เครือข่ายเด็กไทยฟันดีอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน


ยิ้มใส ฟันรวา

ชุมนุมเครือข่าย       เด็กไทยฟันดี
สรรค์สร้างชีวี          ขัดสีแปรงฟัน

ขอเตือนเพื่อนพ้อง   อย่ามัวดื้อรั้น
เช้า เย็น กลางวัน     สุขสันต์สมใจ

ฟันสวย เป็นบุญ          อบอุ่นหาไหน
พ่อแม่ภูมิใจ              ลูกไม่ดื้อดึง

คุณหมอคุณครู         ท่านเป็นที่พึ่ง
รวมกันเป็นหนึ่ง         ร่วมด้วยช่วยกัน..

 

 

"คุณครูครับ! มะลิปวดฟัน แก้มบวมโย้เลยครับ"
"คุณครูขาสมชายลาป่วยค่ะ ปวดฟันอีกแล้ว"
"คุณครูคะ! สายใจกินข้าวไม่ได้ค่า"
"อ้าว! ทำไมละคะ?" 
"เขาฟันผุค่า หมอถอนจนจะหมดปากเหลือแต่เหงือกแล้วก็ยังปวดอยู่ คุณครูสุดใจเอายาแก้ปวดให้ทานแล้วก็ยังไม่หายค่ะ"  

         

๓๐ ปีกับชีวิตการเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก  มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับเด็กนักเรียนตัวน้อยๆในชนบทห่างไกล "ฟัน" เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพอันดับต้นๆ ที่เราต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ เวลาเห็นเด็กมีอาการปวดฟัน แก้มโย้มาหาครูพร้อมคราบน้ำตาทีไรก็รู้สึกสงสารจับใจ  รู้ดีว่าหากขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้บ่อยๆคงไม่ไหวแน่ๆ เด็กปวดฟันคงไม่สามารถจะเรียนรู้อะไรๆได้ จึงเกิดความคิดว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะป้องกันการเกิดปัญหาการปวดฟันของเด็กๆ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนนั้น  เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องดูแลช่วยเหลือเด็กให้พวกเขาเรียนรู้อย่างมีความสุขกาย สบายใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตต่อไปสมกับความไว้วางใจของผู้ปกครองที่อุตส่าห์นำลูกหลานมาฝากฝังกับครูด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยม

 

  "พ่อแม่รักลูกดั่งแก้วตา   ยังนำพาลูกรักมาฝากไว้

  ของเราเรายังหวงดังดวงใจ  ของที่รับฝากไว้ต้องร้อยเท่าทวีคูณ"

 

จากจุดประกายความคิดนี้เอง เมื่อมีหนังสือแจ้งจากทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะมีการอบรมครูให้ความรู้เรื่องการดูแลฟันเด็กในโรงเรียนโดยหมอฟันจากสาธารณสุขจังหวัดจึงรีบอาสาสมัครกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อขอเข้ารับการอบรม  ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลยครั้งแรกได้รับความรู้มากมาย  เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพปากและฟันของเด็กๆ  วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นเรื่องสุขภาพฟัน การรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับการดูแลรักษาฟันโดยเน้นการป้องกันมากกว่ารักษา  การอบรมเข้มในครั้งนั้นทำให้ครูเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานประสานสอดคล้องกับทางอนามัยและทางโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ  ครูสามารถตรวจฟันเด็กและประเมินคัดกรองเด็กเพื่อส่งตัวเด็กที่มีปัญหาเร่งด่วน(ระดับ จ)เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลได้  

 

หลังจากนั้นมีการโยกย้ายจากโรงเรียนเดิมไปอยู่ที่โรงเรียนไหนก็ไม่ละเลยที่จะขอรับหน้าที่เดิมคืองานอนามัยหรือส่งเสริมสุขภาพในปัจจุบัน จึงมีหน้าที่รับผิดชอบเป็น"ครูหมอ"ที่โรงเรียนต้องทำงานร่วมกับ "หมอครู" หรือเจ้าหน้าที่อนามัยที่รับผิดชอบโรงเรียนในเขตอนามัยนั้นๆ เมื่อมีโครงการต่างๆ เช่น โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  โครงการตรวจสุขภาพนักเรียน  โครงการอย.น้อยโครงการส่งเสริมสภาวะโภชนาการเด็ก โครงการรณรงค์ต่อต้านไข้หวัดนก  ไข้เลือดออก เราก็ได้เข้าร่วมภาคี  มีฝ่ายหมอครู  ครูหมอ และหมอชาวบ้าน(อสม.)มาร่วมกันทุกงาน เรื่องฟันก็เช่นเดียวกัน เราก็รณรงค์ร่วมกัน  มาโดยตลอดมีการประชุมในระดับอำเภออย่างน้อยปีละ2-3 ครั้ง 

 

ต่อมาเมื่อการติดต่อสื่อสารโดยใช้อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการศึกษา  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยผ่านทางเว็ปบล็อก ให้ความรู้  ทางฝ่ายทันตสาธารณสุข ของจังหวัดลำพูน ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงอบรมให้ความรู้เรื่องการนำเสนองานรายงานการทำงานของครูในเครือข่ายเด็กไทย ฟันดีผ่านบล็อก go to know  เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้กว้างขวางยิ่งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552   ได้รับความรู้ในการใช้บล็อกเพื่อการสร้างเครือข่ายเด็กไทยฟันดี  ครูผู้เข้าร่วมอบรมต่างให้ความสนใจเรียนรู้  และประชุมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทางเว็ปบล็อก  และมีการประชุมสัมนากันอีกครั้งเมื่อวันที่ 21  สิงหาคม 2552  มีการนำเสนองานผ่านเว็ปบล็อก  ซึ่งก็สะดวกรวดเร็ว และสามารถโต้ตอบหรือให้คำแนะนำผ่านข้อคิดเห็นได้ นับว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย  สามารถแนะนำเด็กนักเรียนให้เข้าไปอ่านหาความรู้ได้ด้วย  จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการสร้างเครือข่าย เด็กไทยฟันดีของอำเภอแม่ทา  จึงได้รับเชิญให้ไปนำเสนองานดังกล่าวในการประชุมเครือข่ายฟันดีทั่วประเทศ  วันที่ 26-27 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมเซียร์ รังสิต  จังหวัดปทุมธานี

 

ในการไปครั้งนั้นเราได้เข้ากลุ่มสัมนาร่วมกับตัวแทนจาก 24 จังหวัดทั่วประเทศมาร่วมประชัมสัมนาแลกเปลี่ยนกัน  นิทรรศการ "เด็กไทยฟันดี" ของแต่ละศูนย์อนามัยแต่ละภาคที่มาจัดนั้นน่าสนใจมาก  กิจกรรมของแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป  ตามบริบทสภาพแวดล้อม ทางเครือข่ายลำพูนได้นำเสนอเรื่องการนำงานขึ้นแสดงบนเว็ปบอร์ดของ Go to know ก็ได้รับความสนใจเป็นอันมาก  มีผู้ซักถามในประเด็นคำถามต่างๆ มากมาย เช่น ทำไมต้องมีการสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต?  เหตุผลก็คือเพราะพื้นที่การดูแลรับผิดชอบของคุณหมอแต่ละแห่งห่างไกลกันมาก หากเดินทางไปเยี่ยมเยียนทุกที่คงใช้เวลามาก และไม่ทั่วถึง เพราะต้องดูแลผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นการใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งส่วนมากมีเกือบทุกโรงเรียนจึงสะดวกและประหยัดกว่า และกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเรายังอาจจะเกิดประโยชน์กับเครือข่ายอื่นๆที่สนใจและเข้ามาเยี่ยมชมและนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกด้วย พ่อแม่ผู้ปกครอง  หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เช่นกัน

 

การนำเสนองานเป็นที่น่าสนใจเพียงใดก็ตามมีเครือข่ายเข้มแข็งแล้ว ในด้านการปฏิบัติการงานทันตสุขศึกษาก็ต้องเข้มข้นเช่นกัน  เพราะเด็กก็คือเด็กหากไม่ดูแลกระตุ้นอย่างต่อเนื่องแล้วสภาวะปัญหาสุขภาพฟันก็จะกลับเพิ่มมาอีกเพราะสภาพแวดล้อมปัจจุบันเด็กได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ตที่ผู้ผลิตสินค้าหวังผลทางกำไรไม่ได้มีจิตสำนึกต่อสุขภาพอนามัยของเยาวชนและประชาชน  ดังนั้นจึงจะต้องควบคู่กันไปกับทั้งการปฏิบัติกิจกรรมในโรงเรียนและการนำเสนอเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะละเลยอันใดอันหนึ่งคงไม่ได้การร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าการดำเนินการใดๆ  "สามัคคี คือพลังอันล้ำเลิศ งานจะเกิดสำเร็จได้ทุกแห่งหน พึงประสานร่วมใจในมวลชน  ย่อมเกิดผลดีจริงทุกสิ่งอัน.

 

 

 ฟัน ฟัน ฟัน เป็นสิ่งสำคัญที่ควรรักษา

ตื่นเช้าเราลุกขึ้นมา(ซ้ำ) จะต้องล้างหน้าแปรงฟัน

ฟัน ฟัน ฟัน ถูฟันเถิดเราจงหมั่น

เมื่อก่อนจะนอนแปรงฟัน(ซ้ำ) ทุกวันฟันทนแน่นเอย

 

 

หมายเลขบันทึก: 375479เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2010 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทาย พร้อมกับนำดอกไม้สวย ๆ มาฝากกันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                        

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท