R2R คืออะไร


        เมี่อกระแส  R2R เข้ามาในองค์กรเมื่อปี ๒๕๕๒   ทำให้รู้สึกตื่นเต้นว่างานวิชาการด้านสาธารณสุขจะได้เติบโตและถูกตีแผ่มาบ้างจากคนหน้างานตัวเล็กตัวน้อย  แต่เมื่อใดที่พูดถึงการทำวิจัย  ทุกคนต่างเมินหน้าหนี 

ภาพจาก อ.กระปุ๋ม

         “โห  มันยากจัง  เราไม่มีพี่เลี้ยง  เราไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษา  ใครจะมาการันตี  ว่างานวิจัยของเรามันเข้าท่าหรือไม่  ที่สำคัญมันตรงประเด็นหรือเปล่า”
        “พอเถอะ  แค่เรียนมาก็พอแล้ว  บ๊ายบายดีกว่า”
        “ไม่อยากปวดหัว  ทำงานของเราดีกว่า  ไม่ยุ่งยากเท่า”
        “จะเรียนโทเหรอ  ถึงอยากทำวิจัย”
        “ไม่เอาดีกว่า”
        หลายร้อยเหตุผล  ที่ทุกคนตอบ  และไม่อยากทำวิจัย  จากคำตอบที่ได้ยังพอมีหวังบ้าง  ว่า “งานประจำสู่งานวิจัย”  จากงานที่ทำนั่นแหละถูกต้องแล้วคร๊าบ…ในปี  ๒๕๕๓  เมื่อผู้บริหารบอกว่า  อยากให้ทำ R2R  ได้แต่คิดในใจ  หลายๆเหตุผลเหมือนกับเพื่อนร่วมงานว่า  หากเราจะทำวิจัย  ควรจะมีใครสักคนที่จะสามารถเป็นที่ปรึกษาให้เราได้  เราควรมีความรู้ความเข้าใจให้ถ่องแท้และลึกซึ้งเสียก่อน  กับบริบทขององค์กรเรา  งานวิชาการถือว่าไม่เติบโต  เพราะพวกเราถนัดงานบริการเสียมากกว่า  หรือเรียกว่า  นักปฏิบัติมากกว่านักวิชาการ   ฉันคัดค้านในใจเสมอมา  คิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนทำ R2R ได้อย่างเข้าใจและมีความสุข  ไม่มีความเบื่อหน่าย  ผู้ที่มีความรู้เรื่องวิจัย  ส่วนใหญ่ที่จบโท ก็มักติดกรอบการวิจัยเชิงปริมาณ  ฉันมานั่งทำความเข้าใจกับคำว่า R2R  ทำอย่างไรที่จะทำให้งานประจำของคนหน้างานเป็นงานวิจัย  ทำอย่างไรจะให้ได้  Research  ไม่ใช่  Report  ไม่ใช่ CQI เพราะว่า
การวิจัย  คือ  กระบวนการที่มีการดำเนินการอย่างมีระบบ และระเบียบแบบแผน  เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่มีความถูกต้องและเชื่อถือได้  
        เมื่อทีมของพวกเรายังติดเรื่อง Research Methodology ทำให้งานวิจัยหยุดชะงักไปเลยก็ว่าได้  ในที่สุดผู้บริหารก็สั่งว่า  ให้ทุกคนทำ R2R หน่วยงานละ ๑ เรื่อง  ใจฉันก็ยังค้านเสมอมา  ตราบใดที่เรายังไม่ติดอาวุธให้กับคนในองค์กร  รบร้อยครั้งก็แพ้ทั้งร้อยครั้ง  ฉันนำปัญหาปรึกษากับเพื่อนในทีมว่าเราจะทำอย่างไรดีในเมื่อมันเป็นคำสั่งของผู้บริหาร  ในที่สุดฉันจึงตัดสินใจนำปัญหาพูดกับผู้บริหารโดยตรง  ว่ามันไม่ง่ายการที่เราจะสร้างผลงานวิจัย  แต่คนในองค์กรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่จะทำงาน  ไม่ใช่ทุกคนทำไม่ได้  หรือทำไม่เป็น  หากแต่พวกเราขาดความมั่นใจต่างหาก  กลัวว่าจะเสียเวลาเปล่าเมื่อทำแล้วถึงค่อยมารู้ว่ามันไม่ใช่
        “งั้นผมมอบหมายให้คุณติดต่ออาจารย์วิทย์  มาสอนเรื่อง R2R ก็แล้วกันนะ  เราคงต้องใช้ประโยชน์จากอาจารย์บ้าง  ในเมื่อเราเป็นแหล่งฝึกให้กับนักศึกษาแพทย์รามาฯ”
        เมื่อฉันติดต่ออาจารย์วิทย์มาสอน เอาแบบว่าคนหน้างานเข้าใจง่าย  วันที่อาจารย์มาสอนฉันไม่อยู่จึงฝากให้เจ้าหน้าโสตบันทึก VDO ไว้ให้ดู  เมื่อย้อนกลับมาดูและฟังเทป  ฉันเกิดคำถามมากมายในใจ  ทีมพวกเราแอบนัดประชุมผู้เข้าฟังทั้งหมดวันที่ ผอก.ไม่อยู่  ทุกคนล้วนบอกว่า  “ยาก” 
        “วัตถุประสงค์ของเราอาจจะใช่ในการศึกษา  แต่เราตั้งคำถามถูกหรือไม่”  เสียงของเพื่อนร่วมงานบอก
        “ทบทวน Literature มันยุ่งยากจัง”  แล้วก็อีกหลายๆเหตุผลตามมา
        “สรุปว่า  พวกเราคิดว่าพอจะทำได้มั้ย  หลังจากฟังอาจารย์มาสอนแล้ว”  ฉันยิงคำถามไปทันที  เพื่อหยั่งเชิงทั้งที่พอรู้คำตอบอยู่แล้ว
        “ทำน่ะทำได้  แต่จะถูกหรือไม่  ไม่รู้นะ”  เสียงเพื่อนร่วมประชุมบอก
        “แล้วพวกเราคิดว่าจะทำอย่างไรดี  ในเมื่อเป็นคำสั่งที่ต้องทำ  และพวกเราก็ต้องทำเพื่อให้ R2R เดินไปข้างหน้า”  ฉันถามกลับบ้าง
         “ยังไงองค์ความรู้  กับที่ปรึกษายังสำคัญอยู่  หากให้พวกเราทำ  แล้วพวกเราจะปรึกษาใครดีเมื่อมีปัญหา”  เป็นคำตอบที่น่าคิดมาก  สุดท้ายการประชุมก็จบลงด้วยการต้องลงมือทำ R2R  แล้วหนึ่งเดือนเรามาคุยกันใหม่
        ฉันยังคงจำคำพูดของ  อ.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์  พูดในครั้งนัดพบนักวิจัยหน้าใหม่อย่างพวกเราว่า
เมื่อพูดถึงการทำวิจัยใครๆก็กลัว  เป็นเรื่องยากไปหมด  ผมอยากจะบอกว่า  การวิจัยมันเหมือนกับเราเรียนภาษาอีกภาษาหนี่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจ  ถ้าหากเราอ่านงานวิจัยบ่อยๆ  มากเข้าๆ  เราก็จะเข้าใจภาษาวิจัยและจะไม่เป็นเรื่องยากอะไรเลย  ลองดูนะอ่านงานวิจัยซักวันละเรื่องก็ได้  ฮ่าๆๆ
        พร้อมกับเสียงหัวเราะตามสไตน์ของอาจารย์  ฉันเคยนำคำพูดของอาจารย์มาถ่ายทอดให้กับคนในองค์กร  มีเสียงตอบกลับมาว่าอ่านเรื่องเดียวก็เริ่มรู้สึกปวดหัวแล้ว  อ่านแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง...
        
 เฮ้อ!  งานนี้จะยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรหรือเปล่านะ
 

คำสำคัญ (Tags): #r2r#r2r รพ.แก่งคอย
หมายเลขบันทึก: 378692เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2010 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

คิดได้หลายอย่าง จริงๆ หากมุ่งมั่น ใช้ชีวิตไปกับการวิจัย สนุกกับเธอ น่าจะทำวิจัยได้ดีนะคะ

มีความสำเร็จในเร็ววันค่ะ

สวัสดีครับน้องน้ำชา

"ตราบใดที่เรายังไม่ติดอาวุธให้กับคนในองค์กร รบร้อยครั้งก็แพ้ทั้งร้อยครั้ง "เห็นด้วย พันเปอร์เซ็น์

ติดอาวุธทางปัญญาไม่ใช่แค่การประชุมสัมนา แต่สำคัญคือการคิด หลักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเข้าใจนำไปสู่ การศรัทธาเชื่อมั่น ครับ

สวัสดีวันอาสาฬหบูชาค่ะ  คุณครูอ้อย แซ่เฮ

เย็นนี้ไปเวียนเทียนกันนะคะ

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจค่ะคุณครู

งานวิจัย ถ้าลงมือทำแล้วจะสนุก ทำให้เราอ่านมากขึ้น ทำให้เราได้คิดมากขึ้น ยิ่งสนุกกับงานวิจัย ยิ่งพบความหลากหลายครับ

เชื่อว่าเราทำได้แล้วเราจะทำได้ครับ

สวัสดีค่ะ  ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

การเรียนรู้การวิจัยไม่ใช่แค่ฟังประชุมหรืออบรมวันเดียวจะได้รู้และทำได้

เป็นโจทย์ที่ต้องคิดมากสำหรับทีมค่ะ

 

สวัสดีค่ะ  อ.พรชัย

ตอนนี้กำลังเชียร์และให้กำลังใจ  คนหน้างานกันอยู่ค่ะอาจารย์ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

"เชื่อว่าเราทำได้แล้วเราจะทำได้ครับ"  จริงค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะ

เข้ามาเรียนรู้ค่ะ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ  ไม่แปลกที่หลายคน กลัว " วิจัย" เพราะตัวเองก็เคยมีอาการ หลังจากลองเรียนรู้ R2R  จึงรับรู้ว่า สามารถหาคำตอบ กับปัญหาหน้างานได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด....

สวัสดีค่ะ พี่✿อุ้มบุญ✿

อย่าว่าหลายคนกลัวเลยค่ะ  namsha เองก็เกรงๆ

ทำแล้วก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท