Roles of Life Insurance Industry in Aging Society : บทบาทของธุรกิจประกันชีวิตกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ


ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเข้าไปส่งเสริมการประกันสุขภาพและออมเงินไว้ยามเกษียณอายุของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

องค์การสหประชาชาติได้ ประเมินสถานการณ์ว่าปี พ.ศ. 2544-2643 (ค.ศ. 2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึง การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้น ไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มว่ากลุ่มประชากรผู้สูงอายุเหล่านั้นจะมีฐานะยากจน เป็นภาระทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่แต่ละประเทศจะต้องมีแผนรองรับ องค์การสหประชาชาติ ให้นิยามว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกิน 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 14%สำหรับประเทศไทย เกณฑ์การเกษียณอายุโดยทั่วไป คือ 60 ปี และในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ก็ให้คำนิยามไว้ว่า ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าประเทศไทยได้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่อยู่ในสังคมผู้สูงอายุ มาตั้ง แต่ปี พ.ศ. 2548 กล่าวคือ พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10.4 ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนร้อยละ 10.5 และในปี พ.ศ. 2550 จำนวนประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งประเทศ            

   

จากผลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า โครงสร้างของประชากรไทยในปัจจุบันมีประชากรในประเทศไทยทั้งสิ้นมีประมาณ 66 ล้านคน เป็นวัยเด็ก ร้อยละ 21.5 วัยทำงานร้อยละ 67.4 วัยผู้สูงอายุร้อยละ 11.1 ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลล่าสุดในปี 2550 พบทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 6,824,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี หรือเรียกว่า ศตวรรษิกชน จำนวน 4,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยหลังอายุ 60 ปี ชายจะอายุ 79.1 ปี ส่วนหญิงอายุ 81.5 ปี ผู้ชายมีแนวโน้มอายุสั้นกว่าผู้หญิง เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงกว่า ทั้งเรื่องอุบัติเหตุจราจร การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เมื่อประชากรมีอายุเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงความต้องการที่พึ่งพิงและการดูแล ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายๆ ด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตไม่เป็นภาระต่อประชากรในวัยแรงงานเพิ่มขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงสถิติประชากรของโครงสร้างอายุในสังคมไทยในอนาคตจะมีแนวโน้มมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2565 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ อาหาร ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนรู้จักการดูแลตนเอง มีอายุยืนยาวมากขึ้น ประกอบกับประชากรมีอัตราการเพิ่มจำนวนลดลง ภาวะเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 3.6 ในปี 2523 เป็นร้อยละ 2.28 ร้อยละ 1.82 และ ร้อยละ 1.61 ในปี 2533, 2543 และ 2548 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน คือ ผู้หญิงหนึ่งคนมีบุตรเฉลี่ยน้อยกว่า 2 คน ส่งผลให้โครงสร้างประชากรไทยมีสัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลง คาดว่าจำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยจะลดลงเหลือเพียง 700,000 รายต่อปี และอัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะติดลบในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ทำให้โครงสร้างประชากรเกิดความไม่สมดุลตามมาตรฐานสากล ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนในสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุและจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางสังคมและระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรของประเทศในอนาคต หากไม่มีนโยบายหรือแผนการปฏิบัติที่เหมาะสมรองรับประเด็นที่เห็นเด่นชัด คือ จำนวนประชากรวัยแรงงานที่ลดลงจะมีผลต่อผลผลิตรวมของประเทศ ส่วนอัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงจำนวนคนในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) เทียบกับจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีผู้สูงอายุลดลงอย่างต่อเนื่องจากโดยปี 2537 ประเทศไทยมีอัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุเท่ากับ 9.3 คน แต่ในปี 2545 เหลือเพียง 7.0 คน และปี 2550 เหลือเพียง 6.3 คน เท่านั้นที่ช่วยอุปการะผู้สูงอายุ 1 คนและอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีวัยแรงงานอุปการะผู้สูงอายุเพียง 2 คนเท่านั้น ในขณะที่การจัดสรรทรัพยากรเพื่อผู้สูงอายุของประเทศเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อการจัดการด้านสังคมคือการพึ่งพิงสมาชิกในครอบครัวและสังคมที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะถดถอยทางกายภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเชิงนโยบายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ การสร้างระบบเพื่อสนับสนุนการดูแลระยะยาว หลายประเทศทั่วโลกเริ่มใช้เบี้ยบำนาญทางสังคม (Social pension) มาเป็นหลักประกันมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุ เบี้ยบำนาญเหล่านั้นเป็นแบบผู้รับไม่ต้องจ่ายสมทบ และใช้เงินภาษีของประชาชน ขณะเดียวกันจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวซึ่งในประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้คัดเลือกผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพโดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาคมในรูปของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยคุณสมบัติพื้นฐานของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพนั้น ประการแรกจะต้องมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประการที่สองต้องมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า หรือผู้ที่มีปัญหาซ้ำซ้อน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารยากต่อการเข้าถึงบริการของรัฐจะเป็นผู้ได้รับการพิจารณาก่อน หากพิจารณาสถิติผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (เฉพาะส่วนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) จะพบว่าในปีงบประมาณ 2550 มีจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศรับเบี้ยยังชีพสูงถึง 1,755,266 คน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2548 และ 2549 ที่มีจำนวน 527,083 และ 1,073,190 คน ตามลำดับอีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุในทะเบียนราษฎรทั่วประเทศ จะพบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพมีมากถึง 31.6% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั่วประเทศกำลังรับเบี้ย

นอกจากนี้ยังพบว่า ในด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ จะพบโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรที่มีโรคประจำตัวโดยเพศชายมีแนวโน้มจะมีโรคประจำตัวมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นโรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และข้อ โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจ

สำหรับโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมาก 3 อันดับแรก คือ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจหลอดเลือด ส่วนสาเหตุของการตายจะมาจากโรคมะเร็งทุกชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบภาวะสมองเสื่อมได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากสูญเสียความคิด ความจำ และความสามารถในการทำงานและการตัดสินใจ ซึ่งกระทบต่อผู้ดูแลและครอบครัว โดยคาดการณ์ว่าอีก 50 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน ยังชีพ

 

ปัญหาที่เกิดกับผู้สูงอายุมีอยู่ 3 ด้านคือ

1. เรื่องสุขภาพเมื่อมีอายุมากขึ้น

2. ปัญหาความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ ซึ่งควรมีชมรมผู้สูงอายุเพื่อจัดกิจกรรมหารายได้เพิ่มให้กับผู้สูงอายุ 

3.ปัญหาสังคมผู้สูงอายุขี้เหงาและถูกลูกหลานทอดทิ้งเพิ่มขึ้น แนวทางแก้ไขนั้นควรจัดตั้งชมรมเพื่อให้ผู้สูงอายุได้พูดคุย พบปะสังสรรค์กัน

จากการศึกษาของวัทสัน ไวแอท พบว่าประชากรส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกมีการออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอและทุกคนต้องการการดูแลรักษาที่ดีที่สุด ในขณะที่พวกเขาแก่ขึ้นเรื่อยๆ จุดหมายของพวกเขาในเรื่องความจริงเกี่ยวกับการเงินชัดเจนมากขึ้น และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าร้อยละ 89.7 เห็นว่าควรมีการเตรียมการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยมีการเตรียมในเรื่องเงินร้อยละ 98.2 ที่อยู่อาศัยร้อยละ 97.4 สุขภาพร้อยละ 96.3 สภาพจิตใจร้อยละ 93.9 หาผู้ดูแลร้อยละ 88.6 มรดก ร้อยละ 83.9 อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนอื่นๆเพื่อยามชราภาพ มีเพียงร้อยละ 23.3 เท่านั้นที่เป็นสมาชิกกองทุน

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณเพียงไม่กี่สิบล้านคน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการออมกันมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของชีวิตในวัย เกษียณ อันจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและประเทศชาติ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุ ที่ประชาชนคาดหวัง 5 อันดับแรก คือ จากบุตรร้อยละ 32.9 การทำงานเลี้ยงตนเองร้อยละ 31.4 เงินออม/ทรัพย์สิน ร้อยละ 21.2 คู่สมรสร้อยละ 6.0 และเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล ร้อยละ 4.7

 

จากโครงสร้างประชากรของประเทศที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้คนวัยแรงงานขาดระบบบำนาญไปใช้เมื่อวัยชรา ขณะที่รัฐบาลได้สร้างหลักประกันให้กับคนทำงานบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มลูกจ้างเอกชนที่ได้รับสิทธิประกันสังคม เป็นต้น แต่ประชาชนทั่วไปที่เหลือก็ยังขาดหลักประกันรายได้ยามชราภาพ มีเพียงเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือนเท่านั้น กระทรวงการคลังจึงได้ออกกรอบการดำเนินงานระบบบำนาญแห่งชาติ โดยจะมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้ามาดูแล จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบและผู้ที่ยังไม่ได้สิทธิบำนาญ ซึ่งกำหนดการออมเป็นบัญชีส่วนบุคคลเช่น วัย 20-60 ปีออมขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน และภาครัฐสมทบเป็นขั้นบันได ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะสามารถประกาศเป็นพระราชบัญญัติได้ในปี พ.ศ. 2553

จากการศึกษาและงานวิจัยข้างต้นเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางนโยบายการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต เพราะธุรกิจประกันชีวิตไม่เพียงแค่เป็นการธุรกิจรับประกันเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปมีบทบาทในการเป็นแหล่งเงินออมของประชาชนได้อีกหนึ่งช่องทางด้วย นอกจากนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายนอกเหนือจากที่คุ้มครองการเสียชีวิต ได้แก่ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัตเหตุ ประกันภัยก่อการร้ายและจลาจล ประกันทุพลภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันโรคมะเร็ง ชดเชยรายได้จากการเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาเพื่อให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในสังคมผู้สูงอายุได้ สิ่งที่ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเข้าไปมีบทบาทในสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล และ การสร้างหลักประกันด้านรายได้หรือการออมเพื่อวัยหลังเกษียณ เพราะบริษัทประกันชีวิตแทบทุกบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการเข้าไปรองรับความต้องการตรงนี้ได้

โดยเฉพาะการพัฒนาแบบประกันบำนาญ (Annuity Insurance) ซึ่งจะสามารถเป็นทางเลือกของการออมในรูปแบบการประกันชีวิตที่สามารถสร้างความมั่นคงในยามเกษียณได้ ซึ่งเชื่อว่าหากกระทรวงการคลังเห็นชอบให้สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตสำหรับแบบประกันบำนาญมาหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น จะยิ่งส่งเสริมให้ประกันชีวิตเข้าไปมีบทบาทในการช่วยให้ประชาชนออมเงินไปใช้ในยามเกษียณได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทประกันชีวิตควรพัฒนาแบบประกันสุขภาพมาเพื่อรองรับวัยสูงอายุที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต เพราะปัญหาของผุ้สูงอายุนอกจากเรื่องความมั่นคงทางการเงินยามเกษียณ ก็ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่เป็นปัญหาหลักเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคในการที่บริษัทประกันชีวิตจะเข้าไปรับประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ คือ ความแข็งแรงทางสุขภาพและโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมักพบเจอในผู้สูงอายุแทบทุกคน ซึ่งเท่ากับว่าโอกาสที่ผู้สูงอายุจะเจ็บป่วยและเคลมบ่อยกว่าวัยอื่นๆย่อมมีมากกว่า ซึ่งเป็นความเสี่ยงของบริษัทประกันที่จะสูญเสียค่าสินไหมสุขภาพในการรับประกันสุขภาพผุ้สูงอายุด้วยเช่นกัน อีกทั้งแบบประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจะมีเบี้ยประกันที่สูงมาก ซึ่งอาจเกินความสามารถของผู้สูงอายุที่จะรับค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพได้ ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตควรร่วมมือกันในการพัฒนาแบบประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับวัยผู้สูงอายุ รวมทั้งทางรัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้คนไทยหันมาทำประกันสุขภาพกันมากขึ้นโดยใช้มาตรการทางภาษีมาเป็นแรงจูงใจ โดยการให้ประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้อีกทาง เป็นต้น

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย นับเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจประกันชีวิต เพราะหากสามารถหาโอกาสในการเข้าไปมีบทบาทเพื่อรองรับภาวะสังคมผู้สูงอายุได้ นอกจากจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทประกันแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุไทยได้อีกด้วย

 

 

 

References

1.การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552, สำนักงานสถิติแห่งชาติ.

2.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์และ ปราโมทย์ ประสาทกุล, แบบแผนการตายของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.วิพรรณ ประจวบเหมาะ, นภาพร ชโยวรรณ, มาลินี วงษ์สิทธิ์, ศิริวรรณ ศิริบุญ, บุศริน บางแก้ว และชเนตตี มิลินทางกูร.  รายงานการศึกษา โครงการสร้างระบบการติดตามและประเมินผล แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2. วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เอกสารหมายเลข 299. พฤศจิกายน 2551. 390 หน้า.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 375799เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผ่านมาอ่านค่ะ พอดีเป็นเรื่องที่กำลังสนใจ ตามอ่านมาเรื่อยๆ ตั้งแต่บทความแรก แล้วก็จะอ่านต่อไป บทความดีมีประโยชน์ ให้ความรู้ และเปิดมุมมองมากขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท