๗.UKM18 : ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital and Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ


การจัดประชุม อบรมสัมนา และจัดกิจกรรมทางวิชาการ ตลอดจนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นสาธารณะระดับต่างๆนั้น นับว่าเป็นสาระสำคัญในความเป็นหน่วยจัดการความรู้ของสถาบันการศึกษาระดับต่างๆนับแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นเครื่องมือและวิธีการพื้นฐานสำหรับจัดการความรู้ ทำประสบการณ์ของสังคมให้เป็นความรู้และตัวปัญญาที่สืบทอดแพร่หลายด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะโดยการพัฒนาหลักสูตรแล้วดำเนินการจัดกระบวนการทางการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงวิถีชีวิตของสังคมและศิลปวัฒนธรรม รวมไปจนถึงการเรียนรู้และการจัดการความรู้ในวิถีประชาสังคมไม่ว่าจะในครอบครัว แหล่งการใช้ชีวิต ตลาด การสร้างประสบการณ์ชีวิตจากสื่อ ท่องเที่ยวไปตลอดเส้นทางชีวิตและการงาน ก็เช่นกัน

  การเก็บบันทึกข้อมูลเป็นขั้นต้นของวิธีจัดการความรู้ผสมผสานกับระบบนอกตัวคน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาความรู้และวิธีปฏิบัติในงาน Documentation เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบและทรัพยากรข้อมูลสารสนเทศ ทำเป็นสื่อและเครื่องมือจัดการความรู้ ถ่ายทอด สื่อสาร และขยายผลในขอบเขตต่างๆ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการทำงานที่สำคัญ ซึ่งจัดว่าเป็นขั้นตอนแรกๆที่จะทำให้ประสบการณ์และความรู้สามารถยกระดับสู่การจัดการในขั้นต่อๆไปได้ อีกทั้งมีความหมายต่อการจัดการความรู้เพื่อเสริมพลังการปฏิบัติ ส่งเสริมวัฒนธรรมการสร้างและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต มากเป็นอย่างยิ่ง

 การถ่ายภาพและวิดีทัศน์เป็นการบันทึกข้อมูลที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง

การถ่ายรูป บันทึกภาพกิจกรรมการเคลื่อนไหว การบันทึกเสียง และการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสัมผัสกิจกรรมต่างๆ ให้สามารถเกิดความเข้าใจในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้อย่างลึกซึ้ง ได้ฟัง ได้เห็น ได้เรียนรู้ และบันทึกเป็นประสบการณ์อย่างเข้าใจเหมือนตนเองเป็นเครื่องมือวิจัยและเก็บบันทึกข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด เหล่านี้ จัดว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ที่ต้องมีโอกาสได้พัฒนาความรู้และคิดค้นวิธีจัดการความรู้ให้มีความเหมาะสมเพียงพออยู่เสมอ

  การเก็บบันทึกข้อมูลภาพไม่สามารถย้อนเหตุการณ์ได้เหมือนวิธีเขียน จึงมีวิธีคิดและ Methodology จำเพาะ  

ในการประชุมเวที UKM-18 ครั้งนี้ ผมได้เห็นมือกล้องและมือบันทึกภาพเคลื่อนไหวกลุ่มใหญ่ในกิจกรรมต่างๆตลอดการประชุม ดูคึกคักและตื่นตัว ซึ่งก็เชื่อว่ามีความผสมผสานกันทั้งกลุ่มคนทำงานที่ระดมมาจากหลายคณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กับกลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม และกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เห็นเป็นโอกาสได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากการทำงานจริง

ในบางกิจกรรม โดยเฉพาะในช่วงพิธีเปิดการประชุมและการบรรยายของวิทยากรที่สำคัญ กลุ่มจัดการความรู้ขั้นต้นซึ่งมีบทบาทต่อการเก็บบันทึกข้อมูล ทำให้สิ่งที่กำลังจะผ่านไปให้เป็นข้อมูลและสารสนเทศที่เก็บบันทึกเข้าสู่ระบบซึ่งจะบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม ก็จะคึกคักเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนกับกลุ่มนักข่าวและสื่อสารมวลชน ซึ่งดูแล้วก็เป็นเรื่องปรกติและพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเวทีประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ในแง่การมีความสำคัญแล้ว ก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ จึงมีความสำคัญต่อการเก็บบันทึกข้อมูลด้วยการถ่ายภาพและวิดีทัศน์

  แนวคิด ทฤษฎีการถ่ายภาพ และการเก็บบันทึกข้อมูลภาพ ไม่เหมือนเดิมแล้ว 

แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตและสะท้อนทรรศนะไว้เพื่อเห็นแนวทางพัฒนาการดำเนินงานเหล่านี้ให้เกิดมรรคผลสอดคล้องกับความสำคัญที่แท้จริงที่คนทั่วไปมักมองข้าม และขาดแคลนการสร้างความรู้ขึ้นใช้เองให้สอดคล้องกับความจำเป็นอยู่อีกมาก

การถ่ายภาพในยุคปัจจุบัน ซึ่งกล้องและเทคโนโลยีสำหรับจัดการข้อมูลและสารสนเทศที่เป็นข้อมูลภาพและเสียง เป็นระบบดิจิตอลและมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นฐานนั้น มีคุณภาพรองรับการใช้งานที่จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีถ่ายภาพและเก็บบันทึกข้อมูลเหมือนกับในอดีตอีกแล้ว เช่น กล้องขนาดเล็กมีเลนส์ที่กำลังการดึงภาพสูงกว่าในอดีต ทำให้สามารถถ่ายภาพจากระยะไกลเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมด แล้วไปทำงานบนกระบวนการ Post-Production เหมือนกับการถ่ายภาพอีกรอบได้ โดยไม่ต้องเดินเข้าไปใกล้สิ่งที่ต้องการถ่าย

อีกทั้งเทคโนโลยีการสะท้อนภาพและบันทึกข้อมูลของเทคโนโลยีภาพโสตทัศน์ในปัจจุบันนั้น ก็ใช้หลักอุณหภูมิของสีและแสง แปรไปสู่พลังงานไฟฟ้าและสัญญาณดิจิตัล เป็นหลักการสร้างภาพด้วยระดับพลังงานความร้อน ไม่ใช่หลักเกี่ยวกับระดับส่องสว่างและการสะท้อนแสงกับการทำปฏิกริยาเคมีบนแผ่นฟิล์มและกระดาษอย่างในอดีต จึงทำให้สามารถถ่ายภาพได้รายละเอียดสูงเพียงพอต่อการนำไปใช้งานได้ แม้ในสภาพแวดล้อมที่แสงสว่างต่ำ ไม่เหมือนกับในอดีตซึ่งต้องการแฟลชที่ดีและต้องมีแสงสว่างพอสมควร

ในทางศิลปะนั้น ย่อมรู้กันดีว่าแม่สีและทฤษฎีของแสงดังเช่นการทำงานบนสกรีนเพลย์ ทีวี คอมพิวเตอร์กราฟิค และสื่อไฟฟ้า เป็นทฤษฎีและวิธีคิดคนละชุดกับทฤษฎีสีจากมวลสารและเคมีดังเช่นการเขียนภาพบนเฟรม กระดาษ และพื้นผิววัสดุต่างๆ อีกทั้งหลายสิ่งก็กลับจะอยู่คนละขั้วตรงข้าม แม้ต้องการผลออกมาเหมือนกัน เช่น ในทฤษฎีสีที่เป็นมวลสารระบายและผสมกันด้วยเนื้อสีบนกระดาษหรือบนเฟรมนั้น การรวมและผสมกันของแม่สีและทุกสีในวงจรจะได้ผลเป็นสีที่เข้มขึ้นเป็นสีดำ เทา น้ำตาล

ทว่า แม่สีของแสงและพลังงานความร้อนนั้น หากยิ่งรวมกัน แทนที่จะเกิดการผสมผสานและทำให้ได้สีที่เข้มข้นขึ้น ก็กลับยิ่งให้พลังงานความร้อนและเกิดความสว่างมากขึ้น กระทั่งจ้าเป็นสีขาว ได้ผลเป็นตรงกันข้ามคือได้สีกลางและเป็นความสว่างหรือความไม่มีสีที่ตนเองโดยตรง

สิ่งเหล่านี้ นับว่าเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับหลักคิดสำหรับการถ่ายภาพและการจัดการข้อมูลภาพด้วยเทคโนโลยี IT ในปัจจุบัน เป็นความรู้และวิธีปฏิบัติที่จะต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่ถึงในระดับกระบวนทรรศน์ต่อความจริงที่จะถูกสร้างขึ้นมาใช้กันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เลนส์และการปรับความคมชัดของกล้องดิจิตัลนั้น ทั้งโครงสร้างและระบบการทำงานไม่เหมือนกับชุดเลนส์สะท้อนแสงอย่างในอดีต ซึ่งการทำงานและการปรับระยะชัดลึกต่างๆจะมีความสัมพันธ์กับระยะทางของกล้องกับสิ่งที่ถ่าย และทางยาวโฟกัสในตัวเลนส์จากเลนส์ถึงแผ่นบันทึกข้อมูลซึ่งในอดีตได้แก่แผ่นฟิล์มจะทำงานเหมือนกับสายตาและการมองของคน กล่าวคือ ชัดเป็นบางจุดที่สนใจเพ่งมองและเบลอในส่วนที่เป็นบริบทแวดล้อม ทว่า ในกล้องดิจิตัลราคาถูกในปัจจุบันนั้น ความคมชัดเป็นการคมชัดทุกจุด สิ่งที่เห็นในวิวไฟเดอร์หรือช่องมองภาพจะเป็นข้อมูลภาพแบบเดียวกับที่จะถูกบันทึก

  ข้อมูลภาพดิจิตัลที่กล้องบันทึกกับสิ่งที่เห็นในกรอบมองภาพ  

ดังนั้น เพียงทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ ไม่ต้องปรับโฟกัสก็จะสามารถบันทึกข้อมูลภาพทั้งหมดลงเป็นไฟล์ภาพ จังหวะการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์สำคัญจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อการจัดองค์ประกอบภาพเชิงเดี่ยวและการปรับความคมชัดจำเพาะจุดที่เป็นจุดเด่นของเหตุการณ์อย่างในอดีต ทว่า สามารถบันทึกให้ครอบคลุมรายละเอียดในจังหวะสำคัญได้อย่างรวดเร็ว

 การจัดการข้อมูลภาพให้ความพิถีพิถันและพัฒนาเงื่อนไขทางเลือกได้หลายขั้นตอน

ยิ่งไปกว่านั้น ขั้นตอนหลังการถ่ายภาพและเก็บบันทึกข้อมูล หรืองาน Post-Production ในปัจจุบัน ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคการต้องอาศัยระบวนการล้างฟิล์มและอัดขยายภาพลงบนกระดาษ เนื่องจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และซอล์ฟแวร์สำหรับจัดการข้อมูลจะสามารถผสมผสานบทบาทการทำงานได้ถึง ๓ ระบบซึ่งในอดีตจะแยกส่วนกันอยู่ คือ

  • การนำมาเลือกจัดองค์ประกอบภาพใหม่ได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งในอดีตต้องเน้นทักษะฝีมือตลอดจนความสามารถทางแนวคิดในขั้นตอนการถ่ายและเก็บบันทึกภาพ รวมทั้งต้องอาศัยคุณภาพของกล้องและอุปกรณ์มากเป็นอย่างยิ่ง
  • การปรับความคมชัดของภาพอัดขยาย ระดับแสงและสี ซึ่งในอดีตจะเป็นงานฝีมือแล็บ
  • การปรับแต่งรายละเอียดให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นงาน Retouching และในอดีตจะทำได้ก็แต่จำเพาะมืออาชีพ

องค์ประกอบทั้งหมดโดยสรุปนี้ ในปัจจุบันกลายเป็นงานพื้นๆที่สามารถทำได้ด้วยผู้ใช้ทั่วไป ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่มือกล้องจะต้องเดินเข้าไปถ่ายภาพใกล้ๆและเลือกสรรมุมถ่ายภาพด้วยการทำงานของเลนส์และวิธีจัดองค์ประกอบภาพแบบหนึ่งภาพหนึ่งประเด็นเรื่องราวอย่างในอดีตอีกแล้ว ซึ่งบางครั้งจะมีส่วนสำคัญต่อการทำให้บรรยากาศและกระบวนการประชุมไม่เกิดความจอแจ ลดการเป็นสิ่งรบกวนและส่งผลต่อการหันเหสมาธิทั้งของวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุม

  การถ่ายภาพและเก็บบันทึกข้อมูลเป็นการเรียนรู้วิธีเรียนรู้ของคนทำงานด้วยความรู้  

การถ่ายภาพจากมุมอื่นซึ่งในอดีตจะทำได้ยาก นอกจากจะสามารถลดสิ่งรบกวน (Noise) บรรยากาศของการประชุม การบรรยาย และการเรียนรู้ต่างๆแล้ว ก็อาจจะทำให้สามารถได้มุมมองใหม่ๆของการบันทึกและเล่าเรื่องราวด้วยภาพ รวมทั้งทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมสามารถเป็นมือถ่ายภาพ ใช้กล้องและอุปกรณ์จัดการความรู้สารสนเทศต่างๆเหมือนกับเป็นสิ่งพื้นฐานอย่างหนึ่ง ดังเช่น ปากกา ยางลบ ที่คนทำงานความรู้ต้องคุ้นเคยและสามารถนำมาใช้สำหรับการทำงานได้เป็นอย่างดี แม้นั่งประชุมหรืออยู่หลังห้องประชุม ก็สามารถเก็บบันทึกข้อมูลไปด้วยได้เป็นอย่างดี

แนวคิดและการพัฒนาวิธีปฏิบัติใหม่ๆดังกล่าวนี้ จะช่วยให้กิจกรรมและหน่วยจัดการความรู้ในโอกาสต่างๆ สามารถสร้างความมั่งคั่งของข้อมูลเพิ่มขึ้นด้วยหลายแนวคิด พร้อมกับสามารถสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความสนใจให้มุ่งไปสู่จุดเด่นของเนื้อหาสาระในกิจกรรมต่างๆได้ดีมากยิ่งๆขึ้น นับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมากทีเดียว.

............................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่
ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 382510เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท