KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๖๔. KM โรงเรียนบางละมุง



          โรงเรียนบางละมุงใช้กระบวนการ KM เพื่อบรรลุความสำเร็จในหลากหลายเป้าหมาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน   และในการยกระดับชื่อเสียงของโรงเรียน  

          คณะของโครงการจัดการความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของเด็กละเยาวชน นำโดย อ. อิทธิพล ปรีติประสงค์ (อ. โก๋) แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล   ไปเยี่ยมโรงเรียนบางละมุง จ. ชลบุรี เมื่อวันที่ ๗ พ.ค. ๕๓   โดย อ. โก๋ ทราบกิตติศัพท์ความสำเร็จของ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของโรงเรียน   ในการส่งเสริและพัฒนาเด็กให้ใช้ ICT กว่า ๑๐ โครงการ  อาทิ ห้องเรียนถ่ายทอดสด  ห้อง E-learning  ห้องมัลติมีเดีย  โครงการโปรแกมเมอร์ตัวน้อย  เฟื่องฟ้ามีเดีย  อินเทอร์เน็ตมุมตึก   เยาวชนที่ผ่านโครงการบางคนได้รับรางวัลระดับประเทศ   บางคนนำไปประกอบอาชีพได้

          เราไปหาเงื่อนไขความสำเร็จนี้

          แล้วผมก็เจออย่างจัง ... KM ครับ   ผมตีความว่าทีมครูโรงเรียนบางละมุง ที่นำโดย อ. ชัฏ ตระกูลสินทอง หัวหน้าหน่วยเทคโนโลยี ใช้ KM เป็นเครื่องมือสร้างระบบเรียนรู้ ในการพัฒนาระบบ ICT ขึ้นใช้พัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาครู พัฒนานักเรียน และพัฒนาชื่อเสียงของโรงเรียน

          ต้องไปฟังการนำเสนอของ อ. ชัฏ เองนะครับ   จึงจะได้ร่องรอยของ KM Inside งานพัฒนา ICT ของโรงเรียนบางละมุง ที่ดำเนินการมา ๖ ปี   จนไม่มีครูคนใด (ไม่ว่าอายุจะมากเพียงใด) ใช้คอมพิวเตอร์และ อินเทอร์เน็ต ไม่เป็น   เพราะเขาจัดให้นักเรียนกับครูเป็นบั้ดดี้กัน   มอบการบ้านให้นักเรียนสอนครูให้เป็น   โดยมีคะแนนให้แก่นักเรียน   ครูจึงอาศัยลูกสงสารนักเรียน ฮึดมานะพยายามเรียนจนเป็น   ผมขอ ppt ที่ อ. ชัช ใช้นำเสนอแก่พวกเรามาฝากด้วย ดูได้ที่นี่

          Virtual Space ของการ ลปรร. เขาใช้ www.think.com    ที่ใช้โปรแกรม ThinkQuest ของ Oracle ที่คณะครูและนักเรียนของโรงเรียนบางละมุงพัฒนาโปรแกรม social web ของโรงเรียนขึ้นเอง และมีการปรับอยู่ตลอดเวลา   ทำให้โรงเรียนบางละมุงมี web 2.0 ใช้สำหรับการเรียนการสอนของครูและนักเรียน   นักเรียนส่งการบ้านบนเว็บ   ครูตรวจการบ้านบนเว็บ   โดย ThinkQuest ไม่อนุญาตให้ตัดแปะ   และมีกติกาเคารพลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด   รายละเอียดมีมากมาย   ผมเสียดายที่ผมกลับมาเข้าชมระบบ ICT นี้ของโรงเรียนบางละมุงไม่ได้   เพราะเขาออกแบบให้เป็นชุมชนปิด   เข้าได้เฉพาะครู หรือสมาชิกของโรงเรียนเท่านั้น   เข้าใจว่าเพื่อคุ้มครองเด็กให้ไม่ถูกทำให้วอกแวกโดยเสือร้ายในอินเทอร์เน็ต   แต่ผมก็ยังเข้าไปแอบดูได้นิดหน่อยที่นี่   ดูแล้วผมนึกถึง TQF ว่านี่คือตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่ดี ที่ผู้สนใจ TQF มาเรียนรู้ได้   เขามีบันทึกไว้แม้เกณฑ์ประเมินผลการเรียนรู้

          เข้าใจว่าโรงเรียนนี้ไม่รู้จัก KM   เขาใช้ KM โดยไม่รู้จักมัน 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๘ พ.ค. ๕๓
    
                           
        

 

 อ. ชัฏ กำลังอธิบาย hardware ของห้องสอนด้วย ICT ที่ประกอบกันเอง

 

ห้องสอนด้วย ICT ที่มี ๔ ห้องต่อกัน สอนเป็นทีมโดยครู ๕ คน

 

บรรยากาศในห้องเรียน ICT ที่ดัดแปลงเป็นห้องนำเสนอต่อคณะดูงาน

 

นักเรียนชั้น ม. ๖ นำเสนอโครงการเทคโนโลยีพี่สอนน้อง โดยนักเรียนอาสาสมัครชั้น ม. ๕  สอนเด็กต่างโรงเรียน

หมายเลขบันทึก: 364635เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

ท่านอาจารย์โรงเรียนบางละมุงเก่งมากเลยครับ

ขอชื่นชมครับ...

ขอชื่นชม...จากใจจริงค่ะ เก่งมากๆเลยค่ะ สมเป็นครูเกษตรหัวใจ IT จริงๆ ค่ะ

ยอดเยื่อมมาก ดิฉันจะส่งลูกมาต่อม.4ที่นี่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท