เปาบุ้นจิ้น


อย่างน้อยปลาดาวตัวนี้ก็ไม่ตาย

ชื่อเรื่อง       ความประทับใจจากการประชุม  (เยี่ยมด้วยใจ…หรือทำไปเพราะหน้าที่)

ผู้เล่า    นางพิศมัย   โชติชัย

 บันทึกโดย          นางพิศมัย   โชติชัย

วันเดือนปีที่บันทึก   9 เมษายน  2553

เนื้อเรื่อง     

             เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553  ฉันได้รับมอบหมายให้ไปประชุมงานคนพิการแทนน้องไข่ ที่สสจ.กาฬสินธุ์   ฉันตั้งใจว่าจะไปฟังนโยบายหรือแนวทางการทำงานและรับเอกสารมาให้น้องอีกต่อหนึ่งตามสไตล์มวยแทน  เมื่อไปถึงห้องประชุมก็พบว่าผู้เข้าประชุมเกือบเต็มห้องแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลหน้าตาไม่ค่อยคุ้นเลย  ฉันกับน้องดวงจึงไปนั่งที่แถวหน้าด้านซ้ายของห้องประชุม   มองไปที่จอหน้าห้อง ก็พบป้ายชื่อการประชุมอันยาวเหยียด คือ “การประชุมบูรณาการแนวทางปฏิบัติงานผู้พิการ แรงงานคนต่างด้าวและงานประกันสังคมในโครงการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ จังหวัดกาฬสินธุ์ ”

                หลังจากที่ประธานกล่าวเปิดการประชุมแล้ว การประชุมก็ดำเนินไปตามกำหนดการที่วางไว้ ฉันก็ฟังไปจดไปรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง  จนถึงเวลาพักกลางวันพวกเราก็หยุดพักการประชุม  ช่วงบ่ายอำเภอฆ้องชัยมีฉันนั่งอยู่คนเดียวเพราะน้องดวงต้องไปประชุมด่วน  ช่วงบ่ายก็มีวิทยาการหลายคนมาบรรยายแต่ที่ฉันประทับใจมาก ก็คือนักกายภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์  เขาเป็นผู้ชายรูปร่างสันทัด ผิวค่อนข้างคล้ำ หัวเนียะ! เตียนโล่งไม่มีผมแม้สักเส้นเหมือนพระสึกใหม่ ลีลาการพูดก็ออกแนวตลกนิดๆ  เขาบอกว่าได้รับมอบหมายจากผู้จัดให้มาเล่าเรื่องการทำงานเยี่ยมบ้าน ซึ่งฟังดูเผินๆก็คงจะเป็นการทำงานเชิงรุก  ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ผู้พิการ มารดาและทารก คงจะธรรมดาๆ เหมือนที่อื่น  แต่ผิดคาด… เขาเริ่มเล่า เรื่องการออกไปทำงานเชิงรุกในชุมชน  โดยการออกปฏิบัติงานเป็นทีมสหวิชาชีพ  จะประกอบด้วย แพทย์  พยาบาล นักกายภาพบำบัด   สถานีอนามัย และศูนย์สุขภาพบัวขาว  ซึ่งพวกเขาจะเรียกตัวเองว่า “ ทีมไม้เลื้อย”

          การออกเยี่ยมผู้พิการหรือผู้ป่วยเรื้อรัง  แต่ละรายนั้นไม่ใช่เยี่ยมเพียงรายที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น  แต่ทีมไม้เลื้อยยังเอางานอื่นบูรณาการเข้าไปด้วยเช่น  ถ้าชุมชนที่ผู้พิการอาศัยอยู่มีประชาชนที่อ้วนจำนวนมาก ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ทีมก็จะมีผู้รับผิดชอบทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อมด้วย  สอนการออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร  และถ้ามีเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ก็จะให้คำแนะนำแก้ไขร่วมกับชุมชนด้วย  จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดด้วย

                ในการทำงานเชิงรุกนี้  ผู้เล่าได้ฉายภาพชายหนุ่มคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่  ไม่สวมเสื้อและมีโซ่ล่ามที่ข้อเท้ากำลังนั่งอยู่ที่แคร่ไม้ไผ่   แล้วผู้เล่าก็ถามผู้เข้าประชุมว่า  คิดยังไงกับชายคนนี้  “เขาเป็นบ้า” บางคนบอก “เขาติดยา”  เสียงหนึ่งดังลอดขึ้นมา   ครับ ! ชายคนนี้เขามีอาการทางประสาท ผมให้ชื่อเขาว่า “ช้าง”  ช้างขาดยามาระยะหนึ่งแล้ว ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ เพราะ เวลาเขาคลุ้มคลั่งจะทุบทำร้ายสิ่งของ ฝาบ้านก็จะรื้อ ทุบทำลาย กระจกแตกไม่เหลือสภาพที่ใช้การได้เลย จึงต้องให้อยู่ที่แคร่ไม้นี้เท่านั้น ทีมไม้เลื้อยไปเยี่ยมก็จะอยู่ห่างๆ ได้พูดคุยเฉพาะกับพ่อแม่ของช้าง และได้รู้ว่า ไม่มีใครเข้าใกล้ช้างได้ นอกจากพ่อของเขาที่จะเอาข้าวปลาอาหารให้เขาเท่านั้น  แต่ทีมก็ไม่ย่อท้อไปเยี่ยมช้างเรื่อยๆ  ไปทักทายช้าง โดยแอบอยู่หลังพ่อของเขาเวลาเอาข้าวไปให้ แล้วก็ เรียกชื่อทักทาย “ช้างหวัดดี” แล้วก็ถอยออกมา ไปเยี่ยมบ่อยเข้าพยายามทำให้เขาเชื่อใจ จนสามารถไปจับมือกับช้างได้  คราวนี้ก็ให้พี่พยาบาลจิตเวชไปด้วยเพื่อไปฉีดยารักษาช้าง  พี่พยาบาลก็กล้าๆกลัวๆท่าทางในการถือเข็มฉีดยายังกับจะไปฉีดยาให้เสือยังไงยังงั้น   แต่พวกเราก็ไม่ประมาทได้ให้พวกผู้ชายสามสี่คนคอยอยู่ช่วยเหลือใกล้ๆ  จนในที่สุดพวกเราก็ทำสำเร็จ   หลังจากที่ช้างได้รับการรักษา  นานเข้าเขาก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถพูดคุยกับคนทั่วไปได้  เมื่อทีมของเราเห็นอาการดีขึ้นมากเช่นนี้  จึงทดสอบให้ช้างไปซื้อของที่ร้านขายของชำใกล้ๆ  ปรากฎว่าเขาทำได้และในเวลาต่อมา………ฉายภาพช้างกราบแม่…………

                พวกเราภูมิใจที่ได้คืนคนดีให้สังคมคืนลูกชายให้กับแม่ ในการเล่าประสบการณ์การเยี่ยมบ้านครั้งนี้นักกายภาพคนนี้ได้เล่าหลายcase ที่ประสบผลสำเร็จ  ซึ่งทีมไม้เลื้อยนี้ต้องใช้เทคนิคหลายอย่าง เช่น การประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล  ความอดทนในการลงชุมชนที่กว่าจะได้เยียวยาหรือช่วยเหลือคนไข้ได้สำเร็จนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง สี่สีบครั้งในการลงชุมชน  การเสียสละเวลาส่วนตัว และการทำด้วยใจรัก ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองKPI ของหน่วยงานหรือของจังหวัดเท่านั้น

                ก่อนจบการเล่าประสบการณ์ของทีมไม้เลื้อยฯมีผู้เข้าประชุมคนหนึ่งถามขึ้นว่า  “จะทำได้เหรอในเมื่องานเราก็เยอะ ผู้ป่วยที่ต้องดูแลก็หลาย case ช่วยไม่หวาดไม่ไหวหรอก”  ครับ ผมเห็นด้วย  แต่อย่างน้อย “ปลาดาวตัวนั้นก็ไม่ตาย”     แล้วเขาก็เล่านิทานเรื่องปลาดาวให้ฟัง

                เรื่องมีอยู่ว่า….มีเศรษฐีคนหนึ่งได้พาครอบครัวไปพักผ่อนที่เกาะส่วนตัวแห่งหนึ่ง  ตอนเช้าตรู่ขณะที่เศรษฐีนั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน ก็เหลือบเห็นชายคนหนึ่งกำลังปาอะไรลงทะเล ทำอยู่อย่างนั้น นานเข้าเศรษฐีเกิดความสงสัยอยากรู้ว่าชายคนนั้นกำลังทำอะไร จึงเดินไปหาชายคนนั้นแล้วถามว่า “นี่ลุง ทำอะไรน่ะ”     “กำลังช่วยปลาดาว”

ชายคนนั้นตอบ    เศรษฐีจึงมองไปที่หาดทรายก็เห็นปลาดาวที่ถูกน้ำทะเลซัดมาเต็มไปหมด  แล้วเกิดสงสัยจึงถามชายคนนั้นอีกว่า“ปลาดาวมีตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วลุงจะช่วยมันได้ทุกตัวเหรอ”      “อย่างน้อยปลาดาวตัวนี้ก็ไม่ตาย”  ว่าแล้ว ชายคนนั้นก็ชูปลาดาวขึ้นแล้วปาลงทะเลไป     เมื่อเศรษฐีได้ฟังคำตอบ เขาจึงนิ่งคิด  สักครู่หนึ่ง เขาก็รีบวิ่งขึ้นไปที่บ้านพักของเขาและชวนลูกเมียและบริวารของเขามาช่วยกันปาปลาดาวลงทะเล …………

                แล้วพวก เราชาวสาธารณสุขล่ะ จะช่วยปลาดาวตัวนั้นหรือเปล่า?

 

******

หมายเลขบันทึก: 373603เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชื่นชม และยินดี นะครับ สำหรับแบบอย่างที่ดี และคนฟังที่อินในเรื่องที่เล่า อย่างน้อยก็น่าจะมีปลาดาวที่รอดชีวิต ครับ

ชื่นชมและยินดีนะครับ

ขอชื่นชมนะคะ

ชื่นชมพี่ที่มาประชุมแทนน้อง และขอบคุณพี่ที่ได้นำสิ่งดีๆมาเล่าให้ผู้อื่นฟังต่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท