จากบัญชีครัวเรือนสู่แผนชีวิต บทเรียนแห่งการสร้างสุขของสุจินต์ อินทคีรี


จากบัญชีครัวเรือนสู่แผนชีวิต

 

 

จากบัญชีครัวเรือนสู่แผนชีวิต

บทเรียนแห่งการสร้างสุขของสุจินต์  อินทคีรี

โดย ว่าที่เรือตรีเฉลิมพล  บุญฉายา

 

สุจินต์  อินทคีรี  สตรีผู้มีบทบาทสำคัญต่อขบวนภาคประชาชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช เธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตที่อยู่ท่ามกลางกระบวนการเรียนรู้ ที่เริ่มต้นจากการเรียนรู้ให้รู้จักและเข้าใจตัวเอง  เท่าทันสังคม ทำให้เธอสามารถหลุดพ้นจากภาวะความเป็นหนี้สิน และมีชีวิตอยู่อย่างพอมีพอกินบนผืนดินเพียงแค่ 1 ไร่

เมื่อปี 2536 สุจินต์มีหนี้สินจำนวน 1,106,000 บาท เธอกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาซื้อที่ดินปลูกยางพารา เมื่อมีหนี้สุจินต์ต้องขยันขันแข็งทำงานเพื่อให้มีรายได้เยอะเพียงพอต่อการใช้จ่ายและการปลดหนี้ ทว่ายิ่งทำงานหนักหนี้สินก็หาได้ลดลงไม่ กลับพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นสุขภาพก็เริ่มแย่ ครอบครัวก็เริ่มมีปัญหา สุจินต์เล่าว่า “เมื่อก่อนพี่กู้เงินมาปลูกแตงจินตหรา ต้องซื้อปุ๋ย ต้องซื้อยาฆ่าแมลง ต้นทุนสูง จึงขาดทุน” กับอีกกรณีหนึ่งที่สุจินต์สรุปบทเรียนให้ฟังว่า “พี่กู้เงินมาเลี้ยงสุกร โดยซื้อแม่พันธุ์มาไว้ พอออกลูกก็ขายลูก ตอนแรกคิดแต่เพียงว่า ขายได้ 1 ตัว เราจะได้เงิน 1,000 บาท ถ้าขายได้ 7 ตัว เราจะได้เงิน 7,000 บาท แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันไม่ได้เป็นไปตามที่ว่า ปรากฏว่าพี่ขาดทุนอีก พี่สรุปได้เลยว่าทั้งสองกิจกรรมที่ทำให้พี่ขาดทุนเป็นเพราะพี่ทำโดยไม่มีความรู้ คิดอะไรง่าย ๆ เกินไป”

ต่อมาในปี 2540 ยุควิกฤตเศรษฐกิจ มียางพาราแต่ขายไม่ได้ อาชีพหลักของสุจินต์ที่เธอหวังว่าจะสร้างรายได้ให้เธอเป็นกอบเป็นกำ  กลับไม่มีราคาค่างวดแต่อย่างใด “รายได้ขาด หนี้สินสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ” ในที่สุดสุจินต์ก็เดินเข้าสู่ทางตันของชีวิต เธอต้องกลับบ้านไปขอข้าวสารพ่อแม่เพื่อประทังชีวิต

กระทั่งในปี 2541 หนทางสว่างในชีวิตก็เกิดขึ้น  เมื่อนายประยงค์  รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านรางวัลแม๊กไซไซ ผู้เป็นลุง ได้ให้ข้อคิดว่า        สุจินต์ “มีชีวิตแบบไม่มีแผน” เธอจึงเริ่มต้นจัดการตัวเองใหม่ ด้วยการเริ่มต้นทบทวนตัวเอง ค้นหาคำตอบว่า ชีวิตที่ผ่านมามีอะไรที่ติด “0” หมายถึงล้มเหลว ผิดพลาด ติด “ร” หมายถึงยังไม่ได้ทำ

ในที่สุดเธอก็ได้คำตอบว่า เธอติด “0” เรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว สุจินต์เล่าว่า “พี่มองจากปัจจัย 4 ว่าพี่ทำอะไรให้สามีให้ลูก ๆ บ้าง พี่ไม่เคยทำกับข้าว หุงหาอาหาร ที่ไม่เคยซักรีดเสื้อผ้า พี่ไม่ค่อยจะดูแลรักษาความสะอาดบ้าน เวลาป่วยพี่ไม่เคยดูแลปรนนิบัติสามี เพราะพี่ต้องทำงาน” เรื่องต่อมาคือการประกอบอาชีพ ที่ทำเท่าไรก็ขาดทุน เพราะต้องจ้างคนงาน ต้องใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 80,000 บาท ในเนื้อที่ 40 ไร่ ลงทุนทำอาชีพเสริมก็ไม่มีกำไร เป็นเพราะไม่มีความรู้ ซ้ำร้ายสุขภาพก็ย่ำแย่เพราะต้องสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตร และมีเวลาพักผ่อนน้อย เรื่องต่อมาคือการบริหารการเงิน เพราะยิ่งทำงานก็ยิ่งติดลบ เรื่องสุดท้ายคือการช่วยเหลือสังคม เธอมีความต้องการที่ดินบริเวณใกล้ ๆ เหมืองแร่ยิบซัมเพื่อขายให้กับนายทุนต่างชาติ ดังนั้นใครก็ตามที่มีที่ดินบริเวณดังกล่าวมากู้ยืมเงินเธอและนำที่ดินมาประกันการชำระหนี้เธอก็พร้อมที่จะไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาให้ เพราะหวังว่าเมื่อพวกเขาไม่มีหนทางชำระหนี้ เธอก็จะเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเมื่อมีโอกาสเธอก็จะขายให้นายทุนต่างชาติเข้ามาขุดแร่ไป ช่วงชีวิตตอนนี้ของสุจินต์นอกจากจะไม่ช่วยเหลือสังคมแล้วเธอยังมีความคาดหวังจะนำเอาสมบัติของชาติไปขายให้กับคนอื่นอีกด้วย เรื่องติด “ร” มีเพียงเรื่องเดียวคือการไม่ได้ส่งเสียดูแลพ่อแม่

หลังจากได้ทบทวนตัวเองสุจินต์ก็เริ่มเก็บข้อมูลของตัวเองในเชิงลึกเพื่อนำไปวิเคราะห์หาหนทางรอดของตน เธอเริ่มบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายสุจินต์ยกตัวอย่างบัญชีรายรับรายจ่ายเดือนปัจจุบัน พร้อมกับอธิบายว่า อย่าหลงกับรายรับ ต้องพิจารณาว่ารายรับประเภทใดที่เป็นรายรับที่ได้มาจากโอกาส รายรับประเภทใดที่เป็นรายรับหลัก เช่น รายรับจากค่าวิทยากร รายรับจากค่าที่พักโฮมสเตย์ เหล่านี้ถือว่าเป็นรายรับที่มาจากโอกาส  นอกจากนั้นเมื่อเราพิจารณารายจ่ายต้องดูว่ารายจ่ายประเภทไหนที่จำเป็นแบบขาดไม่ได้ และเราไม่สามารถผลิตขึ้นมาใช้เองได้ รวมทั้งต้องศึกษาหาความรู้เรื่องที่เราจะทำ ด้วยการอ่าน การอบรม การแลกเปลี่ยน และการฝึกปฏิบัติ เมื่อทบทวนดูแล้วจะทำให้ทราบว่าเราจะเริ่มจัดการกับตัวเองอย่างไร สุจินต์เสนอว่าเราต้องเริ่มต้นจากการกำหนดวิสัยทัศน์ให้แก่ตัวเอง ว่า ในที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดของเธอแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1  อยู่ดี กินดี ระยะที่ 2 คือ อยู่ดี อยู่มีสุข และ ระยะที่ 3 คือ อยู่รอดปลอดภัย อย่างยั่งยืน แล้วจึงมากำหนดแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนสุขภาพ และแผนการเงิน 

แผนชีวิต เป็นการกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติการในแต่ละช่วงวัยที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากช่วงวัยดังนี้

วัยอนุบาล             0-15 ปี                   เป็นวัยแห่งการซึมซับสิ่งดี ๆ ใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน

วัยประถม             15-25 ปี                เป็นวัยที่ฝึกหัดทำกิจกรรมกับครอบครัว สร้างกิจกรรมให้ลูกหลานได้ทำร่วมกันในครัวเรือน

วัยมัธยม                25-40 ปี                เป็นวัยแห่งการวางแผนและปฏิบัติการเพื่ออนาคต ศึกษาหาความรู้ พัฒนารายได้ จัดการเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างเหมาะ

วัยมหาวิทยาลัยชีวิต 40-60 ปี           เป็นวัยที่จะต้องมีการพัฒนาภูมิปัญญา สร้างความเชี่ยวชาญ หมดภาระ หมดหนี้สิน ลูกหลานช่วยเหลือตัวเองได้

 

แผนอาชีพ คือการวางแผนต่อยอดอาชีพที่มีอยู่แล้ว และต้องเป็นอาชีพที่ประเมินแล้วว่าไม่ได้ผูกติดกับโอกาสที่จะต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมเป็นตัวแปรที่สำคัญ กรณีของสุจินต์เธอพบว่า ณ ปัจจุบันนี้อาชีพหลักของเธอคือการ  การเพาะเห็ด ดังนั้น เธอต้องพิจารณาว่าความต้องการของตลาดอยู่ในระดับใด เธอจะต้องเพาะเห็ดพันธุ์ใด  ปริมาณเท่าไร เธอถึงจะอยู่ได้ นอกนั้นต้องมีการหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกพืชเจ็ดชั้น การทำขนม การแปรรูปสมุนไพร โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือ เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำ ต้องมีทรัพยากรในครัวเรือนหรือในชุมชน ต้องมีช่องทางตลาด มิเช่นนั้นแล้วโอกาสประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก

แผนสุขภาพ เป็นการวางแผนเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เช่น การออกกำลังกาย การมีเวลาพักผ่อน การมีสุขภาพจิตที่ดี การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยสุจินต์ถือคติที่ว่า “กินอาหารเป็นยา” ดังจะเห็นได้จาก เมนูอาหารที่เธอค่อนข้างจะประณีต เช่น พืชประเภทใดเป็นธาตุใด ควรกินควบคู่กับพืชหรือสัตว์ชนิดใด ควรจะปรุงด้วยวิธีใด สิ่งที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี วิธีที่ดีที่สุดคือการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ไว้รับประทานเอง   

แผนการจัดการรายได้  บัญชีครัวเรือนจะช่วยบอกได้เป็นอย่างดีว่า จะต้องจัดการรายได้อย่างไร เช่น ใช้หนี้ต่อเดือนเท่าไรถึงจะไม่เดือดร้อน ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น สิ่งไหนที่เราสามารถผลิตทดแทนได้ก็ควรจะทำ เช่น  การผลิตน้ำยาอเนกประสงค์  การผลิตแก๊สชีวภาพ นอกจากนั้น  ผลิตทุกอย่างที่กิน เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเห็ด วางแผนสำหรับอนาคต เช่น  มีเงินออมผ่านกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ส่วนหนึ่งออมไว้สำหรับเงินลงทุนประกอบอาชีพ และอีกส่วนหนึ่งออมไว้สำหรับการจัดการงานศพของตน สุจินต์เล่าว่า “พี่ลงออมทรัพย์ในหมู่บ้าน พี่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารหลายเล่ม ตอนเปิดบัญชีพี่จะพาลูกไปด้วยแล้วบอกลูกว่าบัญชีนี้สำหรับเวลามาป่วยให้ถอนมารักษาแม่ บัญชีนี้เวลาแม่ตายให้ถอนมาจัดการงานศพแม่ พี่ไม่ยากให้ลูกต้องเดือดร้อน เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ มันค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นมาเอง”   นอกจากนั้นสุจินต์ยังวางแผนสำหรับวัยเกษียณว่าเธอจะมีรายได้จากการขายไม้เศรษฐกิจที่ปลูกไว้ในเนื้อที่ 1 ไร่ จำนวน 30 ต้นซึ่งปลูกไว้เป็นพืชชั้นที่ 7 นั่นเอง โดยสนนราคาอยู่ที่ต้นละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

การใช้ชีวิตอย่าง “มีแผน” ทำให้สุจินต์สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น สามารถสอบผ่านบทเรียนของชีวิตไม่ติด “0” ติด “ร” มีความสุขตามอัตภาพ และเข้าสู่ช่วงวัยมหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งเธอสามารถพัฒนาตนเอง กระทั่งเกิดความเชี่ยวชาญ และสามารถถ่ายทอดความรู้ที่เธอมีให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้ ได้มีโอกาสเท่าทันตนเอง เท่าทันสังคม และใช้ชีวิตอย่างมีแผน โดยเริ่มต้นคนในละแวกบ้าน เมื่อทุกคนสามารถกำหนดแผนครัวเรือนได้แล้ว จึงค่อยขยับมาวางแผนชุมชน นอกจากนั้น ในแต่ละเดือนจะมีคณะผู้มาศึกษาดูงานจากภายนอกไม่น้อยกว่า 20 คณะ จากหนึ่งขยายเป็นสิบ จากสิบขยายเป็นร้อย จากร้อยขยายเป็นพัน และขยายเพิ่มขึ้น ๆ เป็นทวีคูณ แม้วันนี้จะยังไม่เห็นผลในภาพกว้าง แต่ก็มีเค้าลางแห่งความสำเร็จ อนาคตสังคมไทยยังมีทางรอด.....

 

 

หมายเลขบันทึก: 366176เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2010 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับบันทึกคะ

วิธีการเขียนของอาจารย์น่าสนใจดีคะ มหาวิทยาลัยชีวิต..กำลังคิดว่า ติด ร อยู่บางเรื่องเหมือนกัน ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท