เราใช้อะไรในการดูแลผู้คน


“น้องเค้ายังไม่ได้กินนมเลย”

การดูแลผู้คนในพวกเราชาวสาธารณสุข มักถ้าทำไปตาม หนังสือคู่มือ ว่าด้วยมาตรฐานการดูแล ในความเห็นของผม ผมคิดว่ามันดีได้ระดับหนึ่ง แต่มันยังไม่พอ มันขาดชีวิตชีวา และความเห็นใจ ความเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่เราเข้าไปดูแล ทำไมมันยังไม่พอ ก็มีคู่มือแล้วมาตรฐานก็มีแล้ว แล้วไง

ผมคิดว่าพวกเราหลายคน คงเคยเอารถไปซ่อมนะครับ ถ้าซ่อมอู่หลักที่เป็นยี่ห้อรถนั้น ก็จะแข่งกันเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษารถยนต์ของเรา หลักๆเวลาเขามาบอกเราก็จะเป็นอย่างนี้มังครับ

“รถท่าน รุ่น ทะเบียนนี้นะครับ”

วันนี้ เราตรวจเบรคให้แล้วครับ ใช้ได้ครับ

น้ำมันเครื่องเราเปลี่ยนให้แล้ว ระยะต่อไป ที่ ......

ใส้กรอง ยังใช้อีก ......กิโลเมตร

ที่ปัดน้ำฝนปัดได้......

ไฟท้าย ไฟหน้า ติดครับ

และ...................

ไม่ต้องไปแคร์ว่ารถได้ยินแล้วจะรู้สึกอย่างไรใช่ไหมครับ เพราะรถมันไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีชีวิต แต่พวกเราชาวสาธารณสุขดูแล มนุษย์ ครับ มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับเราทุกประการ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ เป็นลูก เป็นที่รักของใครบางคนเสมอ การดูแลพวกเขาจึงไม่ต่างกับที่เราดูแลพ่อแม่ ลูก และคนที่เรารัก ไม่ควรจะต่างกันเลย ลองดูซิครับถ้าเรารายงานอาการของเขาแบบช่างซ่อมรถ รายงานเรา

หญิง วัย ...ปี เพศ หญิง นะค่ะ

ตรวจหัวใจแล้ว โตนิดหน่อย ยังเต้นได้อีก ....วัน

เชค ปอดให้แล้ว .ดำเล็กน้อย ลดบุหรี่จะไม่ดำมากกว่านี้

เลือด มีจาง เติมเลือดให้แล้ว ถ้าจางก็เติมใหม่

ตามีต้อแล้ว ให้มัวกว่านี้ค่อยผ่า (แล้วทำไมไม่ผ่าตอนนี้)

ความดัน 142/92 ตามมาตรฐานถือว่าสูง ต้องเอาให้ต่ำ

และ.........

ตอนอ่านโปรดอ่านแบบช่างซ่อมรถรายงานนะครับ หรือความจริงพวกเราก็รายงานด้วยน้ำเสียงแบบชาวซ่อมรถรายงานอยู่แล้วหรือเปล่า ไม่รู้เหมือนกัน คนที่เราดูแลส่วนใหญ่ความอดทนสูงครับ มักหาเหตุผลในการพูดไม่มีหางเสียงให้พวกเราตลอด “พวกหมอทำงานหนัก เครียด อย่าไปว่าเค้าเลย” ความไม่รับรู้ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน มันก่อให้เกิดปัญหาในการดูแล เพราะเราจะดูเหมือนคนใจดำ ใกล้เคียงกับหุ่นยนต์มาก ผมมีตัวอย่างจริง มาเล่าให้ฟังครับ (แต่ชื่อจะไม่ใช่ชื่อจริงนะครับ)แล้วคุณลองพิจารณาดูในชีิวิตจริงคุณเป็นคนแบบไหน และมีคู่มือเล่มไหนบางถ้าทำตามแล้วจะรับรู้ความรู้สึกของผู้คน

ในรพ.แห่งหนึ่งในประเทศนี้ ตอนเช้า พยาบาลวัยกลางคนพัชรา กำลังปฏิบัติงานในตึกหญิงสอง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

“พี่พัดหรือค่ะ ” เสียงที่ปลายสายดังร้อนรน

“ค่ะ พี่เอง ใครน่ะ”

“หนู เอ ค่ะ ตึกเด็กหนึ่ง ช่วยหนูหน่อยได่้ไหมค่ะ หัวหน้าไปประชุมยังไม่มา หนูมีคนไข้ที่มีอาการแปลกๆไม่รู้จะทำไงค่ะ”

“เคส อะไรค่ะ ”

“คือ ที่จริงแล้วคนไข้ไม่แปลกแล้วค่ะ ญาติซิค่ะแปลก คนไข้เด็กอายุ หกเดือนค่ะ สงสัยหวัด 2009 อาการหนักมาหลายวัน วันนี้เสียชีวิตแล้ว แม่ของเด็กค่ะ ไม่ยอมให้หนูทำอะไรกับเด็ก พูดยังไงก็ไม่ response หนูไม่รู้จะทำยังไงค่ะ นี่ผ่านไป สามชั่วโมงแล้ว แกก็ไม่ขยับ พี่ช่วยหนูหน่อยนะ ไม่งั้นเคลียเตียงไม่ได้”

“โอเค จะไปเดี๋ยวนี้”

เด็กอายุน้อยจังเลยนะ ด่วนจากโลกนี้ไปเสียแล้ว พัชราคิด ขณะเดินไปที่ตึกเด็กหนึ่ง

“เอ คนไข้อยู่ไหน”

“เตียง ห้าค่ะ”

พัชราเดินไปที่เตียงห้า ภาพที่เห็นทำให้เธอ จุกแน่นในคอทันที

หญิงสาววัยยี่สิบต้น ผมเผ้ายุ่งเหยิง โอบลูกที่แน่นิ่ง ไร้ลมหายใจในวงแขน กำลังพยายามป้อนนมลูกที่ไม่หายใจด้วยเต้านมของเธอ พยายามใส่หัวนมเข้าไปในปากเด็ก ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีแม้แต่เสียงร้องไห้ออกจากลำคอ นัยตาของเธอจ้องตรงไปทีใบหน้าของลูกเธอเหมือนดังว่าลูกของเธอยังมีชีวิต

พัชราหยุดข่มอะไรบางอย่าง แล้วเดินไปนั่งข้างๆหญิงสาวคนนั้น แล้วค่อยช่วยเธอขยายเสื้อ เพื่อจะทำให้เธอสามารถป้อนนมลูกได้โดยสะดวกกว่าเดิม อย่างเงียบงัน มือนั้นค่อยๆโอบไปที่ไหล่ของหญิงสาวผู้สูญเสีย

เสียงฝีเท้ากระแทกเข้ามา ธิดา หัวหน้าตึกเด็กกลับจากประชุม ได้รับรายงานจาก เอ ก็ตรงเข้ามาที่เตียงห้า

“คุณแม่ค่ะ ลูกคุณแม่เสียชีวิตแล้วนะค่ะ ป้อนนมไปไม่มีประโยชน์หรอกค่ะ ดิฉันมีเรื่องแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้เข้าใจสาเหตุที่เกิดขึ้น นะค่ะ คือลูกคุณแม่เป็นหวัด 2009 อาการหนักแล้วนะค่ะตอนมา เราได้ให้ยาต้านไวรัสเต็มที่ แต่โรคนี้ในเด็กนี้โอกาสรอดชีวิตน้อยมากนะค่ะ เราทำเต็มที่แล้ว เสียใจด้วยนะค่ะ ถือว่าเขาบุญน้อย ทำใจซะนะค่ะ เออ...แล้วศพจะให้จัดการยังไงค่ะ”

พัชราเหลือบตา มอง ธิดาอย่างแข็งกร้าว

“ธิดา เธอไปเตรียมเอกสารก่อนไปทางนี้พี่จะจัดการเอง” เสียงเข้มขึ้นมาชัดเจน

เนื่องจากพัชราเป็นรุ่นใหญ่ และเป็นกรรมบริหารรพ. ธิดาจึงสะบัดหน้าจากไปอย่างเสียไม่ได้ พลางบ่นพึมพำ “อะไรว่ะ อุตส่าห์ชี้แจงคนไข้ตาม มาตรฐานความเสี่ยงแล้ว ยังจะมาตวาดใส่เราอีก”

พัชรายังคงนั่งอยู่ข้างมารดาผู้สูญเสียไปราวครึ่งชั่วโมง และเมื่อหัวนมของมารดาเข้าในปากของลูกตัวเองได้ น้ำตาของคนเป็นแม่ร่วงพราวลงไปพรมบนเสื้อของลูกน้อย เธอหันใบหน้านองน้ำตา มาหาพัชราพร้อมกับบอกว่า

“น้องเค้ายังไม่ได้กินนมเลย”

พัชรา กอดคนเป็นแม่ด้วยน้ำตาเช่นกัน หัวอกคนเป็นแม่ ห่วงใยทุกเรื่องราวของลูกน้อย เป็นห่วงแม้รู้ว่าสิ้นใจ แต่ลูกน้อยยังไม่ได้กินนมจากอกเธอก่อนตาย เป็นเรื่องที่เธอกังวลมากกว่าเรื่องความตาย ไม่มีคำพูดใตปลอบประโลมเธอได้ แค่เพียงมีคนเข้าใจว่าเธอรู้สึกอย่างไรก็พอแล้ว

ผมพิมพ์เรื่องนี้ ด้วยสายตาที่พร่าเลือนเหมือนกัน เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของการเป็นหมอตลอดเวลา พวกเรา มีโอกาสเลือกได้ว่าจะ เป็น เอ เป็นพัชรา หรือธิดา ใครจะเป็นช่างซ่อมหรือ ใครเป็นผู้ดูแล แต่ผมเชื่อว่า สิ่งที่พัชราทำ ไม่ได้มาจากคู่มือมาตรฐานเล่มใด นอกจากการใช้หัวใจเป็นเครื่องช่วยนำทางในการดูแลผู้คน พวกเราล่ะครับใช้อะไรนำทาง และหลังจากเราใช้สิ่งนั้น เราแน่ใจไหมครับว่าถึงเวลาที่เราเป็นแม่คนนั้น เราอยากให้คนดูแลเราใช้อะไรนำทางในการดูแลเรา

หมายเลขบันทึก: 368383เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท