การประนมมือ - การไหว้


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

          มารยาท หมายถึง ระเบียบแบบแผน หรือขอบเขตอันเป็นข้อจำกัดที่บุคคลพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขทั้งแก่ตนเอง และส่วนรวม

          มารยาทชาวพุทธ เป็นระเบียบแบบแผนเฉพาะของชาวพุทธที่มุ่งแสดงออกทางกายและทางวาจาให้เหมาะสมสอดคล้องกับหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา

          การฝึกมารยาทจึงเป็นปราการด่านแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ผ่านการอบรมฝึกฝนตนมาดี มีคุณสมบัติของผู้ดีมีวัฒนธรรมอันเจริญ สามารถยังจิตของผู้พบเห็นให้ยินดีเลื่อมใส นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีความเคารพ อ่อนน้อม ส่งผลให้เกิดความเคารพในพระรัตนตรัย และเคารพในการปฏิสันถารอีกด้วย

 

ประโยชน์ของมารยาท มีดังนี้

๑.      ป้องกันการกระทบกระทั่งเพราะผู้มีมารยาทจะไม่สร้างความขัดเคืองใจผู้อื่น

๒.     ปิดบังความไม่งามของร่างกาย เพราะมีมารยาทดีเป็นจุดเด่น

๓.     เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่บุคคลรอบข้าง

๔.     ฝึกการเป็นคนรู้จักประมาณและความพอดี

๕.     ฝึกการสังเกต  ทำให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ

๖.      ฝึกให้เป็นผู้มีศิลปะและมีความประณีตในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่น

๗.     ฝึกความมีน้ำใจ  รู้จักจับแง่คิดมุมมองที่ดี

๘.     ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถต่างๆ

๙.      เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นไป  เพราะมีจิตใจที่ดีงาม

 

การประนมมือ (อัญชลี) 

 

          การประนมมือ หรือที่เรียกว่า “อัญชลี” นิยมใช้แสดงความเคารพพระรัตนตรัย ในเวลาฟังพระเจริญพระพุทธมนต์  ฟังพระสวดพระอภิธรรม ฟังพระธรรมเทศนา สนทนากับพระสงฆ์และการสวดมนต์  เป็นต้น  ซึ่งมีวิธีการประนมมือ ดังนี้          

                    ๑.ยกมือทั้งสองขึ้นประกบกัน

                    ๒.ตั้งเป็นกระพุ่มมือประนมไว้ระหว่างอก (ลักษณะดอกบัวตูมงอกจากกลางอก)

                   ๓.ให้ปลายมือตั้งขึ้นข้างบน 

                   ๔.นิ้วมือทั้งสองข้างทุกนิ้วแนบชิดสนิทกัน อย่าให้เหลื่อมล้ำกัน อย่าให้กางห่างออกจากกัน

                   ๕.ข้อศอกทั้งสองแนบชิดชายโครง

         

          การประนมมือนี้เป็นกิริยาอาการที่แสดงความเคารพพระรัตนตรัย จึงนิยมทำด้วยความเรียบร้อย ตั้งใจ  ไม่นิยมปล่อยให้นิ้วมืองอหงิก นิยมตั้งกระพุ่มไว้ระหว่างอกเอียงกับลำตัวประมาณ ๔๕ องศา ไม่ยกให้สูงจรดคางหรือจรดปาก ไม่ปล่อยปลายมือให้ตกต่ำลงมาวางอยู่ที่ท้องหรือวางไว้ที่หน้าตักหรือหัวเข่า

 

การไหว้ (วันทา)

 

          การไหว้ หรือที่เรียกว่า “วันทา”  เป็นการแสดงความเคารพอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในโอกาสที่ต่างกันกับการประนมมือ มีวิธีการตามโอกาสต่างๆ ดังนี้

๑) การไหว้พระรัตนตรัย

นิยมแสดงความเคารพพระรัตนตรัยด้วยการไหว้เมื่อนั่งเก้าอี้หรือยืนอยู่  ซึ่งอาจเป็นสถานการรณ์ที่ไม่สะดวกที่จะนั่งได้  มีวิธีการทำดังนี้คือ

                    ๑.ประนมมือไว้ระหว่างอก

                    ๒.ยกมือประนมขึ้นพร้อมกับก้มศรีษะลงเล็กน้อย ให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก ทำเพียงครั้งเดียว แล้วลดมือลงตามเดิม

           

 ๒) การไหว้บุคคล

          การไหว้ซึ่งกันและกันนั้นนิยมปฏิบัติเพื่อความเหมาะสมแก่ชั้นและวัยของบุคคลนั้น ๆ มี ๓ แบบ คือ

                   ๒.๑) การไหว้บุคคลผู้มีอายุมากกว่า (เป็นผู้ใหญ่มากกว่า)               

          สำหรับผู้น้อยปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ โดยถือหลักมีชาติกำเนิดสูงกว่า มีคุณธรรมความดีได้รับยกย่องให้เป็นผู้ปกครอง บังคับบัญชา และมีอายุ แก่กว่าตน

          การไหว้นิยมยกกระพุ่มมือขึ้นไหว้ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้วนิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่บนดั้งจมูกพร้อมกับก้มศรีษะน้อมตัวลงพองาม สายตามองดูท่านด้วยความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน

          ๒.๒) การไหว้บุคคลผู้มีอายุเสมอกัน

          การไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสเสมอกันนิยมยกมือกระพุ่มขึ้นไหว้ ให้ปลายนิ้ชี้อยู่
ที่ดั้งจมูกนิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ที่คางก้มศรีษะเล็กน้อยสายตามองกันและกันด้วยความหวังดีปราถนาดีต่อกัน

          ๒.๓) การไหว้บุคคลผู้มีอายุน้อยกว่า

          การรับไหว้บุคคลผู้มีอาวุโสน้อยกว่า สำหรับผู้ใหญ่รับไหว้ผู้น้อย นิยมยกกระพุ่ม
มือขึ้นประนมอยู่ระหว่างอกหรือที่หน้า ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ที่ตั้งจมูกปลายนิ้วอยู่ที่ดั้งจมูกปลายนิ้วหัวแม่ มืออยู่ที่คางสายตามองดูผู้ไหว้ ด้วยความปราถนาดี

 

 

หมายเลขบันทึก: 379154เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีภาพมั้ยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท