การบริหารจัดการองค์การไปสู่ความสำเร็จ


การบริหารจัดการองค์การไปสู่ความสำเร็จ

การบริหารจัดการองค์การไปสู่ความสำเร็จ

ดร.อารักษ์  พรหมณี

สรุปบทความ

            “ผู้นำสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์การได้อย่างยิ่งใหญ่” คำกล่าวนี้อาจจะไม่เป็นจริงหากผู้นำคนนั้นขาดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผู้นำที่เป็นหัวหน้างานหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่บริหารงานทุกระดับที่พึงมีและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการงานขององค์การไม่ว่าจะเป็นองค์การภาครัฐหรือภาคเอกชน เนื่องจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากองค์การให้ทำหน้าที่บริหารงานไม่ว่าระดับใดก็ตามถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจและอำนาจหน้าที่ของตนในการบริหารงานอย่างเป็นทางการขององค์การนั้นในการทำหน้าที่นำคนในองค์การให้ปฏิบัติไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่บริหารจัดการภายใต้สายการบังคับบัญชาที่องค์การมอบอำนาจหน้าที่ (Authority) ให้เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการเพื่อบริหารกิจการงานขององค์การ ก็มิได้หมายความหรือเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นจะสามารถทำหน้าที่ผู้นำได้อย่างมีประสิทธิผลทุกคน เพราะผู้บริหารเหล่านั้นอาจมีภาวะผู้นำที่ล้มเหลวหรือไม่ได้รับการยอมรับของคนในองค์การที่เป็นผู้ตามทั้งต่อหน้าหรือลับหลังทำให้องค์การอ่อนแอ ในทำนองกลับกันภาวะผู้นำอย่างไม่เป็นทางการอาจเกิดขึ้นได้ในบุคคลที่มิได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร จนกระทั่งมีความสำคัญเท่าเทียมหรือเหนือกว่าอิทธิพลของผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่บริหารจัดการไม่ว่าระดับใดก็ตามต้องมีภาวะผู้นำเพื่อให้เกิดการยอมรับการนำนอกเหนือจากการบังคับให้ปฏิบัติตามอันเป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการองค์การและการบริหารจัดการทั้งในเชิงองค์การภาครัฐหรือภาคเอกชนมักจะบรรจุแนวคิดทฤษฎีผู้นำและภาวะผู้นำไว้ด้วยเสมอ

         แนวคิดในการศึกษาผู้นำและภาวะผู้นำนั้นมีอยู่มากมายหลายทฤษฎี แต่แนวคิดทฤษฎีที่สำคัญสามารถจัดเป็นกลุ่มได้ ดังนี้

 1. ทฤษฎีมหาบุรุษ (Great Man Theory) มีแนวคิดที่ว่าผู้นำคือผู้ที่มีทักษะความเป็นผู้นำมาแต่กำเนิดไม่อาจอธิบายหรือเข้าใจได้

 2. ทฤษฎีคุณลักษณะเด่น (Trait Theory) เชื่อว่าผู้นำเกิดจากการมีบุคลิกภาพและการแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ได้ ดังนั้นคุณลักษณะของผู้นำจึงเป็นผลมาจากการศึกษาจำแนกภาวะผู้นำของมหาบุรุษต่างๆที่มีความเหมือนกันทางด้านต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำได้

 3. ทฤษฎีอำนาจและอิทธิพล (Power and Influence Theory) ให้ความสำคัญที่เครือข่ายของอำนาจและอิทธิพลของผู้นำที่มีต่อบุคคลอื่นๆโดยผู้นำเป็นศูนย์กลางของอำนาจ

 4. ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorist Theory) มุ่งเน้นพฤติกรรมที่ผู้นำลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัว

 5. ทฤษฎีเชิงสถานการณ์ (Situation Theory) มองว่าสถานการณ์ที่ต่างกันย่อมต้องการความเป็นผู้นำในรูปแบบที่ต่างกัน ทำให้ภาวะผู้นำมีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากกว่าการมีบุคลิกภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออิทธิพลของสถานการณ์ที่มีต่อรูปแบบภาวะผู้นำ ดังคำกล่าวที่ว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

 6. ทฤษฎีเหตุและปัจจัย (Contingency Theory) เป็นการพัฒนาทฤษฎีเชิงสถานการณ์โดยเลือกตัวแปรเชิงสถานการณ์ที่บ่งชี้รูปแบบของภาวะผู้นำที่เหมาะสมกับสถานการณ์และเหตุปัจจัยในแต่ละสถานการณ์

 7. ทฤษฎีเชิงธุรกรรม (Transactional Theory) เป็นภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจภายนอกที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเชิงแลกเปลี่ยนหรือต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

 8. ทฤษฎีคุณสมบัติ (Attribution Theory) เน้นปัจจัยต่างๆที่อยู่เบื้องหลังคุณสมบัติของผู้ตามที่มีภาวะผู้นำในการนำมากกว่าผู้นำ

 9. ทฤษฎีการนำการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Transformation Theory) มองแรงจูงใจภายในที่มีผลต่อความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนกันโดยมุ่งเน้นความยึดมั่นและสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าการยอมตามของบรรดาผู้ตาม ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสภาพจึงมีลักษณะเชิงรุก นวตกรรม และมีวิสัยทัศน์

           กล่าวโดยสรุป ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่มีความสำคัญที่จะส่งผลให้องค์การสามารถดำเนินกิจการจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งการศึกษาค้นหาภาวะผู้นำของบรรดาผู้นำในองค์การยังมีแนวคิดที่หลากหลาย นั่นคือ ภาวะผู้นำเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ไม่หยุดนิ่ง มีวิวัฒนาการและพัฒนาการเป็นไปตามแนวคิดทฤษฎีองค์การแต่ละยุคสมัย สมควรที่จะต้องติดตามศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

 

 

หมายเลขบันทึก: 376627เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท