ขับเคลื่อนคุณค่าของการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย


ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย ท่านบอกว่า สัมมาทิฐิในการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย คือจิตใจอาสาสมัคร จิตใจสาธารณกุศล ถือว่าการได้เป็นกรรมการสภาฯ เป็นสุดยอดของการรับใช้สาธารณะ ไม่ใช่มาหาประโยชน์ส่วนตัว คนเป็นกรรมการสภาฯ มีพันธะพิเศษ (special obligation) ที่รัฐ/สังคม มอบหมาย สิ่งที่ได้รับคือความเคารพนับถือจากสาธารณะ ได้รับความอิ่มใจ


          วันที่ ๑๙ ก.ค. ๕๓ ทกสท. (ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) ร่วมกับ สกอ. จัดประชุมวิชาการ เรื่อง บทบาทของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  

          ผมไปร่วมประชุมเพื่อหาความรู้ว่าผู้คนเขามองการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ว่ามีคุณค่าอย่างไร   โดยตัวผมเองมองว่าเป็นคุณค่าต่อบ้านเมือง  ต่อสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ และต่อวงการการศึกษาภาพกว้าง    และพบว่า องค์ปาฐกท่านแรก คือ ฯพณฯ องคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย พูดเรื่องนี้ได้ลึกซึ้งงดงามกินใจมาก  

          ท่านบอกว่า สัมมาทิฐิในการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย  คือจิตใจอาสาสมัคร  จิตใจสาธารณกุศล   ถือว่าการได้เป็นกรรมการสภาฯ เป็นสุดยอดของการรับใช้สาธารณะ   ไม่ใช่มาหาประโยชน์ส่วนตัว    คนเป็นกรรมการสภาฯ มีพันธะพิเศษ (special obligation) ที่รัฐ/สังคม มอบหมาย   สิ่งที่ได้รับคือความเคารพนับถือจากสาธารณะ   ได้รับความอิ่มใจ

          ผมตีความว่าสาระลึกๆ ที่สื่อออกมาให้แก่สังคมคือ   การเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นความรับผิดชอบ ทั้งต่อสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ   และต่อบ้านเมืองในภาพรวม   เมื่อมีความรับผิดชอบก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการทำหน้าที่
ซึ่งหมายความว่าการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่เป็นเกียรติ และเป็นโอกาสเข้าไปผลักดันวาระซ่อนเร้นส่วนตัว   ไม่ใช่โอกาสไปสร้าง social connection กับกรรมการท่านอื่น   ไม่ใช่ที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว    แต่เป็นโอกาสทำประโยชน์แก่ส่วนรวม

          ท่านพูดถึง ความรับผิดชอบ ๑๒ ประการ ของกรรมการสภามหาวิทยาลัย  ที่ได้จากหนังสือ Effective Trusteeship เขียนโดย Richard T. Ingram ที่ผมเคยบันทึกไว้แล้วที่นี่ 

          นสพ. คมชัดลึก เป็นเสือปืนไว ลงข่าวการประชุมวันนี้ไว้ที่นี่

          ตอน ๑๐.๑๕ – ๑๒.๓๐ น. เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “กรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย”   เรื่องเดียวกัน บรรยายโดย ๓ หนุ่ม ๓ มุม   คือ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา, ศ. (คลินิก) นพ. ปิยสกล สกลสัตยาทร  และ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน    ได้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและวิธีปฏิบัติของสภามหาวิทยาลัย และของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเต็มอิ่ม 

          ผมติดใจคำกล่าวของ ศ. นพ. จรัส ว่า อุดมศึกษาไทยต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีการ จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงในระดับปฏิรูป   ต้องเปลี่ยนเป้าหมายด้วย จึงต้องปฏิวัติ    และเห้นด้วยที่ท่านกล่าวว่า กกอ./สกอ. ควรกำหนดเป้า มากกว่ากำหนดวิธีการ 

          และติดใจคำกล่าวของ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน ว่า “สภาเป็นองค์กรสูงสุดที่กำหนดและกำกับนโยบาย  ดูแลการบริหารจัดการ ให้เกืดการปฏิบัติตามนโยบายและพันธกิจของมหาวิทยาลัย อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล   เป็นสภาผู้กำกับ (Governing Board) ที่พิทักษ์ธรรมาภิบาล (Good Governance)  เพื่อให้มีการบริหารและการจัดการที่ดีตามระบบคุณธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้”   และสิ่งใหม่ที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องทำ คือการประเมินการทำหน้าที่ของสภาเอง    และการมีคณะกรรมการ Audit  โดยเน้น audit สองอย่าง คือ Performance และ Management

          ผมขอขอบคุณคณะผู้ก่อการ ทกสท. นำโดย ดร. ชุมพล พรประภา ที่กำลังจะจัดตั้งเป็น สมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สสม.)   เป็นนิติบุคคลที่ชาวสภามหาวิทยาลัยร่วมกันก่อตั้ง (ทำหน้าที่สมาคม)    ที่จะมีคุณูปการต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง   และจะยิ่งมีพลังหากทำงานร่วมกับอีก ๓ ฝ่าย คือ สคช./สถาบันธรรมาภิบาลอุดมศึกษา (ทำหน้าที่วิชาการและการอบรม)   และสมัชชานายกสภาสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ทำหน้าที่สมัชชา)   ประสานพลังกันโดยทำหน้าที่คนละด้าน   ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุดมศึกษาของชาติอย่างยิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ค. ๕๓
                 

หมายเลขบันทึก: 380564เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท