บายศรีสู่ขวัญ : ประเพณีที่อยู่เคียงคู่แดนดินถิ่นอีสาน


การสู่ขวัญคือพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรืออาจเป็นเพียงเป็นเพียงกุศโลบายในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่เข้ารับการสู่ขวัญแล้วแต่จะคิดกัน

บายศรีสู่ขวัญ : ประเพณีที่อยู่เคียงคู่แดนดินถิ่นอีสาน

 หมอพราหมณ์ สว่าง  ไชยสงค์

   การบายศรีสู่ขวัญ หรือบายศรีสูตรขวัญ ในสายตาของคนหัวสมัยใหม่ อาจมองว่าเป็นเพียงกุศโลบายในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่เข้ารับการสู่ขวัญเท่านั้น

   แต่ในสายตาของผู้ที่มีความเชื่อ ซึ่งไม่จำกัดว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ตามที กลับมองว่าการสู่ขวัญคือพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ ซึ่งการมองทั้งสองลักษณะนี้ ก็ถูกด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่อย่างไรก็ตามการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญนี้  ผู้ที่เป็นเจ้าพิธี หรือหมอพราหมณ์ หรือพ่อพราหมณ์  ก็ควรทำให้ดี ทำด้วยจิตที่มีกุศลเจตนา ส่วนจะมีการพลิกแพลงแต่งเติมขั้นตอน หรือปรับเปลี่ยนให้แปลกใหม่พิสดารอย่างไรนั้น ยกให้เป็นศิลปะของพราหมณ์เจ้าพิธีแต่ละคนในฐานะนักปราชญ์คนหนึ่ง

   ในที่นี้ ผู้เขียนในฐานะผู้ที่เคยทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธี กล่าวคือเคยประกอบพิธีการสู่ขวัญมาแล้วหลายครั้ง แม้จะไม่ช่ำชอง แต่ก็พอมองออกว่า ขั้นตอนหลัก ๆ มีอะไรบ้าง จึงจะนำเสนอ ขั้นตอน ดังนี้

    1. ให้ผู้รับการสู่ขวัญหันหน้าไปสู่ราศีประจำวัน ซึ่งมีดังนี้

    วันอาทิตย์ ราศีอยู่ทิศ ปัจจิม วันจันทร์ ราศีอยู่ทิศ พายัพ วันอังคาร ราศีอยู่ทิศ บูรพา วันพุธ ราศีอยู่ทิศ อุดร วันพฤหัสบดี ราศีอยู่ทิศ อีสาน วันศุกร์ ราศีอยู่ทิศ ทักษิณ วันเสาร์ ราศีอยู่ทิศ อาคเนย์ เมื่อนั่งแล้วให้ประณมมือไปทางทิศหัวใจ ซึ่งหัวใจนั้น อยู่ประจำทิศต่าง ๆ ดังนี้วันอาทิตย์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ อุดร วันจันทร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ หรดี วันอังคาร หัวใจเป็นอยู่ทิศ อีสาน วันพุธ หัวใจเป็นอยู่ทิศ บูรพา วันพฤหัสบดี หัวใจเป็นอยู่ทิศ อาคเนย์ วันศุกร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ พายัพ วันเสาร์ หัวใจเป็นอยู่ทิศ ทักษิณ จากนั้นจึงหันกลับมาทิศราศีประจำอยู่

    2. เชิญผู้รับการสู่ขวัญ หรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

    3. กราบพระ ขอโอกาสก่อนค่อยดำเนินการสู่ขวัญ (ถ้าพระภิกษุอยู่ที่นั้น)

    4. ขึงด้ายมงคลระหว่างพาขวัญกับผู้รับการสู่ขวัญและญาติ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใช้ ให้จับพาขวัญแทน

    5. อัญเชิญเทวดาหรือชุมนุมเทวดา ด้วย คาถา

    6. ไหว้พระรัตนตรัย (อรหังสัมมา ...)

    7. กล่าวคำนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า 3 จบ (ตั้งนโม)

    8. กล่าวคำสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิโส ภควา ...)

    9. ต่อชะตา (พุทธังอายุวัฑฒนัง เต ชีวิตตัง...)

   10. เริ่มสู่ขวัญ บอกให้ผู้รับการสู่ขวัญนั่งประณมมือไว้ก่อน จนถึงคำว่า ศรี ศรี... จึงให้จับ พาขวัญ หรือขันหมากเบ็ง ด้วยมือขวาลักษณะหงายมือ

   11. วิดฟาย (พรมน้ำมนต์โดยพ่อพราหมณ์)

   12. ผูกแขน   เป็นอันจบพิธีการบายศรีสู่ขวัญ

   สำหรับประเภทของการสู่ขวัญก็มีอย่างหลากหลาย เช่นสู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ มารับตำแหน่งใหม่ สู่ขวัญแม่มาน สู่ขวัญแม่ลูกอ่อนออกกรรม (ออกจากการอยู่ไฟ)  สู่ขวัญเจ้าบ่าว เจ้าสาว สู่ขวัญเด็ก สู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน หรือแม้กระทั่งสู่ขวัญเล้าข้าว สู่ขวัญเสาเรือน สู่ขวัญบ้านใหม่ สู่ขวัญข้าวขึ้นลานขึ้นเล้า ยิ่งไปกว่านั้นคือสู่ขวัญวัว ควาย สัตว์เลี้ยงที่มีคุณต่อผู้เลี้ยง สรุปว่า คิดอยากจะสู่ขวัญให้อะไรก็น่าจะได้ทั้งนั้น ถ้าหวังความเป็นศิริมงคลให้บังเกิดมี

   แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอยกบทสู่ขวัญให้แก่นักศึกษา วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2553 เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 11 กรกฎาคม 2553 ซึ่งผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นใหม่ มานำเสนอดังนี้

   ศรี ศรีมื้อนี้แม่นมื้องาม ยามนี้แม่นยามดี  อาทิตย์ไชยศรี  สวัสดีลาโภ นโมพุทธายะ

ขอเดชเดชะเดโช องค์พุทโธ ธรรมโม สังโฆ ให้มาปกป้อง คุ้มพี่คุ้มน้องมวลนักศึกษา

ให้มาคุ้มครองฮอดครูบาอาจารย์ผู้สอนสั่งพู้นเด้อ

เออ.. มื้อนี้ผู้ข้าหมอพราหมณ์สว่าง กะสิได้สู่ขวัญเอาชัย ให้นักศึกษา ของวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2553

   จึ่งขออัญเชิญเทวาธิราชไท้ทุกนาม  ทุกสวรรค์ชั้นฟ้า ได้โปรดเสด็จลงมาประทานพร และอำนวยอวยชัย ให้พิธีเป็นไปด้วยความราบรื่น ให้นักศึกษาสดชื่น รื่นรมย์สำราญ ให้ครูบาอาจารย์มีจิตหาญกล้า เป็นที่เพิ่งนักศึกษาทุกเมื่อทุกยาม

   เออ... นักศึกษาทั้งหลาย  บ่ว่าหญิงหรือชายกะได้มาพรั่งพร้อม เจ้าได้มานั่งล้อมอ้อมอยู่พาขวัญ เฮ็ดไปตามสมควรสู่ขวัญน้องใหม่ พวกรุ่นพี่เจ้ากะเอาใจใส่ซ่อยประคับประครอง

   ขอให้พวกเจ้าทั้งผองมีแต่ความจำเริญ อย่าสู่ได้เคอะเขิน ยามมาเรียนรู้ ขอให้เป็นผู้ฮู้ในศีลในธรรม  ฮู้จักเป็นผู้นำผู้ตามถูกต้อง เคารพความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง  เพื่อนนักศึกษา ฮู้ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ ฮู้การมาการไปมีทรงมีวาด สมกับเป็นนักปราชญ์ เรียนศาสนา ฮู้พุทโธ พุทธา พุทธัง พุทธะ ฮู้จักธรรมมะ ธรรมโม  ธรรมมัง ฮู้จักสังฆัง สังโฆ สังฆะ 

   ยึดเป็นสรณะ สมปัญญาชน เจ้าอย่าย่างนำคนตดเหม็นท้องยื่ง เขาสิตดใส่เจ้าให้ดังเว่อปึ่งเหม็น

   ของบ่อเป็นตาจ้ำ อย่าสู่จุ่มมือลง ของบ่เป็นตากัดอย่ากินสิพวนท้อง ของบ่เป็นตาส้มอย่างมกินสิขมปาก มันสิยากแก่ท้อง เที่ยวขี้ยังคืน

   เออ...คำโบราณเพิ่นว่า ครั้นแนวใด๋มันยาก กะให้ค่อยคึดค่อยแก้ ค่อแก่ค่อยดึง ให้ค่อยขุดค่อยขนค่อยคนค่อยค้ำ ให้ค่อยทำการสร้างอย่าวางใจให้ฟ่าวแล่น ให้ค่อยอดค่อยแง้นมันสิได้ต่อนคำ

   เจ้าอย่าได้ล่วงล้ำ เฮ็ดสิ่งบ่ดี เรียนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท พู้นแล้ว อย่าสู่ไปติดแห้วหลงหวยหลงเบอร์ เจ้าอย่าสู่ไปพลั้งเผลอนำแนวบ่แม่น อันใด๋เป็นกระพี้ อันใด๋เป็นแก่น กะต้องฮู้เท่าทัน

   เจ้าต้องขยันขันเกลียวเข้าไว้ ให้เจ้าเอาใจใส่การสูตรการเรียน ให้เจ้าอ่านเจ้าเขียนศึกษาค้นคว้า

   เจ้าอย่าลืมว่า ... ปมาโท มัจจุโนปทัง คือว่าความประมาทย่อมนำไปสู่ความตาย ..กัลยา ณ การี กัลยาณัง ปาปการี จะปาปกัง หมายความว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว...ดังนั้น  เจ้าอย่าได้ทำความชั่วให้ทำแต่ความดี ให้พวกเจ้าสามัคคีกลมเกลียวกันไว้  ยกระดับมหาวิทยาลัยของเฮา ให้ชื่อเสียงสูงส่ง

   อย่าเป็นคนหยิบโหย่ง ให้มีคุณธรรม จบออกไปแล้วต้องกล้าเป็นผู้นำสังคมเขาได้ หรือพร้อมเข้ารับใช้สังคม องค์กร นี่บ่แม่นหมอพราหมณ์สอนแต่เป็นคำแนะนำ นักศึกษาทั้งหลาย ให้เจ้าจดเจ้าจำคิดนำไปใช้ แล้วพวกเจ้าสิได้จำเริญจำเริญ…

   เออ...บัดนี้หมอพราหมณ์กะสิขอเชิญพวกเจ้าทั้งหลาย พากันฮ้องเอาขวัญ ... ว่ามาเด้อขวัญเอ้ย  ขวัญอยู่แข่งกะให้เจ้ามาลีลาลีลา ขวัญอยู่ขากะให้เจ้ามาลีล่ายลีล่าย  ขวัญอยู่แขนขวาแขนซ้าย กะให้มาเต้ามาโฮม ทั้งขวัญนมขวัญคางขวัญเอวบางท้องกิ่ว ทั้งขวัญคิ้วและขวัญตา ขวัญกายางามดี กะให้เจ้ามาเสียมื้อนี้วันนี้ ...ว่ามาเด้อขวัญเอ้ย  ขวัญไปฮ้องเพลงคาราโอเกะ ขวัญไปเที่ยวพลาซ่า ขวัญไปเลาะซื้อสินค้าอยู่ที่คลองถม กะว่ามาเสียมื้อนี้วันนี้ ...ว่ามาเด้อขวัญเอ้ย ขวัญเจ้าโดดเรียนหนีก่อนเวลา หนีไปหาเสริมสวย กะว่ามาเสียมื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้ามาสายบ่ทันหมู่ ขวัญเจ้าอดหลับอดนอนมัวแต่เบิ่งบอลโลก กะว่ามาเสียมื้อนี้วันนี้ ...ว่ามาเด้อขวัญเอย ขวัญหนีไปม่วนอยู่แถวใด๋ กะให้มาไวไว มาหามาสู่ ให้เจ้ารีบมาอยู่ในเนื้อในคีง มาค้นหาความจริงมาเฮียนมาฮู้ มาเป็นผู้รอบรู้ทั้งทางโลกทางธรรม หมอพราหมณ์จึ่งขอเชิญพวกเฮาพากันฮ้องน่ำน่ำ  น่ำน่ำ น่ำน่ำ.ว่ามาเด้อขวัญเอ้ย

   เออ...ครั้นขวัญมาแล้วหมอพราหมณ์สว่าง กะสิแถมพร สิทธิการิยะ ตถาคโต สิทธิลาโภ  นิรันตรัง  สิทธิเตโช  ชโยนิจจัง ขอให้พวกเจ้าทั้งหลาย จงมีโชคมีลาภตลอดไป และมีเดชมีชัยตลอดกาล เงินกะให้ไหลกอง ทองไหลมา เพชรนิลจินดากะให้ไหลสู่ โชคและลาภไหลเข้าทั้งเช้าและแลง  ไปทางหน้ากะอย่าให้มีคนซัง ไปทางหลังกะให้มีคนย้อง ญาติพี่น้องนับหน้าถือตา มีอำนาจวาสนาลื่นล้นคนย้องทั่วเมือง นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันกะให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นกะให้เจ้าได้เงินแสน แบนมือไปให้ได้เงินล้าน เงินทองไหลเข้าบ้านรวยล้นเป็นเศรษฐี สอบแต่ละปี แต่ละภาคการศึกษา อย่ามีเอฟ มีไอให้เจ้าได้ เอ ล้วนล้วนควรค่าแก่ทุกคนเด้อ  ไชยตุภวังค์ ไชยมังคลัง ก็ข้าเทอญ นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะกะสะ นะมะอะอุ สาธุ สาธุ สาธุ.

ส่วนคำวิดฟาย หรือคำกล่าวขณะประพรมน้ำมนต์ มีดังนี้

   สาธุ สาธุ สาธุ เด้อ น้ำนี้  แม่นอุทธกังวิเศษ  สามารถปัดเหตุ  ฮ้อนหายจ้อยบ่อเหลือ ซิดไปเหนือซิดไปใต้  ซิดไปไทยทางล่าง เฮ็ดให้ใสสว่างแจ้ง  เห็นฮู้ป่องธรรม ไผผู้มีกรรมฮ้าย  บ่ซำบายหายสร่วง เคยเจ็บหน่วงปวดร้าว  คราวนี้กะสิหาย น้ำวิดฟายแก้วนี้  พระมุนีจอมปราชญ์ ศาสดาเอกแก้ว  ประทานแล้วจั่งซิดไป ฟ้งไปถืกคนไข้  ไอจามปวดป่วง กะให้หายสร่วงซ้ำ  มีแฮงฟื้นสร่วงเซา ฟ้งไปถืกผู้เฒ่า  ผมขาวแข่วหล่อน กะให้กลับหนุ่มแน่น  สองเต้าเต่งตึง ฟ้งไปถืกเด็กน้อย   กะให้หนุ่มเป็นสาว ฟ้งไปถืกผู้สาว  กะให้งามคือนางฟ้า อย่าได้มีไฝฝ้า  ให้ผิวพรรณผุดผ่ององ ให้เจ้าเหลื่อมม่องม่อง  ผู้บ่าวย้องทั่วเมือง ฟ้งไปถืกนหัวล้านกะให้ผมป่งใหม่ คิดอันใดทำอันใด๋กะให้ได้สมเจ้าปรารถนา ฟ้งไปถือพ่อลุงแม่ป้าอาวอาน้าบ่าว กะให้ก้าวหน้าเจริญล้ำบ่อถอย ฟ้งไปถืกผู้ช่อย  กะให้เป็นพ่อผู้ใหญ่ ฟ้งไปถืกพ่อผู้ใหญ่  กะให้เป็นพ่อกำนัน ฟ้งไปถืกนายพัน  กะให้เป็นนายพลพู้นเด้อ ฟ้งไปถืกนายอำเภอ  กะให้เป็นผู้ว่า ฟ้งไปถืกพ่อค้า  กะให้มีกำไร ฟ้งไปถืกผู้ใด๋กะ ให้ฮุ่งเฮืองเด้ออีพ่อ ฟ้งไปถืกนักศึกษา มมร. กะให้ได้เกรด เอ ทุกคนเด้อ จัตตาโร ธัมมาวัฒฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง สาธุ สาธุ สาธุ.

   การบายศรีสู่ขวัญ ถึงแม้จะเป็นพิธีกรรมโบราณก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ดังเดิม คำว่า ศรี ศรี ก็ยังดังว่อน ๆ อยู่ทุกหมู่บ้านไม่เคยจางหายไปจากแดนดินถิ่นอีสาน แม้แต่ ต่าย อรทัย นักร้องเพลงลูกทุ่งยอดฮิตก็ไม่วายเว้นที่จะนำบทบายศรีสู่ขวัญมาดัดแปลงเป็นเพลงที่ลงตัว อันแสดงถึงพลังอิทธิพลของประเพณีบายศรีสู่ขวัญได้แทรกซึมเข้าสู่กระแสจิตวิญาณของคนไทยอีสานยากที่จะสลัดหลุดแล้ว ซึ่งเพลงนั้น มีเนื้อหาดังนี้

                                เพลง : บายศรีสู่ขวัญ
   มาเถิดเย้อ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย หมู่ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งส่ายร่าย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว ยอพาขวัญไม้จันทน์เพริดแพร้ว ขวัญมาแล้ว มาสู่คิงกลม เกศแก้วหอมลอยลม ทัดเอื้อง ชวนชม เก็บเอาไว้บูชา ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข่ง แดดร้อนแรงเจ้าอย่าฝ่า อยู่ที่ไหนจงมา รัดด้ายชยา มาคล้องผ้าแพรกระเจา

   อย่าเพลินเผลอ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย อยู่แดนดินใด หรือฟ้าฟากไกล ขอให้มาเฮือนเฮา เทื่อยังคิดอาลัยชู้เก่า ขออย่าเว้า ขวัญเจ้าจะตรม หมอกน้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่าเพลินชม ป่าเขาลำเนาไพร เชิญไล้ทาประทินกลิ่นหอม ดมพะยอมให้ชื่นใจ เหล่าข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวงมาลัย จะคล้องให้สวยรวย

       จากที่นำเสนอมานี้ เข้าใจว่าผู้อ่านคงเข้าใจ และมองรูปแบบ ตลอดจนเจตนารมณ์ในการบายศรีสู่ขวัญกระจ่างขึ้นกว่าเดิม และผู้เขียนก็เชื่อว่าการบายศรีสู่ขวัญคงไม่จางหายไปจากแผ่นดินอีสานแน่นอน.

 

หมายเลขบันทึก: 375800เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

ขยันเขียนเวียนหามาไม่ถ้วน

ไว้ประมวลขัดเกลาเหลาแก่นสาร

เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

ธนา นนทพุทธ

จักสานอักษร

สว่างชัย มหาเปรียญธรรม

เยี่ยมยิ่ง ท่านรองต๋อง

อาจารย์ตุ่น จาก นามลวิทยาคาร รอก่อนนะครับ เพลงกล่อมลูก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท