พระมหาสะง่า
พระมหา พระมหาสะง่า ธีรสํวโร ไชยวงค์

ฤกษ์ยามในทัศนะครูบาศรีวิชัย ๒


เอาสิ่งที่มิใช่ พุทธประเพณีมาไว้ในวัด ควรย้ายหรือทุบทำลายไปเสียให้สิ้น

ฤกษ์ยามในทัศนะครูบาศรีวิชัย๐๐๒

 

                อาชาไนยไม่หวั่นไหวเพราะเสียงกลองศึกฉันใด 

                ครูบาศรีวิชัยก็ฉันนั้น 

                คุณหลวงศรีประกาศ พอทราบเรื่อง ก็รีบไปแจ้งให้ครูบาเถิ้มที่วัดแสนฝาง(ท่าแพ)  ครูบาพูดขึ้นกับคุณหลวงว่า “หันก่อข้าตึงบอกแล้วว่าฤกษ์มันบ่ดี  ข้าตั๊ก(ท้วง)แล้วบ่ฟัง”  พูดจบก็รีบเดินทางไปหาครูบาศรีวิชัยในทันที

                ณ  ที่วัดพระสิงห์(ลีเชียงพระ)   เหล่าศานุศิษย์เมื่อทราบว่าวันนี้ เจ้าหน้าที่จะมานำตัวครูบาไปกรุงเทพฯ  ต่างพากันมาอยู่เฝ้าเต็มบริเวณวัด และพากันนอนขวางตั้งแต่หน้ากุฏิครูบาศรีวิชัยถึงนอกถนน ต่างส่งเสียงร้องขอไม่ให้เจ้าหน้าที่ ได้ทบทวนพิจารณาให้ถ้วนที่ในสิ่งที่ เรียกร้องความเป็นธรรมให้ครูบา   กระทั่งทางบ้านเมืองต้องขอกำลังทหารมาช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย   

               ภายในกุฏิครูบาศรีวิชัย ครูบาเทิ้มบอกกับครูบาว่า “ไปเตอะข้าอยู่ทางนี้จะช่วยแก้ไขหื้อจ๋นสุดกำลัง”  บรรยากาศเงียบ ไม่มีเสียงใด ๆ อีก  ไม่ทราบเหมือนกันว่า ท่ามกลางความเงียบงันนั้น  ครูบาทั้งสองท่านคิดอะไรกัน เพียงครู่เดียวครูบาศรีวิชัยก็กราบลาครูบาเทิ้ม แล้วเดินออกมาจากกุฏิ ประกาศขึ้นท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหาและศรัทธาชาวบ้านว่า “หื้อเฮาไปเตอะ มันเป๋นกรรมของเฮา” เหล่าศานุศิษย์ถึงกับหลั่งน้ำตา ลุกขึ้นยอมให้เจ้าหน้าที่พาท่านไป

             ทุกอย่างสำคัญที่จิตจริงๆ ปัญหาที่ครูบาเจอใหญ่หลวงยิ่งนัก  หากท่านบอกว่าไม่ยอมไปเท่านั้น ความยุ่งยากย่อมเกิดแก่พระสงฆ์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอยู่ไม่น้อย  โดยเฉพาะทางข้าหลวงใหญ่ที่ขึ้นมาจากบางกอกนั้นทราบดี เพราะก่อนขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่มณฑลพายัพ จะได้รับคำเตือนจากผู้ใหญ่ว่า

                มณฑลแห่งนี้มีบุคคลที่พวกเขาต้องสำรวมระวังคือ เจ้าแม่ทิพย์เกษร หรือ   เทพไกรสร เพราะเป็นผู้ฉลาด และเด็ดขาดยิ่งกว่าเจ้าผู้ครองนคร เป็นที่เกรงขามของพวกชาวต่างชาติยิ่งนัก  อีกหนึ่งนั้นคือ พระศรีวิชัย ดูเหมือนเป็นพระธรรมดารูปหนึ่ง แต่พระรูปนี้เมื่อเอ่ยปากจะทำสิ่งใด    ไม่กี่วันก็สามารถระดมคนได้เป็นหมื่นเป็นแสน ดังนั้น ไม่จำเป็นไม่ควรขัดใจกับท่านทั้งสอง

              ครูบาศรีวิชัย ยุติปัญหาทุกอย่างเมื่อกลับจากกรุงเทพฯ แม้จะได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด ทั้งยังได้พระบารมีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าคุ้มครอง ฝากมายังเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่-ลำพูนให้ได้ทราบ ทั้งให้ทั้งคณะสงฆ์และบ้านเมืองช่วยกันดูแลครูบาศรีวิชัย ห้ามมิให้ใครกลั่นแกล้งท่านอีก   แทนการแก้แค้นด้วยมีแรงหนุนจากผู้ใหญ่ในเมืองหลวง  ท่านเลือกการยอม หยุด เย็น เมตตาให้อภัยกับทุกเรื่องที่ผ่านมา เรื่องที่เป็นปัญหาในอดีต  ก็ไม่นำกลับมาให้ยุ่งยากอีก   

             หลักคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาคือ เรื่องกรรม  เป็นหลักการที่ครูบาปฏิบัติตามได้อย่างมั่นคง จึงส่งผลให้จิตใจของท่านเข้มแข็ง ไม่นึกน้อยใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง สู้เพียรนำพาผู้คนทำความดี สร้างความเจริญให้พระพุทธศาสนาและบ้านเมือง แแม้จะได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม  ครูบาศรีวิชัยเพียงพลิกจิตคิดถึงเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา ปัญหาทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขด้วยปัญญาอย่างสงบเรียบร้อย และสิ่งนี้เองส่งผลให้ท่านได้เป็นสังฆรัตนะที่กราบไหว้บูชาของเรามาจนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 374182เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท