ความสำเร็จของวงศ์ (กรณีชีวิตเด็ก)


ความสำเร็จของ “วงศ์”

                เมื่อมีมหาวิทยาลัยตั้งขึ้น พื้นที่รอบๆ ก็ก้าวสู่ความเจริญทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านจำหน่ายข้อสอบ สถาบันกวดวิชา สถานเริงรมย์ หอพัก ศูนย์การค้า ศูนย์การแพทย์ ทำให้ข้างถนนและทุกตรอกซอกซอยแน่นขนัดไปด้วยบ้านเรือนและผู้คนทั้งที่อยู่อาศัยและสัญจรไปมา

ครั้นอาณาบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างแล้ว การขยับขยายเปิดพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างที่พักอาศัยก็เกิดขึ้นอย่างมากมาย ความต้องการ “แรงงงานก่อสร้าง” จึงทวีสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบครัวของ “วงศ์” ก็เฉกเช่นคนงานก่อสร้างทั้งหลายที่ไหลบ่าเข้ามาหางานทำย่านนี้ เช่นเดียวกับ “โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” ที่เปิดดำเนินการขึ้นเพื่อจัดการศึกษาสำหรับลูกคนงานก่อสร้าง ก็รุกสำรวจเข้ามาถึงที่นี่เช่นกัน

                เมื่อประสานพูดคุยกับบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างจนเข้าใจแล้ว “ศูนย์เด็กก่อสร้าง” ก็ถูกสร้างขึ้น ณ แหล่งชุมชนบ้านพักคนงานก่อสร้างที่อยู่กันหนาแน่นที่สุด เพราะมีเด็กๆ ที่อพยพติดตามพ่อแม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก

               ตั้งแต่เช้าจรดเย็นที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ลูกหลานจะถูกพามาที่ศูนย์ฯ โดยมีครูสองคนทำหน้าที่ดูแลและสอนเรียนเขียนอ่าน เสียงอ่าน เสียงร้อง เสียงท่องของเด็ก ประสานแข่งกับเสียงเครื่องจักร เสียงตอกตะปูและเสียงตะโกนของเหล่าคนงานที่ดังเป็นระยะๆ

              เมื่อศูนย์ฯเปิดได้สามเดือนเศษ หญิงคนงานก่อสร้างคนหนึ่งก็พาลูกสามคนชายสองหญิงหนึ่งเข้ามาหาครูเพื่อฝากให้ดูแล เพราะเพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในแหล่งงานที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนใหญ่ห่างออกไปราว 300 เมตร

             ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษา  แม่จะพา “วงศ์” และน้องอีกสองคนข้ามมาส่งที่ศูนย์ฯทุกเช้าและมารับกลับเมื่องานแล้วเสร็จลงในยามเย็น หากวันไหนไม่มีงานทำเธอก็จะมานั่งที่ศูนย์ฯดูแลลูกและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกในบางครั้ง

            เมื่องานก่อสร้างหมดลง พ่อแม่ของ “วงศ์” จะพยายามหางานก่อสร้างทำในย่านนั้น เหตุผลเพื่อต้องการให้ลูกได้เรียนหนังสือ แม้จะอยู่ห่างไกลออกไปบ้าง เธอก็ยังทำหน้าที่มาส่งและรับลูกกลับเป็นปกติเรื่อยไป ซึ่งต่างจากครอบครัวคนงานก่อสร้างจำนวนหนึ่ง ที่ใส่ใจให้ลูกได้เรียนรู้น้อยมาก เมื่องานหมดก็ย้ายหาแหล่งงานใหม่ไปเรื่อยๆ ขาดการวางแผนชีวิตเพื่อลูกหลานในอนาคต

           ปัญหาพ่อแม่ต้องแยกย้ายเปลี่ยนแปลงแหล่งทำงาน มีผลโดยตรงกับลูกคนงานก่อสร้างที่ได้เรียนไม่ต่อเนื่อง เพราะต้องย้ายตามออกไป ครูในศูนย์ก่อสร้างหลายแห่งจึงประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผลลงเอยด้วยการเช่าบ้านหลังหนึ่ง ให้ชื่อว่า “บ้านอุปถัมภ์เด็ก” เปิดขึ้นสำหรับลูกคนงานก่อสร้างเข้ามาใช้ชีวิตประจำและเรียนรู้ที่นี่ โดยมีเงื่อนไขให้พ่อแม่ต้องมารับลูกกลับไปพักอยู่ด้วยกันตั้งแต่เย็นวันศุกร์และมาส่งคืนในเย็นวันอาทิตย์

          “วงศ์” และน้องอีกสองคนได้เข้ามาอยู่ที่บ้านนี้เป็นกลุ่มแรกพร้อมกับเด็กๆ คนอื่นอีก 40 ชีวิต ครูที่บ้านฯจะจำแนกรายละเอียดของเด็กแต่ละคน ใครพอจะเข้าโรงเรียนได้ก็พาไปสมัครเข้าเรียน ใครโตเกินเกณฑ์ไปมากก็ให้เรียน กศน.

           เหตุเพราะวงศ์อายุ 11 ปี จะไปเข้าเรียนประถมปีที่หนึ่งก็โตเกินไป ความเป็นเด็กโข่ง อาจจะกลายเป็นปมด้อยได้  ถ้าไปเรียนร่วมกับเด็กวัย 6-7 ขวบ  เขาจึงต้องเรียน กศน.เมื่อเรียนนอกระบบเช่นนี้ เด็กเช่นเขาก็ตั้งใจเรียนและสอบผ่านได้ไปทีละระดับ กระทั่งจบมัธยมปลาย จึงขอครูไปสมัครเข้าศึกษาต่อที่สถาบันราชภัฎพระนครภาคกลางคืน โดยเช้าถึงเย็นขอสมัครเป็น “ผู้ช่วยครู” ออกไปดูแลเด็กๆ เร่ร่อนตามถนนหนทางทั่วไป

           สี่ปีกับการทำงานทั้งวันและเรียนต่อในยามค่ำคืน เขาก็ฟันฝ่าจนสำเร็จเป็นบัณฑิตได้ท่ามกลางความยินดีของพ่อแม่และครูทุกคน อ่านมาถึงจุดนี้อาจจะรู้สึกว่าชีวิตของเขาเรียบง่ายปกติธรรมดาๆ ไม่มีช่วงชีวิตที่ต้องทุกข์ยากแสนสาหัสหรือต้องตกเป็นข่าวว่าถูกทำร้ายทารุณอะไรต่างๆนานา หรือเศร้าสะเทือนใจมากนัก

          แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่น่าคิดยิ่งก็คือ หากพ่อแม่ของเขาไม่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาหรือไม่มี “ศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” ไปเปิดในย่านนั้น วันนี้อาจไม่มีบัณฑิตคนนี้ แต่จะมีคนงานก่อสร้างอีกคนที่เพิ่มขึ้นมา

         นี่คือตัวอย่างที่บ่งชี้อย่างชัดเจน หากเด็กด้อยโอกาสมี “โอกาสที่ดี” แล้ว พวกเขาย่อมมีโอกาสเติบโตขึ้นมาพึ่งตนเองได้แน่ในอนาคต ดังนั้น ขอเรามาร่วมกันขยายโอกาสให้แก่เด็กๆ กันเถิด

 

 

หมายเลขบันทึก: 365434เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมเคยคุยกับเด็กในสถานพินิจ เขาบอกว่า อยู่ในนั้นยังมีข้าวกิน อยู่กับพ่อแม่บางวันไม่มีข้าวกิน
  • พ่อแม่บางคนก็เลยเอามาฝากสถานพินิจเลี้ยง อันนี้ผมต่อเองครับ ขำไม่ออก

อาจารย์เต็มศักดิ์ครับ ที่ได้ยินจากเด็กพูดนั้นก็จริงละครับ แต่หากเด็กถูกกักไว้นานๆ อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ว่า ชีวิตที่เป็นอิสระนั้น มีความหมายมากกว่าอาหารภายในนั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท