การจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา....ณ ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้


การเรียนรู้ไม่มีวันหยุด ศูนย์โจ้โก้ก็ไม่อาจหยุดอยู่กับที่ได้ หากแต่ต้องปรับเองและเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและเครือข่าย เพื่อให้ไปถึงสุดทางที่ชาวนาไร่สามารถพึ่งพาตนเองและกันเอง ปลดภาระหนี้สิน มีความเป็นอยู่ที่พออยู่พอกิน

 

วิกฤตชาวนาไร่

        ผลของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมจากแบบพออยู่พอกินเป็นเพื่อการค้าการขาย ทำให้เปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อยังชีพเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้มีการถางป่าออกไปมากขึ้น มีการใช้เครื่องทุนแรง เครื่องจักกล ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ มาแทนการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง เพื่อหวังว่าจะได้ “ผลผลิตสูงและราคาดี” ทำให้รายจ่ายในการเกษตรกรของเกษตรกรสูงขึ้น การใช้ปุ๋ยและเคมีเกษตรมีสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาพร้อมๆ กับภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

        เมล็ดพันธุ์พืชที่เคยอยู่ในมือชาวบ้าน ภูมิปัญญาในการพึ่งตนเองในการคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาไร่ได้สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเริ่มหายไป พร้อมๆ พันธุ์พืชพื้นบ้านที่ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนและราชการ เมื่อเมล็ดพันธุ์กลายเป็นของนายทุน ชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาเขาไปตลอด นี่คือวิกฤตของชาวนาไร่

...................................................................

ก่อตัวอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน

        จากวิกฤติดังกล่าว เกษตรกรบางส่วนได้รวมกลุ่มกัน รวมทั้งนักพัฒนาเอกชน นักวิชาการท้องถิ่นที่ตระหนักกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บุคคลเหล่านี้ได้ก่อรูปเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยจากเวทีหารือ ได้ยกประเด็นเรื่อง “เมล็ดพันธุ์” ขึ้นมาเป็นประเด็นขับเคลื่อนหลัก โดยมี “ชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จ.น่าน เครือข่ายฮักเมืองน่าน” เป็นหน่วยประสานงาน ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖เป็นต้นมา ทางเครือข่ายมุ่งเสริมศักยภาพเกษตรกรและเสริมองค์ความรู้ด้านเทคนิคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ในแปลงของเกษตรกรได้ ทั้งนี้อยู่บนหลักการของเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเน้นการคัดเลือก เก็บ และปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพื้นบ้าน เพราะข้าวคือชีวิตของชาวนาไร่นั่นเอง

ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นำเอากระบวนการเรียนรู้โรงเรียนชาวนาเพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาเรียนรู้ ทดลอง และสอนกันเอง เน้นกระบวนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมบนแปลงนาไร่ของเกษตรกรเอง เอาวิธีการ ปัญหาที่พบในแปลงนาไร่มาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ เป็นห้องเรียนชีวิตบนวิถีการเพาะปลูกของชาวนาไร่เอง โดยมีองค์ความรู้สมัยใหม่เข้าไปหนุนเสริม

        ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จ.น่าน ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้” ณ บ้านราษฎร์สามัคคี ตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้เครือข่ายเกษตรกรและชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามาใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันบนแปลงนาไร่จริง และเป็นศูนย์ประสานเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ของชาวบ้าน โรงเรียนชาวนา สถานศึกษา วัด ภาครัฐ ท้องถิ่น และสถาบันทางวิชาการต่างๆในการที่จะหนุนเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรทั้งรายเดี่ยว และรายกลุ่ม รวมทั้งการเชื่อมต่อกับภาควิชาการ และภาคนโยบายในการเข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้ของชาวนาไร่

......................................................................

การจัดกระบวนการเรียนรู้เกษตรกร 

        เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยประยุกต์องค์ความรู้ท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการคัดเลือก จัดเก็บ และปรับปรุงพันธุ์ข้าวและพืชพื้นบ้าน

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ออกเป็น ๔ ฐานการเรียนรู้หลัก ได้แก่

ฐานที่ ๑ จุลินทรีย์ท้องถิ่น เป็นการเรียนรู้เรื่องการเก็บและการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ การขยายเชื้อจุลินทรีย์ และการนำจุลินทรีย์ไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น จุลินทรีย์บอล จุลินทรีย์น้ำ เพื่อนำไปใช้ในนาไร่ ปศุสัตว์ และครัวเรือน

ฐานที่ ๒ การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการเรียนรู้ตั้งแต่การทำโรงเรือน วัสดุที่ใช้ทำคอก การเลี้ยงและวิธีการเลี้ยง การให้น้ำให้อาหาร และการดูรักษาโรงเรือน การเลี้ยงหมูหลุมนอกจากเป็นการสร้างรายได้จากขายหมูแล้ว มูลหมูก็นำไปใช้ในการเกษตร ในไร่นา ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี น้ำจุลินทรีย์ก็นำมาใช้ราดพื้นคอกหมูเพื่อลดกลิ่นเหม็น

ฐานที่ ๓ การคัดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง เป็นการเรียนรู้เรื่องเทคนิคคัดเลือกพันธุ์ข้าว เทคนิคการเพาะเมล็ดข้าวกล้อง วัสดุเพาะ และการดูแลรักษา

ฐานที่ ๔ การคัดเลือกจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน เป็นการเรียนรู้เรื่องการแยกกลุ่มพันธุ์พืชที่จะจัดเก็บเมล็ด หลักและวิธีการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และเทคนิคการเพาะเมล็ดพันธุ์ เช่น มะเขือ พริก บวบ แตง มะเขือเทศ ถั่ว ถั่วฝักยาว ฝัก น้ำเต้า ฯลฯ

        การเรียนรู้ทั้ง ๔ หลักสูตรสามารถเรียนรู้แบบเร่งด่วนได้ภายใน ๑ วัน แต่หากจะลงลึกและปฏิบัติการจริงจนสามารถทำได้เอง ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน ในแต่ละหลักสูตร แต่ไม่ว่าจะกี่วัน สำคัญคือการมุ่งมั่นสนใจในการเรียนรู้ และนำไปทดลองปฏิบัติใช้จริงในพื้นที่นาไร่ของตนเอง

…………………………………………….

        การเรียนรู้ไม่มีวันหยุด ศูนย์โจ้โก้ก็ไม่อาจหยุดอยู่กับที่ได้ หากแต่ต้องปรับเองและเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและเครือข่าย เพื่อให้ไปถึงสุดทางที่ชาวนาไร่สามารถพึ่งพาตนเองและกันเอง ปลดภาระหนี้สิน มีความเป็นอยู่ที่พออยู่พอกิน ตามรอยพระราชดำรัสของในหลวง

        ...........นี่คือลมหายใจของชาวนาไร่ ลมหายใจของศูนย์การเรียนรู้

...................................................................

บันทึกการเรียนรู้เวทีสิ่งแวดล้อมศึกษาสัญจร

ณ ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓

ขอบคุณอาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ และฮักเมืองน่านทุกคน

และกัลยาณมิตรที่ร่วมเรียนรู้ทุกคน

 

หมายเลขบันทึก: 375780เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

 การเรียนรู้ที่เอาใจใส่ ต่อความเป็นอยู่ของท้องถิ่นดีมาก ทุกรายละเอียด เลยนะคะ การเก็บเมล็ดพันธุ์ ก็สำคัญ แล้วเมื่อปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ แล้วมีการตามไปดูถึงบ้านแต่ละหลัง เพื่อเป็นกำลังใจ ให้กัน หรือไม่ค่ะ ขอบคุณเรื่องเล่าที่ได้ความรู้มากนะคะ   ความรักของคุณพอซอมพอ บันทึกเสร็จแล้วนะคะ ลูกสาวน่ารักทุกภาพ ชอบภาพที่สวนผักคุณย่ามากค่ะ 

        ประโยชน์ของไม้ไผ่ มีมากๆนะคะ

สวัสดีเจ้า..พ่อน้องซอมพอ ลูกสาวน่าฮักขนาดนักน้อ..มาเยี่ยมตวยปี้กานดาเจ้า ..คนบ้านใกล้กั๋นก่อเจ้า ตี้นี่  http://gotoknow.org/blog/rindaming/318404 ยังเป็นคนน่านฮักเมืองน่านอยู่เจ้า..ลูกบ่าวคนแฝดก็เรียน นคศ.เหมือนกั๋นเน้อ

  มาเยี่ยมน้องสาวตี้น่ารักครับ พี่เตยอยู่ ป. 5/2 ครับ นคศ.

เมืองน่านมีของดีมาก ๆเลย วันที่10-1ก.ค53ที่ผ่านมา คุณแชน อะทะไชยจากสสอ.สันติสุขและทีมงานก็มาจัดกิจกรรมปรับโครงการให้ภาคเหนืองบสสส.สำนัก6  อีกหน่อยคงมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมน่าน  จะติดต่อ

พ่อน้องซอมพอเจ้า

 

เคยไปเยี่ยมศูนย์โจโกหลายครั้งแล้ว ซื้อพันธุ์ข้าวมาปลูกด้วย

ขอบคุณที่นำมาเผยแผ่ต่อสาธารณชน

เกษตรกรต้องกลับไปสู่ฐานเดิม ต้องทนต่อแรงเสียดทานเกษตรเชิงเดี่ยวที่เอาเงินนำหน้าให้ได้

เกษตรผสมผสานต้องฝังรากลึกเพื่อลดความเสี่ยง ไม่งั้นไม่รอด

หาก พ่อซอมพอ มีเวลาว่างบ้าง กรุณาแวะไปให้คำแนะนำด้วยที่ สวนเอเดน(กสิกรรมธรรมชาติและพอเพียง) ติดกับบ้านเปรมสุข

168 หมู่ที่ 1 บ้านสถาน ต.กลางเวียง อ.เวียงสา จ.น่าน

ดำเนินมาได้ 2 ปี กำลังเป็นทารกที่ต้องการคำแนะนำด่วน จะได้ไม่ทำผิดซ้ำซากอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท