เพลงพื้นบ้าน : ขอเชิญร่วมเสนอแนะวิธีการ/แนวทางในการถ่ายทอดความรู้ของครู


ค่านิยม ความเชื่อ และศรัทธา เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายใน ฝังลึก วัดได้ยากจะต้องใช้เวลาจึงจะปรากฏภาพให้เห็นอย่างชัดเจน

เพลงพื้นบ้าน : ขอเชิญร่วมเสนอแนะ

วิธีการ/แนวทางในการถ่ายทอดความรู้ของครู

- อาชีพครู

- ครูมืออาชีพ

- ปราชญ์ชาวบ้าน

- ศิลปินพื้นบ้าน

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

        ถ้าจะเปรียบว่า ครู คือ ผู้สอน ผู้ที่ให้ความรู้แก่ผู้เรียนในสาขาวิชาการหรืออาชีพต่าง ๆ ยังมีคำอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ สร้างอาชีพสร้างงานให้กับเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติได้

        ครู คือ บุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนนักเรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน

       

       

        ครูมืออาชีพ หมายถึง อาชีพที่มีองค์กรวิชาชีพรองรับ ผ่านการตรวจสอบ วัด ประเมินและรับรองมาตรฐาน นั่นจะทำให้อาชีพนี้มีทั้งเกียรติยศและค่าที่ประเมินได้เพื่อแลกเปลี่ยนต่อค่าครองชีพของพวกเขา ไม่ได้ประเมินจากเอกสารใดๆ แต่ประเมินจากผลผลิตของพวกเขาเทียบวัดกับมาตรฐานที่ควรจะเป็น ชุมชนที่ต้องการให้มาตรฐานการศึกษาของชุมชนเขาดีย่อมแสวงหาครูมืออาชีพที่มีมาตรฐานสูงแม้ค่าจ้างจะแพงกว่าก็ตาม สิ่งที่ครูมืออาชีพควรตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือ “คุณภาพการสอน” ซึ่งเป็นความสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้

        ปราชญ์ชาวบ้าน หมายถึง สามัญชนคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในชนบท ได้รับการยกย่อง ยอมรับจากชาวบ้านทั่วไปว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญา มีความรู้ มีความสามารถในการอธิบายและแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นคนดีมีคุณธรรม เพราะภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่เป็นองค์รวมของชีวิต แม้ว่าปราชญ์ชาวบ้านบางคนจะมีความรู้เฉพาะเรื่องอย่างถ่องแท้ แต่ก็เป็นความรู้อันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งหมด เป็นความรู้ที่ทำให้ชีวิตโดยรวมเกิดความมั่นคง ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข

        ศิลปินพื้นบ้าน คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวไทย ท่านเหล่านั้นเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ได้เป็นอย่างดี เพราะท่านเหล่านั้นเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในผลงานได้สร้างสรรค์เอาไว้ เรียกว่า ศิลปิน ได้อย่างเต็มปากและภาคภูมิ

        

        ในความเป็นจริงยังมีคำอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายคำ เช่น อาจารย์ บรมครู ครูช่าง ผู้รู้ ผู้รอบรู้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ สามารถถ่ายทอดความรู้ของท่านไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลังที่สนใจได้ทั้งนั้น

        ผมขอกล่าวถึงรูปแบบในการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้แก่

  1. Knowledge เป็นจัดการเรียนรู้แบบบอกได้ อธิบายได้ เล่าให้ฟังได้
  2. Process  เป็นการจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติ จะต้องลงมือทำฝึกบ่อย ๆ
  3. Attitude เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ฝังลึก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เห็นคุณค่า ความเชื่อที่มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก

       ผมกล่าวมายืดยาวพอสมควร แล้วก็มาลงตรงที่การเรียนรู้ นักเรียนหรือผู้เรียนต้องมาเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่อายุ 7 ปีเต็ม ในปัจจุบันนี้ เด็กที่มีอายุ 3 ปีครึ่ง มาเข้าเรียนในชั้นปฐมวัย (อนุบาล) กันแล้ว ความน่าสนใจอยู่ที่ เด็ก ๆ ต้องเรียนอย่างน้อย 12-15 ปี จึงจะจบการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรทุกสมัยออกแบบโครงสร้างเอาไว้ดี เหมาะสมกับกาลเวลาในขณะนั้น ๆ และได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

       ครู ปรับบทบาทหน้าที่มาเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งผมก็ไม่ช่ำชองอะไรมากนัก เพราะตัวเองเรียนรู้มากับภูมิปัญญาท้องถิ่นมากกว่าในชั้นเรียน นำเอาความรู้ที่ผมได้รับมาตั้งแต่ต้น มาประยุกต์ใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร แต่การเรียนรู้จากคนรุ่นเก่า ๆ สอนให้ผมได้คิด และเลือกในสิ่งที่ชอบไม่ชอบ ควรไม่ควรได้ แสดงว่า การที่คนเราได้มีโอกาสเลือกทำอะไรสักอย่างสองอย่างหรือมากกว่านั้นด้วยตนเอง เป็นความสุขใจในการทำงานหาเลี้ยงชีพได้

       ในเรื่องของการดำเนินชีวิต คนสมัยก่อนเขาไม่ฟุ้งเฟ้อ พ่อคุณวัน มีชนะ (คุณตาของผม) ในยุคของท่าน ท่านรับงานทำขวัญนาคงานละ 20-30 บาท บวกค่าครูอีก 6 บาท มาจนถึงรุ่นผม ท่านยังรับงาน 30-50 บาทอยู่เลย มากที่สุดก็งานละ 100 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2513 และท่านก็แบ่งให้ผมกับบุญพา คนละ 10-20 บาท (เงินสิบบาทในวันนั้นซื้อข้าวสารได้เกือบ 1 ถัง ซื้อน้ำมันเบนซินได้ 5 ลิตร) ป้าอ้น จันสว่าง ครูเพลงพื้นบ้านของผม เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมาท่านฝึกหัดเล่นเพลงมากับอา และครูเพลงรุ่นเก่า ได้ค่าตัวในการแสดงงานละ 2 บาท คนอื่น ๆ ได้ไม่เท่าป้า

       ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ใช้เงินอย่างไร มีรายได้งานละ 2 บาท ถึง 10 บาท คนระดับครูเพลงของผมท่านก็อธิบายว่าในยุคนั้นไม่มีของฟุ่มเฟือยให้ต้องซื้อหา เพราะเราไม่มีของพวกนั้นเราก็มีชีวิตอยู่ได้ เงินที่มีอยู่ก็จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น เช่น ที่อยู่ เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค (ไม่มีรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องแต่งหน้า) พูดง่าย ๆ คือ อย่าใช้จนเกินตัว มีน้อยใช้น้อยนั่นเอง

       บางท่านบอกว่า เมื่อนักเรียนมีความรู้มากขึ้นก็สามารถที่จะนำความรู้ไปสร้างงานได้ (ยังมีคนที่มีความรู้แต่ก็ยังตกงานอีกมาก) บางท่านบอกว่า นักเรียนมีทักษะจากการฝึกปฏิบัติไปแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของตนได้ (มีเป็นไปได้บ้างแต่ก็ไม่มาก) ส่วนคำว่าค่านิยม ความเชื่อ ศรัทธา เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในมองไม่เห็นวัดได้ยากจะต้องใช้เวลา แล้วจะมีวิธีการใดที่จะทำให้ไปถึงจุดนี้ได้จริง ๆ จนปรากฏภาพให้เห็นอย่างชัดเจน มีความคงทนถาวรยาวนาน  มิใช่แค่รวบรวมเป็นเอกสารมายืนยันว่าทำสำเร็จ

       

      

(ยังมีต่อ : ชำเลือง มณีวงษ์ ประธานกลุ่มนันทนาการต้นแบบ ระดับประเทศ รุ่นที่ 1)

หมายเลขบันทึก: 371874เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท