พหุวัฒนธรรม


พหุวัฒนธรรม

พหุวัฒนธรรม MULTICULTURAL-SOCIETY คือ สังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งจะตรงกันข้ามกับสังคมวัฒนธรรมเดียว (monoculural society) สังคมเมืองปัตตานีถือเป็นสังคมหลากหลายเพราะประกอบคนจีน มลายู และไทย

ธรรมชาติของพหุวัฒนธรรม    ประเภท: พหุวัฒนธรรมศึกษา, โดย: ครูฌอง | March 26, 2008 |   237 views

           บุคคลแต่ละคนจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซึ่งมีลักษณะวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และหลาย ๆ กลุ่มจะรวมตัวกันเป็นสังคมใหญ่ การอยู่รอดของกลุ่มเกิดจากการเห็นคุณค่าของกระบวนการคิดและสัญลักษณ์ที่เกิดจากการสร้างของวัฒนธรรม ปัจจัยทางศาสนา เชื้อชาติ อายุ เพศ ชนชั้นทางสังคม และการศึกษา จะเป็นตัวสำคัญที่กำหนดเกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึก และการกระทำของบุคคล ในลักษณะของการรวมกลุ่มต่าง ๆ ของสังคมใหญ่ ย่อมมีการประสานของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม บุคคลแต่ละคนนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหนึ่งแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอื่น ๆ ในขณะเดียวกันด้วย ซึ่งอาจมีลักษณะที่ชัดเจนในกลุ่มหนึ่งและมีลักษณะที่น้อยหรือไม่มีเลยในอีกกลุ่มหนึ่ง

 

รูป แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับการเป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
(ที่มา : Banks and Banks. Multicultural Education Issues and Perspectives, 1989; p 14)

           จากรูป แสดงให้เห็นว่า ในระบบสังคม (Social System) จะประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ ที่แบ่งลักษณะของกลุ่มตามโครงสร้างของ สัญชาติ กลุ่มชน ศาสนา ความสามารถพิเศษ ชนชั้นทางสังคม และเพศ ซึ่งบุคคลสามารถเป็นสมาชิกที่มีลักษณะเฉพาะของกลุ่มหนึ่งและอาจเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละกลุ่ม และการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบันจะต้องตอบสนองต่อความแตกต่างดังกล่าว

           มีความเข้าใจกันมานานว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมคือการให้ความสำคัญเกี่ยวกับ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แคบมากเมื่อเทียบกับความหมายของ พหุวัฒนธรรม สำหรับขอบเขตความหมายที่ชัดเจนของพหุวัฒนธรรมนั้น National Council for Accreditation of Teacher Education (NCATE)(2002) ได้อธิบายไว้ว่า

“พหุวัฒนธรรมคือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และประวัติศาสตร์โดยใช้โครงสร้างของ กลุ่มชน(ethnicity) เชื้อชาติ(race) สถานะของครอบครัว(socioeconomic status) เพศ(gender) ความสามารถพิเศษ(exceptionalities) ภาษา(language) ศาสนา(religion) บทบาททางเพศ(sexual orientation) และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์(geographical area)”  สอดคล้องกับ Mitchell and Salsbury (1999) ซึ่งอธิบายว่า “การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม หมายถึง การศึกษาที่พยายามแนวความคิดค่านิยมเชิงบวกเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และนำไปสู่การปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน” นอกจากนี้ Banks and Banks (2003) ได้อธิบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมไว้ว่า  “คือแนวทางในการปฏิรูปที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาในองค์รวมเพื่อนักเรียนที่มาจากความหลากหลายของ เชื้อชาติ กลุ่มชน เพศ ความสามารถพิเศษของนักเรียน และชนชั้นทางสังคม โดยจัดประสบการณ์ในเกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษาทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย” จากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมได้ 3 ประเด็นคือ

  • การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ กลุ่มชน ภาษา ศาสนา เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ความแตกต่างทางชนชั้นของสังคม บทบาททางเพศ และความสามารถพิเศษ
    ของผู้เรียนอีกด้วย
  • การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม มุ่งให้เห็นคุณค่าในความแตกต่างอย่างมากของกลุ่มต่าง ๆ ในระบบสังคมของสถานศึกษา
  • การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมมุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนทุกคน

โดย… วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล
ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โครงสร้างทางสังคมตามแนวทางพหุวัฒนธรรม  ประเภท: พหุวัฒนธรรมศึกษา, โดย: ครูฌอง | March 26, 2008 |   295 views           ในการศึกษาทางพหุวัฒนธรรมได้แบ่งประเภทของโครงสร้างทางสังคมซึ่งเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่หลากหลายเพื่อความเท่าเทียมกันของผู้เรียนทุกคน

 

รูป แสดงโครงสร้างทางสังคมของการศึกษาพหุวัฒนธรรม
(ที่มา : Banks and Banks. Multicultural Education Issues and Perspectives, 1989; p 16)

           จากรูป แสดงถึงโครงสร้างทางสังคมของการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้เรียน โดยอาจจะเป็นอิทธิพลจากตัวแปรตัวใดตัวหนึ่งหรือจากตัวแปรหลายตัวประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม ศาสนา ความสามารถพิเศษ และตัวแปรอื่น ๆ ย่อมมีอิทธิพลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมจึงต้องให้ความสำคัญต่อตัวแปรต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยไม่เน้นความสำคัญเพียงแค่ ภาษา ศาสนา หรือตัวแปรตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ

ระบบสังคมในสถานศึกษา

           สิ่งหนึ่งที่นักการศึกษาต้องยอมรับในการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมคือความแตกต่างที่มีอยู่ในสังคมของการจัดการศึกษา ดังนั้น การนำพหุวัฒนธรรมไปใช้ในประสบความสำเร็จ จะต้องคำนึงถึงระบบสังคมในสถานศึกษาอันประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่ นโยบายสถานศึกษา วัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการเรียนรู้ ภาษา การสื่อสาร การมีส่วนร่วม การให้คำปรึกษา การวัดและประเมินผล สื่อและอุปกรณ์การสอน หลักสูตร วิธีการสอน และเจตคติ ความเชื่อ และการกระทำของบุคลากร เป็นต้น

 

รูป แสดงระบบสังคมในสถานศึกษา
(ที่มา : Banks and Banks. Multicultural Education Issues and Perspectives, 1989; p 22)

แนวทางการปฏิรูปการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมที่แท้จริงมิใช่ตัวแปรที่อยู่ในระบบสังคมของสถานศึกษา เท่านั้น แต่ต้องมีการปฏิรูปทั้งโครงสร้างของหลักสูตร ส่วนประกอบของรายวิชา ไม่เพียงแค่นั้น การจัดศึกษาในสังคมพหุวัฒนธรรมและการสอนในรายวิชาที่ไวต่อความรู้สึกจะไร้ซึ่งประสิทธิภาพหากอยู่ในมือของครูที่มีเจตคติทางลบต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม ดังนั้น ครูที่ไม่มีลักษณะของความเข้าใจต่อการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องช่วยให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษามีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มและเจตคติทางบวกต่อความเสมอภาคและเห็นคุณค่าของการนำการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมไปใช้ การนำการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมไปใช้ ต้องมีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลง ลักษณะการใช้คำพูดในการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน วัฒนธรรมของของสถานศึกษา หลักสูตร กิจกรรมนอกหลักสูตร เจตคติเกี่ยวกับภาษาของแต่ละกลุ่ม การวัดและประเมินผล กิจกรรมกลุ่ม รูปแบบของสถาบัน โครงสร้างทางสังคม ความเชื่อ ค่านิยม และเป้าหมายของสถานศึกษา ความสนใจที่สำคัญคือการมุ่งไปที่หลักสูตรแฝงของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาต้องประกอบด้วยหลักสูตร 2 ลักษณะคือ หลักสูตรที่ชัดเจน(manifest curriculum) และหลักสูตรแฝง (hidden curriculum) หลักสูตรที่ชัดเจน จะต้องประกอบด้วย คู่มือ เอกสาร ป้ายประกาศ แผนการสอน ที่แสดงส่วนประกอบของสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่มีความสำคัญและสร้างวัฒนธรรมของสถานศึกษา  แสดงเจตคติบางบวกเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และช่วยให้ผู้เรียนจากกลุ่มต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแฝง ย่อมมีความสำคัญน่าเชื่อถือกว่าหลักสูตรที่เปิดเผย โดยลักษณะของหลักสูตรแฝงจะไม่ถูกเปิดเผยโดยผู้สอนแต่ผู้เรียนจะสามารถรับรู้ได้จากกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

จากความสำคัญและเป้าหมายของการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมดังกล่าวสรุปได้ว่า การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมคือแนวคิดที่เริ่มจากการให้ความสำคัญต่อผู้เรียนทุกคน โดยต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีลักษณะของความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองไปในแนวทางที่ดีที่สุด องค์ประกอบสำคัญที่จะนำสถานศึกษาให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่แสดงถึงความเท่าเทียมกัน ไม่ได้มุ่งไปที่ตัวแปรตัวใดตัวหนึ่ง แต่สถานศึกษาต้องมีการปฏิรูปในลักษณะองค์รวม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งหลักสูตร อีกทั้งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายของความเป็นเลิศ คือ ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ขจัดการแบ่งแยก และส่งผลถึงความเป็นสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม

โดย… วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล
ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 

ลักษณะของการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม  ประเภท: พหุวัฒนธรรมศึกษา, โดย: ครูฌอง | March 18, 2008 |   244 views

           การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม มีหลักสำคัญที่จะต้องศึกษาอย่างน้อย 3 ประการคือ แนวคิดหรือมโนทัศน์(idea or concept) แนวทางการปฏิรูปทางการศึกษา(educational reform movement) และกระบวนการทางการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม(process)

 

  1. แนวคิดทางพหุวัฒนธรรมจะต้องเพื่อผู้เรียนทุกคน โดยไม่แบ่งแยก เพศ ชนชั้นทางสังคม กลุ่มชน เชื้อชาต หรือลักษณะทางวัฒนธรรม จะต้องมีความเท่าเทียมกันในโอกาสที่จะได้รับการเรียนรู้ในสถานศึกษา และมุ่งให้ผู้เรียนได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในสถานศึกษา
  2. การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมเป็นแนวทางในการปฏิรูปทางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการที่จะเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาซึ่งมีผู้เรียนจำนวนมาก หลากหลายชนชั้น มีความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาต และวัฒนธรรม ให้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาตามแนวการศึกษาพหุวัฒนธรรมจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของสถานศึกษาในลักษณะองค์รวม ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเท่านั้น
  3. การจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรมเป็นกระบวนการ มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่มีเสรีภาพและความยุติธรรม จะต้องมีการขจัดความคิดที่เป็นอคติและการแบ่งแยกของกลุ่มต่าง ๆ ในผู้เรียนให้หมดไป โดยเป็นกระบวนการที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมกันทางการศึกษาแก่ผู้เรียนทุกคน
คำสำคัญ (Tags): #พหุวัฒนธรรม
หมายเลขบันทึก: 373642เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท