๗๒.การใช้บล๊อกขยายขีดความสามารถทำงานความรู้


ผมทดไว้ในใจว่าเมื่อมีโอกาสก็จะร่วมเขียนบันทึกถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์อย่างที่คุณมะปรางเปรี้ยวเธอพยายามสร้างสรรค์ให้บล๊อกเกอร์ของ gotoknow ได้มีกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอๆ ทั้งหัวข้อ บทเรียนแนวทางการเขียนบล๊อกฯ และหัวข้อ ข้อดีของบล๊อกฯ

ผมขอเขียนหัวข้อหลังนี้ก่อนดีกว่า ทว่า ในกรณีผมนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้ทุกอย่างไปตามเงื่อนไขและเหตุปัจจัยจำเพาะกรณี ไม่ได้คิดว่าบล๊อกจะมีข้อดีอยู่โดยตัวมันเอง ก็เลยจะพิจารณาร่วมกับเหตุผลและความจำเป็นไปตามบริบทของการทำงาน ซึ่งก็จะมองผ่านภารกิจการสอน บริการวิชาการ ทำงานวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย มีบทเรียนที่ได้แก่ตนเองที่อยากนำมาแบ่งปันและถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจให้กันหลายอย่างมากทีเดียว 

 ๑.  แบ่งปันประสบการณ์ความรู้ได้แพร่หลายมากขึ้นโดยลดการใช้ทรัพยากรลงไปได้กว่า ๒-๓ ร้อยเปอร์เซ็น  :
ผมเองนั้น แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เพียงชอบอ่านหนังสือและสะสมบทความทุกชนิด ทั้งการถ่ายเอกสาร พิมพ์จากคอมพิวเตอร์ เพื่อเก็บสะสมเป็นของตนเองตลอดเวลาในทุกๆปีเท่านั้น ทว่า หากชอบมากก็ไม่ค่อยอยากเก็บไว้คนเดียว แต่ชอบถ่ายเอกสารสำรองเป็นของติดมือติดกระเป๋าไว้อยู่ตลอดเวลา เพื่อเอาไว้แบ่งปัน แจกจ่าย หรือเป็นของฝากแก่ทุกคนที่ผมรู้จัก ผูกพัน และถือเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน บางครั้งผมก็แจกจ่ายลูกศิษย์ นักศึกษา และกลุ่มคนที่ผมไปสอนหรือบรรยาย

ผมเป็นคนไม่ค่อยมีเงินและสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมของเราไม่ค่อยมีหนังสือดีๆอ่าน ก็เลยคิดว่าไม่มีสิ่งใดจะฝากและเผื่อแผ่กันได้ดีเท่ากับแบ่งปันความรู้ หนังสือ บทความ และงานทางปัญญาให้กัน อีกทั้งลึกๆในใจนั้นผมยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งไม่ได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือต่อปีไม่กี่บรรทัด และผมรู้จักคนเขียนหนังสือกับคนทำงานศิลปะหลายคนที่เขาทำงานแล้วเลี้ยงชีพตนเองไม่ได้ ในกรณีนี้ การอ่าน เขียน การซื้อหนังสือ วัฒนธรรมและวิถีบริโภคทรัพยากรความรู้ ตลอดจนงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเฉพาะงานศิลปะทุกแขนง งานช่างฝีมือ งานหัตถกรรม จึงเป็นหนทางสร้างสุขภาพทางความรู้ของสังคมได้อย่างหนึ่ง ผมจึงทั้งปฏิบัติเองและเผยแพร่ส่งเสริมไปทั่ว

ปีหนึ่งๆผมจึงมักหมดเงินทองไปกับการถ่ายเอกสาร ซื้อหนังสือ วารสาร กระดาษ บทความ เฉลี่ยแล้วมากกว่า ๑ พันบาทต่อเดือน ดังนั้น นอกจากรอบตัวจะรกไปด้วยหนังสือและทำให้ต้องบริโภคกระดาษมากกว่า ๒๐-๓๐ กิโลกรัมต่อปีแล้ว เงินทองก็หมดไปกับหนังสือและกิจกรรมที่สืบเนื่อง ทั้งการต้องสร้างที่เก็บรักษา การถ่ายเอกสารและการแจกจ่ายแบ่งปันกับผู้อื่น รวมทั้งการถ่ายรูป ทำสื่อเสียงและภาพเคลื่อนไหววิดีโอ ซึ่งนอกจากชอบอ่านและสะสมหนังสือแล้ว ผมเองนั้นเห็นความสำคัญมากว่าเราทุกคนควรต้องทำหน้าที่บันทึกสังคมเก็บสะสมไว้ ณ ที่ซึ่งเราเข้าไปเกี่ยวข้องและได้สัมผัส

คนไทยและพลเมืองไทยนั้น นอกจากจะต้องตื่นตัวต่อวัฒนธรรมการอ่านและการศึกษาค้นคว้ามากเป็นอย่างยิ่งแล้ว ต้องส่งเสริมนิสัยความเป็นนักสังเกตที่แยบคายลึกซึ้ง บันทึก สร้างสรรค์ความรู้ และหมั่นบันทึกทุกอย่างของสังคมรอบข้าง โดยไม่เพียงทำอย่างติดกรอบอยู่กับประโยชน์จำเพาะหน้าในคนรุ่นตน ดังนั้น ผมจึงชอบถ่ายรูปและวิดีโอ ทำให้หมดไปกับการซื้อฟิล์ม การล้างอัดรูป ซึ่งต่อมาก็เป็นแผ่น VCD การจัดเก็บข้อมูลภาพและสื่อโสตทัศน์ ทั้งหมดต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและกินเนื้อที่สำหรับจัดเก็บรักษาหลายลัง

แต่พอใช้บริการบล๊อกและผมก็พยายามหาแนวทำให้พอดีกับการงานและแวดวงชีวิตของตน ผมก็ส่งข้อมูลทุกชนิด ทั้งบันทึก บทความ รูปถ่าย รูปวาด ภาพถ่ายเอกสาร และแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ โดยส่งลิงก์และเอกสารแนบอีเมล์ ส่วนรูปถ่าย ข้อมูลภาพ และสื่อโสตทัศน์ ที่สะสมอย่างเก็บเล็กผสมน้อยต่อเนื่องเป็น ๑๐ ปี เมื่อกลัวหายและเก็บรวบรวมดูแลรักษายาก ก็โยนเข้าอินเทอร์เน็ตและจัดระบบให้บริหารจัดการผ่านบล๊อกได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จำเพาะข้อมูลภาพถ่ายในระยะ ๔ ปีที่ผ่านมากับบล๊อก gotoknow ก็มีมากกว่า ๘๐๐ ภาพ มากกว่าภาพถ่ายที่ผมเคยเก็บไว้ได้หลายปีรวมกัน และรูปวาดซึ่งเป็นข้อมูลภาพร่วมกับการบันทึกแบบ Master pieces มากกว่า ๑๐๐ ภาพ ที่ทำให้ไม่ว่าผมจะไปบรรยายที่ไหนในประเทศไทยและในโลกนี้ หรือนักศึกษาของผมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มชาวบ้านและผู้ฟังการบรรยายของผมในเวทีทำงานความรู้ต่างๆ อยากจะใช้ศึกษาเองทั้งในและนอกเวลา ก็เข้าไปใช้ได้ทันที 

เมื่อก่อนนี้ผมเคยวาดรูปและถ่ายรูปขายเพื่อได้เงินมาเรียนหนังสือ รูปวาดอย่างที่ผมเผยแพร่และจัดเก็บให้เป็นลิขสิทธิ์ร่วมกันใน gotoknow นี้ ผมจะขายได้ตั้งแต่รูปละ ๘๐ บาทไปจนถึงรูปละ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งลักษณะการวาดที่ต้องใช้ข้อมูลและให้ความพิถีพิถันอย่างนี้โดยปรกติแล้วผมจะขายได้มากกว่า ๑ พันบาท และภาพถ่ายอย่างนี้ ผมจะได้ภาพละ ๕๐ บาทขึ้นไป ข้อมูลทุกชนิดและบันทึกที่สะสมทิ้งไว้ไปเรื่อยๆอย่างนี้ จึงเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในวงกว้าง ซึ่งโหลดไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ได้อย่างฟรีๆอีกด้วย ไม่ใช่สามารถนำไปใช้ได้จำเพาะผู้ซื้องานผม

เดี๋ยวนี้ ผมจึงลดการใช้กระดาษ บทความ ถ่ายเอกสารและพิมพ์ลงบนกระดาษ ลงไปได้เกือบทั้งหมด เหลือที่จะต้องซื้อเพียงหนังสือและตำรา ส่งผลต่อเนื่องให้ลดได้อีกหลายอย่าง พร้อมกับเหลือเงิน เพิ่มกำลังให้ไปทำห้องประชุมกับหอศิลป์ในบ้าน[๑] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่] และทำกิจกรรมกับชุมชนต่างๆได้มากขึ้น ผมมุ่งใช้ Social media ดังเช่น อินเทอร์เน็ตและบล๊อก gotoknow นี้ในการพึ่งตนเองทำหน้าที่คนงานความรู้และบริการวิชาการต่อส่วนรวมให้มีความเป็นสาธารณะที่กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น ไม่เน้นความเป็น Social function เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้คนแทนการได้ปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้า แต่ก็มุ่งลดการสมาคมให้น้อยลงเพื่อเพิ่มการลงมือปฏิบัติและได้คุณภาพการปฏิสัมพันธ์ผ่านการทำงานได้ดีขึ้น นี้คงจะเป็นข้อดีของบล๊อกสำหรับผมเป็นอันดับแรก

 

 ๒.  สอนและบริการวิชาการโดยเตรียมสื่อและทรัพยากรความรู้ในบล๊อก ทำให้ทำงานหลายอย่างไปด้วยกันได้ดีขึ้น    :
ผมใช้บล๊อกเป็นช่องทางจัดเก็บสื่อ เอกสาร ข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาและกลุ่มคนที่ผมต้องทำหน้าที่บริการวิชาการทั่วประเทศและทุกระดับ สามารถเลือกอ่านและเลือกเอาไปใช้ได้ตามความพอใจ ทำให้ผมทำหน้าที่สอน บรรยาย และบริการวิชาการในโอกาสต่างๆได้ดีขึ้น

เมื่อก่อนนั้นสิ่งที่ผมกลัวที่สุดอย่างหนึ่งเหมือนกับผู้บรรยาย ผู้สอน และวิทยากรโดยทั่วไปจะกลัวคือ กลัวไม่มีเวลาทำงานให้ดีได้ พอรับปากและรับเชิญแล้วก็ยิ่งกลัวโดนตามขอเอกสารและสื่อประกอบการบรรยายที่ต้องทำขึ้นใหม่ให้ใช้ได้จำเพาะครั้ง แทนที่จะมุ่งลดการใช้กำลังคนและทรัพยากรต่างๆลงไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ถ่ายเทไปใช้กับสิ่งที่จำเป็นในระดับปฏิบัติอันแท้จริงเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเน้นกระบวนการได้มีส่วนร่วมและทุ่มเทจริงจังให้กับการทำงานให้ถึงที่สุดบนเวทีแล้วกลับสู่การทำงานด้วยตัวเปล่าให้มากที่สุด

สิ่งที่ดูเล็กน้อยมากนี้ ก็จะยิ่งกระทบต่อการใช้เวลาเพื่อทำสิ่งที่ต้องการ'ความนิ่ง'มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น การวิเคราะห์และเขียนงานวิจัย เขียนหนังสือ ทำงานความคิดและออกแบบกระบวนการสำหรับสอน บรรยาย ทำสื่อการสอนและวางแผนนำเสนอ การอ่านเพื่อศึกษาค้นคว้า การเตรียมประเด็นเป็นผู้ดำเนินรายการประชุมและอภิปรายทางวิชาการ การเป็น Reviewer และผู้วิพากษ์บทความทางวิชาการ อ่าน ตรวจวิทยานิพนธ์ และเตรียมสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในความเป็นผู้นำทางวิชาการของนักศึกษาให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมไปจนถึงการนั่งให้นักศึกษาคุยปรึกษา เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ งานความรู้ กระบวนการเรียนรู้ พาคนอื่นพัฒนาความรู้และสร้างศักยภาพเพื่อนำไปปฏิบัติงานทำหน้าที่ต่อสังคมนั้น หากไม่ให้สังคมภายนอกเขานึกถึงและพึ่งคนมหาวิทยาลัยแล้วละก็ คนเขาจะไปพึ่งใคร และสังคมจะสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมาทำไม ดังนั้น อย่างไรก็ต้องถือเป็นการออกไปร่วมทุกข์สุขกับสังคม ซึ่งเบื้องหลังแล้วก็จะมีความลำบากอยู่มาก หากไม่มีวิธีช่วยจัดการที่ดีก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อการพัฒนางานและโอกาสการพัฒนาชีวิตตนเอง หลายประการด้วยกัน

แต่เดี๋ยวนี้ผมเรียนรู้ที่จะใช้บล๊อกให้เป็นวิธีหนึ่งสำหรับช่วยบริหารจัดการ แก้วิกฤติตนเองลงไปได้มากมาย เช่น เมื่อต้องเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ หรือสอนบรรยายต่างๆ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และผู้จัดงาน ก็มักจะใช้วิธีให้ผมกรอกเอกสารข้อมูลเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมก็จะบอกว่าให้เข้าไปเปิดในบล๊อกแล้วเลือกกรอกรายละเอียดให้ตรงกับที่ต้องการใช้ได้เองเลย

หากต้องการสื่อและเอกสาร ก็แนะนำว่าเรื่องไหนพอใช้ได้ตรงตามที่ต้องการ ก็เลือกดึงออกไปให้ผู้เรียนเลือกอ่านให้สอดคล้องไปตามประสบการณ์และวิธีเรียนรู้ของตน หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพิมพ์ออกมาแจกจ่ายให้เปลืองกระดาษ ควรมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ สร้างความแตกฉานและได้ทรรศนะทางวิชาการที่ลึกซึ้งแยบคายด้วยการพูดคุยอภิปรายกับวิธีมองอันหลากหลายจากผู้อื่น เวลาสอนและบรรยายผมก็ดึงข้อมูลจากบล๊อก แล้วออนไลน์ในห้องสอนและบรรยายเลย เลยทำงานได้มากขึ้นแต่ลดผลกระทบต่อชีวิตและการใช้เวลาเพื่อการทำงานของผมเองลงไปได้มากมายครับ

 ๓.  แสดงตัวอย่าง สอนงานแก่ทีม และทำบันทึกข้อมูลการวิจัยได้ดีขึ้น  :
ผมเริ่มเข้ามาเขียนบล๊อกในเว็บบล๊อก gotoknow เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ซึ่งผมจำได้ว่าผมขอเรียนรู้เพื่อจะเขียนบล๊อกหลังจากการประชุมทีมวิจัยของผม และสิ่งที่ต้องการเขียนลงไปในบล๊อกก็คือ วิธีทำบันทึกข้อมูลข้อสังเกตและการทำหมายเหตุของทีมวิจัยควบคู่ไปกับการลงไปเก็บข้อมูลสนาม ที่เชื่อว่าจะสามารถสะท้อนสิ่งค้นพบมิติใหม่ๆจากชุมชนได้มากที่สุดและเป็นวิธีช่วยทำให้งานวิจัยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทีมพึ่งตนเองในการทำงานต่างๆ และทำให้ข้อมูลแบบ Cross-Check หลายจุดยืนจากทีมวิจัยหลายคนมีการจัดเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อสร้างคำตอบการวิจัยที่ดีได้มากยิ่งๆขึ้น

ในกรณีนี้สำหรับผมแล้ว บล๊อกจึงเป็นเครื่องมือและวิธีจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทางวิชาการให้ผมอย่างดียิ่ง เป็นเครื่องมือสร้างทีมวิจัยโดยวิธีเป็นพี่เลี้ยงหรือ Mentorship ลดปัญหาการสื่อสารและความไม่ยืดหยุ่นต่อความแตกต่างหลากหลาย เป็นเครืองมือสร้างกรอบวิสัยทัศน์ ให้คนจำนวนมากได้เพิ่มโอกาสเรียนรู้เพื่อเห็นความคิดกันและได้แนวปฏิบัติวิจัยที่ส่งเสริมเกื้อหนุนกัน สามารถทำงานเป็นทีมในแนวที่ผมมุ่งเน้น อันได้แก่การทำงานแนวประชาคม แนวจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือ Collectives and Voluntary Practices Participation ได้อย่างมีพลังมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่เป็นครูสอนวิธีใช้บล๊อก gotoknow ให้ผมก็คือ อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ซึ่งก็เป็นทีมทำงานของผมในหลายโครงการและหลังสาธิตให้ผมลองทำดูก็ได้ใช้บล๊อกของ gotoknow นี้เปิดเวทีทำงานในแนวทางดังที่กล่าวมาช่วยกันอีกด้วย

ผมมุ่งทำวิจัยในแนวที่เน้นการทำเป็นทีม ทำเป็นกลุ่มก้อน เครือข่ายชุมชน รวมทั้งเน้นวิธีปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งโดยปรกติแล้ว การทำงานปฏิบัติและการเก็บบันทึกข้อมูลไปด้วยก็จะต้องทำเป็นรายกรณี เป็นรายวัน และเป็นรายเหตุการณ์ ซึ่งถ้าหากทำเป็นกลุ่มกับคนหลากหลายก็จะประสบปัญหาว่าผู้คนมีพื้นฐานต่างกัน ทำได้ไม่เหมือนกัน  คิดและเข้าใจสิ่งต่างๆในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน เพราะหลักวิชาและพื้นฐานความเชี่ยวชาญที่ได้ฝึกหัดตนเองมาต่างกัน กระบวนการเรียนรู้เพื่อทำงานด้วยกันให้ได้ผลดีที่สุดจึงมีความสำคัญมาก

นอกจากนี้ ก็ต้องทำงานบริหาร กำกับดูแลและสอนงานให้คนหลายทีม ทั้งในหน่วยงานตนเองและทำเพื่อความเป็นส่วนรวมของมหาวิทยาลัย ทำให้ผมตามดูแลให้ทุกคนทำงานบันทึกข้อมูลและเก็บข้อสังเกตเพื่อการวิจัยให้ได้อย่างที่ผมต้องการแทบจะไม่ได้ พอผมใช้วิธีทำคู่ขนานไปด้วยและแสดงให้ดูผ่านบล๊อก ก็ทำให้สามารถสื่อความเข้าใจและสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบันทึกข้อมูลและทำสิ่งต่างๆตามที่ต้องการได้ดีขึ้น สอนงานเพียงให้แนว ยกตัวอย่าง แล้วก็ใช้สิ่งที่ทำสะสมไว้ในบล๊อกเป็นแหล่งสื่อสารเสริมศักยภาพให้แก่ทีม ทำให้แก้ปัญหาและพาทีมทำงานอย่างที่คิดได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 ๔.  ได้สร้างและสะสมความรู้ของชาวบ้านในโมเดลหนองบัวที่ร่วมทำกับท่านพระมหาแลและหลายคนในเวทีคนหนองบัว  :
ได้ร่วมกับชุมชนจากระยะไกลและผ่านชุมชนไซเบอร์สร้างฐานข้อมูลชุมชนบ้านเกิดและได้บทเรียนอย่างซาบซึ้งในการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับวิถีชุมชนเพื่อสร้างความรู้และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนระดับอำเภอในชนบท ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย

ณ เวลานี้ ผมพอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ทั่วประเทศซึ่งมีโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อยู่ ๕ แห่งนั้น บล๊อกเกี่ยวกับ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)[๒] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่] กับชุมชนบ้านตาลินและชุมชนรอบโรงเรียน[๓] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่]  ที่ผมและพระมหาแล ขำสุข(อาสโย)กับสมาชิกเวทีคนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ได้ช่วยกันบันทึกถ่ายทอดไว้นั้น มีเรื่องราวจากแง่มุมของคนในชุมชนที่รอบด้านที่สุด อีกทั้งส่งเสริมชาวบ้านให้มีหัวข้อสนทนาพูดคุย ได้เรียนรู้ชุมชนตนเองดีมากยิ่งๆขึ้น ในส่วนของข้อมูลและความรู้ชุมชนหนองบัว[๔] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่]  ก็เป็นข้อมูลที่ชุมชนไม่เคยมีมาก่อนมากมาย สิ่งที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบทอดกันไว้ปากต่อปากของชุมชนหลายอย่าง ก็เริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็นเค้าเงื่อน รองรับการสะสมและช่วยกันต่อเติมให้ดีมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ

ที่สำคัญคือ ผมได้บทเรียนในการเขียนความรู้กับชาวบ้านและคนทั่วไปโดยการพากันเรียนรู้และส่งเสริมให้ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากสภาพที่ก็เป็นเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไปในสังคมไทย ที่กลัวบล๊อกและขาดโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ให้ทัดเทียมกับความทันสมัยทางเทคโนโลยี เพื่อใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้ ถ่ายทอดและบันทึกข้อมูลที่ตนเองมีเก็บไว้ให้เป็นระบบได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร กระทั่งกลายเป็นผู้ที่สามารถเขียนและสร้างความรู้เกี่ยวกับชุมชนตนเองเก็บบันทึกไว้ในบล๊อก เป็นสื่อและแหล่งทรัพยากรความรู้อีกแห่งหนึ่งที่ผู้คนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า

จากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในชนบทที่ไม่เคยปรากฏให้เป็นที่รู้จักมากนักบนพื้นที่ข่าวสารความรู้ของสังคมไทยและสังคมโลก ก็กลายเป็นชุมชนที่มีผู้สามารถเห็นและเข้าถึงได้กว่า ๒๐ ประเทศจากทั่วโลก จำเพาะจากอเมริกาประเทศเดียวก็มากกว่า ๒๐ ผู้ชม จึงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่ามีส่วนต่อการนำเสนอสิ่งดีงามของท้องถิ่นให้สังคมวงกว้างได้รู้จัก[๕] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่]  อีกทั้งสามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตได้อีก ซึ่งเป็นวิธีเข้าถึงความทันสมัยและก้าวทันโลกอย่างไม่หลุดจากรากเหง้าตนเอง สามารถเรียนรู้ที่จะเป็นนายเทคโนโลยี เข้าถึงเทคโนโลยีให้ได้คุณค่าและสร้างให้มีความหมายอย่างสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ใช้เสริมกำลังการพัฒนาออกจากจุดแข็งตนเองของปัจเจกและชุมชนได้อย่างเหมาะสมพอเพียง นับว่าเป็นอิฐก้อนแรกๆที่จะมีความหมายมากต่อพัฒนาการข้างหน้าของความรู้และข้อมูลข่าวสารของชุมชน

ดังนั้น จึงทำให้ได้บทเรียนและความเชื่อมั่นบางอย่างที่จะขยายผลประสบการณ์ไปยังแหล่งอื่นๆได้ว่า ชุมชนหนองบัวไร้โอกาสมากกว่าอีกหลายชุมชนของประเทศ ดังนั้น หากคนหนองบัวทำได้ ก็เป็นบทเรียนที่พอมั่นใจได้ว่ารูปแบบอย่างที่เกิดขึ้นในเวทีคนหนองบัวนี้ จะช่วยให้ชาวบ้านและชุมชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงโอกาสการพัฒนาตนเองในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เช่นเดียวกันอย่างแน่นอน

 ๕.  ได้ความสดของประเด็นความรู้และประเด็นเพื่อการนำไปศึกษาค้นคว้า  :
ผมชอบอ่านงานของหลายท่านและได้ประเด็นในการคิดวิเคราะห์ รวมทั้งตั้งหัวข้อไปศึกษาค้นคว้าต่อได้หลายอย่างที่สดและดีเป็นอย่างยิ่ง ในทรรศนะผมนั้น การได้อ่านบันทึกถ่ายทอดและทำหมายเหตุความเป็นผู้สังเกตไปตามสภาพการณ์ต่างๆของบล๊อกเกอร์นั้น หลายเรื่องจะดีกว่าการได้อ่านแบบ Investigate โดยใช้ Index ตามท้ายเล่มหนังสือและ Key word ของความรู้ทั่วไปที่มักเห็นอย่างดาดดื่นมาเป็นกรอบการสืบค้น ความรู้และทรรศนะต่างๆในบล๊อก โดยเฉพาะการนำเอาสิ่งที่ได้จากการทำงานและประสบการณ์ทางสังคมตามแหล่งต่างๆของประเทศมาพิจารณาซึ่งมีคุณลักษณะราวกับเป็นการทำบันทึกรายงานจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมินั้น หลายอย่างสามารถสะท้อนสภาวการณ์ของสังคมไทยและโลกกว้างได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแหล่งอื่นเสียอีก บางครั้งจึงสามารถอ่านและพัฒนาประเด็นคำถามและได้กรอบสำหรับนำไปศึกษาค้นคว้า สร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ๆผสมผสานความรู้สากลได้อย่างมีความสมดุลเป็นอย่างดี

 ๖.  ได้แบ่งปันและใช้สอยความรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน  :
ผมเคยทดลองพัฒนาสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อนำไปสอนนักศึกษาของผมซึ่งเป็นชาวต่างประเทศโดยขอบทเรียนและดึงข้อมูลจากบันทึกของท่านอื่นๆไปดัดแปลงใช้ เช่น คุณครูคิม หนานเกียรติ อาจารย์ณัฐพัชร์ [๖] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่]

ขณะเดียวกัน คุณครูอ้อยเล็กก็ช่วยทำภาพกราฟิคคอมพิวเตอร์ให้กับเวทีคนหนองบัวผ่านทางบล๊อก [๗] [คลิ๊กเข้าไปชมได้ที่นี่] โดยที่เรายังไม่เคยเห็นตัวจริงๆกันเลย หลายท่านก็ขอใช้ข้อมูล บันทึก และบทความจากบันทึกของผม เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมวิชาการ ก็ขอรูปวาดในบล๊อกผมไปทำเอกสารประกอบการประชุม คุณครู krutoiting จากสมุทรสาคร คุณครูจุฑารัตน์จากกำแพงเพชร ก็เล่าสะท้อนให้ทราบถึงผลของการทดลองนำเอารูปวาดและเรื่องวิถีชีวิตชุมชนในบล๊อกเวทีคนหนองบัวไปทำเป็นสื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้น ในกรณีนี้ บล๊อกจึงช่วยให้เราแสวงหาความร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งดีให้แก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง โดยก็ยังคงเป็นคนตัวเล็กๆแต่สามารถข้ามหน่วยงานและข้ามข้อจำกัดไปได้หลายอย่าง

 เลยพอจะสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ตนเองได้บางประการว่า  การใช้บล๊อกช่วยเพิ่มความหลากหลายของทางเลือกสำหรับบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรความรู้ ให้เกิดความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และพึ่งตนเองได้มากขึ้น ทำให้ผมสามารถสอน บริการวิชาการ ทำงานวิจัย และกิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นส่วนรวมระดับต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นมากพอสมควร

ขอแบ่งปันเพื่อร่วมแสดงความขอบคุณคุณมะปรางเปรี้ยว ทีมงานของ gotoknow และบล๊อกเกอร์ทั้งรุ่นใหม่และเก่าของ gotoknow ทุกๆท่านครับ.

หมายเลขบันทึก: 374278เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • ผมลดการใช้กระดาษไปมากเช่นกันครับ
  • แถมได้ติดต่อสมาชิกในที่ทั่วไปได้ด้วย
  • ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ช่วยครู เขาจะไปพึ่งใคร...
  • มาช่วยแก้ไขข้อความ  ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗กลัวอาจารย์ไปในอนาคต ฮ่า
  • วันที่ 28 ราชมงคล ศาลายกเลิกครับ
  • นัดกับพี่อ้อยเล็กและสมาชิกบางท่านไปหาอาจารย์ 27 สิงหาคมแทนเพราะครูอ้อยเล็กทำค่ายครับ
  • เอาคุณยายผู้ไม่ยอมแพ้แก่วัยมาฝาก
  • ถึงอายุมากแค่ไหนแต่คุฯยายก็ยังมีไฟอยู่ ฮ่าๆ
  • ลืมถามไปว่าบ้านอาจารย์มีรถแบบนี้ไหม

ขอคารวะท่านพี่ ... บทความนี้ถึงใจคนเขียนบันทึกจริง ๆ ครับ ;)

  • เรื่องการลดกระดาษและพื้นที่สำหรับเก็บรักษาเอกสารนี่มีผลมากจริงๆนะครับ
  • แต่ก็จำเป็นต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่เคยเจอเข้ามาแทนเหมือนกัน อาจารย์และทุกท่านก็คงเคยเจอนะครับ
  • เป็นต้นว่าข้อมูลหาย ฮาร์ดดิสก์ล่ม คอมพิวเตอร์พัง เครื่องมือและที่เก็บข้อมูลหาย ซึ่งก็แทบจะสติแตกเสียจริตไปด้วยอยู่เสมอ
  • ขอบพระคุณที่อาจารย์ช่วยทักท้วงเพื่อแก้ไขปี พศ.ครับ ปี ๒๕๕๗ นี่มันยังไปไม่ถึงอีกตั้งหลายปีเลยนี่เนาะ
  • ฝากเฉลิมฉลองการผ่านด่านเกือบสุดท้ายแล้วของคุณครูอ้อยเล็กด้วยนะครับ
  • รถสกายแล็บอย่างนี้แถวบ้านผมไม่มีหรอกครับ แต่เคยเห็นเหมือนกันครับ ชอบดู  แถวขอนแก่นโน่นแน่ะครับ

สวัสดีครับอาจารย์Wasawat Deemarnครับ

  • อาจารย์สบายดีนะครับ
  • แวะเข้าไปอ่านอนุทินของอาจารย์อยู่เสมอๆนะครับ
  • แต่สงสัยตอนนี้อาจารย์คงจะสอนและต้องทำงานบริหารมากขึ้น
  • ยังไงก็ขอได้มีความสุข สุขภาพกายใจดี ปราดเปรียว
  • กระชุ่มกระชวยและมีความรื่นรมย์ในชีวิต
  • สู้งานหนักๆได้อยู่เสมอนะครับ

อาจารย์ครับ ปกติผมเคยเจอที่อีสาน แต่แปลกมาก ภาพนี้ได้มาจากไปทำกิจกรรมให้ กศน ที่สุพรรณบุรี ครับอาจารย์ เป็นรถจากสุพรรณบุรี เครื่องแรงมา ผมอยากขับ แต่เกรงใจเจ้าของ ฮ่าๆ

  • สงสัยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กันผ่านคนไปทำไร่อ้อยแถวบ้านอาจารย์กระมังครับ
  • คนทำไร่อ้อย ตัดอ้อย ทำไร่ข้าวโพด รวมไปจนถึงทำนา แถวสุพรรณบ้านอาจารย์นั้น มาจากภาคอีสานเยอะจริงๆนะครับ
  • ผมเคยไปเห็นที่ขอนแก่น ได้ลองขึ้นไปนั่ง ๒-๓ ครั้งแล้วครับอาจารย์
  • เสน่ห์ของการนั่งรถแบบนี้คือได้รับลมโกรกและทัศนวิสัยรอบข้างดูมีความเป็นอิสระดีมากเลยครับ

โอ้โห..อ่านบันทึกนี้แล้วเห็นได้เลยว่า อาจารย์ใช้บล็อกคุ้มจริง ๆ

เรื่องประหยัดกระดาษนี่เห็นด้วยค่ะ ตั้งแต่ใช้งานคอมพิวเตอร์ก็ประหยัดกระดาษไปมาก แต่เคยเจอคนทำงานพิสูจน์อักษรที่บอกว่าต้องแก้จากจอคอมฯ ไม่ได้พริ้นต์ออกมาอ่าน เล่นเอาตาแทบพัง อันนี้ก็คงต้องเลือกว่า จะรักษาตา หรือจะประหยัดดี

"..ผมรู้จักคนเขียนหนังสือและคนทำงานศิลปะหลายคนที่เขาทำงานแล้วเลี้ยงชีพตนเองไม่ได้.." อ่านแล้วเศร้าใจ.. ใบไม้ฯ ก็รู้จักหลายคนที่เขียนหนังสือดี ถ่ายรูปเก่ง แต่เลี้ยงชีพแทบไม่รอด บางคนเป็นคนมีชื่อเสียงด้วย แต่ไม่ตามใจตลาดเลยอดอยากไปบ้าง.. ชื่นชมพวกเขา แต่ก็คับข้องใจแทนว่าทำไมจึงอยู่ได้ยากนัก

สำหรับโมเดลหนองบัวนั้น ต้องขอปรบมือให้อาจารย์และผู้มีส่วนร่วมทุกคน เป็นการใช้บล็อกจัดการและจัดเก็บ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์คนหนองบัวและกัลยาณมิตรอีกด้วย อันนี้เยี่ยมมาก

สนุกกับการเขียนบล็อกต่อไปนะคะอาจารย์ ..^__^..

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสงครับ

  • เรื่องประหยัดกระดาษแต่ผลอีกด้านที่ตามมานี่ เห็นด้วยมากเลยครับ รู้สึกว่ามีผลต่อสายตาและความล้าในการมองมากเลยครับ
  • เดี๋ยวนี้การทำงานในแนวที่คุณใบไม้ว่ามานั้นก็คงยิ่งอยู่ได้ยากหนักเข้าไปอีกนะครับ    
  • ดีใจที่นานๆก็เห็นคุณใบไม้แวะเวียนมาทักทายกันนะครับ
  • มีความสุขและมีไฟในการทำงานอยู่เสมอนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เข้ามาศึกษางานของอาจารย์ แต่ยังไม่จบค่ะ

มารายงานตัวก่อน

จะมาอ่านต่อค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับคุณครูดาหลาKRUDALAครับ ขอบพระคุณที่มาเยือนกันครับ
  • เลยขอแวะเข้าไปอ่านและศึกษางานของคุณครูดาหลาด้วยเช่นกันนะครับ
  • ขอแสดงความยินดีกับการได้เป็นเจ้าของบล๊อกของตัวเองครับ
  • เข้าไปอ่านเจอบันทึกนี้แล้วก็ยิ้มครับ.....

                           ......คุยกับลูกเกือบชั่วโมงแล้วให้ลูกคุยกับพ่อ ว่าพ่อทำอาหารอยู่ 
                           ลูกถามว่าดึกแล้วยังไม่ได้กินข้าวอีกเหรอ  
                           เราว่าตอนนี้เช้านะลูกยังไม่ถึงเก้าโมง  
                           เสียงปลายสายทางโน้นพูดว่า 
                           "อ้อ!ลืมไปเมืองไทยเป็นเวลาเช้า" 
                          ได้ข้อคิดหลายอย่างจากการคุยกับนักปรัชญาอย่างลูกเรา........
                                                                 จากบล๊อกKRUDALA

  • อ่านแล้วเห็นพลังความมีชีวิตชีวา เหมือนได้ยินเสียงโมไบล์ตามชายคาดังกรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

หนูดีใจมากค่ะ ที่ได้อ่านบันทึกที่เล่าออกมาจากใจ และได้เห็นถึงพลังของการใช้บล็อกให้เป็นประโยชน์อย่างจริงจัง

หนูอยากจะขออนุญาตนำบันทึกนี้ไปรวบรวมไว้ในบันทึกขอเชิญสมาชิกมาร่วมกันถอดบทเรียนในหัวข้อ : แนวทางการเริ่มเขียนบล็อกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน GotoKnow.org ค่ะ เพราะเนื้อหาที่อาจารย์เขียนสามารถสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ต่อสมาชิกและผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วย

รบกวนด้วยอาจารย์พิจารณาด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ :)

สวัสดีครับคุณมะปรางเปรี้ยวครับ

  • ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ
  • ตั้งใจว่าจะเขียนเพิ่มให้อีกด้วยครับ

อ.วิรัตน์คะ

ขอบคุณมากค่ะ หนูได้รวบรวมบันทึกเรียบร้อยแล้วค่ะ :)

  • ด้วยความยินดีครับ
  • ขอขอบคุณด้วยเช่นกันครับ

จาก คห.๑ ของท่านอาจารย์ขจิตน่ะครับ ผมเกรงว่าผมจะเข้าใจคลาดเคลื่อน อาจารย์บอกว่า อาจารย์กับคุณครูอ้อยเล็กและสมาชิกบางท่านจะแวะไปหาอาจารย์ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมเพราะวันที่ ๒๘ คุณครูอ้อยเล็กติดไปทำกิจกรรมค่ายนั้น อาจารย์หมายถึงไปหาอาจารย์ของอาจารย์ใช่ไหมครับ ไม่ได้หมายถึงไปหาผมใช่ไหมครับ เพราะช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษานั้น ผมตั้งใจว่าจะขนหนังสือไปบ้านที่เชียงใหม่ครับ จะแวะไปหาแม่ที่นครสวรรค์แล้วก็จะเลยไปเชียงใหม่เลย แล้วก็จะกลับมาสอนวันที่ ๒๘ กรกฎาคมน่ะครับ 

อย่างไรก็แล้วแต่ หากอาจารย์ คุณครูอ้อยเล็ก และท่านอื่นๆ มีโอกาสไปบรรยายหรือสอนใกล้ๆมหาวิทยาลัยมหิดล และหากพอมีเวลา ๒-๓ ชั่วโมงหลังเสร็จสิ้นงานก่อนกลับแล้วละก็ ผมอยากชวนพวกเรากลุ่มเล็กๆให้ได้นั่งกินข้าวและนั่งคุยกัน โดยอาจารย์ คุณครูอ้อยเล็ก และเพื่อนๆ อยากจะคุยแบ่งปันเพื่อจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจต่อกันเรื่องอะไรก็ได้ คุยและชวนสนทนาอย่างที่อยากคุย โดยเฉพาะวิธีคิดและประสบการณ์ที่อยากสะท้อนประเด็นชวนคิด

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ คุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ
  • ขอชื่นชมและส่งกำลังใจมายังคุณพี่นงนาทเช่นกันครับ
  • มีความสุขและมีกำลังใจเสมอครับผม
  • สวัสดีค่ะอาจารย์

    ตามมาจาก news letter ที่ทีมงานส่งให้ค่ะ

    อาจารย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคุ้มค่ามากเลยค่ะ ต้องขอเอาเป็นแบบอย่างแล้ว

    สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

    • ผมก็ได้รับครับ แต่ไม่ทันได้อ่าน
    • ลบทิ้งไปก่อน มือเร็วไปหน่อยครับ เคยเห็นคุณมะปรางเปรี้ยวเธอบอกไว้ว่าต่อไปนี้ gotoknow ใช้ตัวอักษรตัวเล็กหมด พอเห็นชื่อ E-newsletter จาก GotoKnow เลยไม่เปิดและลบทิ้งไปเลย
    • ผมมีบทเรียนข้อมูลหายและฮาร์ดดิสค์คอมพิวเตอร์ถูกไวรัสเข้าไปทำลาย ๒-๓ รอบ เลยกลายเป็นคนหวาดระแวงไป พอเห็นคนอื่นเขาพูดถึงจดหมายไฟฟ้าของโกทูโนว ก็เลยนึกขำตัวเองเพราะลบหายแซ๊บไปแล้ว

    อ.วิรัตน์คะ

    หนูมายืนยันว่าอีเมล์ของ GotoKnow ปลอดภัยแน่นอนค่ะ :)

    สำหรับเรื่องตัวอักษรตัวเล็กนั้น อาจารย์หมายถึงการแสดงผลของหน้าบันทึกใช่ไหมคะ จริงๆ สามารถขยายให้ตัวใหญ่ขึ้นได้ โดยมี 2 วิธี ค่ะ คือ

    • กดปุ่ม ตัว ก ไก่ ตัวใหญ่ ที่แสดงตรงมุมขวาบนที่อยู่ใกล้ๆ กับลิงก์ออกจากระบบค่ะ
    • ส่วนอีกวิธีก็คือ ขยายขนาดการแสดงผลของ Browser ที่ใช้งาน หากอยากให้ตัวใหญ่ก็กดปุ่ม Crtl พร้อมกับปุ่มเครื่องหมายบวก (+) และหากจะลดขนาดก็กดปุ่ม Crtl พร้อมกับปุ่มเครื่องหมายลบ (-) ค่ะ

    ขอบคุณค่ะ :)

    • ขอบคุณครับ คุณมะปรางเปรี้ยวครับ
    • ประทับใจจังเลยละครับที่อุตส่าห์ห่วงใยและเข้ามาช่วยแนะนำ
    • ตอนนี้เปิดเข้าไปดูแล้วครับ 
    • ตรงเรื่องตัวอักษรตัวเล็กตัวใหญ่นั้น ไม่ได้หมายถึงขนาดของตัวหนังสือหรอกครับ
    • แต่ผมไปเข้าใจว่า ของแท้จาก gotoknow น่าจะเป็น e-newsletter คือเป็นตัว typing letter ทั้งหมด แต่พอเห็น E-Newsletter ตัว E,N เป็นตัว capital letters ก็เลยจดจ้องๆ แล้วก็ตัดสินใจว่า อย่าลองเลยดีกว่า
    • แต่ตอนนี้เปิดเข้าไปดูแล้วครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ :)

    อ๋อ...พอดีว่าปรับโฉมใหม่นะค่ะ รอบนี้มาเป็นรูปแบบนำเสนอแบบ html เพื่อให้ดูน่าอ่านมากยิ่งขึ้นค่ะ

    หนูแวะมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง ได้เห็นรายละเอียดที่อาจารย์ได้เขียนเพิ่มเติม ต้องขอบอกว่าอิ่มใจ และเหมือนได้พลังเพิ่มเติมในการจะคิดทำอะไรใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมให้ GotoKnow เป็นเครื่องมือและชุมชนออนไลน์ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

    ขอบคุณอาจารย์มากๆ นะคะ :)

    สวัสดีครับคุณมะปรางเปรี้ยว

    • เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้หลากหลายมากยิ่งๆขึ้นดีครับ
    • ขอให้คุณมะปรางเปรี้ยวและทีมงานทุกท่าน ให้ยิ่งมีพลังใจ
    • ได้ความอิ่มใจ เป็นกำลังในความงอกงามเติบโตแข็งแกร่ง
    • เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆมากยิ่งๆขึ้นครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์ขอร่วมเรียนรู้ด้วยคนนะคะ น้องใหม่ในวงการ แต่อยากพัฒนาค่ะ

    สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • ช่วยกันลดภาวะโลกร้อนจริงๆเลยค่ะ อ่านแล้วความคิดวิ่งไปไกล ไอเดียกระฉูด
    • เสริมพลังให้หลายๆท่านอยากเขียนบันทึก ให้บล็อกกระดุกกระดิก
    • อิ่มเอมใจได้ทั้งความรู้และความรักจากกัลยาณมิตร
    • ระยะนี้สร้างเว็บไซด์ของโรงเรียนอยู่ค่ะ  กำลังปรับปรุงและหาสิ่งดีๆไปประชาสัมพันธ์ ขออนุญาตนำลิงก์บันทึกที่น่าอ่านและวิถีการสร้างสรรค์สังคม ไปให้ครูสังกัด สพท.กพ.2  สพฐ. ได้ติดตามกันค่ะ

     

                                          

                        

     

                                                 เทศกาลบุญเข้าพรรษาค่ะ 

                                  

    • สวัสดีครับ คุณครูชุมชน คนธรรมดา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมร สุวรรณนิมิตร ครับ
    • ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับที่อาจารย์กรุณามาเยือนและทักทายกัน
    • ขอเรียนรู้จากอาจารย์ด้วยเช่นกันครับ
    • สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ NU 11
    • กลับมาอีกทีไปทำเว็บเปิดเวทีของโรงเรียนมานี่เอง
    • ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ
    • ต้องขอบคุณอีกด้วยครับที่ลิงก์และให้ได้มีโอกาสไปร่วมทำสิ่งดีๆด้วยในทางอ้อม
    • ถือว่าเป็นการได้ร่วมกันปฏิรูปการเรียนรู้และปฏิรูปประเทศไทย โดยการปฏิบัติของเครือข่ายที่เดินแสวงหาพลังความร่วมมือกันเองอย่างนี้ไปด้วยได้เหมือนกันนะครับ
    • เทียนพรรษาในหม้อและกาละมัง กับดอกไม้แซมแบบสบายๆ ช่างดูงดงามดีจังเลยละครับ

    สวัสดีคะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์

    • เพราะ Gotoknow เพราะการเริ่มเขียนบันทึกในวันนั้น เลยทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือของคนทำงานที่น่ารักหลายๆ ท่าน และขยายในวงกว้าง เพิ่มมากขึ้น มากขึ้น ..
    • นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากการเขียนบันทึกในบล๊อคโกทูโนคะ =)
    • ถึงอาจจะไม่สามารถไปช่วยทำกิจกรรมค่ายจิตอาสาของพี่ครูคิมด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ช่วยสนับสนุนสมทบทุนเพื่อกิจกรรมค่ายจิตอาสา  เช่นนี้แล ....
    • Version (version ลืมนับ นึง ซอง ซ้ำ คะ) =o)

                              

    • Version II

                              

    • Version III

                              

    • ไปเจอรูปนี้ค่ะ ตอนออกเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจกันที่ ภูเขาทอง และ โลหะปราสาท กันหลังจากที่ทราบว่าหอศิลป์ฯ ศูนย์สิริกิตต์ฯ ปิดวันพุธ วันที่เราจะไปชมพอดี ^^"
    • เสื้อยืดรางวัล Blogger of the month รางวัลสุดคะนึง ๒๕๕๒ ประจำเดือนสิงหาคม จากบล๊อค ดังลมหายใจ ...
    • ตั้งแต่ใส่มาไม่เคยได้ถ่ายภาพเลย พอสบโอกาสยังจะไม่ชัดอีก บันทึกภาพโดย คุณช้างน้อยมอมแมมเค้าหล่ะคะ ท่าทางอยากจะเน้นป้ายภูเขาทองการช่างเอามากๆ แต่ก็เอาเถอะ อยากนำมาฝากเจ้าของรางวัล สุดคะนึง .. และด้วยจรรยาบรรณจึงไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ ^^"

                              

    • ที่ดูดีกว่าความเป็นจริงนิดหน่อยนี่ เกิดจากเทคนิคการถ่ายภาพนะครับ
    • ชุดนี้ต้องนับแตกต่างจากทั่วไป ทั่วไปจะนับ  หนึ่ง  สอง  สาม .....แช๊ะ
    • แต่รูปนี้ต้องนับ หนึ่ง  สอง  สาม แขม่วท้อง กลั้นหายใจ ... แช๊ะ  ฮ่าาา

    สวัสดีค่ะ

    ความเป็นจริงอย่างหนึ่งไม่ได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือต่อปีไม่กี่บรรทัด และผมรู้จักคนเขียนหนังสือกับคนทำงานศิลปะหลายคนที่เขาทำงานแล้วเลี้ยงชีพตนเองไม่ได้ ในกรณีนี้ การอ่าน เขียน การซื้อหนังสือ วัฒนธรรมและวิถีบริโภคทรัพยากรความรู้ ตลอดจนงานสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเฉพาะงานศิลปะทุกแขนง งานช่างฝีมือ งานหัตถกรรม จึงเป็นหนทางสร้างสุขภาพทางความรู้ของสังคมได้อย่างหนึ่ง

    ในความรู้สึกเรื่องการอ่านหนังสือ  เหมือนกับการฝึกอบรมบ่มนิสัยให้แต่ละคนนะคะ  เมื่อยายคิมเป็นเด็ก  หากนั่งอยู่ว่าง ๆ คุณแม่จะยกหนังสือมากองวางให้เลยค่ะ

    ในความเป็นจริง  หนังสือราคาแพงจัง  คนมีตังค์น้อย หรือนักเรียนก็ไม่สามารถซื้ออ่านได้

    หนังสือที่ได้รับจัดสรรให้ห้องสมุดที่โรงเรียนบ้านนอก มีหนังสือดี ๆ น้อยมาก และวรรณกรรมสำหรับเยาวชนหาได้ยากจังค่ะ

    เพราะบล็อกจึงได้เข้ามาชมภาพของคุณณัฐพัชร์ ค่ะ

    ขอขอบพระคุณอาจารย์ คณะนายแบบ นางแบบและคุณ ณัฐพัชร์ อีกครั้งค่ะ

                            Large_g2kt-shirt2 

                            Large_g2kt-shirt3 

    • เลยเอามาอวดกันสักหน่อย ดีไซน์เสื้อดูดีนะครับ
    • วิธีระดมทุนและเรียนรู้ระบบความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องทุกแง่ทุกมุมว่าในความเป็นจริงแล้วจะต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง และบทเรียนความสำเร็จของเรื่องนี้เป็นอย่างไร อย่างคุณครูและคณะทำนี้ก็เป็นบทเรียนที่ดีมากอย่างยิ่งเลยนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท