การกราบ (อภิวาท)


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

การกราบ (อภิวาท) 

 

          การกราบ หรือที่เรียกว่า “อภิวาท” เป็นการแสดงความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนสูงสุดกว่ากิริยาอาการแสดงความเคารพทั้งหลายทั้งในทางโลก และทางธรรม  

          การกราบเป็นการแสดงความเคารพโดยการนั่งลงที่พื้น วิธีการนั่งนั้นมี  ๒  ลักษณะ คือ

          - การนั่งท่าเทพบุตร เป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับผู้ชาย โดยนั่งคุกเข่าตั้งฝ่าเท้าชันให้นิ้วเท้ายันพื้นแล้วนั่งทับลงบนส้น

            - การนั่งท่าเทพธิดา เป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับผู้หญิง โดยนั่งเข่าชิดกันราบไปกับพื้น ไม่ตั้งฝ่าเท้าชันยันพื้นแบบผู้ชาย เหยียดฝ่าเท้าราบไปด้านหลัง ให้ปลายเท้าทั้ง ๒ ทับกันเล็กน้อย แล้วนั่งทับลงบนฝ่าเท้าทั้ง ๒

รูปแบบและวิธีการกราบนั้นขึ้นอยู่กับโอกาสที่เราจะแสดงความเคารพ  ซึ่งอาจจำแนกได้ ดังนี้

           

 ๑) การกราบพระรัตนตรัย

          นิยมกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ คือ หัวเข่า ๒ ฝ่ามือ ๒ หน้าผาก ๑  ให้จรดลงแนบกับพื้น และกราบ ๓ ครั้ง  ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

                    ๑. การเตรียมกราบ ผู้ชายนั่งท่าเทพบุตรและผู้หญิงนั่งท่าเทพธิดา วางมือทั้งสองไว้บนหน้าตัก

                   ๒. กราบ ซึ่งมีจังหวะปฏิบัติ ๓ จังหวะ คือ

                             จังหวะที่ ๑ “อัญชลี” คือ ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก

                             จังหวะที่ ๒ “วันทา” คือ ยกมือขึ้นประนม โดยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก

                             จังหวะที่ ๓ “อภิวาท” คือ หมอบกราบลงให้หน้าผากจรดพื้นในระหว่างฝ่ามือทั้งสองวางฝ่ามือแบราบลงแนบกับพื้นห่างกันหนึ่งฝ่ามือ สำหรับอุบาสกนิยมให้ข้อศอกทั้งสองต่อกับเข่าทั้งสองส่วนอุบาสิกานิยมให้ข้อศอกทั้งสองขนาบเข่า

                    ๓. เงยหน้าขึ้น อยู่ในท่านั่งคุกเข่า แล้วปฏิบัติตามจังหวะเดิม ๑-๒-๓ จนครบ ๓ ครั้ง

                   ๔. ยกขึ้นจบ เมื่อเงยหน้าขึ้นครั้งที่ ๓ จึงเสร็จพิธี

 

๒) การกราบพระภิกษุสงฆ์          

สำหรับการกราบพระภิกษุสงฆ์ต้องคุกเข่าทั้ง ๒ ข้างลง แล้วเดินเข่าเข้าไปได้ระยะใกล้พอสมควร  จึงนั่งคุกเข่าลงกราบตามแบบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเดินเข่าถอยหลังออกมาเล็กน้อย จากนั้นยืนขึ้นเดินถอยเฉียงออกไป

          

๓) การกราบบุคคล

          การกราบบุคคลจะกระทำเฉพาะผู้มีอาวุโสมาก เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ที่มีอายุสูง โดยกราบไม่แบบมือนิยมกราบเพียงครั้งเดียวมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

                   ๑.นั่งพับเพียบแบบเก็บเท้าตะแคงตัวด้านข้าง ไปทางบุคคลที่จะกราบนั้น
                   ๒.หมอบลงกับพื้น พร้อมกับวางแขนขวาลงกราบกับพื้นตลอด ครึ่งแขนจากข้อศอกถึงมือตั้งสันมือขึ้น วางแขนซ้ายลงคู่กับแขนขวา มือทั้งสองแนบชิด แบบประนมมือให้ศอกขวาอยู่ข้างลำตัวศอกซ้ายต่อเข่าขวา

                   ๓.ก้มศรีษะลงให้หน้าผากจรดสันมือ ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว อย่ายกหัวแม่มือขึ้นมารับหน้าผากเป็นอันขาดและให้กราบเพียง ๑ ครั้ง เรียกการกราบแบบนี้ว่า กราบลงศอกแล้วเงยหน้าขึ้นอยู่ในท่านั่งพับเพียบหรืออยู่ในท่าหมอบแล้วแต่กรณี

                   ๔. เมื่อลุกขึ้นจากการหมอบ ใช้วางแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น ยกส่วนสะโพกขึ้นก่อนแล้วยกตัวขึ้นตาม คลานเข่าถอยหลังออกมาเล็กน้อย จึงลุกขึ้นยืนเฉียงออกมา อย่าหันหลังให้แล้วเดินออกมาจะเป็นกิริยาที่ขาดความเคารพ

           

๔) การกราบเคารพศพ

          การกราบเคารพศพ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้    

                   ๑. เดินเข่าเข้าไปในระยะพอสมควร เพื่อเตรียมกราบพระพุทธรูปก่อน

                   ๒. เมื่อถึงหน้าพระพุทธรูป นั่งคุกเข่าประนมมือและกราบพระพุทธรูปแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

                   ๓. เดินเข่าไปกราบศพ

                          ก. ถ้าผู้ตายมีอายุมาก ให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า  ใช้กราบแบบตั้งมือ ๑ ครั้ง

                          ข. ถ้าพระภิกษุสงฆ์มรณภาพขณะที่ยังอุปสมบทอยู่ ให้กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

                          ค. ถ้าเป็นศพของผู้อายุต่ำกว่า, วัยต่ำกว่า ให้นั่งพับเพียบในลักษณะสำรวม มือประสานกัน

 

หมายเลขบันทึก: 379155เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท