การเขียนบทความทางวิชาการ


การเขียนบทความทางวิชาการ

คำสำคัญ บทความทางวิชาการ เทคนิคการเขียน การเขียนบทความ

บทความทางวิชาการมีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้เขียน ต่อวงการวิชาการ/วิชาชีพ และต่อสังคมในด้านความสำคัญต่อผู้เขียน บทความทางวิชาการเป็นภาพสะท้อนถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการติดตามความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ ในแวดวงการศึกษา ตลอดจนความสามารถในการจัดระบบความคิดและนำเสนอ ในด้านความสำคัญต่อวงการวิชาการ/วิชาชีพ บทความทางวิชาการเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการกระจายความรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ ในด้านความสำคัญต่อสังคม บทความทางวิชาการเสนอสาระความรู้และแนวความคิดต่าง ๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่าง ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่นักวิชาการไม่ว่าจะอยู่ในวงการวิชาการ/วิชาชีพใดจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการ

 

ความหมายของบทความทางวิชาการ

บทความทางวิชาการ คืองานเขียนขนาดสั้น ซึ่งมีการกำหนดประเด็นที่ชัดเจนโดยผู้เขียนเรียบเรียงจากผลงานทางวิชาการของตนเอง หรือของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ จากพื้นฐานทางวิชาการนั้น ๆ บทความทางวิชาการที่เผยแพร่โดยทั่วไป อาทิ

1. บทความทางวิชาการที่เสนอเนื้อหาความรู้วิชาการอย่างเข้มข้น และผ่านการอ่านและพิจารณา

จากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักวิชาการในวงการวิชาการ/วิชาชีพ

2. บทความทางวิชาการที่เสนอเนื้อหาความรู้ วิชาการไม่เข้มข้นนัก เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น

ประชาชนทั่วไป

3. บทความวิจัย (research article) คือบทความที่เขียนขึ้นจากงานวิจัยของตนเอง มีการกำหนดปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สรุปและอภิปรายผลการวิจัย อันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ

4. บทความวิจารณ์ (review article) คือบทความที่ศึกษาผลงาน หรือแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยละเอียด รวมทั้งมีการวิเคราะห์และอภิปรายผลของเรื่องที่ศึกษาให้เห็นแนวโน้มว่าควรเป็นไปในทางใดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

5. บทความเชิงวิจารณ์ เป็นบทความที่เขียนจากการศึกษา ค้นคว้า เฉพาะกรณีเกี่ยวกับ

สถานภาพ หรือปัญหาของสิ่งที่ศึกษา เพื่อหาสาเหตุของปัญหา และเสนอแนะแนวทางแก้ไข

แหล่งเผยแพร่บทความทางวิชาการ

แหล่งเผยแพร่บทความทางวิชาการ มีทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบุคคล และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ วารสารทางวิชาการ วารสารกึ่งวิชาการ หนังสือรวมเรื่อง และเอกสารประกอบการประชุม สัมมนาทางวิชาการ สื่อบุคคล อาทิ การนำเสนอผลงานในการประชุม สัมมนาทางวิชาการการบรรยาย/อภิปราย และสื่ออิเลคทรอนิกส์ อาทิ เว็บไซต์ ฐานข้อมูล

ในการเตรียมบทความทางวิชาการ ต้องทราบแหล่งเผยแพร่และวิธีจัดเตรียมต้นฉบับที่แหล่งเผยแพร่นั้น ๆ กำหนด เช่น ต้องทราบว่าแหล่งเผยแพร่เป็นวารสารวิชาการ หรือวารสารกึ่งวิชาการวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่เป็นอย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มใด ความยาวของบทความกำหนดไว้กี่หน้าอักษรที่ใช้ในการพิมพ์เป็นแบบไหน ใช้การอ้างอิงรูปแบบใด เพื่อสามารถจัดเตรียมบทความทางวิชาการได้อย่างเหมาะสม

ในการเลือกแหล่งเผยแพร่ที่เป็นวารสารวิชาการ เพื่อการเผยแพร่บทความทางวิชาการ

มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. เป็นวารสารที่จัดพิมพ์ต่อเนื่องทุกปี ตรงตามเวลาที่กำหนด

2. เป็นวารสารที่ออกต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

3. กองบรรณาธิการประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ในวิชาชีพ เพียงพอ

4. มีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านพิจารณาบทความ อย่างน้อย 2 ท่าน

5. ถูกนำไปทำดรรชนีวารสารไทย

6. มีค่า impact factor สูง (การวัดค่าความถี่ของการอ้างอิงบทความสารสารในแต่ละปี เป็นเครื่องมือช่วยประเมินเปรียบเทียบวารสาร)

7. มีบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

8. มีเอกสารอ้างอิง

9. มีรายชื่ออ้างอิงอยู่ในฐานข้อมูลของต่างประเทศ

 

ส่วนประกอบของบทความทางวิชาการ

บทความทางวิชาการ ประกอบด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา และส่วนอ้างอิงบทความทางวิชาการโดยทั่วไป ประกอบด้วย ส่วนนำ ได้แก่ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน และข้อความแนะนำผู้เขียน ส่วนเนื้อหา ได้แก่ ความนำ เนื้อเรื่อง ซึ่งแบ่งเป็นประเด็นหลัก ประเด็นรอง ประเด็นย่อยและบทสรุป ส่วนอ้างอิง ได้แก่ บรรณานุกรม / เอกสารอ้างอิง

บทความเชิงวิเคราะห์ ประกอบด้วย ส่วนนำ ได้แก่ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน และข้อความแนะนำผู้เขียนส่วนเนื้อหา ได้แก่ ความนำ วัตถุประสงค์ วิธีวิเคราะห์ ขอบเขตการวิเคราะห์ เนื้อเรื่อง ได้แก่ ลักษณะหรือสภาพของเรื่องที่วิเคราะห์ การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และการวิเคราะห์แนวทางแก้ไข บทสรุปเป็นการย่อสาระและวิเคราะห์แนวทางแก้ไข ส่วนอ้างอิง ได้แก่ บรรณานุกรม / เอกสารอ้างอิง

บทความวิจัย ประกอบด้วย ส่วนนำ ได้แก่ ชื่อเรื่องงานวิจัย ชื่อผู้วิจัยและคณะ ตลอดจน

รายละเอียดของผู้วิจัย และบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเนื้อหา ได้แก่ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ สมมุติฐานของงานวิจัย (ถ้ามี) ขอบเขตที่ครอบคลุมในการวิจัยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการวิจัย (ประกอบด้วยข้อมูลประชากร กลุ่มตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่าง เครื่องมือการวิจัย และเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล)ผลการวิจัย (สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ) ส่วนอ้างอิง ได้แก่ บรรณานุกรม /เอกสารอ้างอิง และภาคผนวก (ถ้ามี)

 

หมายเลขบันทึก: 380570เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ  สาระอย่างนี้แหละครับที่คนเขียนบล็อกต้องอ่าน แล้วจะเขียนบันทึกลงบล็อกได้ดีมีคุณภาพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท