การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย


พุทธธรรมกลับสู่พุทธภูมิ

  

  

 

 

กระบวนการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย

 

บทเกริ่นนำ

     ดร. บี.อาร์.อัมเบดการ์รัฐบุรุษ ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งยุคปัจจุบัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีแรงงานของรัฐบาลอินเดีย ในสมัยรัฐบาลชุดแรกหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่มีท่านบัณฑิต ยวาหรลาล เนห์รูเป็นนายกรัฐมนตรี    ดร.อัมเบดการ์อภิชาตบุตรแห่งภารตประเทศได้เป็นผู้หมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้กลับคืนสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำชาวอินเดียจำนวนหลายแสนคนเข้าสู่พิธีสมาทานนับถือพระพุทธศาสนา กลายเป็นผู้นำชาวพุทธจำนวนหลายสิบล้านคนในอินเดียปัจจุบัน  ท่านดร.อัมเบดการ์  เป็นผู้มีสติปัญญาสุขุมลุ่มลึก เป็นนักปราชญ์  เป็นอัจฉริยบุคคล ผู้มีวิญญาณแห่งการปฏิวัติผลักดัน ต่อสู้เพื่อคนยากจนเข็ญใจไร้ศักดิ์ศรีและถูกเหยียบย่ำอย่างหนักหน่วงในสังคมอินเดีย ท่านเป็นทั้งนักการศาสนา นักการเมืองและนักปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สถานะที่สูงส่งดีงาม

            ว่ากันตามจริงแล้วในด้านความรู้ความสามารถและอุปการคุณที่ ดร.อัมเบดการ์มีต่อประเทศอินเดียนั้นมิได้เป็นสองรองใครเลยแม้กระทั่งทานมหาตมะคานธี   แต่ท่านมหาตมะคานธีได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติอินเดีย  เพราะท่านเป็นผู้นำการต่อสู้โดยใช้หลักอหิงสาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ ส่วนท่านดร.อัมเบดการ์เป็นดังวิศวกรที่รับช่วงมาออกแบบสร้างชาติอินเดียทันทีที่อังกฤษยอมปล่อยให้อินเดียเป็นเอกราช โดยดร.อัมเบดการ์ได้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดียฉบับแรก ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของอินเดียที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ต่อมาจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของ ดร.อัมเบดการ์ยืนถือหนังสือรัฐธรรมนูญอยู่หน้ารัฐสภาของอินเดีย

               

 

การนำพุทธธรรมกลับคืนสู่พุทธภูมิ

 

               บรรดาสาวกของพระบรมศาสดาผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการนำเอาพุทธศาสนากลับคืนสู่แผ่นดินเกิดนั้น มีเพียง  ๒ ท่านที่โดดเด่นที่สุด  คือ ท่านอนาคาริก  ธัมมปาละ (2407-2476)  แห่งศรีลังกา ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิในอินเดีย  และ  ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นล่างที่ได้รับการเหยียดหยามประมาณ 300 ล้านคนในอินเดีย ท่านได้เป็นตัวแทนร่วมประชุมโต๊ะกลมกับผู้ปกครองอังกฤษ เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพ  (15 ส.ค. 2490) เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเป็นรัฐมนตรียุติธรรมในรัฐบาลชุดแรก

               ดร.อัมเบดการ์ มีชื่อเต็มว่า  ภิมาเรา  รามชิ อัมเบดการ์ (Bhima Rao Ramji Ambedkar) ถือกำเนิดเมื่อวันที่  14 เมษายน 2434 ที่จังหวัดรัตนคีรี  รัฐมหาราษฎร์  บิดาชื่อ “รามชิ” มารดาชื่อ  “ภิมาไบ” ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่บ้านเกิดและที่บอมเบย์ สำเร็จปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย)  ด้านรัฐศาสตร์ และประเทศอังกฤษ  (มหาวิทยาลัยลอนดอน)ด้านเศรษศาสตร์และกฏหมาย

               นักปราชญ์ตะวันตกท่านหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า“การรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็นไปได้ตลอดเวลา ชีวิตและคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดทางศาสนาของชาวยุโรปและอเมริกาด้วยอมตธรรมที่ว่า “หว่านพืชเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้น” ประกอบกับพระจริยาวัตรอันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา และพระกรุณาต่อมวลมนุษย์ พระองค์ทรงแสดงตัวอย่างชีวิตที่ประเสริฐและงดงาม ดังนั้นพระพุทธศาสนาจะกลายเป็นศาสนาที่รุ่งเรือง ข้าพเจ้าขอย้ำว่า“การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นไปได้ในอินเดียปัจจุบัน”

               ท่าน ดร.อัมเบดการ์ ได้พิสูจน์ข้อความข้างบนนี้ โดยปราศจากความสงสัยอย่างสิ้นเชิง หลังจากใช้เวลาศึกษาลัทธิการเมืองและศาสนาต่าง ๆเปรียบเทียบกันโดยละเอียดเป็นเวลากว่า 20  ปี ท่านได้ตัดสินใจทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และตั้งใจรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดีย พร้อมกับบริวารกว่าห้าแสนคน ณ บริเวณ “ทิกษาภูมิ” กลางเมืองนาคปูร์  เมื่อวันที่  14 ตุลาคม  2449(2500)  วันนั้นเรียกว่า “วันธรรมจักรประวัตน์” คือวันที่ธรรมจักรได้หมุนกลับมาสู่อินเดีย

               บุคคลที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของพระพุทธศาสนาในอินเดียมีอยู่อีกหนึ่งท่านคือ  ท่าน อนาคาริก ธัมมปาละ  ชาวศรีลังกาผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิในอินเดีย โดยท่านได้ต่อสู้กับพวกนักบวชฮินดูกลุ่มมหันต์ที่ครองครองพื้นที่พระมหาเจดีย์พุทธคยามาหลายชั่วอายุคน ท่านได้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์เพื่อรวบรวมสมาชิกและทุนทรัพย์ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์การครอบครองสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากลับคืนสู่ความดูแลของชาวพุทธ และท่านได้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหลายประเทศ

               นอกจากนั้นท่านยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่เวทีระดับโลก โดยเข้าร่วมอย่างมีบทบาทสำคัญในการประชุมสภาศาสนาโลก (World  Parliament  of  Religion) ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา  เมื่อปี  พ.ศ. 2436 และได้จัดพิมพ์นิตยสารมหาโพธิรายเดือนเพื่อเป็นสื่อในการศึกษาพระพุทธศาสนาแก่มหาชนทั่วโลก กล่าวได้ว่าท่านอนาคาริกธัมมปาละได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประชาชนผู้แสวงหาความสงบสุขทั่วโลกในการจาริกแสวงบุญที่สังเวชนียสถานในอินเดีย

 

คุณูปการของพระพุทธศาสนาต่ออินเดีย

 

               ความสำคัญยิ่งใหญ่ของชาติ ๆ หนึ่ง คงไม่ใช่แค่เรื่องแสนยานุภาพของกองทัพ ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น  แต่รวมถึงอารยธรรมวัฒนธรรมหรือศาสนา  ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของคนในชาติ เพราะแสนยานุภาพของกองทัพหรืออำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขัน และดำรงอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว

               ประชาชนกว่าค่อนโลกยอมรับว่าอินเดียมีความสำคัญก็เพราะอินเดียได้ให้ความเจริญทางจิตวิญญาณแก่พวกเขา นั่นคืออินเดียได้ให้พระพุทธศาสนาต่อชาวโลก ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีพระพุทธเจ้า อินเดียจะไร้คุณค่าในสายตาของชาวโลกอย่างแน่นอน

               เมื่อพระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียนั้น การศึกษาของอินเดียเจริญมาก  มีคนอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ60  ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา มีนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ  ทั้งจีน เอเชียกลางธิเบตไปศึกษาเล่าเรียนกันอย่างมากมาย  มหาวิทยาลัยนาลันทามีอาจารย์อยู่ 1,600 ท่าน  มีนิสิตมากกว่า 10,000 ท่าน

               เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย การศึกษาของอินเดียก็เข้าสู่ยุคมืด ทำให้เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ มีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง คนวรรณะต่ำคือศูทรและจัณฑาล มีสถานภาพไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน สุดท้ายอินเดียก็ถูกปกครองโดยชาวมุสลิมอาหรับและมองโกลหลายร้อยปี เมื่อเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก อินเดียก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่นับร้อยปี  ทั้ง ๆที่ตอนนั้นอังกฤษมีพลเมืองอยู่เพียง  30  ล้านคน ขณะที่อินเดียมีพลเมืองอยู่ถึง  300  ล้านคน

               เมื่ออินเดียจะได้เอกราชจากสหราขอาณาจักรนั้น  ท่านมหาตมะ คานธีได้ยืนหยัดต่อสู้ด้วยหลักการของพระพุทธศาสนา  นั่นคือหลัก“อหิงสา” (ในศาสนาฮินดูไม่ได้เน้นคำสอนเรื่อง อหิงสา) และความอดทนอดกลั้นจนสามารถเอาชนะอาวุธปืนของกองทัพอังกฤษได้ ต่อมาท่านดร.อัมเบดการ์ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แก่อินเดียด้วยการฟื้นฟูพระพุทธศาสนากลับสู่มาตุภูมิ ท่านเป็นพลังผลักดันสำคัญให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) นำเอาตราธรรมจักรมาติดไว้กลางธงชาติอินเดียและเอาหัวสิงห์ของเสาหินพระเจ้าอโศกมาเป็นตราแผ่นดิน

               สรุปได้ว่า เมื่ออินเดียได้รับเอกราชเป็นอิสรภาพ ก็ได้อาศัยพระพุทธศาสนาทั้งศาสนธรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนามาเป็นตัวเชิดชูความยิ่งใหญ่ของอินเดียไว้อิกครั้ง นอกจากนี้ ท่าน ดร.อัมเบดการ์ในฐานะประธานร่างรัฐธรรมนูญปกครองอินเดีย ท่านก็ได้เขียนบทบัญญัติว่าด้วยการไม่แบ่งชั้นวรรณะ ตลอดทั้งอุดมคติอื่น ๆ ของพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

 

      เรียบเรียงจากหนังสือ “พระพุทธศาสนาแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคมและการเมือง”    

                                                    ของพระราชปัญญาเมธี (สมชัย  กุสลจิตฺโต)

หมายเลขบันทึก: 378116เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2010 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท