นปส.55 (17): คัดสรรผู้นำ


ถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนอะไรก็ตาม เราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนความคิดก่อน

เข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 5 ผ่านไปเดือนกว่าแล้วกับชีวิตนักเรียน (โข่ง) กินนอนในวิทยาลัยหาดไทย บางละมุง ริมทะเลงามน้ำสวย การตื่นตีห้าครึ่งด้วยการปลุกของดีเจเสียงตามสายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน พร้อมกับเพลงที่เปิดให้ตื่น มีทั้งเพลงไทย เพลงฝรั่ง เพลงเร็วและเพลงช้า เพลงใหม่และเพลงเก่า แล้วแต่ดีจีจะชอบสไตล์เพลงแบบไหน ไม่อยากตื่นก็ต้องตื่นเพราะเสียงพูดและเสียงเพลง ไม่อยากลุกก็ต้องลุกเพราะมีการเช็ครายชื่อผู้ร่วมออกกำลังกายทุกเช้า

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2553 ช่วงเช้าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละกลุ่มด้วยการวิเคราะห์และสรุปบทเรียนในหมวดวิชาที่ 1 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการพัฒนากระบวนการทางความคิด (72 ชั่วโมง) ซึ่งมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องอยู่ 7 รายวิชาคือทักษะการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างอุปนิสัยที่มีประสิทธิผลสูง การนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เทคนิคการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เทคนิคการนำเสนอนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ เทคนิคการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพและเทคนิคการวิจัย เจ้าหน้าที่โครงการ (น้องเจนกับน้องเอส) ได้แจกใบสรุปบทเรียน (Learning Log) คืนมาให้พวกเราเพื่อจะได้อ่านทบทวนและสรุปบทเรียนร่วมกันได้

กลุ่มปฏิบัติการที่ 4 เราใช้วิธีให้แต่ละคนสรุปประเด็นสำคัญของแต่ละรายวิชาออกมาสั้นๆ แล้วรวบรวมมาเป็นความเห็นร่วมกันของกลุ่ม หลังจากนั้นก็มอบหมายให้ผมในฐานะน้องเล็กไปจัดทำการสังเคราะห์ให้เป็นสไลด์นำเสนอที่จะต้องส่งและเป็นตัวแทนนำเสนอหน้าชั้นเรียนในสัปดาห์หน้า ผมคิดว่าการสรุปบทเรียนจากการเรียนบวกกับประสบการณ์ของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีคุณค่าและความสำคัญมาก หลายๆประเด็นผมเองก็ไม่ได้นึกถึง ทำให้นึกถึงบทเรียนที่ได้รับจากการทำกิจกรรมกลุ่มเรื่องGird ของอาจารย์พรรณิภา ที่การทำงานเป็นทีมด้วยการร่วมกันคิดวางแผนและหาความเห็นร่วมกันจะทำให้ได้ผลงานที่ดีกว่าทำคนเดียว

อาจารย์ชาติชาย ได้กำหนดให้เราระดมสมองใน 3 ประเด็นคือ ความรู้ที่ได้รับจากการฟังบรรยาย แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์มุมมองของแต่ละคน และให้ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น/มุมมองของกลุ่ม

ช่วงบ่าย เรียนวิชา ระบบทุนสากลกับตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย โดย ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ ท่านได้นำเสนอประเด็นสำคัญ “มองอนาคตไทย โอกาสใหม่หลังวิกฤติ” เสนอปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 4 ปัจจัยคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน เสถียรภาพทางการเมือง ภาวการณ์ราคาน้ำมัน และความสัมฤทธิ์ผลของการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ภาวะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงต้นของการฟื้นตัว การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังเพิ่มไม่ทันกับการบริโภคทั่วโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะชัดเจนและรวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G10) ช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวยังคงมีความเปราะบางอยู่ ปัจจัยสำคัญคือกลุ่มG10 ไม่สามารถฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ชะลอตัวเร็วเกินไป ฐานะการเงินที่อ่อนแอของบางประเทศและรัฐบาลท้องถิ่น และการเพิ่มปริมาณสภาพคล่องทั่วโลกทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นเกินจริง

ภาวะเศรษฐกิจไทยนั้น ภาคการผลิตฟื้นตัวต่อเนื่องในระดับสูง การบริโภคก็ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนยังฟื้นตัวช้ากว่า การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวสูง การท่องเที่ยวฟื้นตัวรวดเร็วจากช่วงวิกฤต การขยายตัวของสินเชื่อเริ่มกระเตื้องขึ้น มีการผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย ความเชื่อมั่นของธุรกิจกระเตื้องขึ้น ยอดขายรถเชิงพาณิชย์ฟื้นตัวได้รวดเร็ว การนำเข้าสินค้าทุนค่อยๆฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคค่อยๆสูงขึ้น จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึง 5.8% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยสรุป อาจารย์มองว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2553 ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มสูงขึ้น และมีโอกาสเพิ่มถึง 4% ในช่วง 6-9 เดือนต่อไป เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่ก็ยังคงไม่น่าวิตก อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือเสถียรภาพทางการเมือง ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณและการแก้ปัญหามาบตาพุด และความผันแปรของกระแสเงินทุนต่างประเทศและค่าเงินบาทต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

หลังการเรียนวิชานี้ มีการคัดเลือกประธานรุ่น โดยใช้วิธีเสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นประธานรุ่นให้สมาชิกในรุ่นทั้งหมดเป็นผู้เลือก ใครได้คะแนนสูงที่สุดจะได้เป็น ส่วนกรรมการรุ่นคนอื่นๆจะให้ประธานเป็นผู้เสนอชื่อเองเลย ประธานในการคัดเลือกคือคุณสุทิน มณีพรหม พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดในรุ่น

มีผู้ถูกเสนอชื่อ 1 คนคือคุณเฉลิมพล มั่งคั่งหรือพี่แจ็ค นายอำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ โดยสรุปแล้วที่ประชุมก็ลงคะแนนรับรองให้คุณเฉลิมพล เป็นประธานและเป็นคนเดียวกันกับประธานรุ่นลูกเสือที่พวกเราไปฝึกมาเมื่อเดือนก่อน

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2553 เรียนวิชา การสร้างอุปนิสัยที่มีประสิทธิภาพสูง โดยอาจารย์ ดร.สุชาติ กิ่มมณี อาจารย์พูดถึงกรอบความคิด (Paradigms) ซึ่งบางครั้งเราใช้ว่า “กระบวนทัศน์” ที่เกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของคนร่วมกับกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมจนเกิดเป็น “การมองโลกต่างมุม”  พร้อมกับย้ำด้วยว่า “ถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนอะไรก็ตาม เราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนความคิดก่อน

อาจารย์ฉายภาพ “แจกันที่มีดอกไม้” ให้เราดู พร้อมสะท้อนการมองต่างมุมของนักศึกษาแต่ละคณะ พบว่า เด็กวิศวะ “ค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำในแจกัน มีค่าเท่าไร...ดอกไม้ถึงไม่ลอย” เด็กรัฐศาสตร์ “สีขาวไม่เหมาะกับ BMW730i ของชั้น” เด็กสหเวชฯ “อย่าดมใกล้ๆนะ เดี๋ยวเกสรมันจะเข้าจมูก” เด็กเภสัชฯ “เห็นสวยๆอย่างนี้ มันเป็นสมุนไพรนะ” เด็กครุฯ “500 เลยเหรอ แพงจะตาย ซื้อทำไม สอนไม่จำ”

เด็กบัญชี “เท่าไหร่... ร้อยนึงก็ถมถืดแล้ว” เด็กอักษร “ตายแล้ว สวยประเสริฐเลิศหล้า” เด็กเศรษฐศาสตร์ “ซื้อแค่ดอกเดียวก็ได้ความพอใจสูงสุดแล้ว” เด็กแพทย์ “อยู่ไฟลัมอะไรอ่ะ” เด็กจิตวิทยา “สีขาวมันดูลึกซึ้งดีนะ” เด็กนิติฯ “จะจัดดอกไม้อย่างไร ให้มันได้รับสารอาหารเท่าๆกัน” เด็กศิลปกรรม “ใช้แจกันสังคโลกจะงามกว่านี้อีก” ดูแล้วก็เข้าท่าดีกับการมองต่างมุมนี้

"กรอบความคิด" เป็นกรอบที่ใช้อ้างอิง เป็นแว่นที่เราใช้มองโลก เปรียบเสมือนแผนที่หรือแบบจำลอง ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆออกมาในทางที่เราอยากให้มันเป็น แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่จริง เป็นที่มาของทัศนคติของเรา เป็นที่มาของพฤติกรรมของเรา โดยเราอธิบายสิ่งที่เราเห็นเหมือนกับว่าเรากำลังอธิบายตัวเอง

ถ้าเราเปรียบเทียบกรอบความคิดเรากับข้อเท็จจริง หรือเริ่มฟังความเห็นของผู้อื่น จะทำให้เรามีโลกทัศน์กว้างไกลกว่าเดิม ถ้าเราต้องการเปลี่ยนทัศนคติ อุปนิสัย และพฤติกรรม เราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิดก่อน ปัญหาต่างๆที่เราเผชิญอยู่ ไม่มีทางแก้ไขได้โดยใช้ความคิดในระดับเดียวกับที่เกิดปัญหา เพราะวิธีมองปัญหาของเรามันเป็นปัญหา และที่สำคัญกรอบความคิดควรสอดคล้องกับหลักธรรมชาติ

อาจารย์สุชาติได้เสนออีก 2 คำ คือ หลักการ (Principles) กับ ค่านิยม (Values) บ่อยครั้งที่เราพูดและใช้คำเหล่านี้โดยปราศจากความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน “หลักการ” เป็นสากล เป็นจริงเช่นนั้นเสมอตลอดเวลา ให้ผลที่สามารถคาดคะเนได้ อยู่เป็นอิสระภายนอกตัวเรา ดำเนินต่อไป ไม่ว่าเราจะเข้าใจหรือยอมรับหรือไม่ เป็นจริงในตัวเอง และเมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถอธิบายได้

ส่วน “ค่านิยม” เป็นความเชื่อ หรืออุดมคติที่มนุษย์เลือกขึ้นเอง เกิดมาจากภายใน เป็นอัตตนิยม โดยมีพื้นฐานจากการมองโลกของเรา ได้รับอิทธิพลจากการถูกอบรม เลี้ยงดู สังคมและภาพสะท้อนของแต่ละบุคคล “คำถามที่สำคัญคือค่านิยมของเราสอดคล้องกับหลักการหรือไม่ เราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมหลักการ หลักการเป็นตัวควบคุมเรา เราควบคุมการกระทำของเรา แต่ผลจากการกระทำของเราถูกควบคุมโดยหลักการ”

อุปนิสัย” เป็นการผสมผสานกันระหว่างความรู้ (ต้องทำอะไร ทำไมต้องทำ) ทักษะ (ทำอย่างไร) และความปรารถนา (ต้องการทำอะไร) เข้าด้วยกัน เมื่อเราทำสิ่งใดก็ตามด้วยความรู้ ทักษะ และความปรารถนาแล้ว จะทำให้เราสามารถทะลุไปสู่ระดับที่สูงกว่าเดิม เหมือนกับหลุดออกจากกรอบความคิดเดิม การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความเจ็บปวด ต้องอาศัยกำลังใจและต้องยอมเสียสิ่งที่ต้องการในปัจจุบันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในอนาคต เหมือนกับที่อาจารย์ถิระโรจน์พูดไว้เมื่อวันก่อนว่า คนเราชอบติดอยู่ในComfort Zone จึงไม่ค่อยยอมเปลี่ยนแปลง

อุปนิสัย 7 ประการของผู้มีประสิทธิภาพของสตีเฟ่น อาร์ โควี ประกอบด้วยคิดในทางบวก เริ่มต้นด้วยการมีจุดมุ่งหมายในใจ (คิดก่อนแล้วลงมือทำ) ทำสิ่งที่สำคัญก่อน คิดแบบชนะ-ชนะ เข้าใจผู้อื่นก่อนแล้วเขาจะเข้าใจเรา ผนึกพลังผสานความต่าง และสมดุลแห่งชีวิต (พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนทุกด้าน)

ก่อนจบอาจารย์ได้ให้ข้อคิดสำคัญว่า “เราเลือกการกระทำของเราได้ แต่เราไม่สามารถเลือกผลที่ตามมาจากการกระทำได้ เพราะมันถูกควบคุมโดยหลักการหรือกฎธรรมชาติ ไม่มีใครทำร้ายเราได้ เว้นแต่เราจะยอมให้เขาทำร้ายเรา สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั่นแหละที่ทำร้ายเรา

หลังจบการบรรยาย ผมก็ขับรถกลับบ้านที่จังหวัดตากเพื่อไปหาครอบครัวด้วยความคิดถึง หลังจากกลับจากเบลเยียมแล้ว เราแทบจะไม่ได้ห่างกันนานๆเลย กลับคราวนี้มีท่านนายอำเภอเชวงศักดิ์ ใจคำ (นายอำเภออุ้มผาง) นั่งกลับเป็นเพื่อนด้วย ทำให้ไม่เหงา ได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆกันมาตลอดพร้อมกับเปิดเทปภาษาอังกฤษฟังไปด้วย

ผมนึกถึงการเลือกคณะกรรมการรุ่น คิดว่าทางกลุ่มนักเรียนนายอำเภอ (นอ.) รุ่น 48 และ 49 คงตกลงกันมาแล้วว่าจะเสนอใคร ในรุ่นไหน ซึ่งท่านเฉลิมพล เป็น นอ.49 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ส่วนกลุ่มคนอื่นๆที่มาจากต่างกรมและต่างกระทรวงก็คงไม่มีใครอยากเป็นประธาน เพราะอาจไม่มีพลังพอในการติดต่อกับทางมหาดไทย

มีที่คณะที่ปรึกษา 11 คนคือคุณศรายุทธ กัลยาณมิตร ผู้อำนวยการกองงานบริหารองค์กรต่างประเทศ คุณพีรพงศ์ ศิริเกษม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ กรุงเทพฯ คุณชัยสิทธิ์ วรคำแหง อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร คุณโภคากร (พี่โภ) สินสกลวัฒน์ นายอำเภอท่าสองยาง ตาก คุณสมฤทธิ์ วิไลพรรัตนา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำภาคที่ 4 คุณสมฤกษ์ บัวใหญ่ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองคาย คุณวันชัย คงเกษม ผู้อำนวยการกองสารนิเทศมหาดไทย คุณทรงยศ (พี่โอม) โรจนวีระ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การงบประมาณ สำนักงบประมาณ คุณประเสริฐ  (พี่เสิด) จิตมุ่ง นายอำเภอดอนสัก สุราษฎ์ นายชัยชาญ (พี่ช้าง) สิทธิวิรัชธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทะเบียนที่ดินกรมที่ดินและว่าที่ ร.ต. ไพเจน มากสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมกรมชลประทาน

คณะกรรมการรุ่นมี 15 คน มีคุณเฉลิมพล เป็นประธาน มีรองประธาน 4 คน คือผม คุณสัญชัย (พี่ยาว) เกตุวรชัย ผอ.สำนักโครงการขนาดใหญ่กรมชลประทาน คุณยุทธนา นุชนารถ (พี่แดง) และคุณวิสิษฐ์ พวงเพชร (พี่หนู) กรรมการด้านต่างๆมีคุณสุรจิต พัฒนสาร อัยการผู้เชี่ยวชาญ (ฝ่ายกฎหมาย) คุณจำรัส กังน้อย นายอำเภอสังขละบุรี (ฝ่ายวิชาการ) นายเศรษฐพร (พี่แบน) เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ (ฝ่ายศึกษาดูงาน) คุณอุกฤษฎ์ (พี่ธิ) มนูจันทรัถ ผอ.กองกิจการนิสิต มก. กำแพงแสน(ฝ่ายกีฬาและบันเทิง) คุณณัฏฐญา (พี่นัด)พัฒนะวาณิชนันท์ ผู้ช่วยผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุข (ฝ่ายประชาสัมพันธ์)

คุณรัชนี (พี่รัด)นำพูลสุขสันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การงบประมาณ (ฝ่ายจัดหารายได้) คุณวุฒินันท์ (พี่ไก่) สิลมัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยี การประปานครหลวง (ฝ่ายเทคโนโลยีการสื่อสาร) คุณจรัส (พี่หรัด) ใยเยื่อ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครนายก (ฝ่ายเหรัญญิก/การพัสดุ) คุณเชาวลิตร แสงอุทัย นายอำเภอเกาะจันทร์ ชลบุรี (เลขานุการ) และ พ.ต.อ. กฤษฎา (พี่เก่ง) สุรเชษฐพงษ์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจสันติบาล (ผู้ช่วยเลขานุการ)

หมายเลขบันทึก: 383224เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท