การจัดการสิ่งแวดล้อมของศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ศูนย์ที่ 2


การจัดการสิ่งแวดล้อมของศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 

               ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเวทีที่สอง เราได้แวะเวียนไปเรียนรู้เรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูล ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยกำหนดเอาวันจันทร์ ที่ 17  พฤษภาคม  2553 เป็นวันจัดเวทีเรียนรู้ร่วมกัน

                กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมในเวทีก็มีค่อนข้างจะหลากหลาย อาทิเช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกอบต. องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ (รองนายกฯ ประธานสภา นักพัฒนาชุมชน จนท.วิเคราะห์นโยบายและแผน)  ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน

 ประธานในพิธีเปิด : ปลัดจิตติกร  ธิวงค์เวียง  ปลัดอาวุโส อำเภอท่าวังผา

“ ศูนย์ดอนมูลถือได้ว่าเป็นศูนย์ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ในเรื่องของการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ทางอำเภอจึงได้คัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของอำเภอ ดังนั้นจะต้องมีการจัดโครงสร้างคณะกรรมภายในศูนย์อย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเป็นแกนนำชุมชนแล้ว อาจจะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานข้างนอกเข้าร่วมด้วย เช่น มูลนิธิฮักเมืองน่าน และในศูนย์ต้องมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ มีภาพการทำกิจกรรมต่างๆ และที่สำคัญให้มีป้ายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีด้วย มีการนำกิจกรรมมาโชว์ เช่น การย้อมผ้า การทอผ้า ฯลฯ นอกจากนั้นให้มีการจัดทำการเผยแพร่ผ่านสื่อ ผ่านแผ่นพับ ผ่านวิทยุชุมชน

                ในวันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องของศูนย์การเรียนรู้ในวงกว้างมากขึ้น อยากให้ทางผู้นำชุมชนทุกชุมชนที่เข้ามาร่วมให้ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งทางอำเภอยินดีให้การสนับสนุน เนื่องจากเป็นภารกิจหน้าที่ของทางอำเภออยู่แล้ว”

                 หลังจากนั้นทางอาจารย์บุญยัง  คำยวง แกนนำศูนย์ได้มาบอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์ให้ผู้เข้าร่วมฟัง 

 

 

อ. บุญยัง  คำยวง  แกนนำศูนย์                     ตัวแทนจากทสจ.น่าน

 

               บรรยากาศ กับ ผู้เข้าร่วมในเวที 

 

                โดยสรุปแล้วสิ่งที่ อ.บุญยังได้บอกเล่าให้ฟัง ก็คือ การก่อเกิดของศูนย์ กิจกรรมที่ร่วมกันทำ เช่น การอนุรักษ์วังปลา  การทำป่าอาหาร (Food Bank)  และกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของไทลื้อต่างๆ  ผลที่เกิดขึ้น และปัญหาอุปสรรคที่พบเจอตลอดเส้นทางการทำงาน

นอกจากนั้นยังได้บอกถึงปัจจัยที่ทำให้ศูนย์ดอนมูลสามารถก่อรูป และมีรูปธรรมในการทำงานอย่างชัดเจนว่า ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิเช่น มีองค์ความรู้ มีแหล่งเรียนรู้ มีคนรู้ที่ถ่ายทอดได้ และที่สำคัญต้องมีแกนนำที่ทำให้ตัวของศูนย์เองเกิดการเรียนรู้ และถ่ายทอดอยู่ตลอดเวลา

                 ช่วงสุดท้าย หลังจากที่ได้ฟังแกนนำศูนย์บอกเล่าถึงการทำงานของศูนย์แล้ว ในวงของผู้ที่มาร่วมเวทีก็ได้เปิดประเด็นในการพูดคุย แลกเปลี่ยน เสนอแนะถึงแนวทางความร่วมมือต่อไป โดยมีทั้งแกนนำชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นที่หลากหลาย

อบต.ศรีภูมิ

                ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่ยอมรับในองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในชุมชน เมื่อเจอปัญหาถึงได้มีการตระหนัก เช่น การใช้สารเคมีในภาคการเกษตร  ต่อไปอาจจะให้ชุมชนมีกฎกติกาในการใช้สารเคมี และสิ่งที่ทางอบต.จะร่วมมือกับชุมชนต่อไปคือ การจัดการขยะ และจะหนุนเสริมให้แต่ละหมู่บ้านสามารถจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ และให้ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน โดยให้ทางศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูลเป็นศูนย์ต้นแบบ

แกนนำชุมชน

หมู่ 2  

 เนื่องจากขณะนี้มีหลายหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากหลุมทิ้งขยะ  อยากเสนอทางอบต.รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในระดับครอบครัว หลังจากนั้นส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องของการนำขยะที่ย่อยสลายได้มาทำปุ๋ยหมักต่อ ส่วนขยะที่มีพิษ อยากให้มีแหล่งกำจัดที่ถูกต้อง

ส่วนประเด็นของการขยายศูนย์การเรียนรู้นั้น ต้องอาศัยความพร้อมทั้งกาย และใจของแกนนำ หากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูล ยกระดับขึ้นเป็นศูนย์ของอำเภอ อยากให้แกนนำทุกหมู่บ้านในตำบลเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ในศูนย์  และอยากให้ทางอบต.หนุนเสริมงบประมาณการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ เช่น การทำประชาคมหมู่บ้าน ตำบล เพื่อขยายการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนใกล้เคียง

หมู่ 4

ทางชุมชนกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับเด็ก และเยาวชน เช่น การรวมกลุ่มกันมั่วสุมตามที่สาธารณะต่างๆ จากที่ได้เรียนรู้การทำงานของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูลแล้ว อยากร่วมกันอนุรักษ์แม่น้ำที่อยู่ในเขตของชุมชน

หมู่ 5

มีปัญหาเกี่ยวกับป่าชุมชน เช่นการเผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้นโยบายการประกันราคาข้าวโพดของรัฐมีผลต่อการรุกล้ำป่าชุมชน และเห็นด้วยกับข้อเสนอของหลายหมู่บ้านที่เสนอให้ทางอบต.มีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และมีหลุมทิ้งขยะของตำบลที่ไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน  ส่วนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล อยากให้ผู้นำทุกหมู่บ้านเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากขึ้น

หมู่ 6

ทางชุมชนมีทุนเดิมอยู่มาก เช่น มีแหล่งน้ำ  มีงานทำตลอด และทางบ้านคัวะ เป็นบ้านต้นแบบ “หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข” และมีคณะน้ำต้นน้อย ซึ่งเป็นทีมของเยาวชนที่รวมกลุ่มกันเรียนรู้เรื่องของกลองสะบัดไชย นอกจากนั้นบ้านหมู่ที่ 6 ยังมีการจัดการขยะในระดับหนึ่ง คือ แต่ละบ้านจะมีถังเก็บขยะที่ย่อยสลายได้ ซึ่งคงต้องรณรงค์เรื่องของการคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างเข้มข้น  และแนวคิดที่จะทำต่อไป คือ การทำโรงปุ๋ย “ปุ๋ยอินทรีย์ผสมมูลค้างคาว” โดยมีสหกรณ์การเกษตรท่าวังผา เป็นหน่วยงานสนับสนุน

หมู่ 8

ในหมู่ 8 มีการอนุรักษ์ป่าชุมชน รักษาต้นน้ำ แต่ขณะนี้ทางชุมชนมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาได้รับผลกระทบจากหลุมทิ้งขยะ  อยากให้ทางชุมชนมีโอกาสเรียนรู้เรื่องของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในหมู่บ้าน

หมู่ 10

ทางชุมชนมีการรณรงค์ลดการใช้สารเคมี อยากเสนอให้มีการทำสวนครัวต้นแบบ ทั้งแกนนำชุมชน และนักเรียน “1 ผู้นำ 1 สวนครัว”  นอกจากนั้นอยากให้ทางอบต.หนุนงบประมาณในการดูแลป่า เช่น ทำแนวกันไฟ ผู้ดูแลป่าหรือเวรยามดูแลป่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแล

หมู่ 11

ชุมชนมีการดูแล อนุรักษ์ป่าชุมชน สร้างป้อมยาม จัดเวรให้อปพร.ดูแล โดยมีค่าตอบแทนให้ 100 บาท ต่อคน ต่อวัน มีการทำป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์อนุรักษ์ป่า  กันเขตอนุรักษ์ปลาในหมู่บ้าน  มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยมีเด็ก และเยาวชนเข้าร่วมคณะน้ำต้นน้อย ทางแกนนำยินดีในการถ่ายทอดวัฒนธรรม และดนตรีพื้นบ้าน และต่อไปจะเป็นสิ่งที่ดีหากแต่ละหมู่บ้านประสานความร่วมมือกันในการจัดตั้งเป็นเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้

 ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน

  • มีความคิดเห็นว่าคนทำงานในศูนย์ต้องมีจิตอาสา (ประสานงาน ... ปฏิบัติงาน) รับผลประโยชน์ร่วมกัน ได้รับการยกย่องการทำความดีร่วมกัน
  • ทางทสจ.น่าน มีภารกิจในการสนับสนุนชุมชนที่ทำความดี โดยการส่งผลงานของชุมชนเข้าประกวด เช่น ชุมชนวังฆ้องที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการขยะ  และในขณะนี้สามารถสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนทุกชุมชนที่ทำกิจกรรมดีๆ โดยผ่านสื่อทาง สถานีโทรทัศน์ NBT
  • สามารถสนับสนุนงบประมาณ หากชุมชนมีโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องยั่งยืนสามารถเสนอส่งไปยัง ทสจ.น่านได้
  • เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องทางทสจ.น่านได้สร้างเครือข่าย ทสม. ในการที่จะประสานงานกันในระดับพื้นที่

 เวทีในวันนี้ปิดลงด้วยโจทย์ที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับให้แกนนำชุมชนทุกคนกลับไปขบคิดกันในการที่จะทำอย่างไร? ให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนขยายไปทุกชุมชนในตำบลศรีภูมิ หรือแม้แต่ศูนย์รุ่นพี่อย่างดอนมูลเองก็ตามจะทำอย่างไร? ให้ตัวของศูนย์ดอนมูลเกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในตำบลต่อไป

***************************************************************

ประวัติบ้านดอนมูล 

                ชาวไทลื้อบ้านดอนมูล ได้อพยพมาจากเมืองล้า แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ตามประวัติการอพยพของชาวไทลื้อมี 2 สาเหตุ ที่ทำให้ชาวไทลื้อได้อพยพมายังเมืองน่าน สาเหตุแรกคือ เกิดสงครามกลางเมือง ส่วนสาเหตุที่สองคือ เรื่องช่วงของวัฒนธรรม “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (การเก็บผู้คนมาไว้ในเมืองของตน) ซึ่งเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่านได้ยกทัพไปกวาดต้อนเอาผู้คนเมืองล้า เมืองพง เมืองเชียงแขง เมื่อจุลศักราช 1174 (พ.ศ. 2354) และได้นำท้าวพระยาหัวเมืองไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 2 ชาวบ้านดอนมูล ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ก็อพยพมาในช่วงนี้เป็นส่วนใหญ่ และมีการอพยพทีหลัง อีกเป็นบางส่วนการเข้ามาของเส้นทางอพยพนั้น ผ่านมาทางเมืองหลวงภูคา เมืองคอบ เชียงของ ผ่านมาทางบ้านสะเกิน อำเภอสองแคว ชาวไทลื้อ ที่ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนั้น จะถูกกวาดต้อนมาทั้งระบบคือ เจ้านาย และไพร่ เจ้านายที่อพยพมาในครั้งนั้นด้วย คือ เจ้าหลวงอานุภาพ (เป็นลูกหลานเจ้าเมืองล้า) ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองน่านให้ดูแลการทำนา และเหมืองฝายบริเวณ เมืองไชยพรม หรือเมืองพรม (ตำบลป่าคา ตำบลศรีภูมิ และตำบลตาลชุมในปัจจุบัน) ได้นำชาวไทลื้อมาจากบ้านดอนมูล บ้านป่าคา(ต้นฮ่าง) บ้านหนองบัว ชาวไทยพวนบ้านฝายมูล และชาวบ้านอื่นๆ ได้สร้างฝายน้ำย่าง ขุดเหมืองผา (เหมืองมหัศจรรย์) และส่งน้ำไปใช้ ตั้งแต่บ้านฝายมูลไปถึงบ้านดอนแก่ง และทำนาหลวงระหว่างบ้านม่วงใต้ กับบ้านดอนตัน เก็บข้าวใส่ฉางหลวงที่บ้านม่วงใต้ (บ้านม่วงฉางข้าว) และส่งข้าวไปยังเมืองน่านอีกทีหนึ่ง เจ้าหลวงอานุภาพ ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองน่านให้เป็นเจ้าไชยสงคราม ชาวไทลื้อบ้านดอนมูลจึงเรียกว่า เจ้าหลวงอานุภาพชัยอาจสงคราม

                เมื่อ พ.ศ. 2480 ชาวไทลื้อบ้านดอนมูลส่วนหนึ่งที่ไม่มีที่ทำกิน ได้พากันอพยพพากันไปอยู่ที่บ้านศรีพรม ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา บ้านดอนมูลเดิมมีอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ ฝั่งน้ำตะวันตก (บ้านดอนมูลหมู่ 2) และฝั่งน้ำตะวันออก (บ้านดอนมูลหมู่ 3) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 -2517 เกิดอุทกภัยหลายครั้งจึงได้อพยพจากฝั่งน้ำทิศตะวันออกมารวมกันกับฝั่งน้ำตะวันตกเป็นหมู่บ้านเดียว คือ บ้านดอนมูลหมู่ 2 ตำบลศรีภูมิ ปัจจุบันบ้านดอนมูลยังคงความเป็นไทลื้อไว้ได้เป็นบางส่วน แม้จะอพยพมาอยู่กับผู้คนเมืองเป็นเวลานานแล้วก็ตาม สิ่งที่เป็นไทลื้อที่พอจะมีอยู่ เช่น ภาษาไทลื้อ การแต่งกาย และประเพณีก๋ำเมือง เป็นต้น

 ประวัติศาสตร์ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูล

                บ้านไทลื้อดอนมูล (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อ) สร้างเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 เป็นบ้านที่ปลูกสร้างตามแบบบ้านที่ชาวไทลื้ออาศัยอยู่เดิม ซึ่งปัจจุบันนี้ภายในหมู่บ้านไม่มีแล้ว เพราะถูกรื้อสร้างบ้านทรงสมัยใหม่กันหมด ทางหมู่บ้านจึงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้น มีขนาดเท่ากับบ้านคนอยู่จริง เสาจำนวน 25 ต้น เป็นเรือนไม้จริงหรือเรือนสัก ลักษณะบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง มุงด้วยหญ้าคา ตัวเรือนหลังใหญ่ต่อด้วยพาไล มีชานชั่ว ร้านน้ำ มีประตูบันได ประตูเข้าตัวเรือนมี 2 ประตู ประตูใหญ่ประดับบนประตูด้วยหำยน (ไม้แกะสลักด้วยลวดลายที่สวยงามลงเลขยันต์ป้องกันภูติปีศาจ) เตาไฟฟ้าเป็นเตาถมดินรวมอยู่ในห้องนอนแต่จะลดหลั่นลงต่ำกว่าที่นอน

                บ้านไทลื้อหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมผู้คนในวันประกอบพิธีก๋ำเมือง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของผู้คนที่สนใจ เพราะได้จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอย บางส่วนยังเป็นที่พักผ่อนของคนในชุมชนเป็นที่พบปะปรึกษาหารือของคนในชุมชน และยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปัจจุบันได้ตกแต่งสถานที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ช่างผู้ก่อสร้างคือ นายศักดิ์  สุเกตุ  นายสวิง  เทพเสน  นายกันทะ  แก้วทิศ  นายปั๋น  บุญมา ควบคุมการก่อสร้างโดย นายบุญยัง  คำยวง  นายปั๋น  วงไทย เป็นที่ปรึกษาแรงงานชาวบ้านดอนมูลทุกครัวเรือนช่วยในการก่อสร้างแกะสลักส่วนประกอบเครื่องเรือนโดย พระอธิการอุดม  ปภัสโร เจ้าอาวาสวัดดอนมูล โดยมีการเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 มีนายแพทย์อภิชาต  รอดสม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวังผา เป็นประธานในพิธีเปิดบ้านไทลื้อ (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อ)  

 ประวัติศาสตร์การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ (วังปลา)

พ.ศ.2535-2536  ช่วงสมัยก่อนทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลา

                แต่ก่อนนั้นคนในชุมชน บ้านดอนมูลใช้สะพานไม้ไผ่เป็นเส้นทางในการเดินทางข้ามแม่น้ำน่านในฤดูฝน(น้ำหลาก) จะใช้เรือเป็นพาหนะข้ามฟากแต่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนจะใช้สะพานไม้ไผ่ (ขัวแตะ) เป็นเส้นทางในการสัญจร บริเวณแม่น้ำน่านก่อนทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทุกคนมีสิทธิ์หาปลาและสัตว์ได้ในทุกพื้นที่ ลำน้ำน่านก็จะมีเกาะกลางหลายๆ เกาะตั้งแต่บริเวณบ้านดอนมูลจนถึงบ้านม่วง ช่วงนั้นการหาปลาหรือสัตว์น้ำค่อนข้างทำได้ยากเพราะยังไม่ได้ทำการอนุรักษ์

                ในสมัยนายกันทะ    แก้วทิศเป็นผู้ใหญ่บ้านคณะกรรมการและคนในหมู่บ้านก็มีความคิดริเริ่มชักชวนกันไปศึกษาดูแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่หมู่บ้านดอนแก้ว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งขณะนั้นมีนายสมยศ ภิราญคำ เป็นผู้ใหญ่บ้านดอนแก้วก็ทำการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำจนประสบผลสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดัง

                ทางท่านผู้ใหญ่สมยศ ภิราญคำ จึงได้ชักชวนให้บ้านดอนมูลทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำเหมือนกับหมู่บ้านดอนแก้ว

 พ.ศ.2537

                เมื่อได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่สมยศ ภิราญคำ ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว ท่านผู้ใหญ่กันทะ  แก้วทิศ จึงร่วมมือกับคนในหมู่บ้านเริ่มที่จะทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลาต่อไป

พ.ศ. 2538

-      ก่อตั้งวังปลา เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม 2538

-      ผู้ริเริ่ม : ผู้ใหญ่กันทะ  แก้วทิศ

-      มีเขตแนวยาว :  300 เมตร

-      กฎระเบียบ : ห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิดในเขตอนุรักษ์ ถ้าฝ่าฝืน ปรับตัวละ 500 บาท

-      แนวคิด : เห็นตัวอย่างจากที่อื่น เมื่อทำการอนุรักษ์แล้วจะมีปลาเพิ่มขึ้นทำให้ชาวบ้านหาปลาได้ มากขึ้น

-      ปัญหา / อุปสรรค : จะมีชาวบ้านบางส่วนที่ลุกล้ำเขตอนุรักษ์

พ.ศ.2541

                เริ่มจดทะเบียนกับกรมประมง  เมื่อ วันที่ 12 สิงหาคม 2541 พร้อมกับจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำไปด้วย ต่อมาปรากฎมีผู้ลักลอบจับปลาส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กเยาวชน ใช้เบ็ดเป็นเครื่องมือ และมีชาวบ้านม่วงเข้ามาลักลอบจับปลา ชาวบ้านจับได้จึงถูกปรับ 500 บาท

                ทางชุมชนได้มีการจัดเวรยาม ออกตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้งครั้งละ 3 คน (ทำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน) ส่วนปัญหาที่พบในช่วงนี้คือ มีการดูดทรายจะมองไม่เห็นปลาเพราะบริเวณแหล่งน้ำจะขุ่นหาสาหร่ายน้ำจืด (ไก) ก็ไม่ได้

พ.ศ.2542

                เดือน มกราคม 2542 จับชาวบ้าน บ.สบยาวลักลอบหาปลาโดยการตกเบ็ด 4 หลัง ที่สะพานเวลา 24.00น. ปรับ 1,500 บาท พร้อมของกลาง

                กระบวนการทำงาน

                                - แต่งตั้งคณะกรรมการ

                                - มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมีการปักป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ทราบแนวเขต

                                   อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำอย่างชัดเจน

                                - เตรียมพื้นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

พ.ศ.2543

-      ร่วมกับกรมป่าไม้หน่วยต้นน้ำสบสายช่วยผลักดันเรื่องเขตป่าอนุรักษ์ร่วมกับการอนุรักษ์ปลาและปลูกป่า เมื่อ 12 สิงหาคม 2543

-      มี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นพี่เลี้ยงในการปรับปรุงสวนหย่อม และศูนย์การเรียนรู้ไทลื้อบ้านดอนมูล

-      มีการจัดทำแผนข้อมูลการท่องเที่ยว (แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ)

-      มีคนเริ่มเข้าดูงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำอิง จ. เชียงราย อบต.ในอ.ขุนตาล  อ. เวียงแก่น  อ.เชียงของ  จ. เชียงราย มาศึกษาดูงาน ( มีทั้งผู้นำและกลุ่มเยาวชน )

พ.ศ.2544 - พ.ศ.2547

        ช่วงนี้คนในชุมชนก็ทำการอนุรักษ์แหล่งวังปลาสืบเนื่องตามปกติ

พ.ศ.2548

                มีการทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เนื่องจากครบรอบ 10 ปี ที่ได้ทำการอนุรักษ์ได้เชิญเครือข่ายอนุรักษ์ใน จ. น่าน และหน่วยงานราชการมาร่วมงานในพิธีหลังจากเสร็จพิธี ได้มาเปิดเสวนาการเรียนรู้ของประชาคมน่าน

พ.ศ.2549

                เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 19-21 ส.ค. 2549 แหล่งอนุรักษ์ปลาของดอนมูลได้รับผลกระทบคือ ปลาในแหล่งอนุรักษ์สูญหายไปบ้าง  ต่อมาประมาณเดือน ก.ย. 2549 ชาวบ้านได้สำรวจดูปรากฏว่าปลากลับมาอยู่ในเขตแหล่งอนุรักษ์เหมือนเดิม

พ.ศ.2550-2551

        วางแผนที่จะทำการปรับปรุงแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำต่อไป

 การเริ่มเข้ามาของหน่วยงาน หรือองค์กรนอกชุมชน

                พ.ศ.2543 - พ.ศ.2551   มีผู้สนใจศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนระสบการณ์ทั้งคนในจังหวัด / ต่างจังหวัด และเริ่มมีหน่วยงานองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนงานภายในหมู่บ้านดังนี้

-      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

-      กรมป่าไม้

-      กรมประมงสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชาคมน่าน

-      กรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 แนวทางในอนาคต

                ทางชุมชนจะมีการปรับสถานที่วังปลาในแม่น้ำน่านจากฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นทราย / ดินในฝั่งน้ำมีโอกาสพัง  โดยจะมีการขยายพื้นที่วังปลาเข้ามาในเขตตะวันตก และวางหินผาเพิ่ม เพื่อสร้างถิ่นที่อยู่ของปลาในน้ำแบบธรรมชาติ เรียกว่า “มะหินเทียม”

           

เล่าเรื่องโดย....บัวตอง  ธรรมมะ

เวทีถ่ายทอดหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

17  พฤษภาคม  2553

  

ขอขอบคุณ

  • แกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทลื้อดอนมูลทุกคน ที่ได้ร่วมกันแบ่งปันความรู้
  • แกนนำชุมชนทุกท่าน อบต.ศรีภูมิ ทสจ.น่าน และหน่วยงานอื่นๆ    ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที
  • ทีมมูลนิธิฮักเมืองน่าน ที่ได้ร่วมกันจัดกระบวนการให้เกิดการแบ่งปันความรู้                                     
หมายเลขบันทึก: 372192เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2010 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ..เมืองน่าน เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ เป็นเมืองใหญ่ที่น่าอยู่เมืองหนึ่ง

อ.ท่าวังผา..หลายคนได้รู้จักชื่อจากเหตุการณ์อุทกภัย..การจัดกิจกรรมแบบนี้จะทำให้เมืองน่านเป็นเมืองที่เข้มแข็งและน่าอยู่มาก ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท