จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

อีกปราการสำคัญของการสอน


วันนี้มีนัดประชุมกับหัวหน้าสาขาวิชาอีกครั้งครับ แต่เป็นการประชุมในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของผมที่ตั้งแต่รับงานมาก็ไม่เคยได้ประชุมเลย รอบนี้นัดประชุมได้คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะเหมาะสมครับ สำหรับการทำงานในเทอมหน้า ที่สำคัญสำหรับเทอมนี้ก็ต้องเรียกว่าเก็บหนองเอาไว้เยอะทีเดียว

คำถามแรกที่โดนถามตั้งแต่เปิดเทอมใหม่ๆ คือ ทำไมพอผมรับหน้าที่นี้ ก็เกิดปัญหาทันทีเลย ปีที่แล้วไม่เห็นมีปัญหาเลย อือ ผมก็งงเหมือนกัน เพราะความจริงไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยครับ เพราะช่วงที่มารับหน้าที่ เรื่องนี้มันผ่านไปแล้ว ในนะอยากจะไปปรับเปลี่ยนเลย แต่เวลาไม่อำนวย เลยปล่อยให้เป็นไปเหมือนเดิม แต่สุดท้ายทำไมมันเกิดปัญหาการจัดการได้

เรื่องที่ผมพูดถึงก็คือ การจัดการรายวิชากลุ่มศึกษาทั่วไปครับ เทอมนี้ในบางรายวิชา นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเยอะจนล้นกลุ่ม ในขณะที่บางกลุ่มไม่มีคนลงทะเบียน ทำให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็พันกันวุ่น มึนตึบไปหลายวัน ฮา

การจัดการวิชากลุ่มศึกษาทั่วไป ต้องเรียกว่าเป็นปัญหาคาราคาซังของมหาวิทยาลัยมายาวนานครับ สมัยที่ผมเป็น ผช.คณบดี ในความรับผิดชอบก็มีสาขาวิชาสารัตถศึกษาอยู่ในสังกัดด้วย นั่งปวดหัวกับหัวหน้าสาขาวิชาทุกปี จนกระทั่งปรับเปลี่ยนไปอยู่ที่ สบศ. ตอนนี้มารับหน้าที่ที่ สบศ. หน้าที่นี้ก็กลับมาอีกรอบ ออ.หลายอย่างมันดีขึ้นมาเยอะแล้วครับ โดยเฉพาะการจัดการในหลายวิชา แต่อีกหลายอย่างก็ไม่กระเตื้องขึ้นเลยเหมือนกัน 

วันนี้ก่อนการประชุมก็วุ่นนิดหน่อยครับ อันเนื่องจากห้องประชุมที่จองไว้ มีรายการสำคัญเข้าแทรก เลยต้องเปลี่ยนอย่างกระทันหันไปประชุมที่อาคารคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งผมก็ลืมเรื่องจำนวนผู้เข้าประชุม งานนี้เลยต้องนั่งกันอย่างอบอุ่นนิดหนึ่ง ซึ่งบางทีผมว่ามันดีเหมือนกัน เพราะทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นกันเองมากขึ้น ผู้เข้าประชุมก็หัวหน้าสาขาวิชาต่างๆ ครับ งานนี้เลยมีคนทักว่าลืมเชิญรองคณบดีวิชาการไปหรือเปล่า ฮิฮิ ไม่ได้ลืมครับ แต่ตั้งใจจะให้การประชุมนี้เป็นการเก็บข้อมูลแล้วก็ค่อยไปถกกันต่อในที่ประชุมรองคณบดีฝ่ายวิชาการ แล้วต่อไปยังที่ประชุมคณบดีเป็นอันดับต่อไป 

เริ่มการประชุมด้วยการสะท้อนปัญหาจากหัวหน้าสาขาวิชาครับ ทั้งในมุมของการเป็นผู้รับผิดชอบในรายวิชาและการที่นักศึกษาในสังกัดต้องเรียนด้วย ได้ประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะน่าสนใจหลายข้อครับ มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงในบางรายวิชาครับ ซึ่งถ้าดูข้อเสนอแล้วจะไปสอดคล้องกับแนวคิดจากที่ประชุมคณบดีในหลายเรื่องครับ

วันนี้เทคนิคประชุมคือ อะไรที่ยังหาทางออกไม่ได้ก็ค่อยคุยทีหลังครับ เอาที่คุยและแก้ไขได้ก่อน จากนั้นก็วนกลับมาประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็คิดว่าการพูดคุยไหลลื่นดีครับ ดูสาระที่ได้จากการประชุมก็ต้องเรียกว่าเป็นการประเมินการทำงานตนเองของผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดีมากครับ คิดไปคิดมาก็ที่น่าจะขาดไปก็คือความเห็นของผู้สอนเท่านั้นเองที่ผมยังไม่ได้รับฟัง

มีประเด็นก่อนจะมีการประชุมวันนี้ที่นำเสนอโดยหลายๆ ท่านเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในวิชากลุ่มนี้ครับ น่าสนใจมากโดยเฉพาะเรื่องของผู้สอนที่หลายคนถอดบทเรียนจากมหาวิทยาลัยอื่นว่า วิชากลุ่มนี้ต้องเป็นอาจารย์อาวุโสสอน ไม่ใช่อาจารย์ใหม่ๆ เพราะหลายมหาวิทยาลัยถือว่ากลุ่มวิชานี้เป็นการสร้างบุคลิกภาพร่วมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยครับ เรื่องนี้กับเรื่องของการจัดตารางการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาต้องเก็บไว้คุยในการประชุมครั้งต่อไปครับ เนื่องจากวันนี้เวลาไม่เอื้อครับ

ช่วงบ่ายผมกลับมาวุ่นที่สำนักครับ งานนี้ผมกำลังปรับระบบการออกบัตรนักศึกษาใหม่ (อีกหนึ่งเรื่องที่ยังทำให้ทันสมัยเป็นบัตร atm ไปด้วยเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ยังไม่ได้) ซึ่งทดลองไปในช่วงซัมเมอร์แล้วกับนักศึกษา ป.บัณฑิต ซึ่งทำให้การออกบัตรเร็วขึ้น โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากเดิมทีมงานใช้โปรแกรมออกบัตรที่แถมมากับเครื่องพริ้นท์บัตรครับ มันทำงานช้ามากเนื่องจากต้องนั่งทำทีละคน เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลนักศึกษาแล้วทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้

ผมเลยลองทำบัตรด้วยโปรแกรมเวิร์ดธรรมดานี้แหละครับ แต่เชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลโดยใช้ระบบจดหมายเวียน แต่กว่าจะออกบัตรได้ในรอบซัมเมอร์ก็เสียเวลาไปหลายวัน เพราะต้องหาฟอนต์บาร์โค้ดใหม่ อันนี้มันหาเรื่องต้องจ่ายเงินเหมือนกัน แต่สุดท้ายทีมงานสำนักวิทยบริการก็สามารถหาฟอนต์บาร์โค้ดแบบฟรีได้จากอินเตอร์เน็ท อีกปัญหาหนึ่งคือระบบจดหมายเวียนเชื่อมฐานข้อมูลได้เฉพาะข้อความ ยังไม่สามารถเชื่อมรูปถ่ายมาแบบอัตโนมัติได้ 

เดิมทีทีมงานใช้วิธีการแสกนรูปถ่ายนักศึกษา แล้วเอามาแทรกทีละคนครับ อันนี้ก็ทำให้เสียเวลาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตอน ป.บัณฑิต ผมเปลี่ยนไปถ่ายภาพเอง ไม่รับรูปถ่าย แล้วทำให้ไม่ต้องเสียเวลาแสกนรูป ซึ่งสำหรับ ป.ตรี ผมอยากให้เป็นแบบถ่ายรูปปุ๊บรับบัตรเลย แต่หากล้องถ่ายรูปที่สามารถจับภาพจากคอมพิวเตอร์ได้เลยไม่ได้ครับ ลองอยู่หลายรุ่นที่มีใช้ในมหาวิทยาลัย สุดท้ายนึกขึ้นได้ว่าแล้วทำไมไม่ใช่เว็บแคม ฮือ เพิ่งนึกออก เลยออกไปร้านคอมในตลาดยะลาเมื่อสัปดาห์ก่อนครับ เจอเว็บแคมความละเอียดสูงหลายรุ่น (ฮา เพิ่งรู้ตัวเองว่า ตกยุคเรื่องเว็บแคมไปนาน ฮา) แต่ก็ไม่ได้ซื้อครับ เพราะจังหวะดีที่หัวหน้าศูนย์คอมฯ อยู่ห้างพันธุ์ทิพย์ กทม.พอดี เลยฝากท่านซื้อครับ มาดูราคาแล้วตกใจ พันธุ์ทิพย์กับยะลาราคาต่างกันลิบลับเลย รุ่นที่ผมอยากได้ยะลาราคา 900 บาท พันธุ์ทิพย์ 300 บาท ฮือ อึ้งไปเลย ดีนะที่ไม่ใจร้อนเหมือนเมื่อก่อน ไม่งั้นเสียดายเงินไปอีกนาน (อัลฮัมดุลิลลาห์)

คำสำคัญ (Tags): #ged.ed
หมายเลขบันทึก: 372917เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สำหรับผมแล้วมองว่าไม่ได้อยู่ที่ความอาวุโส หรือ ความเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ แต่อยู่ที่เทคนิคการสอนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษามากกว่าครับ ผมมองอย่างนี้ครับ

  • แม้เป็นอาจารย์อาวุโส แต่ การสอนยังคงที่ด้วยรูปแบบเดิมๆ ความรู้สึกของเด็กก็คงคิดเดิมๆ (อยากให้ถามเด็กบ้างครับเพราะผมเองได้รับฟังเด็กๆแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาสำหรับบางรายวิชาแล้วสงสารเด็กครับ ผมว่าเขาอยากเรียนรู้นะครับ ไม่ได้อยากหลับเลยถ้าไม่จำเป็น อิอิ)
  • ทำนองเดียวกัน แม้เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ในบางรายวิชา แต่เนื้อหาไม่แน่นมากพอ ความเพียงพอของเด็กในการเรียนรู้ก็จะอยู่กับที่เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราควรพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนากันบ่อยๆ เพราะอย่าลืมว่ายิ่งสังคมเปลี่ยนไปมากเท่าไหร่การรู้เท่าทันความผันแปรของสังคมของอาจารย์ผู้สอนยิ่งต้องเพิ่มขึ้นเพื่อศิษย์จะได้ก้าวทันด้วย

    วัลลอฮฺอะลัม...

       ด้วยความหวังและดุอาอฺครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ เสียงเล็กๆ فؤاد 

ประเด็นความอาวุโสนั้น เป็นไปในบางรายวิชาที่เราอยากก่อให้เกิดผลกระทบบางอย่างครับ

ส่วนบางวิชา ความสดความใหม่ของอาจารย์อาจจะมีผลดีการเรียนรู้ของนักศึกษาได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท