เมื่อชีวิตถึงทางตัน


เมื่อมาถึงทางตันแห่งชีวิต 

          หัวข้อเรื่องในวันนี้ดูน่ากลัวนะครับ แต่เนื้อหาไม่ได้น่ากลัวอย่างหัวข้อที่เขียนไว้นะครับ แถมอาจจะเป็นทางออก หรือแสงสว่างให้กับใครหลายๆ คน คนเราโดยทั่วไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีความรู้สึกว่าอาชีพ หรืองานที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น ไม่ไปถึงไหนสักที ชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตการงาน หรือแม้กระทั่งชีวิตส่วนตัว ก็ดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที เรียกได้ว่าถึงทางตันของการทำงานแล้ว ไม่ทราบท่านผู้อ่าน ได้เคยเกิดความรู้สึกแบบนี้บ้างไหมครับ? ถ้าเคยหรือเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องหวั่นนะครับ เนื่องจากมีการค้นพบว่าการมาถึงทางตันนั้น กลับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เราเติบโตต่อไป เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของแต่ละคน เพียงแต่เราจะรู้จักหนทางที่จะผ่าทางตันเพื่อการเติบโตของเราต่อไปหรือไม่เท่านั้นเองครับ

มีนักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Timothy Butler ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Career Development Program ที่ Harvard Business School อีกทั้งเป็นนักจิตวิทยาและที่ปรึกษาทางด้านอาชีพมานาน ได้ทำวิจัยและได้ให้ข้อเสนอแนะในการผ่าทางตันนี้ไว้ครับ

แต่ก่อนที่จะมาดูวิธีผ่าทางตัน เราลองมาดูก่อนนะครับว่าเจ้าคำว่าทางตันที่ผมใช้นั้นจริงๆ แล้วหมายถึงสิ่งใด? Butler ระบุไว้ครับว่าช่วงที่เราเผชิญทางตันแห่งชีวิตนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่คนเกือบทุกคนจะต้องเคยเผชิญหรือผ่านพ้นมา โดยเริ่มจากความรู้สึกหดหู่ รันทด หาทางออกให้กับชีวิตไม่เจอ ไม่รู้จะไปทางไหน และหลายครั้งก็จะหันกลับมาโทษตัวเองว่า ตัวเองมีอะไรผิดปกติตรงไหน ถึงยังได้ติดอยู่ในที่เดิม สถานการณ์เดิม และไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวของท่านเองก็ได้ครับ แล้วลองถามตัวเองว่า เคยมีคำพูดเหล่านี้อยู่ในใจหรือไม่? “ฉันทำบางอย่างผิดพลาด หรือ ฉันไม่ประสบความสำเร็จ หรือ ฉันไม่สามารถทำงานได้เต็มตามความสามารถที่มี หรือ ฉันทำงานได้ไม่ดี หรือ ฉันมองไม่เห็นความท้าทายใหม่ๆ หรือ ฉันไม่รู้สึกจูงใจในการทำงาน”

ถ้าท่านผู้อ่านเคยมีคำพูดเหล่านี้อยู่ในใจ แสดงว่าท่านผู้อ่านเคยผ่านช่วงเวลาหนึ่งแห่งชีวิตที่เรียกได้ว่าหาทางออกไม่เจอ ถึงทางตัน ซึ่งจริงๆ แล้วทางตันดังกล่าวก็ไม่ใช่ในเรื่องของการทำงานอย่างเดียวนะครับ เรื่องชีวิตส่วนตัวก็เช่นเดียวกันครับ ท่านเพียงย้อนกลับไปคิดดูแล้วท่านก็จะพบว่าท่านก็ได้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้กันมาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะเกิดขึ้นบ่อย บางท่านอาจจะไม่บ่อย

คำถามสำคัญต่อมาคือทำไมคนเราถึงได้มีอารมณ์หรือความรู้สึกในลักษณะดังกล่าวได้? เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุผิดปกติอะไรหรือเปล่า? สิ่งที่ Butler เขาค้นพบคือ ไม่มีสาเหตุที่แน่นอนหรือชัดเจนครับ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งกลับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญหรือจำเป็นต้องมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของคนเรา เรียกได้ว่าถ้ามาถึงจุดต่ำสุดแล้ว คนเราทุกคนก็ย่อมจะแสวงหาทางออกด้วยตนเองในการพลิกฟื้นให้ได้

ท่านผู้อ่านต้องอย่านึกถึงเจ้าทางตัน หรือช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเรื่องของความล้มเหลว หรือการขาดความสามารถของตัวท่านเองครับ แต่ควรจะมองว่าเป็นเสมือนสิ่งที่ธรรมชาติต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อให้เราได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการในการทำงาน เพื่อผ่าทางตันเหล่านั้นออกมาให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรายังคิด ทำงาน หรือ หาทางแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการเดิมๆ เราก็ไม่สามารถที่จะผ่าทางตันออกมาได้ ดังนั้นถ้าเรามองในอีกมุมหนึ่ง จังหวะหรือช่วงเวลาของชีวิตในช่วงดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาของแต่ละคน

มีการค้นพบว่าผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะเกิดภาวะเจอทางตัน มากกว่าผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มั่นคง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ล้วนแล้วแต่ สามารถนำไปสู่ทางตันของชีวิตได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ในปัจจุบันผมเริ่มพบกับผู้บริหารหลายท่านที่ได้รับ Package ให้ออกจากบริษัท หรือ พูดง่ายๆ ก็คือให้ออกนั้นเอง

เนื่องจากบริษัทประสบกับปัญหาการดำเนินงาน หรือ บริษัทไปควบรวมกับบริษัทอื่น หรือ บริษัทไม่เห็นถึงความจำเป็นของหน่วยงานเราอีกต่อไป หลายๆ ท่านที่เผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะเกิคความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือ รู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ก็ได้ แต่หลายท่านก็สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการแสวงหาช่องทางหรือแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน

ผมเองก็มีลูกศิษย์หลายคนครับที่ในขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงนี้เหมือนกัน เนื่องจากจบ MBA มาแต่ก็ยังหางานทำไม่ได้ (ไม่ได้เลือกมากด้วย) หรือ นิสิตปริญญาตรีบางคนจบมาด้วยเกรดที่สูง กลับหางานได้ช้ากว่าผู้ที่จบด้วยเกรดที่ต่ำกว่า ทำให้นิสิตเหล่านี้เริ่มกลับมาตั้งคำถามให้กับตัวเองเหมือนกันนะครับว่าเรียนมาสูงๆ เพื่ออะไร? หรือ จะตั้งใจเรียนให้ได้เกรดดีๆ เพื่ออะไร? เป็นต้น ซึ่งก็เรียกว่าเป็นช่วงที่เข้าสู่ทางตันของคนรุ่นใหม่เหล่านี้เหมือนกัน

ถ้าบางคนสามารถผ่าทางตันหรือพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ก็จะทำให้ตนเองมีการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นครับ บางคนหาทางออกโดยการบวชเรียน และมีทีท่าว่าจะไม่สึก หรือ บางคนแทนที่จะไปสมัครงาน ก็สร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา เอาไว้ในสัปดาห์หน้าเรามาดูกันนะครับว่านักวิชาการจากรั้ว Harvard เขามีข้อเสนออย่างไรในการผ่าทางตันแห่งชีวิต

-----------------------------------------------------------------

  การรับรู้และก้าวข้ามทางตัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เริ่มต้นไว้ด้วยเรื่องของทางตันของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านเคยประสบกันมา โดยในช่วงเวลาดังกล่าวภาวะทางจิตใจเราจะรู้สึกหดหู่ ทำงานใดๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งถึงทางตันที่หาทางออกไม่เจอ ซึ่งเป็นช่วงที่แต่ละคนจะรู้สึกแย่หรือตกต่ำที่สุด อย่างไรก็ดี ถ้ามองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง เราจะพบว่าการถึงทางตันนั้น กลับกลายเป็นจุดพลิกผันที่นำไปสู่ความสำเร็จของเราในขั้นต่อไปได้นะครับ เพียงแต่เราจะต้องเรียนรู้ มีกำลังใจ พร้อมจะเปิดใจให้กว้าง และแสวงหาโอกาสหรือแนวทางใหม่ๆ

เจ้าทางตันที่ว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นในหลายๆ สถานการณ์ครับ ทั้งชีวิตส่วนตัว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเรียนหนังสือ หรือในการทำงาน ในช่วงนี้ก็เชื่อว่ามีหลายท่านที่เริ่มเข้าสู่ภาวะดังกล่าว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้หลายองค์กรต้องลดหรือปลดจำนวนพนักงาน ในขณะที่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ หลายคน ก็ยังไม่ได้งานตามที่ตนเองอยากได้

เชื่อว่าในช่วงแรกบุคคลต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่จะมีความรู้สึกที่หดหู่ ขาดกำลังใจ มองหาทางออกไม่เจอครับ เพียงแต่ถ้าสามารถก้าวข้ามหรือก้าวผ่านทางตันนี้ไปได้ โอกาสพลิกผันหรือโอกาสก้าวหน้าก็ย่อมจะกลับมาอีกครั้งครับ

ในต่างประเทศเองเขาก็ได้มีการศึกษาเรื่องพวกนี้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะครับ มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Getting Unstuck เขียนโดย Timothy Butler ที่อธิบายถึงแนวทางในการก้าวข้ามทางตันที่เกิดขึ้นในจิตใจเราครับ โดยในหนังสือเล่มดังกล่าวเขาได้แนะนำขั้นตอนในการเผชิญหน้า และการก้าวข้ามทางตันไว้ทั้งหมดหกขั้นตอนครับ เราลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

ขั้นแรก เป็นช่วงที่เริ่มประสบกับปัญหาหรือวิกฤติครับ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มประสบปัญหาครับ เช่น สมัครงานเท่าไร ก็ไม่ได้งานซะที หรือถูกปลดออกจากบริษัทแล้วยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ เมื่อเราประสบกับขั้นนี้ก็มักจะดื้อ หรือมุมานะในการทำสิ่งเดิมต่อไปเรื่อยๆ เช่น พอสมัครงานไม่ได้ หรือ ไม่มีที่ไหนเรียก ก็ยังดิ้นรนส่งใบสมัครไปเรื่อยๆ ได้เห็นบัณฑิตบางคนส่งไปตั้ง 6-70 แห่งก็มีครับ

ขั้นที่สอง เป็นช่วงที่วิกฤติเริ่มลุกลามและลึกขึ้นเรื่อยๆ ครับ เราเริ่มพบว่าวิธีการเดิมๆ ที่ใช้หรือพยายามอยู่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใด ในขั้นนี้ที่เราจะเริ่มถึงทางตันอย่างชัดเจนแล้วครับ และสิ่งที่มักจะตามมา คือการวิจารณ์ตัวเองครับ ความมั่นใจในตัวเองหรือความเชื่อมั่นที่มีอยู่เริ่มหดหายไป เช่น ความมั่นใจที่สร้างขึ้นมาสมัยการเรียนหนังสือ จนกระทั่งได้เกรดดีๆ และปริญญาระดับสูง ก็เริ่มหดหายไป หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยกับตัวเองเหมือนกันว่า จะเรียนหนังสือดีๆ หรือสูงๆ ไปเพื่ออะไร

หรือบางคนก็เริ่มกลับมาคิดว่า จริงๆ แล้วตัวเองอาจจะเป็นคนไม่เอาไหนก็ได้ ความท้อแท้ ความหดหู่ ความรู้สึกว่าหาทางออกให้กับสิ่งต่างๆ ไม่ได้ ก็มักจะเป็นเอามากในช่วงนี้ครับ ที่นี้ความท้าทายก็คือท่านผู้อ่านจะต้องก้าวข้ามขั้นที่สองไปสู่ขั้นที่สามให้ได้ครับ เนื่องจากถ้ามัวแต่วนเวียนอยู่แต่ในขั้นที่สอง ก็จะกลายเป็นคนหดหู่ ท้อแท้ และสิ้นหวังไปเลย และสุดท้าย ก็จะหาทางออกให้กับชีวิตไม่เจอครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่เข้าสู่ขั้นที่สอง ต้องพยายามก้าวสู่ขั้นที่สามให้ได้นะครับ

ขั้นที่สาม เป็นขั้นที่เริ่มตระหนักว่า วิธีการหรือสิ่งเดิมๆ ที่คิดและทำอยู่นั้นไม่ได้ผลครับ เราเริ่มเปิดหู เปิดตา มองหาประสบการณ์ หรือทางเลือกใหม่ๆ จากขั้นที่สามก็ต่อเนื่องมายังขั้นที่สี่เลยครับ ซึ่งจะต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิด

โดยในขั้นที่สี่นั้น เป็นขั้นของการรับรู้ต่อข้อมูลใหม่ๆ และทำให้เราเริ่มมีกรอบความคิดหรือวิธีการคิดแบบใหม่ๆ มากขึ้น

ขั้นที่ห้า เป็นขั้นของการย้อนกลับมาสำรวจพิจารณาตัวเองมากขึ้น ทำให้เราเริ่มมีทัศนคติหรือมุมมองใหม่ๆ ต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งประสบการณ์มากขึ้น จะยิ่งทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ในขั้นนี้เราจะเริ่มรู้มากขึ้นว่า สิ่งใดที่เราทำแล้วมีความสุข สิ่งใดที่ทำแล้วมีความหมายต่อเรา นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้ว่าในสถานการณ์หรือสภาพการณ์แบบใดที่เหมาะสมกับเราที่สุด

เรียกได้ว่า ในขั้นนี้เป็นขั้นของการย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองเป็นสำคัญครับ และผลจากการพิจารณาตัวเอง ก็ทำให้เราทราบว่าควรจะ หรือต้องทำอะไร เพื่อก้าวข้ามทางตันในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วในขั้นที่ห้านั้นก็เป็นเหมือนกับนำหลักในเรื่องของการจูงใจเข้ามาใช้ครับ

ขั้นสุดท้ายหรือขั้นที่หก เป็นขั้นของการนำสิ่งที่คิดจะทำหรือวางแผนไว้ไปปฏิบัติจริงๆ ครับ จากการที่เราเผชิญกับทางตัน และทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสหรือทางเลือกใหม่ๆ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยครับ ถ้าสิ่งใหม่ๆ ที่มองหรือแสวงหานั้น จะไม่ได้รับการนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ เช่น ถ้าหางานทำไม่ได้ เราอาจจะย้อนกลับมาพิจารณาสิ่งที่ตนเองชอบและอยากจะทำ และแทนที่จะไปทำงานเป็นลูกจ้างผู้อื่น เราอาจจะเริ่มทำกิจการของตัวเองในสิ่งที่ตัวเองถนัดแทน

ซึ่งกระบวนการคิดนั้นจะจบลงที่ขั้นที่ห้า แต่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีการนำไปปฏิบัติในขั้นที่หกครับ

เนื้อหาในสองสัปดาห์นี้ อาจจะจับต้องได้ลำบากนะครับ แต่ข้อความสำคัญที่อยากจะสื่อถึงท่านผู้อ่านทุกท่าน คือเมื่อเผชิญวิกฤติหรือสิ่งที่คิดว่าเป็นทางตันแห่งชีวิตแล้ว อาจจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับท่านในการพิจารณาตัวเอง และหาทางเลือกและโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งสุดท้าย ก็จะเข้าสู่ปรากฏการณ์ ที่เราเรียกว่า "พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส" ได้นะครับ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้อคิดชีวิต
หมายเลขบันทึก: 366157เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2010 03:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท