นปส.55 (15): หน้าต่างบานกว้าง


ธรรมชาติให้ความสุขมนุษย์มา 5 อย่างคือรอยยิ้ม หัวเราะ เสียงร้องเพลง คิดดีและพูดดี

(15): หน้าต่างบานกว้าง

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการฝึกอบรม การเรียนรู้ในห้องเรียนจากวิทยากรก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในขณะเดียวกันการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากเพื่อนๆก็ดำเนินไปด้วยดี รู้จักกันมากขึ้น เปิดใจกันมากขึ้น เวลาเดินผ่านกันก็มีรอยยิ้มจากใจของความสนิทสนมกัน วงกินข้าวก็เริ่มหมุนเวียนสลับเปลี่ยนหน้ากันมากขึ้น หน้าต่างหัวใจของแต่ละคนเปิดรับสิ่งใหม่ๆจากกันและกันมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2553 เรียนวิชาเทคนิคการนำเสนอนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยอาจารย์ ดร.อุทิศ ขาวเธียร อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกรรมการมหาวิทยาลัยสยาม ที่ได้พูดถึงวิวัฒนาการของกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศ แผน 1 ถึง 4 เราเน้นส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรม (ปี 2504-2524) พอแผน 5-7 เราเริ่มเน้นการพัฒนาแบบสมดุล สนใจการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคม จนถึงแผน 8-10 (ปี 2540-2554) เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจพอเพียง

จากแผน 8-10 เริ่มเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ที่สำคัญคือเศรษฐกิจพอพียงและการพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืน ในแผน 8 (2540-44) มุ่งคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา-เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ ใช้วิธีการ-บูรณาการ/องค์รวม สร้างการมีส่วนร่วมจากล่างขึ้นบนโดยประชาชนเพื่อประชาชน แผน 9 (ปี 2545-49) ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คนเป็นศูนย์กลางอย่างอยู่ดีมีสุข เน้นสังคม-สิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจสู่สมดุลอย่างยั่งยืนโดยวิธีการบูรณาการ/องค์รวม

แผน 10 (ปี 2550-54) เน้นการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คนเป็นศูนย์กลางกับความอยู่ดีมีสุข สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เกิดดุลยภาพเชิงพลวัตร ใช้วิธีการบูรณาการ/องค์รวม/คุณธรรมนำความรู้และใช้ทุนประเทศ สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมพัฒนาทุกขั้นตอน

กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ปรับเปลี่ยน สู่ความพอเพียง ปรับจากมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสู่คนเป็นศูนย์กลางความอยู่ดีมีสุข ยึดคนเป็นตัวตั้ง ประชาชนได้รับประโยชน์ มีความอยู่ดีมีสุข ปรับวิธีคิดแบบแยกส่วนรายสาขาสู่องค์รวมบูรณาการเชื่อมโยงทุกมิติ ยึดหลัก “ภูมิสังคม” ตามความแตกต่างหลากหลายของสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่กับวิถีชีวิตชุมชน ปรับกระบวนการพัฒนาจากบนลงล่างสู้กระบวนการพัฒนาจากล่างขึ้นบน เริ่มพัฒนา “ตามลำดับขั้น” ด้วยการพึ่งพาตนเอง-รวมกลุ่ม-สร้างเครือข่าย-เชื่อมสู่ภายนอก “ระเบิดจากข้างใน” ทั้ง 3 ปรับนี้เน้นคนเป็นศูนย์กลาง ผลประโยชน์ประชาชน ภูมิสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

การพัฒนาประเทศตามแผน 10 มีวิสัยทัศน์สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน “คนไทยมีคุณธรรม” ภายใต้พันธกิจการพัฒนา 4 ประการคือพัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมคุณธรรมและรอบรู้อย่างเท่าทัน ครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพเสถียรภาพเป็นธรรม ดำรงความหมาลกหลายทางชีวภาพสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากวิสัยทัศน์พันธกิจดังกล่าว ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ไว้ 5 ประการ คือพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ เสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลยั่งยืนและพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

อาจารย์อุทิศ ยังได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาประเทศสู่แผน 11 ใน 5 ประเด็นสำคัญคือด้านความท้าทายและโอกาสของเศรษฐกิจไทย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านโอกาสบนวิกฤติภาวะโลกร้อน ด้านสถาปัตยกรรมทางสังคมและด้านสัญญาประชาคมใหม่ โดยสังคมไทยในอนาคตควรยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยต้องกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญคือการปรับโครงสร้างสังคม การส่งเสริมบทบาทครอบครัวและชุมชน การพัฒนาคนทุกกลุ่มตามช่วงวัย และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค

พร้อมกันนี้อาจารย์ยังได้เสนอสภาพของสังคมไทยที่พึงปรารถนาใน 20 ปีข้างหน้า 5 ประการคือ 1) คนไทยมีความรู้ ความสามารถและทักษะชีวิตที่ดี มีจิตสาธารณะ มีทักษะความรอบรู้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย 2) ครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น มีสัมพันธภาพที่ดี เสริมสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่สมาชิกในครอบครัว 3) ชุมชนมีความเอื้ออาทรพึ่งตนเองได้ รวมกลุ่มเข้มแข็ง ปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีบทบาทในการพัฒนา จัดการปัญหาด้วยตนเอง  4) สังคมมีความปลอดภัยมั่นคงด้วยปัจจัยพื้นฐาน บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ พอเพียงเกื้อหนุนการสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง มีการพัฒนาที่สมดุลในทุกมิติตามภูมิสังคม และ 5) ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาค

อาจารย์อุทิศ พูดประโยคหนึ่งที่กินใจ “มันเป็นไปได้ไง ที่คนทั้งคนทำงานทั้งปีแล้วยังไม่มีจะกิน สังคมมันไม่แฟร์ สังคมแบบนี้ไม่เป็นธรรม เราต้องพัฒนาสังคมให้เป็นธรรม” และได้พูดทิ้งท้ายด้วยว่า “แผนชาติ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ไม่ใช่แผนที่ดีที่สุดของภาคีใดภาคีหนึ่ง แต่เป็นแผนที่แต่ละภาคีพอยอมรับได้ เป็นแผนของประเทศโดยพระปรมาภิไธยของในหลวง  (แผนของแผ่นดิน) ทำเพื่อสนองความต้องการของทุกฝ่าย

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2553 ช่วงเช้า เรียนวิชา สุนทรียศาสตร์สำหรับนักปกครองและนักบริหาร กับอาจารย์เสาวนีย์ สังฆโสภณ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการเรียนที่สนุกผ่อนคลายดีมาก มีการทำกิจกรรมร้องเพลงเพื่อสุขภาพ การประยุกต์ใช้สุนทรียศาสตร์ในชีวิต เวลาสอนอาจารย์จะยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาสดชื่นเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เรียนไม่เครียดและสนุกไปกับการเรียน ทำตามเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สุนทรี เป็นความรู้สึกที่ดี งดงามมีคุณค่า ที่เกิดขึ้นในจิตใจเมื่อได้สัมผัสสิ่งต่างๆจากการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส การสัมผัส ได้แก่ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย สบาย อิ่มใจ ประทับใจ เป็นต้น

ธรรมชาติให้ความสุขมนุษย์มา 5 อย่างคือรอยยิ้ม หัวเราะ เสียงร้องเพลง คิดดีและพูดดี บ่อยครั้งที่เราพบว่า เราอยากได้ความสุขแต่เรากลับละเลยสิ่งของ 5 สิ่งนี้ไป แล้วไปขวนขวายหาความสุขจากวัตถุภายนอกตัวเรา ไขว่คว้าเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับความสุขอย่างจริงแท้ซะที ยิ้มเป็นเครื่องประดับที่มีค่าที่สุดของมนุษย์ หลายคนสวมสร้อยทอง กำไลหยก แหวนเพชรวงเบ้อเริ่มแต่ใบหน้ากลับปราศจากรอยยิ้ม ทำให้ความงดงามลดลงไปเยอะ

รอยยิ้มที่พึงประสงค์ จะประกอบด้วยรอยยิ้มที่มีความจริงใจ ไม่ฝืนความรู้สึก รอยยิ้มที่ทำให้เกิดความสบายใจกับตนเอง รอยยิ้มที่สร้างสัมพันธภาพที่ดี รอยยิ้มที่ให้ความรู้สึกดีแก่ผู้อื่น และรอยยิ้มที่เหมาะสมกับกาลเวลา สถานที่และบุคคล การยิ้มทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองดี ระบบต่างๆในร่างกายผ่อนคลาย ช่วยลดความเครียด ทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ทำให้หายป่วยได้เร็วขึ้น และเป็นยารักษาความงาม ชะลอความเหี่ยวย่นบนใบหน้า

ส่วนการหัวเราะช่วยทำกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและหัวใจ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อในร่างกาย รักษาสมดุลของการหายใจ กระตุ้นการทำงานของระบบความคิดความจำ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้และช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด

อาจารย์สอนให้เราฝึกทำกิจกรรมสุนทรีในการทำงานด้วยการฝึกการให้ ให้สิ่งดีๆแก่ผู้อื่น ฝึกวิธีคิดให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ฝึกความรักสามัคคีการทำงานเป็นทีม ฝึกใช้คำพูดสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ยินดีให้บริการ คำอวยพรให้สุขภาพดี และให้เริ่มต้นวันใหม่ที่ดีกว่าด้วยอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลัง น้ำสะอาด แสงแดดอ่อน อากาศดี การพักผ่อนและมีสติรู้จักประมาณตน

อาจารย์ได้ยกคำกล่าวให้เป็นคติเตือนใจเราว่า “มั่งมีไปก็เท่านั้น ไม่มีใครกินเกินความใหญ่ของท้องสักคน สุขสบายกว่าก็เท่านั้น ไม่มีใครสบายถาวรสักคน มีอำนาจก็เท่านั้น ไม่มีใครใหญ่กว่าโลงสักคน เป็นคนดีไม่ได้ ก็เป็นแค่คนธรรมดา คนที่เราควรสั่งสอนที่สุดคือคนที่อยู่หน้ากระจกเงา จงเอาอย่างกระจกเงา รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ให้อำนาจเข้ามาครอบงำ พึงระลึกเสมอว่า ความดีย่อมไม่ดับสูญ

ช่วงบ่าย เรียนวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพผู้นำ โดยอาจารย์สุดสวาท สุดจริตกุล เป็นการบรรยายสลับการฝึกปฏิบัติทั้งเดิน ยืน นั่ง การใส่เสื้อผ้า ชุด แว่นตาให้เหมาะกับบุคลิกภาพของแต่ละคน เพื่อเป็นการเสริมภาพลักษณ์ที่ต้องประกอบด้วย ท่วงท่าอิริยาบถและมาดสำหรับนักบริหาร มารยาทในการเข้าสังคม และการแต่งกายเพื่อเสริมบุคลิก อาจารย์ให้พวกเราฝึกเดินให้ดูและวิพากษ์เพื่อจะได้ปรับปรุง บางคนอาจเดินไหล่ตก หลังค่อม เอียงข้าง ขากาง ลากเท้า โน้มตัวมากไป ส่ายไปส่ายมา ผมสังเกตว่าพวกเราสนใจกันมากเพราะมีอาจารย์ช่วยสะท้อนลักษณะการเดินให้ทราบ

โดยรวมแล้วคือต้องการฝึกให้เรามี “มาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในต้องเยี่ยม” อาจารย์เน้นว่าบุคลิกภาพที่ดีมี 5 ส่วนคือมาดดี (อิริยาบถ ภาษากาย) พูดจาดี (น้ำเสียงเป็นมิตร ภาษาสุภาพ) แต่งกายดี อารมณ์ดี (ทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น) และกาลเทศะ (มารยาทที่จำเป็นที่ต้องคำนึงถึงทั้งความเกรงใจ ความปลอดภัยสะดวกสบาย การให้เกียรติ ความเข้าใจ การแสดงอัธยาศัย)

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2553 เรียนวิชาเทคนิคการวิจัย การคิด การกำหนดมาตรฐานในการบริหารจากการอ่านผลงานวิจัย โดยอาจารย์ ดร.สุรพล กาญจนะจิตรา คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่งและรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์พูดถึงหลักการในการทำวิจัยและการรายงานการวิจัย การศึกษาหรือการวิจัยเป็นกระบวนการหาคำตอบให้กับปัญหาการวิจัยโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดี (เชื่อถือได้และเที่ยงตรงมากที่สุด)

การวิจัยคือกระบวนการทางปัญญา มีการรับรู้ความจริง นำความจริงที่รับรู้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เป็นความรู้ที่สูงขึ้น นำความรู้ไปใช้อย่างเหมาะสม และประเมินการใช้ความรู้นั้นว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด การวิเคราะห์เป็นการนำเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกับหลักการความรู้แล้วค่อยมาให้ความเห็น แต่การวิจารณ์อาศัยความเห็น ความรู้ ประสบการณ์จากเจ้าตัววิจารณ์ จะยอมรับไม่ยอมรับอยู่ที่ตัวคนวิจารณ์

หลังเสร็จสิ้นการบรรยายผมก็ขับรถกลับจังหวัดตากโดยใช้เวลาราว 5-6 ชั่วโมง อาศัยการฟังซีดีภาษาอังกฤษฆ่าเวลาไป บางครั้งก็ฟังเพลงฝรั่งซึ่งแต่ก่อนผมไม่เคยฟังเลย แต่ด้วยความที่อยากพัฒนาภาษาอังกฤษก็เลยพยายามฟัง แล้วก็รู้สึกว่า น่าเสียดายโอกาสที่เมื่อก่อนตัวเองไปแอนตี้เพลงฝรั่ง หนังฝรั่งทำให้การพูดและการฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ แม้จะเรียนภาษาอังกฤษได้เอทุกตัวก็ตาม ตอนไปเรียนที่เบลเยียมเมื่อปีก่อนจึงมีปัญหาในการฟังอย่างมาก

วันพฤหัสบดีที่13 พฤษภาคม 2553 หยุดวันพืชมงคล สัปดาห์นี้ได้พักอยู่บ้านกับครอบครัวถึง 4 วัน ลูกๆดีใจกันมาก น้องขลุ่ยรีบกระโดดกอดพ่ออย่างคิดถึงพร้อมกับกระโดดโลดเต้นดีใจที่รู้ว่าพ่อจะได้อยู่บ้านหลายวัน น้องขิมก็เข้ามากอดหอมแก้มพ่อชุดใหญ่ น้องแคนก็ได้แต่ยิ้มๆไม่ค่อยหอมแก้มพ่อหรือยอมให้กอดแล้วเพราะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว ถ้าพ่อหรือแม่ไปกอดแคนจะเริ่มรู้สึกอาย ยิ่งต่อหน้าเพื่อนยิ่งไม่ได้ใหญ่

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2553 หยุดชดเชยวันที่ 5 พ.ค. ที่ไม่ได้หยุดเพราะไปศึกษาดูงาน นึกถึงบทเรียนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เรามีแผนชาติที่ดีมากโดยเฉพาะแผน 10 แต่น่าเสียดาย เรามีกระบวนการนำแผนไปปฏิบัติไม่ดีพอ เรามีนักวาง (สั่ง) กับนักพูดเยอะ แต่นักทำไม่มาก ส่วนใหญ่ทำน้อยพูดมาก (NATO= No action, Talk only) ส่วนพวกทำมากพูดน้อย (AFTA= Action first, Talk after) ไม่ค่อยมี

ผมคิดเอาเองว่า แผน 11 ที่จะมาถึง ไม่ต้องทำแผนใหม่แล้ว ขอให้ตั้งธงไปเลยว่า แผน 11 คือ การนำเอาแผน 10 ลงไปปฏิบัติอย่างจริงจังให้เห็นรูปเห็นร่าง กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่ไปถึงประชาชน กำหนดการทำงานที่บูรณาการกันจริง แค่นี้เมืองไทยก็ไปโลดแล้ว

หมายเลขบันทึก: 383217เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท