ที่ไปที่มาของ ชื่อข้าวสังหยด..


ข้าวสังหยดเป็นข้าวพื้นเมืองภาคใต้ปลูกมากแถบรอบลุ่มทะเสาบสงขลา มีชื่อเรียกกันไปตามความเข้าใจและความนิยมของแต่ละถิ่น

ข้าวสังหยด

             ข้าวสังหยดเป็นข้าวพื้นเมืองภาคใต้ปลูกมากแถบรอบลุ่มทะเสาบสงขลา มีชื่อเรียกกันไปตามความเข้าใจและความนิยมของแต่ละถิ่น ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอาจจะเนื่องจากเป็นข้าวที่ปลูกยาก และไม่นิยมปลูกนิยมกินกันทั่วไปทุกท้องถิ่น เหมือนข้าวเจ้าอื่นๆ แต่นิยมปลูกเพื่อทำเป็นข้าวใหม่ เป็นของขวัญของฝากให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ หรือเอาไว้ทำบุญถวายพระ ข้าวสังหยดเป็นข้าวนาปีที่มีคุณลักษณะพิเศษ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง รสชาติดีมีมีปริมาณแอมิโลสต่ำ (๑๕ - ๒ %) รสชาติข้าวใหม่หุงสวยจะหอม มัน นุ่มกินคล้ายข้าวเหนียว ชาวนครศรีธรรมราช เรียก "ข้าวสังหยุด" หรือ "สั่งหยุด" เนื่องจากกินอร่อยจึงต้องสั่งให้หยุดกิน หรือหมายถึงบอกเลิกกิน จึงเป็นที่มาของชื่อข้าวพันธ์นี้ คือ "สังหยด" คำเขียนที่ถูกต้องจึงต้องไม่มี ขอไข่ การันต์ คนสงขลาเรียกข้าวสังหยดว่า "เหนียวแดง" ตามสีของเมล็ดข้าว และความหอม-นุ่ม และมันในรสชาติของข้าว นิยมนำข้าวสังหยดใหม่มาหุงกินกินกับน้ำกะทิทุเรียน หรือ "น้ำละหวะ" (ขนมพื้นบ้านชาวบกแถบถิ่นคาบสมุทรสทิงพระ) จะเห็นได้ได้ว่าข้าวสังหยดเป็นพันธุ์ข้าวที่ร่วมที่ร่วมถิ่นกันในรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา และเป็นข้าวที่เป็นสัญลักษณ์ในเชิงวิถีหรือเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นในรอบลุ่มน้ำแถบนี้

ข้าวสังหยดซ้อมมือหุงกับหม้อดิน รสชาติหอม..นุ่ม..อร่อย

           ในเชิงวิชาการ ข้าวสังหยดเป็นข้าวเจ้า เป็นข้าวนาปีที่ปลูกได้ปีละ ๑ ครั้ง เป็นข้าวที่ปลูกยาก ไวต่อแสงน้อย จะออกดอกในช่วงที่รับแสงได้ ๑๑ ชม. ๔๕ นาที/วัน มีเมล็ดเรียวยาว เปลือกสีฟาง รสชาติ นุ่ม มัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เยื่อหุ้มเล็ดสีแดงที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และไนอาซีน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

กอต้นข้าวสังหยดในนาอินทรีย์

           ในเชิงพานิชย์ เป็นข้าวที่หายาก ปลูกกันน้อย คนนิยมรับประทานปัจจุบันมีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ให้ความสนใจศึกษาทดลอง และแปรรูป เป็นข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก ขนมคุ๊กกี้ ไอศครีม เครื่องสำอางค์ชนิดต่างๆ จากข้าวข้าวที่มีราคาถูกเนื่องจากไม่เป็นที่นิยม กลับถีบตัวราคาสูงลิ่ว ราคาแพง ราคาซื้อขายตามท้องตลาดขณะนี้ กิโลกรัมละ ๖๐ บาท ก็ยังหาซื้อยากเนื่องจากปลูกกันน้อย และมีการสนับสนุนให้ปลูกเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพ และมีกระบวนการ GAP เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้พื้นที่การปลูกแคบลง กอปรกับการจดทะเบียนเป็นข้าว GI ของจังหวัดพัทลุงเพียงจังหวัดเดียว ไม่ขอเอี่ยวกับพื้นที่ทางด้านวัฒนธรรม

ข้าวกล้องสังหยด

           ในเชิงสัญลักษณ์ กลายเป็นข้าวสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง ภายใต้ชื่อที่ว่า "ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง" หลังจากได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI : Geographical Indications )เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ทั้งๆที่ข้าวพันธุ์นี้ปลูกได้ และทำกินกันมาช้านานในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัด คือนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง

หมายเลขบันทึก: 370425เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท