เกษตรยั่งยืน๑


คำนิยามของเกษตรยั่งยืน นำมาจากขนำเกษตรคนไทย 13/08/2002

ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้คำจำกัดความเกษตรยั่งยืนดังนี้
1. การเกษตรยั่งยืน คือ "การเกษตรที่เกื้อกูลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่สามารถ รักษาหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อม" (ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์)
2. วัฒนาเกษตร (หรือการเกษตรยั่งยืน) เป็นหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่ยึด หลักการผลิตที่เหมาะสมกับระบบนิเวศโดยใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างประหยัด และมี ประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสภาพแวดล้อม และดำรงอยู่ ได้ยาวนานจนถึงคนรุ่นต่อไป (จรัญ จันทลักขนา,2536)
3. คือความสามารถของระบบการเกษตรที่จะรักษาอัตราของการผลิตให้อยู่ในระดับที่ไม่ ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ ไม่ เหมาะสม (Comway} G; (1988).)
4. คือการเกษตรที่ให้ผลผลิตที่ดีไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ และปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ผลผลิตที่เกิดขึ้นจะต้องปลอดภัยต่อสุขภาพ พลานามัยของมนุษย์ และเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นเป็น ลำดับแรก และเพื่อขายเป็นลำดับรอง (ชนวน รัตนวราหะ, สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์,2536) ตัวชี้วัดของเกษตรยั่งยืน

จากบทความนี้พอจะสรุปได้ว่า เกษตรยั่งยืนคือการเกษตรที่ยึดหลักการผลิตที่เหมาะสมให้ผลผลิตที่ดี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับเหมาะสมพร้อมๆกับการอนุรักษ์และปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้ต้องปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นเป็นลำดับแรกและเพื่อขายเป็นลำดับรอง มีการกำหนดตัวชี้วัดของเกษตรยั่งยืนที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ

  1. ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ระบบเกษตรยั่งยืนจะมุ่งผลิตเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรเอง การผลิตขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอบริโภคภายในครัวเรือน ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของสวัสดิการ
  2. ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ระบบการผลิตของเกษตรยั่งยืนเน้นการผสมผสานให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกิจกรรมต่างๆเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น พืช สัตว์ ประมง และป่าไม้ ในระบบเกษตรผสมผสาน โดยเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาและสวนเป็นสำคัญ
  3. ความยั่งยืนทางด้านสังคม ระบบเกษตรยั่งยืนจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตเพื่อก่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมทั้งอนุรักษ์สภาพแวดล้อม จะเป็นการสร้างครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

การเกษตรแบบยั่งยืน ผู้ผลิตหรือเกษตรกรจะต้องคำนึงถึงการผลิตพร้อมๆกับการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ทั้งนี้ต้องมีการปรับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่นเป็นลำดับแรก ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ใช้ความรู้ด้านการเกษตร จัดการเกษตรให้มีผลผลิตสูง แต่ก็ใช้วิชาการเกษตรควบคุมป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นน้อยที่สุด

ความคิดเห็นจากการอ่านบทความ

                จาการอ่านหลายๆบทความเกี่ยวกับเกษตรยั่งยืนคิดว่า ระบบเกษตรแบบยั่งยืนเป็นระบบที่ดีมากเนืองจากมีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน และมีการอนุรักษ์ ปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่ดินและสภาพแวดล้อมไม่ทรุดโทรมสามารถใช้ในการผลิตการเกษตรได้ชั่วลูกชั่วหลาน การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ดี  ในงานบางอย่างถ้าเราสามารถผลิตเครื่องมือขึ้นมาใช้เองได้ก็จะทำให้ประหยัดเวลา แรงงาน หรือมีประสิทธิภาพกว่าเดิมเราก็ควรทำ เช่นการถนอมอาหาร การนวดข้าว เป็นต้น ทั้งนี้เราควรเลือกใช้ให้ มีความเหมาะสมของสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรว่า จะสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้หรือไม่ และเมื่อใช้แล้วจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรออกมาเพื่อเพิ่มรายได้ให้เขาเหล่านั้นได้หรือไม่ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร จะสามารถกระทำในลักษณะใดที่เกษตรกรจะสามารถเข้าใจถึงเทคโนโลยีการเกษตรว่ามีความเหมาะสมและจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรในการที่จะนำไปปรับใช้ได้ต่อไป

                ทุกวันนี้เกิดความไม่พอดี ไม่เหมาะสม ไม่สมดุลในหลายส่วนทำให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การเกษตรแบบยั่งยืนเป็นแนวทางหรือทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้เกิดความสมดุลขึ้นในอนาคต ดังนั้น ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ  ควรนำไปใช้และเผยแพร่ให้แพร่หลาย รัฐบาลควรให้การสนับสนุน ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง เช่นจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง จากรุ่นสู่รุ่น และให้มีสมาชิกในกลุ่มหลากหลาย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างด้านความคิดและการปฏิบัติ เมื่อเกษตรกรสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สังคมก็จะอยู่รอดมีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 371466เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท