แค่เตรียมความพร้อม ผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษา ม.ชีวิต ก็เปลี่ยนแปลงตนเองไปได้มากแล้ว


"เคยเรียนมหาวิทยาลัยที่ใช้ตำราเป็นตัวตั้ง แบบอ่านหนังสือไปสอบแล้วไม่สำเร็จ พอได้ยินว่าเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งเลยสนใจ ก่อนเรียนก็ไม่รู้ว่าเอาชีวิตเป็นตัวตั้งเรียนอย่างไร แต่พอมาเรียนแล้วชอบ"

วันเสาร์ที่ 10 ก.ค.53 ผมได้ไปเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมเยียนผู้สมัครเป็นนักศึกษาโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ที่กำลังรอเข้าเรียนกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ

อาจารย์ศรีเพ็ญ ชัยฉกรรจ์ ผู้ประสานงานจังหวัดเชียงใหม่นัดหมายให้มาพบกันที่วัดร้องขุ่น ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด ผู้มาเข้าร่วมพบปะแลกเปลี่ยนกันครั้งนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 70 คน จาก จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน จากเชียงใหม่มีมาจาก อ.เมือง (ต.สุเทพ), อ.ดอยสะเก็ด, อ.สันกำแพง, อ.ดอยหล่อ และ อ.แม่วาง  จากแม่ฮ่องสอนมี อ.แม่สะเรียง

ว่าที่ ผอ.แหล่งเรียนรู้และอาจารย์จากทุกอำเภอมาร่วมกันครบ ได้แก่ท่านพระครูสุนทรธรรมโชติ อ.แม่วาง คุณอนุชา รุ่งตานนท์ อ.ดอยหล่อ ดต.เศวต ปินตา อ.แม่สะเรียง คุณศุภลักษณ์ ล้อมลาย ต.สุเทพ อ.เมือง ที่ขาดไปคือคุณอิทธิเดช ชัยราชา อ.สันกำแพงไม่ได้มาเพราะอยู่ระหว่างการนำตัวแทนผู้สมัครเป็นนักศึกษาประมาณ 10 คนไปเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม แต่ก็มีอาจารย์จากสันกำแพงมาร่วมด้วย

ศิษย์เก่า ม.ชีวิต ดอยสะเก็ดก็มากันหลายคน อาทิ คุณเอกอาทิตย์ สุวรรณรัตน์ ซึ่งกำลังเรียนต่อ ป.โท ด้านบริหารการศึกษา เนื่องจากมีอาชีพทางด้านการบริหารการศึกษาปฐมวัย โดยเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาล และเป็นกรรมการสมาคมโรงเรียนอนุบาล จ.เชียงใหม่ด้วย คุณเอกอาทิตย์มาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในวันนี้  คุณศุภเชษฐ์ วิเชียรรักษ์ หรือชื่อเดิมคือ ธนิต เจ้าของโรงงานน้ำดื่ม  คุณมยุรา ตุ่นแก้ว ซึ่งขณะนี้ได้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตามความมุ่งหมายในชีวิตที่ต้องการอุทิศตนเพื่อสังคม คุณมยุราได้เล่าเรื่องโครงงานลดค่าไฟฟ้าในกิจการซักรีดของตนระหว่างเรียนให้รุ่นหลังฟังว่า หลังจากจัดระบบระเบียบงานซักรีดใหม่แล้ว ค่าไฟลดไปปีละหลายหมื่นบาทจนถึงทุกวันนี้  ศิษย์เก่าทุกคนได้ให้ข้อคิดผู้สมัครเป็นนักศึกษาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) ว่า ยินดีที่ผู้ที่เข้ามาใหม่ทุกคนจะได้เป็น "นศ.แท้" รุ่นแรกของ ม.ชีวิต ส่วนพวกเขาเป็น "รุ่นฝากเรียน" กับสถาบันอื่นที่ร่วมโครงการ

ว่าที่ ผอ.ทุกแหล่งเรียนรู้ก็ได้มีโอกาสพูดกับว่าที่นักศึกษา ทุกคนก็พูดไปแนวทางเดียวกันเกี่ยวกับการเรียนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียนแล้วอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน พร้อมกับสรุปให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตนักศึกษาที่เพียงแค่เตรียมความพร้อมก็เกิดอะไรขึ้นมากมายในชีวิต เช่น จากที่กลัว อาย รู้สึกตนต่ำต้อยด้อยความรู้กว่าคนอื่น ก็เปลี่ยนเป็นเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น อยากบอกอยากเล่าให้คนอื่นๆ ฟังถึงความรู้ที่ตนมี หลังจากพบว่าตนเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่รู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าดีมาก ทั้งชั้นไม่มีใครรู้ดีในเรื่องนี้เท่าตน ช่างซ่อมแอร์ หมอนวด คนทำนา ทุกคนเป็น "ครู" ได้หมด

คุณเอกอาทิตย์ ผู้ดำเนินรายการ ขอให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจัดที่นั่งใหม่เป็นแบบตัวยูซ้อนๆ กัน เพื่อจะได้หันหน้าเข้าหากัน แล้วเปิดโอกาสให้ว่าที่นักศึกษา สรพ.ได้แนะนำตัวและแสดงความรู้สึกอย่างสั้นๆ โดยใช้ไมค์ลอย สิ่งที่ทุกคนพูดออกมาล้วนน่าสนใจ อาทิ

- หัวหน้าศูนย์บำบัดผู้ติดยาคนหนึ่ง และพ่อค้าเสื้อผ้าและรองเท้าอีกคนหนึ่งพูดตรงกันว่า "สมัครเรียน ม.นอร์ทไปแล้ว พอเริ่มเรียนพบว่าไม่ใช่ตัวผม ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ เลยกลับมา ม.ชีวิต ทั้งที่จ่ายค่าสมัครทางโน้นไปแล้ว"

- หลายคนที่เคยเรียนสถาบันอื่นแต่ไม่สำเร็จ ยอมแพ้ต่อการเรียนแบบท่องตำรา บอกว่า "เคยเรียนมหาวิทยาลัยที่ใช้ตำราเป็นตัวตั้ง แบบอ่านหนังสือไปสอบแล้วไม่สำเร็จ พอได้ยินว่าเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งเลยสนใจ ก่อนเรียนก็ไม่รู้ว่าเอาชีวิตเป็นตัวตั้งเรียนอย่างไร แต่พอมาเรียนแล้วชอบ" 

- คนมีอาชีพค้าขายหลายคนพูดตรงกันว่า "มาเรียนแล้วได้แนวคิดไปปรับปรุงการค้าขายของตนให้มีระเบียบแบบแผน พร้อมๆ กับได้พัฒนาตนเองในชีวิตประจำวันด้วย"

- หลายคนพูดตรงกันว่า "มาเรียนแล้วได้รู้จักกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เยอะมากจากหลายอาชีพ อันนี้แหละที่สำคัญที่สุด"

- หลายคนบอกว่า "เรียนเตรียมความพร้อมมาได้ครบ 1 ปีพอดีในวันนี้ หนี้เริ่มลดลงแล้ว ได้ทำแผนใช้หนี้และเชื่อมั่นว่าจะใช้ได้ เริ่มมีเงินออมด้วย"

- สุภาพสตรีชนเผ่าจากแม่ฮ่องสอนที่เคยมารับจ้างในเชียงใหม่อยู่ถึง 7 ปี กลับไปทำโครงงานเป็นแม่ค้าออกเร่ขายปลาไปตามหมู่บ้านต่างๆ ปรากฏว่ามีรายได้สัปดาห์ละ  4,000 บาท

- อีกคนจากแม่ฮ่องสอนทำโครงงานเปิดร้านขายก๋วยเตี๊ยว ตอนนี้ร้านเริ่ม "ติด" มีคนเข้ามากขึ้นแล้ว

- สุภาพบุรุษคนหนึ่งจากแม่วางทำงานมาหลายอย่าง เชื่อว่าตนเองมีประสบการณ์มาก มาเรียนแล้วพบว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือการวางเป้าหมายและแผนชีวิต

- สุภาพสตรีอีกคนหนึ่งจากแม่วางบอกว่า เรียนแล้วได้จัดการชีวิต จากที่เคยปล่อยชีวิตไปวันๆ อาชีพก็ไม่แน่นอน ตอนนี้ได้ค้นพบว่าตนเองต้องการอะไร ปัจจุบันมีอาชีพเป็นหลักแล้วคือ เย็บกระเป๋า

- หลายคนเป็นลูกจ้างในหน่วยงานที่มีรุ่นพี่ ม.ชีวิต ได้สังเกตว่ารุ่นพี่ที่มาเรียน ม.ชีวิต เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งบุคลิกและการดำเนินชีวิต เลยตัดสินใจมาเรียนบ้างเพื่อจะได้เป็นอย่างเขา

- คนที่เป็นลูกหลานชาวนาที่ไม่ได้สืบทอดอาชีพ แต่มาเป็นตัวแทนขายประกันบอกว่า "เรียนแล้วจึงได้รู้ว่าที่พ่อแม่เราทำมาหากินอยู่ ไม่วิ่งตามตลาด เกื้อกูลกันในชุมชนนั้น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว"

- คนหนึ่งบอกว่า "ม.ชีวิตเป็นอะไรที่ไม่เหมือนใคร เรียนแบบเปิดโอกาสให้เราทำสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตเรา คุณภาพชีวิตผมดีขึ้นทุกวัน"

- หลายคนพูดประเด็นเรียนแล้วได้เริ่มดูแลสุขภาพตนเอง

- ผู้นำเกษตรกรคนหนึ่งจากแม่ฮ่องสอนบอกว่า "ทำเครือข่ายเกษตรยั่งยืนมีความสุขอยู่แล้ว ไม่เคยคิดจะกลับเข้าระบบการศึกษาอีก แต่เมื่อพบว่า ม.ชีวิต เรียนแบบทำไปรู้ไป ค้นพบความรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละพื้นที่ต่างกันก็ต้องค้นหาความรู้ที่สอดคล้องกับตน ม.ชีวิตเน้นเกษตรพึ่งตนเอง การเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแล้วแต่ละคนได้แสดงศักยภาพของตนออกมา ... จึงตัดสินใจมาสมัครเข้าร่วมด้วย"

- หลายคนบอกว่า รอเรียนมาปีหนึ่งแล้ว หากต้องรออีกปีหรือสองปีก็จะรอ เพราะรู้สึกว่าการเรียนแบบ ม.ชีวิต ใช่ตัวเขา

ปรากฏว่า กว่าที่ศิษย์เก่า ผอ. และนักศึกษาจะพูดถึงตนเองหมดทุกคนก็เที่ยงพอดี คุณเอกอาทิตย์บอกว่า ถึงเวลาสำคัญคือทุกคนจะได้ฟังตัวแทนจาก สรพ. คือผม  ผมนั่งตรงข้ามกับผนังที่มีนาฬิกาแขวนอยู่พอดี มองนาฬิกาแล้วก็นึกถึงคำพูดหนึ่งที่อาจารย์เสรีเคยอ้างคำพูดของน้าลัภ หนูประดิษฐ์ ปราชญ์ชาวบ้านปักษ์ใต้ ว่าเวลาเที่ยงที่คนเริ่มท้องหิว หากพูดมาก "ปราชญ์ก็กลายเป็นเปรตได้" จึงพูดว่า ที่ทุกคนพูดมานั้น ท่านทั้งหลายได้พูดในสิ่งที่ผมจะพูดไปหมดแล้ว จึงไม่ขอพูดอะไรอีก ขอขอบคุณทุกท่านที่รอการเปิดสถาบันอย่างอดทน ขอเปิดโอกาสให้ถามสิ่งต้องการทราบเลยก็แล้วกัน

คำถามที่ผมเก็งไว้ไม่ผิดก็คือ เมื่อไรจะได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาจริงๆ ผมตอบว่า ผมเชื่อมั่นว่าสภาสถาบันฯ จะอนุมัติให้ผู้สมัครเรียนในภูมิภาคต่างๆ ได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีจริงๆ ในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2554 เพราะหลังจากได้รับการอนุมัติจัดตั้งสถาบันซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2553 นี้แล้วจะต้องเปิดในสถานที่ตั้งก่อนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 อย่างไรก็ตาม สรพ.มีแผนจะจัดให้ผู้สมัครในภูมิภาคได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรระยะสั้นไปก่อนเป็นบางวิชา เรียกว่าหลักสูตร "สัมฤทธิบัตร"  จากนั้นค่อยนำผลการอบรมไปเทียบโอนเมื่อเข้าเป็นนักศึกษาจริง

คำถามอื่นๆ ก็มี เช่น หากมีคนที่อายุยังไม่มากเรียนจบแล้วต้องการนำปริญญาบัตรที่ได้จาก สรพ. ไปสมัครงานได้หรือไม่ ผมตอบว่า ได้ หากเขารับผู้จบศิลปศาสตรบัณฑิตไม่จำกัดสาขา หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับที่แต่ละคนจบมา ปริญญานี้มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนอื่นๆ

จากนั้นผมก็พูดเรื่องเรียนอย่างไรให้สำเร็จโดยขยายความจากที่ อ.เสรีเคยพูดว่า 1.ใจมา 2.จัดการเวลาได้ 3.เตรียมแผนชำระค่าเรียน  ข้อแรกสำคัญมากและส่งผลถึงข้อ 2 และ 3 ผมเชื่อว่าข้อ 3 จัดการง่ายที่สุด (ผมจะเขียนเรื่องนี้โดยขยายความทั้ง 3 ประเด็นอย่างละเอียดต่อไป)

ก่อนสิ้นสุดการพบปะกันในครั้งนี้ในเวลาเที่ยงครึ่ง คุณเอกอาทิตย์บอกว่าเป็นโอกาสที่หลายๆ ศูนย์ได้มาทำความรู้จักกันในวันนี้ ขอให้แต่ละคนไปพบเพื่อนจากศูนย์อื่นแล้วแลกเปลี่ยนเบอร์โทรกันไว้ คนหนึ่งให้ได้อย่างน้อย 5 คน

ตอนบ่ายพากันไปฝึกทำน้ำหมักชีวภาพสูตรผสม 7 อย่าง ของคุณสมศักดิ์ หัวหน้าสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านนิมิตรใหม่ อ.ดอยสะเก็ด คุณสมศักดิ์เองเคยติดยามาก่อนและเลิกได้เด็ดขาดประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว มีความตั้งใจช่วยเหลือผู้ติดยาที่ต้องการเลิกมาฟื้นฟูชีวิตใหม่ โดยต้องมาอยู่บ้านนิมิตรใหม่ 1 ปี พร้อมฝึกอาชีพทางการเกษตรเพื่อกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผมติดตามไปเรียนรู้ด้วย ประทับใจทั้งโครงการช่วยผู้ติดยาให้เลิกยาและเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเทคนิคการทำน้ำหมักชีวภาพที่คุณสมศักดิ์คิดค้นขึ้น โดยคุณสมศักดิ์และทีมงานสมาชิกผู้มาบำบัด ช่วยกันสอนตั้งแต่วิธีการเก็บจุลินทรีย์จากกอใผ่ในแปลงเกษตรของแต่ละคนเอง ไม่ต้องไปซื้อหาหัวเชื้อจุลินทรีย์จากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็น EM หรืออะไร เพราะจุลินทรีย์ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นดีที่สุด เขาอยู่ในที่เราจนชินแล้วไม่ต้องปรับตัวมาก อาหารจุลินทรีย์ก็มีตั้งแต่น้ำซาวข้าว เศษอาหารและเศษพืชเศษผักผลไม้ที่มาจากท้องถิ่น และน้ำตาล หากต้องการใช้จุลินทรีย์แบคโตลาซิลัสก็ต้องใช้น้ำนมด้วย. 

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
12 ก.ค.2553

หมายเลขบันทึก: 374279เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การศึกษาเรียนรู้ดังนี้ จักจำเริญเติบโตครับ ผมเชื่อมั่น

ดีใจค่ะ ที่ว่าที่นักศึกษาเข้าใจเรา

ขอเป็นกำลังใจให้ว่าที่นศ.ม.ชีวิตของสถาบันฯและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ

อนงค์พรรณ จันทร์แดง

เรียนอ.สุรเชษฐ

หนูเสียดายจังที่ไม่มีโอกาศได้แลกเปลี่ยนกับรุ่นน้อง(ตกข่าวอีกตามเคย)

โอกาศหน้าจะไม่พลาดอีกแน่นอนค่ะ

อนงค์พรรณ

ดีใจมากเลยที่ได้พบ อ.สุรเชษฐ

อายุเยอะแล้วสามารถเรียนปริญญาตรีได้ไหมค่ะ จบปวส. มา ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท