ผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา (มองมุมใหม่)


ผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา (มองมุมใหม่)

ผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา (มองมุมใหม่)

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

หลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัย เป็นวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำรงชีวิต และการทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของภาวะผู้นำหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เกี่ยวข้องกับผู้นำที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการแรก คือ บทบาทของผู้นำกับการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ผู้นำขององค์กร    ต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยผู้บริหารต้องใช้หลักกัลยาณมิตรธรรมหรือธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการ คือ วัตตา หรือเป็นผู้รู้จักพูด โดยการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นต้องพูดให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ พูดให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หรือพูดให้ผู้อื่นช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่ใช่การพูดเพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ลักษณะของนักสื่อสาร หรือนักพูดที่ดีไว้4 ประการด้วยกัน ได้แก่ พูดแจ่มแจ้ง(อธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน) พูดจูงใจ(พูดจนคนยอมรับและอยากจะลงมือทำ) พูดเร้าใจ(พูดให้เกิดความคึกคัก กระตือรือร้นู) และพูดให้ร่าเริง(พูดให้เกิดความร่าเริง มีความหวัง ในผลดีและทางที่จะสำเร็จ)     การเป็นผู้รู้จักพูดตามหลักการข้างต้น สามารถนำมาปรับใช้กับการพูดเนื่องในโอกาสต่าง ๆ ไม่จำเป็นแต่ต้องเป็นการพูดของผู้นำเท่านั้น แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือเอง ก็ต้องรู้จักพูดให้แจ่มแจ้ง จูงใจ เร้าใจ และ ร่าเริง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ กระตือรือร้น และสนใจที่จะเรียนหนังสือ สำหรับตัวผู้นำ นอกเหนือจากการรู้จักที่จะพูดแล้วยังต้องรู้จักที่จะฟังด้วย โดยท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่าควรทนหรือฟังต่อถ้อยคำของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับผู้นำหลาย ๆ ท่าน เนื่องจากผู้นำจำนวนมากมักจะชอบพูดมากกว่าฟัง โดยเฉพาะการรับฟังจากผู้ที่ตํ่ากว่าหรือเป็นลูกน้อง นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมว่าไว้ว่า คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่ารู้จักแถลงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ลึกซึ้ง โดยประเด็นหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่สำคัญ ก็ต้องสามารถอธิบาย ทำให้ผู้ที่ร่วมงานมีความเข้าใจ

หลักผู้นำจากพระพุทธศาสนาประการที่สอง คือหลักพรหมวิหาร 4 ประการ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บริหารจะต้องมีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อนำไปสู่การแสดงออกที่ดีและเหมาะสม สำหรับตัวผู้นำ ถ้าสามารถแสดงออกได้อย่างดีและเหมาะสมแล้ว ก็จะนำไปสู่ศรัทธาจากบุคคล  ต่าง ๆ ในองค์กร และทำให้สามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางเดียวกันได้ พรหมวิหาร 4 นั้นประกอบด้วย เมตตา ความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีนํ้าใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรุณา คือ ความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์นั้นผู้นำจะต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้ มุทิตา คือ เมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และสุดท้าย คือ อุเบกขา คือ การรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง หลักพรหมวิหารสี่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะยึดเป็นหลักธรรมในการบริหารงานเป็นระจำวันทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ กับองค์กร โดยเมื่อบุคคลอื่นมีปัญหา มีทุกข์ เดือดร้อน ผู้นำก็ต้องมีความกรุณาที่จะแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกัน เมื่อบุคคลอื่นประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็ต้องมีมุทิตา ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ในช่วงสถานการณ์ปกตินั้นก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ให้บุคคลต่าง ๆ ในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และสุดท้าย ในการบริหารงานทุกอย่างผู้นำจะต้องมีและสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหลักของอุเบกขานั้นจะคุมเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้อีกด้วย โดยการปฏิบัติหรือช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก็จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในแนวคิดทางด้านการบริหารจากโลกตะวันตกมามากขึ้น ทำให้เรามักจะละเลยการนำหลักธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการนำองค์กรของเรา แต่จริง ๆ แล้ว การนำหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้กับการบริหารองค์กรนั้น น่าจะเหมาะกับบริบทของประเทศไทยมากกว่าการนำหลักของตะวันตกมาใช้แต่เพียงอย่างเดียว

 

หมายเลขบันทึก: 376628เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท