Knowledge Management : KM


ความรู้ก็จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งเรียกว่า Knowledge Spiral นั่นเอง

          การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่เป็นระบบ เกี่ยวข้องกับการค้นหา การสร้าง การรวบรวม การจัดเก็บ การเผยแพร่ การถ่ายทอด การแบ่งปัน และการใช้ความรู้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้ คือ บุคลากร เทคโนโลยี และกระบวนการความรู้(knowledge process) โดย บุคลากร ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแหล่งความรู้ และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อให้บุคลากรสามารถค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน ตลอดจนนำความรู้ไปใช้ได้โดยง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับกระบวนการความรู้เป็นการบริหารจัดการ เพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปสู่ผู้ใช้งานได้อย่างเป็นระบบ ครอบคลุม ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน การจัดการความรู้จึงต้องบูรณาการองค์ประกอบทุกส่วนให้ครบถ้วนสอดคล้องและสมดุลกัน

        การจัดการความรู้หรือกระบวนการความรู้ เป็นกระบวนการที่จัดการกับความรู้ในตัว (tacit knowledge) และความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) เพื่อให้บุคลากรในองค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างทั่วถึง นำความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆ โดยอาศัยการเปลี่ยนผ่านความรู้ จากแหล่งความรู้ ไปสู่การใช้งาน ซึ่งมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

        การแสวงหาความรู้ (knowledge acquisition) เป็นการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากความรู้เดิมหรือเป็นความรู้ใหม่ ซึ่งหาได้จากแหล่งความรู้ภายในและภายนอกองค์กร เป็นการสร้างโอกาสให้บุคลากรได้แสวงหาความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การฝึกอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน เป็นต้น

        การสร้างความรู้ (knowledge creation)โดยการสร้างความรู้จากแหล่งความรู้ทั้ง 2 ส่วน คือ ความรู้ในตัว(tacit knowledge) และความรู้ที่ชัดแจ้ง(explicit  knowledge) ใน 4 มิติ ได้แก่ การสร้างความรู้ในตัวไปเป็นความรู้ในตัว การสร้างความรู้ที่ชัดแจ้งไปเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง การสร้างความรู้ในตัวไปเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง และการสร้างความรู้ที่ชัดแจ้งไปเป็นความรู้ในตัว

        การจัดเก็บความรู้ (knowledge storing) เป็นการเก็บรวบรวมและจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะส่งมอบให้ผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องและตรงต่อเวลา

        การถ่ายโอนและเผยแผ่ความรู้ (knowledge transfer and dissemination) เป็นการถ่ายโอนและเผยแผ่ความรู้ทั้งแบบมีเจตนาและแบบไม่มีเจตนา ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ หรืออาจอาศัยสื่ออื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น เพื่อให้บุคลากรเข้าถึงฐานข้อมูลได้ง่ายและกว้างขวาง

         การจัดการความรู้ จึงมีความมุ่งหมาย เพื่อให้บุคลากรเข้าถึงฐานข้อมูล แหล่งความรู้ต่างๆได้สะดวก ทั่วถึงและทันต่อเวลา โดยอาศัยกระบวนการที่เป็นระบบ ตั้งแต่การแสวงหาความรู้ การสร้างความรู้ การจัดเก็บความรู้ และการถ่ายโอนเผยแผ่ความรู้

          นอกจากนี้ Nonaka (1998) ยังได้เสนอหลักการสร้างองค์ความรู้ จากความรู้ในตัว (tacit knowledge) และความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) ซึ่งความรู้ทั้ง 2 แบบ สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ (knowledge spiral)โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ของบุคคล ซึ่งมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

        1. Socialization เป็นการสร้างความรู้ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ จากการที่บุคคลในสังคมมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความรู้ที่สร้างเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว (tacit knowledge)

        2. Externalization จะสร้างความรู้โดยการถ่ายทอดประสบการณ์ หรือถ่ายโอนความรู้ด้วยวิธีการเขียนหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนความรู้ที่ฝังอยู่ในตัว (tacit knowledge) ไปสู่ความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) อาจอยู่ในรูปของสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ ตำรา เอกสารคู่มือ ซีดี วีซีดี อินเตอร์เน็ต ฐานข้อมูล เป็นต้น

        3. Combination เป็นการผสมผสานบูรณาการระหว่างความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) เข้ากับความรู้ในแขนงต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ

       4. Internalization เมื่อบุคคลมีการศึกษา เรียนรู้จากตำรา คู่มือ (explicit  knowledge) และนำความรู้ ทักษะ ที่ได้ไปสู่การลงมือปฏิบัติ ก็จะเกิดความชำนาญเฉพาะบุคคลขึ้น (tacit knowledge) ขั้นตอนนี้ ความรู้ก็จะถูกเปลี่ยนจากความรู้ที่ชัดแจ้ง (explicit  knowledge) ไปสู่ความรู้ในตัว (tacit knowledge)

          เมื่อความรู้กลับไปสู่ตัวบุคคลในลักษณะความรู้ในตัว (tacit knowledge) บุคคลในสังคมก็จะมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอีก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่กันเป็นลักษณะของขั้นตอน Socialization อีกครั้ง ความรู้ก็จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งเรียกว่า Knowledge Spiral นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 371527เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท