Humanized Health Care คืออะไร


Humanized Health Care แตกต่างจาก Holistic Care อย่างไร

Humanized Health Care คืออะไร

 

      โรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพด้วยระบบ Hospital Accreditation:HA ของ พรพ.ได้กำหนดให้การดูแลผู้ป่วยครบองค์รวมหรือที่เรียกว่า Holistic Care เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์หรือพันธกิจหรือมาตรฐาน  เมื่อโรงพยาบาลต่างๆได้ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพไปแล้วระดับหนึ่ง มีความสามารถที่จะประเมินและให้การดูแลผู้ป่วยด้านร่างกาย   จิตใจ และสังคมอย่างดีแล้ว   จึงพบว่าเริ่มติดขัดที่การประเมินและดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ  ดังที่เรียกว่า Spiritual Care   นำไปสู่คำถามที่ว่า Holistic Care คืออะไร

          หากเราพิจารณาการให้บริการแบบแยกส่วน เราจะพบว่าแพทย์มักรับผิดชอบการดูแลทางร่างกายหรือทางชีววิทยาคือ Biological Care  พยาบาลมักจะมีความสามารถดูแลด้านจิตใจและสังคมไปพร้อมกันคือ Psychosocial Care หากต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะ  นักจิตวิทยาช่วยได้เรื่อง Psychological Care นักสังคมสงเคราะห์ช่วยได้เรื่อง Social Care  และจิตแพทย์ช่วยได้เรื่อง Psychiatric Care  อย่างไรก็ตามการดูแลผู้ป่วยแบบแยกส่วนมิใช่สิ่งพึงปรารถนาของระบบสุขภาพ อันที่จริงแล้วผู้ให้บริการทุกคนควรมีความสามารถให้บริการด้วย Holistic Care คือดูแลผู้ป่วยครบองค์รวม

          เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า Holistic Care จึงปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยครบองค์รวมไม่ได้   นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ(สวสส.) ได้บัญญัติคำศัพท์ใหม่คือ Humanized Health Care หรือการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  ศ.นพ.ประเวศ วะสีได้ช่วยขยายความและปาฐกถาในหลายโอกาสและสถานที่ รวมทั้งผลักดันให้เครือข่ายสุขภาพขับเคลื่อนการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างคึกคัก นำไปสู่คำถามว่าการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์คืออะไร รวมทั้ง Humanized Health Care แตกต่างจาก Holistic Care อย่างไร   เป็นคำถามที่ผู้คนในระบบสุขภาพสามารถช่วยกันหาคำตอบได้

          Humanized Health Care ควรมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ข้อ ข้อแรกคือความสามารถในการมองเห็นองค์รวม ข้อสองคือความสามารถในการมองเห็นมนุษย์ และข้อสามคือความสามารถในการมองเห็นความทุกข์

          ข้อแรก ความสามารถในการมองเห็นองค์รวม  เรื่องนี้คุณหมอโกมาตรได้ยกตัวอย่างที่ดีมากคือเรื่องดอกไม้  เวลาถามว่าดอกไม้ประกอบด้วยอะไร คนส่วนใหญ่มักตอบว่าประกอบด้วยก้านดอก  กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เรามักลืมว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของดอกไม้คือความงาม  อาจจะเพิ่มเติมว่ามีกลิ่นหอมและสัญลักษณ์ของความรักร่วมด้วย  เราจะมองเห็นความงามของดอกไม้ได้เราต้องมีความสามารถที่จะมองเห็นองค์รวม ในทำนองเดียวกันเราจะมองเห็นผู้ป่วยทั้งคนได้โดยไม่แยกส่วนเป็นอวัยวะหรือแม้กระทั่งแยกส่วนเป็นวิชาชีพ เราก็ต้องมีความสามารถที่จะเห็นองค์รวมเช่นกัน   

          ข้อสอง ความสามารถในการมองเห็นมนุษย์ เรื่องนี้คุณหมอโกมาตรได้ยกตัวอย่างที่ดีมากอีกเช่นกันคือเรื่องการฟังเสียงหัวใจ  เวลาคุณหมอใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจ   ผู้ป่วยบางรายจะชอบพูด  คุณหมอบางท่านก็มักจะขอให้ผู้ป่วยเงียบก่อน  อาจจะเพราะเสียงพูดนั้นดังรบกวนการตรวจหรืออาจจะเพราะยังมีผู้ป่วยรอตรวจอีกมากไม่มีเวลาจะฟัง  จะด้วยเหตุใดก็ตามเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยากจะพูด  แต่คุณหมอยังไม่อยากจะฟัง เพราะเราถูกฝึกมาให้เก็บข้อมูล  เราต้องการฟังเสียงของอวัยวะคือหัวใจ  แต่ไม่ฟังเสียงของมนุษย์    

          ข้อสามคือความสามารถในการมองเห็นความทุกข์   เคยมีคุณแม่ท่านหนึ่งอุ้มลูกอายุ 3 ปีซึ่งเป็น Cerebral Palsy  ไปที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเพื่อขอใบรับรองความพิการ  ตามกฎแล้วแพทย์มีหน้าที่ออกใบรับรองความพิการทางสติปัญญาเมื่อพบว่าเด็กมีไอคิวน้อยกว่า 70 นายแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนก็ทำตามกฎ  เมื่อไม่สามารถตรวจไอคิวได้จึงส่งผู้ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาลศูนย์เพื่อพบกุมารแพทย์  กุมารแพทย์ก็ทำตามกฎจึงส่งมาที่จิตแพทย์   จิตแพทย์มีทางเลือก 2 ทางเลือก ก.ทำตามมาตรฐานคือส่งพบนักจิตวิทยาเพื่อตรวจไอคิวซึ่งคิวจะยาวประมาณ 1 เดือน   แม่และเด็กอาจจะต้องมาพบนักจิตวิทยาอีก 1-3 ครั้งแล้วแต่กรณี  ซึ่งน่าจะสร้างความทุกข์ยากให้แก่แม่และเด็กอีกเป็นอันมาก  ทางเลือก ข.คือดูด้วยสายตา สัมภาษณ์ประวัติเพิ่มเติมแล้วออกใบรับรองแพทย์เลย เพราะอย่างไรเด็กก็แขนขาลีบเดินไม่ได้อยู่แล้ว  มีสิทธิได้รับใบรับรองความพิการเรื่องแขนขา รวมทั้งอนุมานได้ว่าสติปัญญาบกพร่องแน่ จะเห็นว่าบางครั้งการทำตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานสามารถสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ     ความสามารถที่สำคัญของผู้ให้บริการจึงน่าจะเป็นความสามารถที่จะสัมผัสความทุกข์ของผู้ป่วย

          ตัวอย่างเรื่องใบรับรองความพิการนี้เป็นสากล ในการประชุม “ระดมพลังเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้เต็มทุกอำเภอ”  ซึ่งจัดโดยแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และ สสส. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 นั้น ในตอนท้ายของการประชุม พยาบาลท่านหนึ่งจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งลุกขึ้นเล่าเรื่องความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อให้ผู้ป่วยรายหนึ่งได้รับใบรับรองความพิการว่าแสนเข็ญเพียงใด   จนกระทั่งร่ำไห้กลางที่ประชุมนั่นเอง

          ความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือ illness ไม่ควรหมายถึงโรคหรือ disease เท่านั้นแต่ควรหมายรวมถึงทุกข์ผู้ป่วยหรือ suffering ด้วย  และดังที่ทราบกันว่าโรคหรือ disease จำนวนมากเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดไม่ได้คือไม่ cure อย่างมากก็เพียงทุเลาหรือสงบคือ remission   ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ    การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากเหล่านี้ให้หายขาดได้  ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถบำบัดทุกข์ผู้ป่วยด้วย  การที่ผู้ให้บริการพุ่งความสนใจไปที่ตัวโรคแต่เพียงอย่างเดียว แล้วละเลยทุกข์ผู้ป่วยทำให้เกิดความเครียดในระบบสุขภาพอย่างมาก   เป็นทุกข์ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

          คำศัพท์เช่น Humanized Health Care ช่วยให้เราเข้าใจ Holistic Care มากยิ่งขึ้น เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าองค์รวม เห็นความสำคัญของการมองผู้ป่วยเป็นคนทั้งคน และเห็นความสำคัญของความสามารถที่จะสัมผัสทุกข์ผู้ป่วยรวมทั้งคิดเรื่องบำบัดทุกข์ผู้ป่วย

         

                             ที่มา...จากblock นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์  

                                          

 

คำสำคัญ (Tags): #humanized health care#holistic care
หมายเลขบันทึก: 366095เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 04:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท