กว่าแอนและน้องจะพูดได้ (กรณีชีวิตเด็ก)


กว่าแอนและน้องจะพูดได้

             จากหัวลำโพง ต้นทางแห่งรางเหล็กหลายคู่ที่ได้ทอดยาวผ่านออกไป ก่อนจะค่อยๆ แยกสู่ทิศทางต่างๆ เพื่อพาขบวนรถไฟสายยาวเหยียดที่บรรทุกผู้คนหลายร้อยพัน เดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทาง
            หากใครสนใจสังเกตสักนิด เมื่อรถไฟแล่นผ่านจากหัวลำโพง บางซื่อ สามเสน บางเขน หลักสี่ ดอนเมืองและย่านรังสิตไปสักเล็กน้อย จะเห็นชุมชนปลูกสร้างง่ายๆ ริมทางรถไฟสายนั้นที่เหล่าคนจรย้ายถิ่นหลายร้อยชีวิตปักหลักอยู่ที่นั่น เริ่มจากหนึ่งเป็นสองเป็นสามและขยับเป็นหลักสิบหลักร้อยชีวิต รวมเข้าเป็นหลักสิบหลักร้อยครอบครัว
           เมื่อ “ครูชุมชน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” ได้สำรวจตรวจพบไปถึงที่นั่น  ความปิติยินดีได้เกิดขึ้นเต็มเปี่ยม เพราะผู้คนในชุมชนได้ให้การต้อนรับขับสู้ด้วยดี เมื่อรับรู้ถึงภารกิจที่ “ครูชุมชน” ก้าวย่างเข้ามาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานของพวกเขา ความไว้เนื้อเชื่อใจและการทำงานร่วมกันจึงเกิดขึ้น เวลาเพียงเดือนเศษกับการทำความเข้าใจกับเด็ก การตระเตรียมหลักฐาน การประสานที่เรียน การจัดหาเสื้อผ้าชุดนักเรียน ผนวกกับ “ทุนการศึกษา” ที่ได้จากผู้มีจิตศรัทธามอบผ่าน “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” เด็กๆ ยี่สิบกว่าชีวิตได้เข้าศึกษาเล่าเรียนทันเวลาตามสิทธิพื้นฐานที่พวกเขาจะต้องได้รับ
           แต่ที่ “ครูชุมชน” ต้องทำงานอย่างหนักและต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ก็คือครอบครัวของ “แอน” เด็กหญิงวัย 10 ปี กับน้องสาวอีกสอง “แอ้ว” วัย 8 ปีและ “เอี้ยง” วัย 5 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบๆ กับพ่อแม่ที่เป็นใบ้ “พูดไม่ได้”
           สิ่งที่น่าห่วงใยในเบื้องต้น คือความยากไร้ของครอบครัวที่พ่อทำงานคนเดียวด้วยการ “ร้อยมาลัย” ขาย แม่ติดการพนันไม่ทำงานทำการ รายได้ที่มาจากแรงงานของคนๆเดียวจึงน้อยนิด  ความผ่ายผอมจึงเกาะติดลูกสาวทั้งสามมาโดยตลอด แต่ที่ต้องสะท้อนใจอย่างหนักก็คือ “การพูดไม่ได้” ของเด็กหญิงทั้งสาม มีเพียงแต่เสียงอ้อๆแอ้ๆและทำมือไม้ประกอบการสนทนา
          ยิ่งเน้นช้ายิ่งน่าห่วง “ครูชุมชน” ตัดสินใจพาเด็กทั้งสามไปพบแพทย์เพื่อค้นหาความผิดปกติ ผลแห่งการตรวจอย่างละเอียดพบว่าสาเหตุนั้นอยู่ไม่ห่างไกลเลย เพราะมาจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อและแม่ที่เป็นใบ้และการสื่อสารที่ไร้ภาษาพูดปกติมาตั้งแต่เกิด
         “ความหวัง” เกิดขึ้นแล้ว ครูประสานทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของเด็ก บอกให้เข้าใจถึงพื้นฐานสำคัญที่เด็กๆ ต้องออกมาจากบ้าน มาใช้ชีวิตอยู่ประจำที่ “บ้านอุปถัมภ์เด็ก มูลนิธืสร้างสรรค์เด็ก” เพื่อจะได้เข้าเรียนเหมือนเด็กๆ คนอื่นๆ และสิ่งสำคัญยิ่งนักก็คือ เธอทั้งสาม “ต้องฝึกพูด”กับแพทย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการได้อยู่ร่วมกับเด็กๆคนอื่น ได้เล่นด้วยกัน ได้ร้องเพลง ได้ทะเลาะ ได้พูดคุย ซึ่งล้วนแต่เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ “ได้ใช้ภาษาพูดทุกวัน”
         สามปีแรกที่“แอน”พี่สาวคนโตต้องเดินทางไปฝึกพูดเบื้องต้นกับผู้เชี่ยวชาญที่ “โรงพยาบาลภูมิพล” ทุกสัปดาห์ๆ ละครั้ง และอีกสี่ปีต่อมาที่ต้องเดินทางไปเดือนละครั้งสำหรับการเน้นให้ออกเสียงชัดเจนขึ้น ส่วนน้องสาวทั้งสอง “แอ้วและเอี้ยง” ใช้เวลาห้าปีเศษสำหรับการฝึกพูดและเน้นเสียง
         ระยะเวลาที่ผ่านพ้นไปภายใต้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ความมุ่งมั่นของครูที่ “บ้านอุปถัมภ์เด็ก”  และความพยายามของเด็กหญิงทั้งสาม พวกเธอทำได้สำเร็จ พูดได้มากขึ้น ดีขึ้น สื่อสารโต้ตอบอย่างได้ใจความ
         สามชีวิตวัยเด็กในโลกไร้เสียง เปลี่ยนมาสู่ชีวิตใหม่ที่ใช้เสียงสื่อเป็นภาษาโต้ตอบได้คือความสุขของผู้รับ ผู้ได้ช่วย ผู้ได้รับรู้เรื่องราว ทำให้อดหวนนึกย้อนกลับไปไม่ได้ว่า “หากไม่มีวันนั้น วันที่ครูชุมชนไปพบ” ชีวิตทั้งสามในวันนี้จะอยู่ในสภาพเช่นไร
 

  
หมายเลขบันทึก: 365431เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วหดหู่ ไม่มีความคิดเห็น ... สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ... ขออนุญาต ใช้คำของ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

Learn How to Learn ... เรียนรู้ วิธีเรียนรู้

คุณต้นตอครับ ที่เขียน ไม่มีเจตนาให้อ่านแล้วหดหู่เลย ความต้องการคือหวังจะเห็นมนุษย์ชาติเห็นอกเห็นใจและให้โอกาสคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท