การใช้แตนเบียนกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง


แตนเบียน 1 ตัว ฆ่าเพลี้ยแป้งสีชมพูได้วันละ 20-30 ตัว

สวัสดีค่ะ  เพื่อนผู้สนใจทุกท่าน..

  ดิฉันห่างหายไปจากการเขียนบันทึกไปนานหลายเดือน  งานมากเหลือเกิน ลุ้นกับตำแหน่งใหม่ด้วย..ตอนนี้งานเริ่มซาลงแล้ว  เลยมีโอกาสนำเสนอ สิ่งดีๆที่ไปรับมาให้เพื่อนๆที่ไม่มีโอกาส ได้รับทราบกัน

    บันทึกจะเล่าเรื่อง ประโยชน์ของแตนเบียน  ให้นำไปปล่อยในไร่มันสำปะหลังที่กำลังถูกเพลี้ยแป้งสีชมพู ระบาดทำลาย อย่างหนัก ในปีที่ แล้ว  จนทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศเราลดลง มาก กระทบต่ออุตสาหกรรม ต่อเนื่องต้องขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น แป้งมันสำปะหลัง  มันเส้นที่ใช้ทำอาหารสัตว์  หรือแม้แต่การนำไปผลิตเอททานอล  

      เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เกษตรกรที่อำเภอเมืองขอนแก่น สามารถขายผลผลิตหัวมันสด ได้ในราคา กิโลกรัมละ 4.10  บาท...  เห็นตัวเลขแล้วไม่น่าเชื่อ นะคะ  

       ก่อนหน้านั้น ช่วงต้นปี 52 ราคาหัวมันสดตกต่ำ  ขายกันประมาณ กิโลกรัมละ 1.05-1.40 บาท ตอนกลางปี รัฐบาลเริ่มโครงการประกันรายได้เกษตรกร ประกันราคาผลผลิตหัวมันสด ในราคา ก.ก.1.70บาท แต่ปลายปีก็พบการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู  ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เกือบทั่วประเทศ  ขอนแก่นก็พบการระบาดสูงสุดเกือบ 5 หมื่นไร่    ราคาผลผลิตหัวมันสดก็เลยพุ่งสูง  ตามผลผลิตที่ลดลง.. พวกเราชาวเกษตรต้องทำทุกวิถีทาง ต้องกำจัดมันให้ได้เจ้าเพลี้ยแป้งสีชมพูนี้

  เริ่มต้นก็แนะนำให้

     1. ใช้สารเคมี  ฉีดพ่น...ไม่ได้ผล  หรือได้ก็น้อยมาก

    2. ใช้วิธีกล  โดย ให้หักยอดทิ้ง  หรือ ไถกลบต้นอ่อน... ทำยากเกษตรกรไม่ยอมรับ

    3. เลี้ยงแมลงช้างปีกใสในผลฟักทอง  แล้วนำไปปล่อย เพื่อจะได้กินเพลี้ยแป้ง..ทำได้ดี แต่เมื่อเพลี้ยแป้งหมด  แมลงช้างก็หมดตาม(มันอดอาหารเพราะกินเพลี้ยได้อย่างเดียว) ทำให้ไม่ยั่งยืน

    มาบัดนี้  กรมวิชาการเกษตร แนะนำฮีโร่ตัวใหม่...ตัวนี้คุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ชงัดนัก...เรียกว่า  แตนเบียน..  ตัวเล็กเหมือนแมลงหวี่..(กัดเจ็บด้วย..)  แตนเบียนนี้เมื่อนำไปปล่อยในไร่ในที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง  มันจะวางไข่ในตัวเพลี้ยแป้ง  แล้วไข่เมื่อฟักออกเป็นตัวจะกัดกินเพลี้ยแป้ง  โดยมันจะเป็นทั้งตัวห้าและตัวเบียน

     ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร  บอกว่า 

      แตนเบียนนี้มีอายุจากระยะไข่ ถึงตัวเต็มวัย 17-20 วัน

      แตนเบียน  1  ตัว  ฆ่าเพลี้ยแป้งสีชมพูได้วันละ 20-30 ตัว ขึ้นกับขนาดของเพลี้ยแป้งที่ถูกกิน  และลงเบียนเพลี้ยแป้งได้วันละ 15-20 ตัว

      ดังนั้น จึงแนะนำให้ปล่อยแตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

  1.       ปล่อยตัวเต็มวัย อัตรา 50-100 คู่ต่อไร่

  2.       ปล่อยในแปลงมันสำปะหลังที่พบเพลี้ยแป้งสีชมพูระบาด

  3.       ปล่อยให้กระจายทั่วแปลงปลูก

  4.       งด หรือ หลีกเลี่ยงการฉีดพ่นสารเคมี ฆ่าแมลง ในบริเวณที่ปล่อยแตนเบียนและบริเวณใกล้เคียง

  5. หากพบแตนเบียน ให้เก็บแตนเบียน และนำไปปล่อยในพื้นที่ที่ยังไม่มีการปล่อยแตนเบียน

      และเมื่อเพลี้ยแป้งหมด ตัวเต็มวัยของแตนก็จะกินน้ำหวานของพืชอื่นหรือดอกหญ้าแทน

  ที่มาของข้อมูล : เอกสารเผยแพร่ เรื่องแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู  กลุ่มกีฏและสัตววิทยา  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร

หมายเลขบันทึก: 381582เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พี่แอ๊ว - พี่ปรีชา ชนบท

สวัสดีค่ะหัวหน้าอ้อ

  • ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับตำแหน่งใหม่
  • คิดถึงและลุ้นรออ่านบันทึกดีๆตั้งนาน
  • เป็นเรื่องใหม่ที่กำลังสนใจและ กำลังหาข้อมูลเพื่อเรียนให้ นอภ.ทราบ พอดี
  • จันทร์ที่จะถึงนี้ ( 23 สค.53 ) ศูนย์บริหารฯ จะมาปล่อยแตนเบียนที่ชนบทค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ดีและมีประโยชน์มากที่สุด

                                     พี่แอ๊ว

             

                

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท