กลไกการทำงานเฝ้าระวังสื่อ : การเชื่อมต่อจากท้องถิ่นสู่ส่วนกลาง


การทำงานในลักษณะนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคพลเมือง เพื่อปิดจุดอ่อนในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เน้นเพียงกลไกภาครัฐ และ กลไกภาควิชาชีพ ซึ่งยังไม้ได้ตอบโจทย์เรื่องการมองประชาชนเป็นตัวตั้งในการทำงาน และ เป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

       วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ได้เดินทางไปกับแผนงานสื่อเพื่อสุขภาวะเยาวชน หรือ สสย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนกลไกการเฝ้าระวังสื่อในระดับภาคอีสาน ในแง่ของเป้าหมายในการทำงาน ได้รับการประสานงานจากทาง สสย ว่าเพื่อให้เครือข่ายเข้าใจถึงแนวคิดเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อในทุกมิติ และ สามารถจัดทำแผนงานการทำงานในระดับเครือข่ายแต่ละเครือข่าย และสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ประสานงานสื่อเพื่อสุขภาวะภาคอีสาน หรือ ศสอ รวมถึง การเชื่อมต่อกับ สสย และ กลไกระดับชาติต่อไปได้

เพื่อให้เกิดความชัดเจนของสร้างแนวคิดดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องหลักๆ ๖ เรื่อง คือ เหตุผลและความจำเป็นในการเฝ้าระวังสื่อ แนวคิดพื้นฐานในการเฝ้าระวังสื่อ เป้าหมายในการเฝ้าระวังสื่อ บทบาทของการทำงานของเครือข่ายเฝ้าระวัง การสร้างหรือออกแบบวิธีการในการทำงานเพื่อการเฝ้าระวังสื่อ สุดท้ายคือ การเชื่อมต่อการทำงานของเครือข่ายกับ ศสอ สสย และ กลไกระดับชาติ

ทำไมต้องเฝ้าระวังสื่อ ???

                ในชุดความเข้าใจแรกที่จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนก็คือ เหตุผลและความจำเป็นในการเฝ้าระวังสื่อ หากเครือข่ายไม่เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ผลสุดท้ายก็คือ เครือข่ายจะไม่สามารถออกแบบการทำงานการเฝ้าระวังสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเราละเลยถึงเหตุผล หรือ ความจำเป็นของการทำงานแล้ว เราก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องมาทำงานนี้ ? และงานนี้เกี่ยวกับเราอย่างไร ?

            ความจำเป็นในเรื่องของการเฝ้าระวังสื่อมีเหตุผลหลักๆอยู่ ๕ ข้อ

(๑) เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ การดำเนินชีวิต ต่อผู้รับสื่อ โดยมีข้อยืนยันจากงานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่ายิ่งเด็กอายุน้อย รับสื่อบ่อยๆ ขาดการพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสื่อ มีโอกาสในการเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อได้มากกว่าเด็กที่รับสื่อทั่วไปถึง ๓ เท่า

(๒) เป็นความจริงว่า ในปัจจุบันเด็ก เยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับสื่อเฉลี่ยวันละ ๕-๖ ชั่วโมงต่อวัน มากที่สุดคือ โทรทัศน์ รองลงมา คือ อินเทอร์เน็ต เกมคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ

(๓) สื่อในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีกลยุทธ์ในการสร้างรายได้โดยเน้นให้มีลูกค้าเข้ามาบริโภคสื่อที่ตนเองผลิตขึ้นมากขึ้น โดยส่งผลต่อเนื้อหาสื่อที่เน้นความรุนแรง เพศ หรือ ภาษา มากขึ้นไปด้วย จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเตือนผู้บริโภคสื่อถึงสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในยุคเว็บ ๒.๐ ทุกคนสามารถสร้างข้อมูลข่าวสารและแพร่กระจายไปในอินเทอร์เน็ต จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุกเตือนให้เข้าใจถึงการใช้งานที่ถูกต้อง และ การเชื่อถือข้อมูลที่เกิดขึ้นบนเว็บ ๒.๐

(๔) ในยุคการปฏิรูปสื่อ กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสื่อล้วนเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการติดตามการบริหารจัดการสื่อ ติดตามตรวจสอบ นั่นหมายความ การใช้สื่อจะเปลี่ยนแปลงมากยังประชาชนมากขึ้น เท่ากับว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทของพลเมืองในการติดตาม เฝ้าระวัง เนื้อหาสื่อ และการบริหารจัดการเพื่อถ่วงดุลอำนาจของภาคการเมืองและภาคเอกชน และ

(๕) ประสิทธิภาพของการจัดการปัญหา การสร้างมาตรการในการจัดการปัญหามักจะเกิดขึ้นจากส่วนกลางเป็นหลัก ในขณะที่ปัญหาในส่วนกลางกับส่องท้องถิ่นอาจจะมีความแตกต่างกัน นั่นหมายความว่า เราขาดฐานข้อมูลด้านสถานการณ์และตัวอย่างการจัดการในพื้นที่ มาตรการในการจัดการที่ถูกจัดทำในระดับส่วนกลางจึงอาจไม่ได้สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ ดังนั้น หากได้รับข้อมูลจากพื้นที่จะทำให้สามารถสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาที่ตรงจุดได้

 

แนวคิดพื้นฐานในการเฝ้าระวังสื่อ ???

            การติดตามเฝ้าระวังสื่อ ควรจะต้องพิจารณาใน ๒ ประเด็นหลัก

            ประเด็นแรก กรอบการติดตามเฝ้าระวัง ประกอบด้วยการติดตามเฝ้าระวังใน ๔ หัวข้อหลักๆ คือ การติดตามเฝ้าระวังเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อ การติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนในพื้นที่ การติดตามพื้นที่ในการเข้าถึงและบริโภคสื่อ และ การติดตามมาตรการในการจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย

ประเด็นที่สอง การติดตามเฝ้าระวังเรื่องที่ส่งผลกระทบเชิงลบ และ การติดตามเฝ้าระวังเรื่องที่ส่งผลกระทบเชิงบวก (ก่อนที่จะกลายดีจะกลายเป็นเรื่องหายาก และ ไม่มีในที่สุด)

 

เป้าหมายของการเฝ้าระวัง ???

          ในแง่ของเป้าหมายในการติดตามเฝ้าระวังสื่อนั้น ควรมีเป้าหมายหลักๆ

(๑)  เพื่อติดตามสถานการณ์ทั้งที่เป็นปัญหา และ สถานการณ์ด้านสื่อในเชิงบวก เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ ความตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสื่ออย่างรอบด้าน

(๒) เพื่อสร้างกระแสสังคมอันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายในส่วนนี้เป็นเป้าหมายเชิงลึกมากขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างความเข้าใจด้านสถานการณ์แล้ว การสร้างกระแสสังคมเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในมุมต่างๆ ทั้ง เนื้อหาสื่อ พฤติกรรมการบริโภค พื้นที่ หรือมาตรการในการจัดการ ล้วนต้องสร้างพลังทางสังคมผ่านเครือข่าย

(๓)  เพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมผ่านการรวบรวมเครือข่ายที่มีปัญหา (รับเรื่องร้องเรียน) หน่วยเฝ้าระวังทางสังคม อาจจะมีทั้ง เครือข่ายที่มีการรวมตัวผ่านกลไกตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากจะให้มีพลังมากพอเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องมีการทำงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายที่มีปัญหาในเรื่องเดียวกันได้มีโอกาสได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน จะทำให้เกิดพลังเสียงที่มีพลังได้เป็นอย่างดี

(๔)  เพื่อการเตรียมการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมาย นโยบาย ในส่วนของเป้าหมายนี้อาจจะเป็นเป้าหมายในระยะยาว หากมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ สร้างกระแสให้สังคมเกิดความรับรู้ในวงกว้าง การนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา รวมทั้ง การปฏิรูปกฎหมาย นโยบาย จึงเป็นผลสัมฤทธิ์จากการทำงานด้านการเฝ้าระวังสื่อ

 

บทบาทของเครือข่ายภาคี ภายใต้ เป้าหมายที่กำหนด??? 

        ภายใต้เป้าหมายของการทำงาน ไม่อาจะละเลยถึง การพิจารณาถึงบทบาทของคนเฝ้าระวังสื่อ และ  เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ ซึ่งอาจสามารถกำหนดบทบาทของนักเฝ้าระวังสื่อใน ๕ บทบาท คือ

          บทบาทแรก ทำตัวเป็นช่างค้น ช่างขุด นักเฝ้าระวังสื่อ จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าในพื้นที่มีปัญหา หรือสถานการณ์อะไรที่เป็นสถานการณ์หลัก หรือ สถานการณ์รอง เพื่อสื่อสารไปยังเครือข่าย

          บทบาทที่สอง หลังจากที่กำหนดประเด็นสถานการณ์แล้ว จำเป็นที่จะต้องขยายวงเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ และความตระหนักร่วม ในบทบาทของ ช่างก่อ หมายถึง ก่อพื้นที่ให้เครือข่ายที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน หรือมีจุดร่วมกันได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นความรู้

          บทบาทต่อมาคือ ช่างเชื่อม หมายถึง การเชื่อมเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหามาร่วมพูดคุย เพื่อแสวงหาทางออกในการจัดการปัญหา อาจจะเป็นการเชื่อมความรู้ในการจัดการปัญหา เชื่อมเครื่องมือในการทำงาน เชื่อมการจัดการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          บทบาทที่สี่ คือ ช่างสื่อสาร หมายถึง การสื่อสารเรื่องราว ข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาไปยังสังคมรวมถึง การจัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้กับเครือข่าย

          บทบาทสุดท้ายคือ ช่างเคาะ เป็นการสังเคราะห์รูปแบบในการทำงาน ทั้ง รูปแบบการสื่อสาร การรวมเครือข่าย การเปิดพื้นที่ เพื่อสรุปต้นแบบในการทำงานเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละประเด็น ซึ่งอาจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเด็น หรือ แต่ละพื้นที่

          ภายใต้เป้าหมายของการทำงาน เครือข่ายอาจจะกำหนดเป้าหมายมากน้อยแตกต่างกัน ตามลักษณะของการทำงานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดบทบาทในการทำงานของนักเฝ้าระวังสื่อ และ เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ

 

การเชื่อมต่องานเฝ้าระวังสื่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง???

        ในการทำงานเฝ้าระวังสื่อในระดับพื้นที่ เป็นการทำงานโดยอาศัยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน หรือ คนละประเด็น หลังจากที่มีการเฝ้าระวัง บทบาทในการทำงานคือ การก่อเครือข่าย และ ขยายการสื่อสารไปยังเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การเชื่อมต่อกลไกในการทำงานเฝ้าระวังสื่อกับเครือข่ายในระดับภูมิภาคซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการจัดเวที การประสานงานระหว่างหน่วยงาน ก็จะเป็นการทำงานเชื่อมต่อเพื่อให้เครือข่ายได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงาน หลังจากนั้น จะมีการส่งสัญญาณหรือข้อมูลมายังหน่วยกลาง เช่น แผนงานสื่อเพื่อสุขภาวะเยาวชน หรือ สสย เพื่อเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ กระทรวงไอซีที เป็นต้น

          การทำงานในลักษณะนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคพลเมือง เพื่อปิดจุดอ่อนในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เน้นเพียงกลไกภาครัฐ และ กลไกภาควิชาชีพ ซึ่งยังไม้ได้ตอบโจทย์เรื่องการมองประชาชนเป็นตัวตั้งในการทำงาน และ เป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

           

 

หมายเลขบันทึก: 376693เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท