รายงานผลการประชุมสังคมสงเคราะห์โลกครั้งที่ 1


                          

 

                 รายงานผลการประชุมสังคมสงเคราะห์โลกครั้งที่ 1

     ณ  เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน 

                                 10-14  มิถุนายน   2553

                การประชุมระดับโลกของการสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคมที่ใช้ชื่อเต็มๆว่า 2120  Joint  World Conference on Social Work and Social Development : The Agenda    ซึ่งเป็นการรวมตัวกันจัดงานครั้งแรกของ  3  องค์กรใหญ่ระดับโลกที่พวกเรานักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพรู้จักกันดีนั่นคือ

1.The  International  Federation  of  Social  workers  ( IFSW ) องค์กรเครือข่ายระดับนานาชาติของ  นักสังคมสงเคราะห์หรือผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายนั่นเองซึ่งมีนักสังคมสงเคราะห์ กว่า 510,000คนทั่วโลก

 2. The  International  Association  of  Schools  of  Social   Work ( IASSW )  เป็นองค์กรที่เป็นที่รวมของเครือข่ายนานาชาติด้านการศึกษาสังคมสงเคราห์ทั่วโลกซึ่งในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเป็นสมาชิก

3. The  International  Council  on  Social  Welfare  ( ICSW ) เป็นองค์กรนานาชาติของสภาสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มีสมาชิกกว่า 70 ประเทศ เปรียบเสมือนกับฝ่ายนโยบายและทุนในการผลักดันการก่อให้เกิดสวัสดิภาพดีแก่ผู้เดือดร้อนทุกข์ยาก

          โดยปกติแต่ละองค์กรมักจัดงานในระดับนานาชาติตามพันธกิจของแต่ละองค์กร หรือร่วมกับภาคีของตนเอง    แต่สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งด้านสังคม    สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีจึงทำให้ 3 องค์กร ตระหนักว่าการทำงานตามลำพังของเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน หรือเครือข่ายการศึกษาสังคมสงเคราะห์  หรือเครือข่ายนโยบาย     หรือแหล่งทุนไม่อาจส่งผลกระทบที่สำคัญในการแก้ไขหรือป้องกันปัญหาในระดับกว้างจำเป็นต้องมีการบูรณาการทรัพยากร   และองค์ความรู้      ร่วมกันจึงจะสร้างพลังที่สามารถ  ขยับเขยื้อนปัญหาต่าง ๆ  ของโลกได้   โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น  คือสั่งสมกระบวนการในการจัดทำวาระหรือประเด็นที่สำคัญของมวลหมู่นักสังคมสงเคราะห์นักพัฒนาสังคมในการแก้ไขปัญหาของสังคมโลก    และค้นหา กลยุทธในการดำเนินการปฏิบัติงาน    พัฒนาระบบการติดตามกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกัน   ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหม่ของงานสังคมสงเคราะห์ที่มีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายระดับโลกและเป็นการสร้างโอกาสของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่     เกิดพันธกิจใหม่ที่มวลหมู่นักสังคมสงเคราะห์       นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายจะต้องยอมรับร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ( Millennium  Development Goals) 

         เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ  ( MDGs)     เป็นความตกลงของประเทศเกือบทั่วโลกที่ได้มาร่วมประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษใหม่เมื่อปี  2000 ขององค์กรสหประชาชาติที่นิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกาโดยผู้นำแต่ละประเทศร่วมกันตั้งเป้าหมาย    และกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาคมโลกที่พึงประสงค์ภายใต้การคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนโดยมี เป้าหมาย 8 ประการที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุภายในปี2015 ดังนี้

• เป้าหมายที่หนึ่ง:  ขจัดความยากจนและความหิวโหย

• เป้าหมายที่สอง:   ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา

• เป้าหมายที่สาม:   ส่งเสริมบทบาทสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศ

• เป้าหมายที่สี่:       ลดอัตราการตายของเด็ก

• เป้าหมายที่ห้า:     พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์

• เป้าหมายที่หก:    ต่อสู้โรคเอดส์  มาเลเรีย  และโรคสำคัญอื่นๆ

• เป้าหมายที่เจ็ด:   รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

• เป้าหมายที่แปด:  ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

                นักสังคมสงเคราะห์  และพัฒนาสังคมเป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษให้บรรลุผลสำเร็จ การประชุมสังคมสงเคราะห์โลกครั้งที่ 1 นี้จึงมีความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นพลังความร่วมมือ การรวมตัวกันสร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจ และการกำหนดประเด็นในการดำเนินงานของนักสังคมสงเคราะห์ทั้งโลกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษโดยที่การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 2900 คนจาก 114 ประเทศ  มีกิจกรรมตลอด 5วัน ตั้งแต่การอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสวนากลุ่มย่อย การนำเสนอผลการวิจัย  ผลการปฏิบัติงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี 130 กว่าเรื่อง  การศึกษาดูงาน 60 กว่าแห่ง

               การจัดประชุมครั้งนี้มีระบบการจัดการรวบรวมและสังเคราะห์กิจกรรมความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดย มีผู้แทนของ 3 องค์กรหลักจำนวน 12 คนเป็นผู้ประสาน และ สังเคราะห์ผลของการประชุมร่วมกับหัวหน้าทีมผู้ประสานงานอีก 3 คนเพื่อนำข้อมูลเสนอต่อประธานทั้ง 3 องค์กรและร่วมกันจัดทำเป็นร่างแรกของผลการประชุมครั้งนี้

ร่างครั้งที่ 1

                การประชุมครั้งใหญ่ของมวลหมู่นักสังคมสงเคราะห์ครั้งนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์      การสร้างจิตสำนึกร่วมของเครือข่ายสังคมสงเคราะห์โลกที่แม้แต่ปัญหาของคนเล็กคนน้อยในประเทศที่ห่างไกลก็ส่งผลกระทบกระเทือนประชาคมอื่นในโลกได้เช่นกัน    ฉะนั้นการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ นับเป็นการเริ่มต้นกระบวนการขยายผลออกไปได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น        ผลจากสังเคราะห์การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นสรุปออกมาเป็นปัญหา 4  ประเด็นที่สังคมโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

1. ความไม่เสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างภูมิภาค

  • วิกฤตเศรษฐกิจยังมีอยู่ต่อเนื่องทั้งระดับประเทศและภูมิภาค และการตอบสนองต่อวิกฤตก็มุ่งเน้นที่ด้านการเงินการคลังมากกว่าการสนับสนุนด้านสังคมและการพัฒนาประชาชน
  • การคุ้มครองสิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐาน( Social Protection Floor ) ยังมีไม่ครอบคลุม ประชาชนอีกหลายประเทศยังอดอยากหิวโหย ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม เจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เด็ก และเยาวชน ไม่ได้รับการศึกษาทั้งนี้   เพราะยังไม่มีหลักประกันและเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐทั้ง ๆ ที่มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครอบคลุมอยู่ทุกด้านแล้วก็ตามอีกหลายประเทศก็ยังมิได้ปฏิบัติ
  • ความยากจนเพิ่มสูงขึ้นตอกย้ำความไม่เสมอภาคทางสังคมมากขึ้นเช่นกัน
  • มีประชานชนถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบของสังคมมากขึ้น
  • ชุมชนอีกหลายแห่งไม่ได้มีบูรณาการให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

2. ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

  • หลักการสิทธิมนุษยชนยังไม่ถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม การเมืองในอีกหลายประเทศ
  • การเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลายยังมีน้อย
  •  ความไม่มั่นคงทางการเมือง  ความรุนแรงในประเทศ และการผุกร่อนของกระบวนการสันติภาพที่เป็นกลไกแก้ไขปัญหา
  • การก่อการร้ายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น
  • การจัดการกับการย้ายถิ่น  การพลัดถิ่น  การอพยพ  การค้ามนุษย์ยังเป็นปัญหาสำคัญ

3. ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

  • การจัดการป้องกันและการเยียวยาความเสียหายจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาค
  • มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน
  • การป้องกันสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพ
  • การดำเนินงานเชิงรุกทั้งการพัฒนาสังคม  การพัฒนามนุษย์  และการพัฒนาสภาวะแวดล้อม

4. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

                 การเปลี่นแปลงของครอบครัวและความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวตามวงจรชีวิตและสังคมเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมโลก  เช่น  ปัญหาเด็กและครอบครัว   ปัญหาความพิการ การสูงวัย   ความรุนแรงในคอบครัว   ปัญหาสุขภาพจิต   เป็นต้น

จากสถานการณ์ปัญหาสู่พันธกิจร่วม

                 สถานการณ์ปัญหาที่กล่าวมาแล้วนั้นแม้นักสังคมสงเคราะห์และพัฒนาสังคมจะมีส่วนดำเนินงานแก้ไขป้องกันอย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่ความเป็นพลวัตของสังคมโลกที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน อาจทำให้สถานการณ์บางอย่างลดน้อยลงแต่กลับไปเพิ่ม  หรือเกิดปัญหาอื่นตามมา พลังของผู้ปฏิบัติงานเพียงกลุ่มใด   กลุ่มหนึ่งมิอาจทำให้ปัญหาต่างๆหมดสิ้นไป  การตระหนักต่อสถานการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นพันธกิจร่วมที่เหล่าผู้ปฏิบัติสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสังคมสงเคราะห์ และผู้กำหนดนโยบายร่วมแรงร่างภาระกิจสำคัญระดับโลกโดยมีวัตถุประสงค์เสริมสร้างความร่วมมือ ระหว่างองค์กรสังคมสงเคราะห์ และพัฒนาสังคม สถาบันการศึกษา  ทั้งระดับผู้นำและสมาชิก เข้าสู่กิจกรรมในระดับการพัฒนานโยบาย และการขับเคลื่อนทางสังคมโดยเน้นกลยุทธการเสริมพลังอำนาจ การแสดงศักยภาพและคุณค่าของงานสังคมสงเคราะห์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน

 

แนวทางการขับเคลื่อนพลัง 3 ประสาน

  1. สร้างเสริมศักยภาพความเข้มแข็งขององค์กรสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
  2. ระบุปัญหาสถานการณ์ที่สำคัญที่ต้องการการแก้ไขอย่างชัดเจน
  3. ใช้กระบวนการศึกษาและวิจัยสังคมสงเคราะห์เป็นพื้นฐานสนับสนุนการปฏิบัติการ
  4. ส่งเสริมการพัฒนาวิธีการช่วยเหลือทางสังคมให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี
  5. สร้างเสริมศักยภาพความเข้มแข็งของสังคมสงเคราะห์และพัฒนาสังคมให้มีอิทธิพลต่อธุรกิจและการเมืองทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และระหว่างประเทศ
  6. สร้างความมั่นใจด้านทักษะและความสามารถที่เป็นเลิศในทุกระดับของการศึกษาสังคมสงเคราะห์ การปฏิบัติงานและ การวิจัย
  7. ใช้เทคโนโลยี่ที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน การศึกษาสังคมสงเคราะห์อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ
  8. คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐาน ( Social Protection Floor ) ให้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจร่วมในการพัฒนโยบายสังคม
  9. สร้างเสริมศักยภาพของประชาสังคมให้มีส่วนร่วมปฏิบัติการทางสังคม
  10. พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงาน
  11. สร้างความตระหนักในคุณค่าการศึกษาสังคมสงเคราะห์ให้แก่สาธารณะชน

ก้าวต่อไปจากฮ่องกง 2010  สู่ สตอร์กโฮม 2012

              เพื่อแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและเป็นตามติดตามผลข้อตกลงความร่วมมือจากที่ประชุมสังคมสงเคราะห์โลกครั้งที่ 1 ณ  ฮ่องกงได้มีการร่างกำหนดการดำเนินงานต่อไปดังนี้                                                                                     

  • จัดทำร่างครั้งที่ 2 ให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2553 แล้วส่งให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น     
  • จัดทำร่างครั้งที่ 3 โดยนำความคิดเห็นจากสมาชิกมาแก้ไขปรับปรุงให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554
  • นำร่างที่ 3 มาเปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งในห้องเรียน  หน่วยงาน องค์กรสังคมสงเคราะห์ระดับชาติและระดับภูมิภาคในวันสังคมสงเคราะห์โลก  15  มีนาคม  2554 
  • วันสังคมสงเคราะห์โลก  20  มีนาคม  2555 นำเสนอวาระสู่เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติ  และทุกภูมิภาคนำเสนอต่อองค์กรส่วนภูมิภาคของตนเอง ในระดับชาติก็ส่งต่อรัฐบาล
  • องค์กรสังคมสงเคราะห์ระดับโลกประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะชนให้รับรู้ทั่วไป

             การจัดทำวาระแห่งโลกว่าด้วยความร่วมมือ การปฏิบัติการต่อสังคมของนักสังคมสงเคราะห์และพัฒนาสังคม นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองต่อสภาพการณ์ปัญหาสังคมโลกครั้งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่บุคคล ครอบครัว  ชุมชน และสังคมแต่คราวนี้จะเขยิบขึ้นมาสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกทั้งใบได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

               

               

                               

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 368641เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท