ฉือจี้ โรงเรียนแพทย์ตัวอย่าง


นอกจากความรู้เฉพาะทางแล้วหลักสูตรการเรียนการสอนยังนำไปสู่ความจริง ความดีและความงามในด้านมนุษยธรรม เน้นการเรียนสองทางกระตุ้นให้นักศึกษากล้าถาม และมีความสามารถในการแก้ปัญหา สนับสนุนให้นักศึกษาเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือสังคม

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มูลนิธิพุทธฉือจี้

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มูลนิธิพุทธฉือจี้ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2537  จากนั้นมีการก่อตั้งโรงเรียนประถม มัธยม มีการเรียนสอนแบบสองทาง  มีการสอนนอกห้องเรียน มหาวิทยาลัยฯ ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนการสอน นอกจากความรู้เฉพาะทางแล้วหลักสูตรการเรียนการสอนยังนำไปสู่ความจริง ความดีและความงามในด้านมนุษยธรรม เน้นการเรียนสองทางกระตุ้นให้นักศึกษากล้าถาม และมีความสามารถในการแก้ปัญหา สนับสนุนให้นักศึกษาเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือสังคม มีครูที่ปรึกษา และมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่มาจากอาสาสมัครฉือจี้มาเป็นที่ปรึกษานักศึกษา ช่วยกันดูแลทั้งด้านการเรียน การใช้ชีวิต และการดูแลด้านจิตใจ เป็นระบบการดูแลที่ดีมาก

ด้านการศึกษาเฉพาะทาง ด้านการดำเนินชีวิต ด้านมนุษยศาสตร์ และศาสตร์แห่งชีวิต เป็น นโยบายสำคัญด้านการศึกษาที่ร้อยเชื่อมโยงกัน และสิ่งที่สามารถแสดงถึงจิตวิญญาณได้ดีอันดับแรกคือวิชากายวิภาคศาสตร์ ในวิชานี้นอกจากคุณครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาแล้ว ยังมีอาจารย์ใหญ่ที่นอนอยู่บนเตียงผ่าตัด ผู้ที่เปลี่ยนเรือนร่างที่ไม่มีคุณประโยชน์หลังจากสิ้นลมแล้วให้เป็นประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ทางการแพทย์คือผู้ที่อยู่เหนือการเกิดการตายคือภูมิปัญญาอันสูงส่งของการเสียสละ เพื่อสร้างบุคลากร เป็นคำกล่าวของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน  เทศให้อาสาสมัครฉือจี้ฟัง การฝังคนตายซึ่งในไม่ช้าจะถูกหนอนชอนไชไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือแม้กระทั่งการเผาก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมการอุทิศเรือนร่างเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ถือว่าเป็นวีรกรรมของผู้กล้าเหมือนพระโพธิสัตว์ผู้เสียเสละ จากการรณรงค์ของอาสาสมัคร ความพร้อมของมหาวิทยาลัยมีการจัดห้องเรียน ห้องปฏิบัติการที่สะอาดทันสมัย น่าเชื่อถือ มีศาลาผู้กล้าสำหรับเก็บอัฐิของบรมครูผู้ไร้เสียงด้วย ซึ่งมีความสงบและสวยงามมาก รวมทั้งการให้เกียรติแก่ผู้อุทิศเรือนร่างทำให้มีผู้แสดงความจำนงนับหมื่นคน มีศพมากเพียงพอในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์และยังสามารถบริจาคให้คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นได้อีกด้วย คณะแพทย์ที่นี่ยกย่องผู้อุทิศเรือนร่างว่าเป็น “บรมครูผู้ไร้เสียง” ก่อนเรียนต้องทำพิธีเคารพศพและเมื่อเรียนกายวิภาคเสร็จสิ้นแล้วนักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องเย็บแผลกลับคืน ห่อร่างด้วยผ้าขาว เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงอาจารย์ใหญ่บอกความรู้สึกประทับใจของตนเอง มอบพร้อมดอกไม้สดในโลงตอนบรรจุศพ และช่วงทำพิธีประชุมเพลิงนักศึกษาและอาสาสมัครฉือจี้เป็นผู้แบกโลงศพของ “อาจารย์ใหญ่”ด้วย    มีการจัดพิธีเก็บอัฐิ และพิธีขอบคุณจากทางมหาวิทยาลัย ผู้บริจาคเรือนร่างส่วนใหญ่เคยมาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยจัดทำประวัติผู้อุทิศติดไว้ข้างเตียงผ่าศพ ริมทางเดินสองข้าง และใน Internetให้เป็นที่รับรู้ของสังคม

มหาวิทยาลัย ยังได้จัดให้นักศึกษาได้มีโอกาสพบปะและรับประทานอาหารร่วมกับญาติของ “อาจารย์ใหญ่”ด้วย และได้รวบรวมจดหมายฉบับสุดท้ายของนักศึกษาจัดทำเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของทางมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ต่างๆทั่วไต้หวันได้นำแบบอย่างอันดีนี้ไปปฏิบัติเช่นกัน

แบบอย่างที่น่าศึกษา ในภาพแสดงถึงการให้เกียรติ "อาจารย์ใหญ่อย่างสูงส่ง"

 

ห้องเก็บอัฐิ "อาจารย์ใหญ่"

 

ตู้และโกศเก็บอัฐิของอาจารย์ใหญ่

หมายเลขบันทึก: 370374เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท