จากใจ..ไหมจีน


ความร่วมมือ ไทย-จีน

วิโรจน์  แก้วเรือง

        เมื่อวันที่ 14-19 สิงหาคม 2552 ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ (นายประทีป มีศิลป์)และข้าพเจ้าว่าได้ไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงขอเล่าให้เรื่องถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน ด้วยน้ำใจและมิตรไมตรีที่ได้รับจากชาวจีน อย่างที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน

         ความเป็นมา  : จากการที่สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯได้ให้โอกาสผมไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างปี 2549-2550 ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักกับศาสตราจารย์ ดร. เจียปิง ซู (Prof. Dr. Jiaping Xu ) จากมหาวิทยาลัยการเกษตรอันฮุย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่นั้นมาทำให้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับ ดร. ซู อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ (สมมช.) ได้ส่งคณะข้าราชการจำนวน 8 คน ไปศึกษาดูงานด้านหม่อนไหม ณ เมืองเหอเฟ่ย (Hefei) มณฑลอันฮุย (Anhui) พร้อมแสวงหาความร่วมมือทางด้านวิชาการหม่อนไหมระหว่าง สมมช. กับมหาวิทยาลัยการเกษตรอันฮุย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้โดยได้รับการต้อนรับจากคณบดีและคณาจารย์คณะการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อย่างดียิ่งทั้งๆ ที่ดร.ซูติดภารกิจ ไม่ได้อยู่ต้อนรับด้วยตัวเองเพราะต้องเดินทางมาเสนอผลงานทางวิชาการที่เมืองไทย หลังจากนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีการติดต่อประสานงานแลกเปลี่ยนข่าวสารกันเรื่อยมา

ความร่วมมือทางวิชาการ

          สมมช. ได้ดำเนินการนำเสนอร่าง “บันทึกความร่วมมือ” ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง โดยจะเน้นเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ไหม ที่ต้านทานโรคแกรสเซอรี่(Grasserry disease)  หรือโรคเต้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส (NPV : Nosema Polyhedrosis virus)   ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงและระบาดแพร่หลาย ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ดังนั้นการแสวงหาฐานพันธุกรรมของพันธุ์ไหมให้กว้างขึ้น ก็เป็นโอกาสที่จะได้พันธุ์ไหมพันธุ์ใหม่ๆที่มีความทนทานหรือต้านทานต่อโรคนี้ในอนาคต ขณะนี้บันทึกความร่วมมือดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากทางฝ่ายมหาวิทยาลัยการเกษตรอันฮุยแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการต่างประเทศของประเทศจีน โดยหวังว่าจะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการลงนามร่วมมือทั้งสองหน่วยงานได้ในราวเดือนสิงหาคม 2553 และจะสามารถจัดทำโครงการวิจัยร่วมกันได้ทันทีในปีเดียวกัน

การศึกษาดูงานหม่อนไหม

         นายประทีป มีศิลป์ ผอ.สมมช.และผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยการเกษตรอันฮุย ให้ไปนำเสนอ “สถานการณ์หม่อนไหมของประเทศไทยในปัจจุบัน”ให้คณาจารย์ ผู้ประกอบการ นักวิชาการและนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ของเมืองเหอเฟ่ย ในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 การบรรยายครั้งนี้ได้รับความสนใจมากจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากการเลี้ยงไหมพันธุ์ที่ฟักออกตลอดปี (polyvoltine)  ของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีรังสีเหลือง ซึ่งต่างจากพันธุ์ไหมของจีน ที่มีการเลี้ยง ในปัจจุบันซึ่งเป็นพันธุ์ที่ฟักออกปีละ 2 ครั้ง (bivoltine) ดังนั้นในการสร้างพันธุ์ไหม ที่ต้านทานต่อโรค จากพันธุ์ไหมของไทยและของจีน จึงมีโอกาสที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

                การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของเกษตรในมณฑลอันฮุย มณฑลอันฮุยมีพื้นที่การปลูกหม่อนราว 100,000 ไร่เทียบเท่า พื้นที่การปลูกหม่อนของไทยทั้งประเทศ แต่มีจำนวนเกษตรกรน้อยกว่า เนื่องจากเกษตรกรแต่ละราย จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงไหมครั้งละ 20-70 กล่อง ปีละ 3 ครั้ง มีรายได้ราว 3,000– 4,000 บาทต่อกล่อง (ราคารังไหมประมาณ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม) เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 400,000 – 1,000,000 บาท / ครอบครัว / ปี เมืองที่มีการเลี้ยงไหมมากในมณฑลนี้ คือ เมืองเทียนซาน และเมืองตุงเซิง เทียนซานซึ่งเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของมัน ด้วยเป็นหนึ่งในห้าขุนเขาที่มีความงดงามตามธรรมชาติของประเทศจีนที่เราได้มีโอกาสไป นอกจากจะได้เห็นแปลงหม่อนที่เขียวขจีลดหลั่นอยู่บนพื้นผิวภูเขาที่มีระดับต่างกันดุจไม้ประดับ จากการไปเยี่ยมเยือน เกษตรกรจีนที่มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ล้วนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน มีบ้านหลังใหญ่ใช้วัสดุที่ทันสมัย ต้อนรับผู้มาเยือนชาวไทยด้วยไมตรีจิต ชีวิตคนสามวัย อาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดียวกัน(ปู่ ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูก) ทุกครอบครัวจะมีบุตร 2 คน เนื่องจากรัฐบาลจีนอนุญาตให้ครอบครัวเกษตรกรสามารถมีบุตรได้ 2 คน แต่พนักงาน อาจารย์ของรัฐและเอกชนมีบุตรได้เพียงหนึ่งคนการเลี้ยงไหมของเกษตรกรจีน จะรับไข่ไหมหรือซื้อจากบริษัทผลิตไข่ไหม โดยมีเจ้าหน้าที่การเกษตรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลเกษตรกร การผลิตพ่อแม่พันธุ์เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยและสถาบันวิจัย คณะของเราได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่คณะเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเหอเฟ่ย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เซาจุน เว่ย  (Prof. Dr. Zhao Jun Wei) และทีมงานเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกร่วมกันทำงานอย่างขะมักเขม้นแข่งกับเวลา เพื่อผลิตนวัตกรรมที่จะเป็นผลิตภัณฑ์เชิงการค้าในอนาคตอันใกล้นี้ เช่นการเลี้ยงเห็ดราบนดักแด้ไหม เพื่อสกัดสารที่สำคัญสามารถไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 375860เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณวิโรจน์ ผมมีความสงสัยเรื่องไหม ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่า จังหวัดสุรินทร์ที่มีผ้าไหมทอสวยงามนั้น เดี๋ยวนี้ต้องซื้อไหมมาจากประเทศเวียตนานมแล้ว จรงิหรือเปล่าครับ การสนับสนุนเลี้ยงไหมที่สุรินทร์หรืออีสาน ไม่เพียงพอหรือมีอุปสรรคอะไรครับ

เรียน ครูหยุย ที่นับถือ

จังหวัดสุรินทร์มีกลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง โดยการนำของอ.วีระธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ได้นำการทอผ้าไหมยกทองโบราณมาส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังผลงานที่เห็นได้จากผ้าไหมของผู้นำเอเปคและราชอาคันตุกะ ซึ่งเป็นผ้าที่ทอได้เพียงวันละ 2 เซนติเมตรโดยใช้ผู้ทอ 4 คน และมีลวดลายที่เกิดจากตะกอมากกว่าหนึ่งพันตะกอ สำหรับกลุ่มนี้ใช้เส้นไหมเส้นยืนจากบริษัทจุลไหมไทย และเส้นพุ่งเป็นเส้นไหมไทยที่ได้ในท้องถิ่น แต่อาจมีกลุ่มอื่นๆที่อาจมีการใช้เส้นไหมที่ลักลอบมาจากประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีราคาถูก

ในอดึต เกษตรกรและผู้ประกอบการทอผ้าไหม แข่งขันลดต้นทุนการผลิตจึงนำไหมมาจากเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพต่ำมาทอจำหน่าย แต่ปัจจุบันกรมหม่อนไหม ได้สร้างตราเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 4 ตรา (ตรานกยูงพระราชทาน ดูรายละเอียดได้ที่ www.qthaisilk.com ) ขึ้นมาเพื่อแสดงถึงที่มาของวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้ใช้ผ้าไหมตรงตามที่มีการรับรอง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันการลักลอบการนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพและมาตรฐานมากกว่าการแข่งขันด้านราคา และต้นทุนการผลิต ส่วนการเลี้ยงไหมที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในภาคอีสานทั่วๆไป ที่เลี้ยงไหมตามฤดูกาล เลี้ยงพันธุ์พื้นบ้าน ใช้หม่อนพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก กรมหม่อนไหมร่วมกับจ.สุรินทร์และสภาอุตสาหกรรมจ.สุรินทร์ ในนามกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์พยายามให้เกษตรกรเลี้ยงไหมเป็นระบบมากขึ้น คาดว่าอนาคตคงแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ การผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีการนำเข้าเส้นไหมจากประเทศจีนบางส่วนเป็นหลักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเส้นยืนเนื่องจากการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการทอผ้า สำหรับใช้ในประเทศและส่งออก แต่ก็มีบางส่วนที่มีการลักลอบ เพราะราคาถูกกว่าดังกล่าวข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ

วิโรจน์ แก้วเรือง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท