เด็กไม่ส่งงาน คือ สัญญาณที่เตือนครู


เด็กไม่ส่งงาน เพราะเขามีปัญหาบางประการ ที่ครูต้องช่วยเหลือเขา

        ช่วงที่ผมออกไปนิเทศโรงเรียนวินัยเชิงบวก   มีปัญหาที่ถามมาจากคุณครูหลายท่านว่า  เด็กไม่ส่งงาน  จะใช่วินัยเชิงบวกแก้ปัญหาอย่างไร  เพราะคุณครูบอกว่าดีกับเด็กทุกอย่าง  แต่เด็กก็ยังไม่ส่งงาน

 

       ผมเลยย้อนถามคุณครูไปว่า ที่เด็กไม่ส่งงาน  ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงครับ จึงจะแก้ได้ถูก   คุณครูก็บอกว่าสาเหตุก็อยู่ที่ตัวเด็กเอง  เพราะเด็กขี้เกียจ  ไม่รับผิดชอบ   ผมก็ถามต่อไปอีกว่า  ที่เขาขี้เกียจ ที่เขาไม่รับผิดชอบ  ก็ต้องมีสาเหตนะครับ ว่าเป็นเพราะอะไร   คุณครูไม่ตอบ

 

      ปัญหาเด็กไม่ส่งงาน   ถ้ามองโลกในแง่ดี   ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็กส่งมา  ว่าถึงเวลาที่ครูจะได้แก้ปัญหาให้เด็กอีกแล้ว

 

      ผมเองผมมีความเชื่อของผมเองอยู่อย่างว่า "ไม่มีเด็กคนใหนอยากโง่   ไม่มีเด็กคนใหนอยากเกเร"  เด็กทุกคนอยากเป็นคนดี  อยากเป็นคนเก่ง  แต่พฤติกรรมของเขาที่เขาไม่ส่งงาน  คงจะต้องย้อนกลับไปมองถึงสาเหตุที่แท้จริง

 

        บางทีสาเหตุก็มาจากครอบครัว  ไม่ใช่มาจากตัวเด็กเอง  เช่น

         1.  ต้องช่วยทำงานบ้านจนไม่มีเวลาทำงานโรงเรียน

        2.  พ่อแม่ทะเลาะกัน  จนไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานโรงเรียน

        3.  สิ่งแวดล้อมรอบๆบ้าน  ที่มารบกวนสมาธิการทำงานโรงเรียน

 

         สาเหตุมาจากคุณครู  

 

         1.   กรณีเด็กเก่งแต่ไม่ทำงานมาส่ง  มักจะเป็นการเรียกร้องความสนใจ  เมื่อเด็กค้นพบว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เขาก็จะแสดงความประพฤติที่ไม่สมควรเพื่อเรียกร้องความสนใจ

 

        2.  กรณีเด็กไม่เก่ง   เป็นเพราะเขาไม่เข้าใจและทำไม่ได้  จะทำมาส่งผิดๆ   ก็กลัวจะถูกทำโทษ

 

         วิธีแก้ปัญหา   คงต้องแก้โดยใช้หลักการทางจิตวิทยาครับ  และนักจิตวิทยา ที่ผมมีความเชื่ออยู่  คือ จิตวิทยาความต้องการของมาสโลว์   นั่นคือ  คุณครูจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะสนองความต้องการขั้นต่ำ  โดยให้เด็กทุกคนมีความรู้สึกในห้องเรียนว่า

 

        1.  ร่างกายและจิตใจ  มีความสบาย  มีความปลอดภัย  จากการถูกคุกคามด้วยคำพูด และ การกระทำ จากคุณครู

 

        2. ได้รับความสนใจและเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน

 

        3. ได้รับการยอมรับจากคุณครูว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถ

 

        การแก้ปัญหา คงต้องหาความต้องการของเขาให้เจอ  เพราะเขาขาดเขาจึงทำ

 

       ทีนี้  ก็มาถึงวิธีการแก้ปัญหารายกรณีครับ

 

        ปัญหาที่เกิดจากครอบครัว  คงต้องแก้สองทางควบคู่กันไปครับ นั่นคือ  ต้องประสานไปทางครอบครัว ให้ช่วยกันแก้ปัญหาให้ลูกได้ทำงานมาส่ง  ขณะที่มาที่โรงเรียน  คุณครูก็คงต้องให้โอกาสเขาได้นำงานบ้านมาทำที่โรงเรียน  หรือ มอบงานไปแล้ว  ก็ให้ทำที่โรงเรียนไปเลย

 

       ปัญหาที่เกิดจากคุณครู

 

       กรณีเด็กเก่งเรียกร้องความสนใจ  นั่นเป็นเพราะเขาไม่ได้รับความสนใจจากคุณครู  คุณครูก็ควรจะให้ความสนใจในตัวเขาด้วยการแสดงความรักความเอาใจใส่  และ  ยอมรับในตัวเขา  แต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมของเขา  ด้วยความรักความเอาใจใส่จากคุณครู  เมื่อเขารู้ว่าคุณครูรักเขา สนใจเขา  แสดงว่าเขารู้ว่าเขามีค่า  ต่อไปเขาก็จะต้องพัฒนาตัวเองด้วยการทำงานมาส่งอย่างแน่นอนครับ

 

     กรณีเด็กไม่เก่ง  คงต้องยึดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลครับ  หัวสมองเขาแค่นี้  เขาก็คงทำได้เท่านี้  จะทำให้เท่ากับคนอื่นๆ  คงไม่ได้  ที่ชอบพูดกันว่า  คนอื่นก็มีสองมือ สองขา เหมือนกัน ทำไมเขาทำได้   เป็นคำพูดที่ไม่ควรพูดครับ   เด็กที่ไม่เก่งก็คงต้องมอบงานตามความสามารถของเขาครับ  ครูต้องจัดประสบการณ์เพื่อช่วยให้เขาประสบผลสำเร็จ  โดยการแข่งกับตัวเอง  ดังนั้น  จึงเป็นควรให้งานที่เขาพอทำได้  ส่วนเกณฑ์ในการผ่าน  ก็ผ่านตามเกณฑ์ของเขา   อย่าไปเทียบกับคนอื่น

 

         หลักจิตวิทยาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หลักอัตมโนทัศน์(Self - Concept)  หลักการสำคัญ คือ เด็กแต่ละคน จะแสดงพฤติกรรมตามสิ่งที่ตนคิดเกี่ยวกับตนเองว่าเป็นเช่นไร

 

      เช่น   ครูที่แสดงออกว่า เด็กคนนี้เก่ง   เขาก็จะเก่งขึ้นมาจริงๆ  ในทางตรงกันข้าม ครูที่ แสดงออกว่าเด็กคนนี้ไม่เก่ง เขาก็จะไม่เก่งตามการแสดงออกของครู

 

       ด้วยเหตุนี้  เขาจึงห้ามคุณครู  "ประทับตราเด็ก"   ว่า  "โง่"   หรือ "เกเร "

 

     เพราะไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นคนโง่ อยากเป็นคนเกเร

 

       ถ้าคุณครูประทับตราเขาว่าโง่หรือเกเร  เขาจะเป็นอย่างนั้นจริงๆครับ และแก้ไขได้ยาก

 

 

       เด็กที่มี Self -  Concept  ในทางบวก  จะรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ  มั่นใจในตนเอง  มองเห็นคุณค่าในตนเอง  จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการเรียน

 

      เด็กที่มี Self -  Concept  ในทางลบ  จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ  ไม่มั่นใจในตนเอง  มองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง  จะเป็นผู้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน

 

       คุณครูลองถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ครับ

 

        1. เด็กจะรู้สึกว่าตนเป็นที่ชอบพอรักใคร่ขอผู้อื่นได้อย่างไร  ถ้าไม่ใครรักใคร่ชอบพอต่อเขา

 

       2. เด็กจะรู้สึกว่าเขาเป็นที่ยอมรับได้อย่างไร  ถ้าไม่มีใครหรือแห่งใดยอมรับเขา

 

       3. เด็กจะรู้สึกมีเกียรติได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครยกย่องให้เกียรติเขา

 

      4. เด็กจะรู้สึกว่าตนมีความสามารถได้อย่างไร ถ้าเขาไม่เคยประสบผลสำเร็จ

 

       ครับ การไม่ส่งงาน เป็นสัญญาณเตือนคุณครู ให้ตอบคำถามและทบทวนบทบาทของคุณครู  4  ข้อดังกล่าวข้างต้นครับ  เพราะ

 

       "ไม่มีเด็กคนไหนที่อยากโง่    อยากเกเร"

 

      

หมายเลขบันทึก: 366163เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2010 04:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะท่านรอง

  • ปัญหาเด็กไม่ส่งงานปัญหาใหญ่ค่ะ
  • สาเหตุของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ
  • สำหรับนักเรียนของครูอิงส่วนมากส่งงาน แต่ส่งช้าค่ะ
  • คือต้องให้ครูเหนื่อยกับเขาก่อนถึงจะส่ง
  • ส่วนหนึ่งใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปเล่นเกมคอม
  • ก็คงต้องแก้ปัญหากันเป็นลูกโซ่  ระหว่าง ครูผู้สอน  ผู้บริหาร  และผู้ปกครองค่ะ
  • ขอบพระคุณท่านรองค่ะ  จะนำข้อมูลของท่านรองไปวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคลค่ะ

สวัสดีค่ะ

เด็กที่ไม่ส่งงาน  มองหน้าก็ทราบแล้วค่ะว่ามีกี่ราย เป็นปัญหาที่สาหัสของครู แก้ด้วยวิธีร้อยแปดพันประการ

บังเอิญพี่คิมเป็นเด็กเรียนไม่เก่งค่ะ  นึกถึงจริตการสอนของครูและตัวเราวัยนั้นว่าไม่ตรงกัน  ลองนำมาแก้ดู

ให้เด็กวิเคราะห์ตนเองว่าใครที่ทำการบ้านม่ไหว หรือมีปัญหาให้รอพบครูเลิกเรียน  วันแรกมีมาพบเป็นบางคน นอกนั้นลืม  ได้อธิบายความรู้ ความเข้าใจให้ใหม่และลดการบ้านลง  แบบนี้ได้ผล  บางคนกลายเป็นเด็กเรียนดีขึ้นและสนใจเรียนค่ะ

ประการที่ ๒ เด็กกลุ่มเดิมค่ะ  ต้องตามตัวให้มาพบลูบหัวลูบไหล่แทนการวิงวอน  เหลืออย่างเดียวไม่กราบไหว้  อธิบายตัวต่อตัว  ชี้แนะวิธีการ  และสุดท้ายให้เลือกว่าจะทำการบ้านข้อใด เพียง ๑ ข้อ  ต่อไปก็เพิ่มขึ้น ๆ

การส่งเสริมวินัยเชิงบวก  ให้เด็กกลุ่มนี้พูดให้เพื่อน ๆ ฟังเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไข  เพื่อน ๆ ยอมรับและปรบมือให้ พร้อมกับคำชื่นชมของครู  ควรชมให้เหมาะสมกับนิสัยของเขาด้วย  เพราะเขารู้ทันครูเหมือนกันนะคะ

คำตอบ..แก้จากหนักให้เป็นเบาได้ค่ะ และแก้แบบนี้ซ้ำ ๆ  กลุ่มเก่าห้องนั้นดีขึ้น กลุ่มใหม่ ห้องใหม่ก็มาแทนที่

ข้อสำคัญ  ไม่ควรให้การบ้านมากเกินไป

Pคุณอิงจันทร์ครับ

  • สำหรับนักเรียนของครูอิงส่วนมากส่งงาน แต่ส่งช้าค่ะ คือต้องให้ครูเหนื่อยกับเขาก่อนถึงจะส่ง ส่วนหนึ่งใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปเล่นเกมคอม ก็คงต้องแก้ปัญหากันเป็นลูกโซ่  ระหว่าง ครูผู้สอน  ผู้บริหาร  และผู้ปกครอง
  •    (ครับ  ครูต้องเหนื่อย  และ ต้องประสานระหว่าง ครู  ผู้บริหาร ผู้ปกครอง)

                          ขอบคุณมากครับ

      

    Pพี่คิมครับ

    *   ให้เด็กวิเคราะห์ตนเองว่าใครที่ทำการบ้านม่ไหว หรือมีปัญหาให้รอพบครูเลิกเรียน  วันแรกมีมาพบเป็นบางคน นอกนั้นลืม  ได้อธิบายความรู้ ความเข้าใจให้ใหม่และลดการบ้านลง  แบบนี้ได้ผล  บางคนกลายเป็นเด็กเรียนดีขึ้นและสนใจเรียนค่ะ

       (ครับ   เหนื่อยและหนัก   แต่ได้ผล  ขอบคุณครับ)

     *   ประการที่ ๒ เด็กกลุ่มเดิมค่ะ  ต้องตามตัวให้มาพบลูบหัวลูบไหล่แทนการวิงวอน  เหลืออย่างเดียวไม่กราบไหว้  อธิบายตัวต่อตัว  ชี้แนะวิธีการ  และสุดท้ายให้เลือกว่าจะทำการบ้านข้อใด เพียง ๑ ข้อ  ต่อไปก็เพิ่มขึ้น ๆ

        (คงามแตกต่างระหว่างบุคคล   ขอคารวะพี่คิมครับ)

    *   การส่งเสริมวินัยเชิงบวก  ให้เด็กกลุ่มนี้พูดให้เพื่อน ๆ ฟังเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไข  เพื่อน ๆ ยอมรับและปรบมือให้ พร้อมกับคำชื่นชมของครู  ควรชมให้เหมาะสมกับนิสัยของเขาด้วย  เพราะเขารู้ทันครูเหมือนกันนะคะ

        (  สุดยอดครับ  เยี่ยม)

    *   คำตอบ..แก้จากหนักให้เป็นเบาได้ค่ะ และแก้แบบนี้ซ้ำ ๆ  กลุ่มเก่าห้องนั้นดีขึ้น กลุ่มใหม่ ห้องใหม่ก็มาแทนที่

         ( งานครู  ไม่จบไม่สิ้นนะครับ)

    *   ข้อสำคัญ  ไม่ควรให้การบ้านมากเกินไป

          ( ความแตกต่างระหว่างบุคคล)

                        ประทับใจและขอบคุณครับ

     

    สวัสดีครับ

    การให้เด็กส่งงาน เป้าหมายคือ อะไร?

    หากเด็กไม่ชอบ ไม่มีเวลาว่าง ต้องช่วยงานพ่อแม่

    ถ้าเปลี่ยนเป็น เด็กเลือกส่งงานได้หลายรูปแบบ แต่ละคนอาจเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ให้เด็กมีโอกาสเลือกงานตามที่ชอบ ที่เขายอมรับ ที่อาจารย์พอจะยอมรับได้ ที่ตรงกับเป้าหมายวัตถุประสงค์การสอน การให้งานไปทำ เป็นไปได้หรือไม่ เช่น ทำให้งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ที่ช่วยพ่อแม่ได้ด้วย แล้วมานำเสนอ เป็นต้น

    Pอ.เพชรากรครับ

    *   การให้เด็กส่งงาน เป้าหมายคือ อะไร?

         ( ครับ  ผมว่าน่าจะทบทวนนะครับ)

    *   หากเด็กไม่ชอบ ไม่มีเวลาว่าง ต้องช่วยงานพ่อแม่

          (ครับ งานพ่อแม่ ก็สำคัญนะครับ)

    *    ถ้าเปลี่ยนเป็น เด็กเลือกส่งงานได้หลายรูปแบบ แต่ละคนอาจเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ให้เด็กมีโอกาสเลือกงานตามที่ชอบ ที่เขายอมรับ ที่อาจารย์พอจะยอมรับได้ ที่ตรงกับเป้าหมายวัตถุประสงค์การสอน การให้งานไปทำ เป็นไปได้หรือไม่ เช่น ทำให้งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ที่ช่วยพ่อแม่ได้ด้วย แล้วมานำเสนอ เป็นต้น

         (สุดยอดครับ อาจารย์   ผมเห็นด้วยที่สุดเลยครับ)

                      ขอบคุณมากครับ

      

    ก็ลองทำตามที่หลักจิตวิทยาบอกแล้ว...เสริมแรงทางบวกก็แล้ว...เสริมแรงทางลบก็แล้ว...ไม่รู้จะใช้วิธีการไหนแล้วล่ะ...

    คุณเล็กครับ

    ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

    เหอ" อันนี้มันเป็นปัญญหาของผม เองที่ไม่ ส่งงาน 1. คุณคร-- แต่ละท่านมีเกณ การส่งไม่งานไม่เหมือนกัน -- 2. ปัญญหาที่เกิด จากงาน ค้าง คือ เวลาค้างเยอะๆ มันไม่กล้าเอางานไปส่ง อาจานย์ 3. การบ้านเยอะมาก จนไม่มีเวลา {เพราะแต่ ละวัน มันไม่ได้แค่ งาน เดี่ยว แต่มันได้ ทีละหลายๆ วิชา } เพราะแต่ละงาน ใช้ เวลาพอสมควร 4. เพราะ อาย" ที่ค้างงาน จนไม่กล้า ไป ส่งงาน ต่อหน้า อาจาย์ 5.เพราะ สิ่งแวด ล้อม รอบ ข้างทำให้ ผมไม่มี สมาธิในการเรียน เท่าที่ ควร --- * คุณครูไม่ เคยสนใจปัญญหา ของเด็กๆ เท่าที่ ควร อะไร ก็บอกแต่ เด็กขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ทุกครั้ง ไม่เคยที่ จะมาสนใจเด็ก ไม่ถามปัญญหา เอาแต่ ตี ไม่ก็พูดแต่ ทำไหมไม่มี ความรับผิด ชอบ เพราะ คุณครูแก้ไข ไม่ใช้ ที่ สาเหตุ ของเด็ก -- ผมก็ไม่ได้เรียนเก่งมาก เท่ากับเด็กทั่วไป-- ขอบคุณคับ ....{ ปัญญหาของเด็กส่วนใหญ่ ไม่ใช้ เพราะขี้เกียจแต่ อาจานย์ตั้งหาก ที่แก้ไขไม่ตรง จุด} --** "แต่ บ้างที พ่อแม่ ก็ไม่ เข้าใจ ลูกเวลา ส่งงาน เอ๊ะอ่ะ ก็บอก ขี้เกียจ โดยที่ไม่เคย ถามลูกมาก่อน} >

    หนูเป็นนักศึกษาฝึกสอน ปัญหานี้กำลังเจอเลยค่ะ ขอบคุรทุกท่านที่แนะนำวิธีดีๆ ค่ะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท