๑. UKM18 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม : คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน


  เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย 

เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (University Knowledge Management Networking : UKM) เป็นการมุ่งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อบูรณาการบทบาทของภาคีวิชาการกับภาคสังคม ในอันที่จะระดมพลังเพื่อการพัฒนาประเทศให้สนองตอบต่อเงื่อนไขและความจำเป็นได้อย่างเพียงพอ ทัดเทียมกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการขยายตัวขึ้นอย่างซับซ้อนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นและของสังคมโลก เกินกว่าจะสามารถทำได้แต่เพียงลำพังของมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง

จัดว่าเป็นหน่วยประสานเครือข่ายความร่วมมือและบริหารจัดการด้วยรูปแบบ เครือข่ายบูรณาการหลายศูนย์ประสานงาน (Multi-Centers Integration Networking) มีบทบาทความสำคัญเท่าเทียมเสมอกัน กระจายอยู่ใน ๗ มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมกับการพัฒนาอย่างคู่ขนานไปด้วยของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส) เพื่อเป็นหน่วยระดมการสนับสนุนทางวิชาการและสะท้อนการผสมผสานบทบาทของภาคีวิชาการต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ สู่การสร้างความเคลื่อนไหวในระดับชาติ

  จุดหมายเพื่อเชื่อมโยงกันเป็นพลังปัญญาของสังคมและการปฏิรูปตนเองของมหาวิทยาลัย 

อาจจะกล่าวเพื่อเห็นแนวคิดกว้างๆได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในด้านกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองของสังคมไทย ที่สำคัญคือการเสริมกำลังการปฏิรูปตนเองและนำตนเองไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพื่อสร้างความเป็นอิสระของภาคีทางวิชาการและยกระดับพลังจัดการทางปัญญาของประเทศให้สามารถชี้นำการพัฒนา รวมทั้งเชื่อมโยงกับความเป็นไปของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทำให้สังคมมีพลังในการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับสังคมโลก มีการพัฒนาที่สมดุลและก่อเกิดความมั่นคงยั่งยืนในด้านต่างๆมากยิ่งๆขึ้น

แนวคิดที่สอดคล้องไปกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวแนวทางหนึ่งนั้น ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ที่บูรณาการกับภาคปฏิบัติ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อพลังทุนศักยภาพของปัจเจกและปัจจัยทุนมนุษย์ พร้อมกับการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการภายในตนเองของมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดังนั้น จึงมุ่งการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อเรียนรู้และจัดการความรู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นที่มาของเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการต่างๆร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องดังปัจจุบัน

 รองรับพลังปัญญาทางสังคมและสานพลังด้านความมีจิตสาธารณะของพลเมือง 

กลุ่มผู้ได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีจัดการความรู้มหาวิทยาลัยในแต่ละเวทีนั้น ในขั้นต้นก็เชื่อกันว่าจะเป็นกลุ่มชุมชนผู้ปฏิบัติ : CoPs ที่จะเป็นเครือข่ายเรียนรู้และนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆสะท้อนไปสู่มหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายกัน ก่อเกิดพลังในการเชื่อมโยงกับสังคมให้บรรลุจุดหมายการพัฒนาประเทศในยุทธศาสตร์ใหม่ๆที่ต้องการต่อไปได้ดียิ่งๆขึ้น เป็นเครือข่ายเรียนรู้เพื่อพัฒนาบทบาทความเป็นหน่วยทางปัญญาของสังคมในการสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่มีความสมดุลและพอเพียงต่อความจำเป็นต่างๆได้อยู่เสมอ

กลุ่มคนที่มหาวิทยาลัยต่างๆเลือกสรรให้มีโอกาสเข้าร่วมเวที รวมทั้งลักษณะกิจกรรมและวิธีคิดวิธีแสดงออกหลายประการ มีลักษณะที่สะท้อนถึงการมุ่งพัฒนาเครือข่ายวิชาการและเครือข่ายเรียนรู้เชิงปฏิบัติการสังคมของคนที่เน้นพลังความมีจิตสาธารณะและมีทรรศนะเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ที่กว้างขวาง มากกว่าความสำนึกติดอยู่ในกรอบความเป็นองค์กรเล็กๆของแต่ละมหาวิทยาลัย คิดและเรียนรู้เพื่อเห็นโลกกว้างเพื่อสะท้อนความใส่ใจและตระหนักรู้ให้ทั่วถึงที่สุด ทว่า มุ่งลงมือปฏิบัติให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกแหล่งทำงานและในวิถีดำเนินชีวิตของคนทุกสาขาวิชาชีพ 

ทุกมหาวิทยาลัยจึงมีความเป็นเวทีทำงานสร้างกำลังทางปัญญาและด้วยคุณธรรมทางสังคมเพื่อเกื้อหนุนส่งเสริมการพลวัตรตนเองของสังคม พัฒนาการเรียนรู้วิธีจัดการชุมชนวิชาการและสังคมของผู้มีความรู้สมัยใหม่ของทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ผสมผสานวิชาการจากทุกสาขาความจำเป็นและบูรณาการกับวิถีปัญญาปฏิบัติอันหลากหลายของชุมชน เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการจัดการความเปลี่ยนแปลงตนเองของสังคมเพิ่มขึ้นมาอีกแนวทางหนึ่ง ให้ได้ความทัดเทียมกับความหลากหลายซับซ้อนเพิ่มขึ้นของโลก และก่อเกิดผลดีต่อสังคมทั้งของท้องถิ่นและของโลกได้มากยิ่งๆขึ้น

  การก่อรูปและพัฒนาสู่ระบบโครงสร้างเชิงคุณภาพใหม่ด้วยการจัดการความรู้และเรียนรู้จากการแก้ปัญหา 

ผมเองนั้น มีโอกาสได้มีส่วนร่วมอยู่เป็นระยะๆ ยืดหยุ่นไปตามข้อจำกัดของตน แต่ก็ได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดเมื่อเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยมีแนวคิดจัดเวทีกลางของเครือข่ายเพื่อเป็นกลไกจัดการร่วมกันในภาวะเลื่อนไหลพร้อมกับสร้างความเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นไปด้วย โดยจะดำเนินการขึ้นปีละ ๓ ครั้ง

มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับความวางใจจากเครือข่ายให้เป็นเลขานุการและเป็นเจ้าภาพจัดเวที UKM ครั้งแรกขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๘ ผมจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมทำงาน ท่านอธิการบดี, รองศาสตราจาจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี, และ Core Team ของทีมจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่เป็นกำลังความคิดของมหิดลหลายท่าน มอบให้ผมวางคอนเซ็ปเวที ออกแบบกระบวนการ และรวมทีมชั่วคราวจากคนมหิดลหลายคณะ จากนั้น ก็มีโอกาสได้ร่วมทำงานและร่วมติดตามเรียนรู้อยู่บ้างพอสมควร ซึ่งก็พอจะเห็นการดำเนินงานและการก่อเกิดความเคลื่อนไหวในหลายด้านของเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัย คือ

  • การสร้างกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มและชุมชนผู้ปฏิบัติ Community of Practice : CoPs หลากหลายไปตามสาขาความจำเป็น รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายชุมชนของมหาวิทยาลัยต่างๆไปตามความสนใจ
  • การจัดการความรู้ การผลิตสื่อและสิ่งตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่และสร้างภูมิปัญญาปฏิบัติ ขยายผลสู่ทางเลือกการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน
  • การพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลังการบริหารจัดการอย่างมีพลวัตรของเครือข่าย
  • การหมุนเวียนจัดเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยซึ่งพัฒนาเป็นเวที UKM
  • การเชื่อมโยงกับเวทีจัดการความรู้ระดับชาติและการเคลื่อนไหวนโยบายสาธารณะ

                         ภาพที่ ๑  ครูนกเอี้ยง ศิษย์เก่าของ มรภ. ผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ครูนักกิจกรรมทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเรียนรู้ที่สนใจ คนต้นแบบจากรายการคนค้นคน มาร่วมแสดงน้ำใจต่อสถาบันการศึกษาของตน ต้อนรับด้วยการสร้างความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมต่อการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมประชุม เป็นที่ประทับใจและได้เรียนรู้ศักยภาพของมนุษย์ด้วยความทึ่งไปด้วย หลังจากนั้นก็ตามด้วยการรับฟังแนวคิดและการสร้างความบันดาลใจกับเวทีโดย ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงษ์ลดารมย์

                        ภาพที่ ๒  เจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน พร้อมกับสาธิตให้ได้สัมผัสด้วยตนเองไปด้วยในการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ที่เน้นมิติคุณภาพ โดยทำให้ประสบการณ์ของชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ จัดเป็นฐานย่อยถึง ๙ ฐานตามหัวข้อที่น่าสนใจหลายด้าน แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ชุมชน ให้ชุมชนเป็นครูพร้อมกับเป็นโอกาสสร้างความแข็งแแกร่งให้กับเครือข่ายผู้นำชุมชนทุกระดับไปด้วย

                        ภาพที่ ๓  คุณครูโรงเรียนบ้านโนนสำราญ นักเรียน และครูภูมิปัญญาชุมชน ร่วมกันเป็นครูและพาคนมหาวิทยาลัยเรียนรู้ด้วยการเดินเรียน ถึงแม้จะมีระยะเวลาจำกัด แต่ก็สร้างความคิดและเห็นประเด็นร่วมจากการได้ประสบการณ์เชิงบูรณาการดีกว่าการนั่งเรียนรู้ในห้องมากมาย

                         ภาพที่ ๔  การจัดกิจกรรมและโครงงานเพื่อการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างบูรณาการ

                         ภาพที่ ๕  เรียนรู้ผู้คนและครูพักลักจำสิ่งที่ผู้ใหญ่พากันทำไปด้วย ทุกวันในห้องเรียนเป็นเด็กนักเรียน วันนี้เป็นครูและมัคคุเทศน์นำท่องเรื่องราวการเรียนรู้ชุมชนและวิธีการทำอยู่ทำกินอย่างพอเพียง

                        ภาพที่ ๖  เรียนรู้จากการเห็นและสัมผัสตรงทั้งกายใจว่าภูมิปัญญาและจิตวิญญาณอย่างไรที่เป็นฐานชีวิตของชุมชนและชาวบ้านอีสานมานับร้อยนับพันปี ซาบซึ้งและตระหนักรู้ได้เกินกว่าจะสามารถอ่านได้จากรายงานการวิจัยหรือการบรรยายของผู้รู้

                        ภาพที่ ๗  สมบัติ สิมหล้า ชายผู้พิการทางตาแต่สุดยอดอัจฉริยะทางแคนและดนตรีอีสาน

                        ภาพที่ ๘  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย นอกห้องแอร์ เต็มไปด้วยขาดสิ่งอำนวยความสะดวก อุปสรรค และความติดขัด แต่ก็น้อยกว่าความขาดแคลนและขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ที่บูรณาการกับโลกภายนอกที่ดี ของชาวบ้านอีสาน รวมทั้งคนส่วนใหญ่ในสังคม อีกหลายเท่า คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (ซ้าย) ดำเนินการสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่า การพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ 

                        ภาพที่ ๙  กลุ่มย่อยสรุปบทเรียนและนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเวทีรวมของทั้งเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย

                        ภาพที่ ๑๐  หลังจากได้แนวคิด ออกไปสัมผัสและมีประสบการณ์ทางสังคมกับชุมชน หลอมรวมประสบการณ์และสรุปบทเรียนกลุ่มย่อย นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเวทีรวมแล้ว ก็ปิดท้ายด้วยการตกผลึกและสร้างความแยบคายลึกซึ้งไปกับการสนทนาจากการเรียนรู้ด้วยชีวิตของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งมหาชีวาลัยอีสานและเป็นปราชญ์ชาวบ้านของอีสาน

  ศักยภาพและทุนทางปัญญาที่แตกต่างของเจ้าภาพ UKM-18 : มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 

ในส่วนของเวที UKM หรือเวทีจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยนั้น หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพดำเนินการขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๘ แล้ว มหาวิทยาลัยต่างๆก็ร่วมหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทั่งถึงเวทีเครือข่าย UKM-18 ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒ ของปีที่ ๕ ในปี ๒๕๕๓ นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งได้จัดในหัวข้อ คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ - อังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามนั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างปัญญาชน ครู และเป็นสถาบันสร้างกำลังวิชาการให้กับสังคมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนกระจายออกไปสู่สาขาการพัฒนาต่างๆหลายสาขาทั่วประเทศมาอย่างยาวนานเกือบศตวรรษ เป็นสถาบันก่อเกิดของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อีกทั้งในวงการศึกษาและการพัฒนาของประเทศนั้น จังหวัดมหาสารคามและมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามซึ่งในอดีตคือวิทยาลัยครู จัดว่าเป็นแหล่งสาธิตและบุกเบิกการพัฒนาวิทยาลัยการศึกษาในประเทศไทยแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็น ๑ ในไม่กี่แห่งที่ได้ริเริ่มขึ้นในระยะแรกๆของสังคมไทย

ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างคนและการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้นั้น จัดว่าเป็น Tacit Knowledge อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นต้นฉบับในด้านนี้ของประเทศ.

............................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่
ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 382177เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2010 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นำภาพ รับขวัญ ท่าน อาจารย์ วิรัตน์ มาฝาก ครับ

เคยได้ยินคำพูดคำหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองสารคามว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา เป็นตักสิลาแห่งอีสาน

                        

                       

                        

                         เลยนำภาพของมัคคุเทศน์และครูนอกห้องเรียนกิตมิศักดิ์ของเรามาฝากด้วยเช่นกันครับอาจารย์ JJ ครับ ภาพบนเป็นการบรรยายและสนทนาไปตามความสนใจของพวกเราไปตลอดทางของท่านอาจารย์ชลิต และภาพล่างเป็นการเดินตะรอนๆกลางแดนพาพวกเราให้ไปสัมผัสกับความเป็นอีสานด้วยน้ำใจของคนอีสานของท่านอจารย์ JJ

งานนี้ได้ความประทับใจหลายอย่าง รวมทั้งระหว่างการรอเวลาเดินทางกลับแล้วท่านอาจารย์หมอ JJ และท่านอาจารย์ชลิต ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหามิตรของท่านอาจารย์ JJ ได้กรุณาพาพี่นภ : ผอ.นภามาศ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพและพวกเราทีมมหิดล ไปชมพระธาตุนาดูน มหาสารคาม และฟังการบรรยายเรื่องราวมากมายจากท่านอาจารย์ชลิต

                         

                         

อีกที่หนึ่ง ที่เมืองกันทรวิชัยเก่า ก็ได้ไปกราบพระพุทธมงคลและพระยืน พร้อมกับชมแหล่งที่เป็นปูมเมือง เห็นความพยายามของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าไปทำแหล่งโบราณสถานให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ผสมผสานกับพิพิภัณฑ์ความมีชีวิต การเดินเข้าไปสร้างความรู้และจัดการความรู้ทำสื่อแผ่นป้ายให้ความรู้ จัดแสดงให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวทางเรื่องราวของปูมเมือง เป็นการสร้างกลไกให้เกิดความีชีวิตชีวาแก่แหล่งต่างๆที่ถูกทอดทิ้งและเป็นห้องเรียนการเรียนรู้ทางสังคมที่ดีอย่างหนึ่ง ทว่า นักวิจัยและนักจัดการความรู้ที่มุ่งส่งเสริมกำลังการพัฒนาตนเองอย่างนี้ของสังคมก็หาไม่ค่อยได้.

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

เมืองมหาสารคามนั้นถือว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาและเป็นตักศิลานครแห่งภาคอีสานได้ครับ นักการศึกษาคนสำคัญของประเทศหลายท่านมาจากมหาสารคาม และเมืองมหาสารคามก็เป็นจังหวัดที่ทดลองรูปแบบการศึกษาของประเทศหลายอย่างก่อนที่จะขยายผลไปสู่แหล่งอื่นๆของประเทศ นับแต่วิทยาลัยเกษตรกรรม ซึ่งต่อมาเป็นวิทยาลัยครูมหาสารคาม พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสร้างครู และเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามในปัจจุบัน วิทยาลัยพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาทุกระดับครอบคลุมหลายด้านมากที่สุดในภาคอีสานครับ

ตามมาดูรูปเจ้าของรอบสองครับ

มุมที่มองออกไปจากองค์พระธาตุนาดูนนั้น โดยปรกติแล้วก็ไม่มี Subjects และองค์ประกอบภาพที่จะชวนให้ถ่ายรูปดีๆได้เลยครับ แต่พออาจารย์เดินกางร่มสีเหลืองและมีการเดินที่ให้ S-Curve เบาๆ ก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่ได้องค์ประกอบความมีชีวิตชีวา แล้วก็ได้ความงามเป็นศิลปะขึ้นมาทันทีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท