมากขึ้น พยายามหาวิธีที่อยู่ร่วมกับ " ผู้มาเยือน " ให้ได้มากที่สุด เราจะไม่มานั่งหลอกตัวเเองว่าเค้าต้องหายๆๆ อยู่เท่านั้น เพราะอะไรมันก็เกิดขึ้นได้เสมอ เราใช้เวลาให้มีประโยชน์ที่สุดจะดีกว่า

คุณแป๊วครับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีมุมมองน่าคิดเยอะมากจริงๆ ตอนผมเรียนอยู่ที่อังกฤษ เคยมี case จริงเกิดขึ้น เป็นพ่อแม่ยุโรปตะวันออกที่อพยพมาอยู่ที่อังกฤษ แม่ตั้งครรภ์แฝดตัวติดกัน เมื่อคลอดออกมาพบว่าแฝดคนหนึ่งแข็งแรงกว่า ขณะที่อีกคนตัวเล็กแกร็น อวัยวะที่ทั้งสอง share กันนั้นทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ แพทย์เสนอให้ผ่าตัดแยก โดยพยายามรักษาคนที่สมบูรณ์กว่าไว้ ส่วนอีกคนจะต้องเสียชีวิต (อีกคน "อาจจะ" มีชีิวิตต่อไป) แต่ถ้าไม่ผ่าแยก ก็จะมีโอกาสสูงที่ทั้งสองคนอาจจะต้องเสียชีวิต ข้อเสนอของแพทย์เป็นเชิงประโยชน์สูงสุด (อาจจะรอดหนึ่ง versus ตายทั้งคู่)

ปรากฏว่าพ่อแม่ไม่ยอม บอกว่าเราไม่มีสิทธิสละชีวิตคนหนึ่งเพื่อช่วยอีกคนหนึ่ง ตามความเชื่อทางศาสนาของเขา ถ้าทั้งสองต้องจากไปก็ยอม แต่การที่เราจะเป็นคนตัดสินว่าต้องเอาชีวิตคนหนึ่งมาแลกอีกคนนั้นจะเป็นบาป และคนที่รอด (อาจจะรอด) จะมีชีวิตอย่าง guilt ตลอดไป

ถ้าเราดูเพียงตัวเลข (อาจจะได้ 1 กับเสียแน่ๆ 2) ก็คงจะไม่เห็นด้วยกับกระบวนคิดของพ่อแม่ แต่พอฟังเหตุผลเชิงลึก และลองจินตนาการในมุมมองของพ่อแม่ดู ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สมการอาจจะได้ 1 กับเสีย 2 นั้น เป็นอะไรที่เราใช้ความเป็นมนุษย์ตัดสินหรือไม่ ขนาดไหน หรือใช้เพียงเครืีองคิดเลข

"การมีชีวิตอย่างมีความหมาย" นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และแม้ว่าเราเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล ก็ใช่ว่าเราจะถือ moral highground จะมีหน้าที่ไปตัดสินว่าอย่างไรถือว่าดีที่สุดได้

ยินดีที่คุณแป๊วมาเยี่ยมเยียนครับ กิจกรรมที่คุณแป๊วมาให้แก่พวกเรามีค่าและมีความหมายมากครับ

สวัสดีค่ะ..อาจารย์หมอ ลูกศิษย์ทางจิตวิญญาณ (จากการอบรมคุณภาพที่เชียงใหม่ค่ะ)..ระลึกถึงเสมอ และนำมาปรับใช้จนทุกวันนี้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง พัฒนาจิตอย่างต่อเนื่องค่ะ..หนังสนุกมาก (จากลีลาการวิจารณ์ที่ผู้อ่านจะเข้าถึง) จะหามาดู..และพยายามสะท้อนให้เข้าถึง ต่างแง่ต่างมุมมองค่ะ..อีกครั้ง ระลึกถึงอาจารย์ทั้ง 4 ท่านมากมาย ชีวิตอบอุ่นในมุมที่ควรจะเป็นจากการเรียนรู้ในวันนั้น ส่งผลจนวันนี้ (ติดตาม blog อาจารย์ทุกท่านเสมอค่ะ)

ฮ่ะ ฮ่ะ ลูกศิษย์ทางจิตวิญญาณฟังดูทะแม่งๆ เพราะจิตวิญญาณของใครก็ของมันอยู่แล้ว เอาเป็นว่าเป็นผู้ร่วมเดินทางก็แล้วกัน ดีไหมครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ได้มีโอกาสถอดเทปงานประชุมเครือข่ายpalliative care 4

หนูไม่รู้จักอาจารย์ แต่ได้ฟังที่อาจารย์พูด ตอนแรก รู้สึกแปลก เหมือนจะเข้าใจ

แต่รู้สึก+ฟังจริงๆๆเข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

(คืออยากจะขอบคุณอาจารย์มาก เลยเกริ่นก่อนค่ะ)

เรื่องี้มีโอกาสได้ดู หลังจากที่ถอดเทปงาน และได้ดูก่อน ขึ้นเรียนpalliative

ดูยังไม่ถึง10min ก็ได้รุสึกค่ะ ตอนนี้ก็มีอยุ่

ดูจบ สิ่งแรกที่ได้รู้ ไม่ว่าจะป้นการกระทำใดๆ มีเหตุผลที่คนนั้นตัดสินใจทำ ย่อมเป็นเหตุผลที่มีความสำคัญ มีผลกระทบต่อชีวิตของเขามากที่สุด ผลการกระทำเหมือนกัน แต่รายละเอียดของ สาเหตุที่ทำให้กระทำต่างกันได้

= ทัศนคติคุณค่าการมีชีวิตอยู่ การมีชีวิตอย่างความหมาย แต่ละคนต่างกัน แต่ผลที่ทุกคนต้องการเหมือนกันคือการที่เรารุสึกสุขใจที่ได้ทำ

เป็นหนังที่กระจ่างดีค่ะ ให้ความสำคัญ เป็นประเด็นที่สุด ทุกอย่างมองภาพรวมได้ แต่ไม่อาจสรุปเป็นรวมประเด้นทั้งหมดได้

สุดท้ายชนะ ได้สิทธิทางการแพทย์ ที่จริงไม่ต้องบอกก็ได้เพราะไงก็ไม่ได้บริจากแล้วเพราะพี่สาวตายแล้ว

แต่ทำให้รู้ว่าผลที่เหมือนกัน ว่าไม่ต้องบริจาคแล้ว แต่สาเหตุไม่เหมือน แม่ก็ไม่ได้รู้สึกผิดว่าไม่ได้พยายามต่อสู้เพื่อลูกที่ป่วย

และก็ไม่ได้บังคับลูกอีกคนบริจาค ให้เจ็บตัว น้องสาวไม่ได้รู้สึกผิดต่อพี่ที่ทำให้ชีวิตพี่ไม่สามารถยืดอกไปได้อีก และยังไม่ผิดต่อคำสัญญาที่พี่สาวขอไว้ ช่วยตอบได้ว่าครอบครัวนี้จะอยู่ต่อไปได้หลังจากการสูญเสีย โดยมีความรู้สึกเสียใจ และไม่โทษกันเพื่อลดความรุ้สึกผิดของตัว

ดีใจมากที่ชีวิตหนูได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก่อนที่หนูจะจบออกไป จุดยืนของหนูยังไม่แกร่ง แต่มันก้สามารถรับพยุงหนูได้ไม่พัง พอใจค่ะ วันพรุ่งนี้ ต่อไป ความแข็งแกร่งเพิ่มตามเวลา

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ^^

สวัสดีครับคุณ Dekmed

ยินดีที่เกิดความคิดมากมายและชอบมันครับ น้องมีต้นทุนอะไรบางอย่างและได้คิดต่อ นั่นสำหรับคนที่ทำงาน gardener อย่างผมก็รู้สึกขอบพระคุณมากที่มีนักเรียนอย่างน่้องปรากฏขึ้่นเป็นระยะๆ

ความรู้บางอย่าง เราปล่อยให้ตกผลึก อย่าทำให้ตกตะกอน หมายความว่าการตกตะกอนนั้นมันแยกชั้น เอาบริบทออกจากบทเรียน ด่วนสรุปชีวิตเหลือเพียงกระดาษ A4 แต่การตกผลึกนั้นทั้งสารละลายและตัวทำละลาย (ความรู้และบริบท) หล่อหลอมเข้มข้น นิ่ง และกลายเป็นผลึกอันสวยงาม ไม่หลงเหลือส่วนเกิน แต่ทุกด้านทุกประการเป็นเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ขอบพระคุณทีช่วยภุชงค์ถอดเทปครับ งานนี้สำคัญต่อพวกเรามาก ยินดีที่น้องสละเวลามาทำให้ หวังว่างานนี้คงไม่น่าเบื่อแต่ให้อะไรบางอย่างที่น้องสามารถเลือกนำไปใช้ต่อไปได้

อ่านบทวิจารณ์ของอ.แล้วชอบมากครับขอบคุณสำหรับแง่มุมต่างๆจิใจคนควรจะมีความอ่อนโยนและซึมซับมิติต่างๆที่ดีงามรอบตัวได้ซึ่งรวมทั้งเรื่องดีๆจากภาพยนต์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท