การเยียวยาสังคม


          เมื่อวันที่ ๓ มิ.ย. ๕๓ มีการเสวนากลุ่มเล็กๆ ที่ สกอ. ว่าอุดมศึกษาจะเข้าไปมีส่วนเยียวยาความเจ็บป่วยแตกแยกของสังคมไทยได้อย่างไร   ผมจึงได้มีโอกาสได้รื้อฟื้นประสบการณ์เก่า   คือวิธีการที่ทีม รร. รุ่งอรุณ/สถาบันอาศรมศิลป์ใช้เยียวยาชุมชนอูรักลาโว้ยที่เกาะลันตาใหญ่ จ. กระบี่ ที่ผมเล่าไว้ที่นี่   และคุณมิรา ชัยมหาวงศ์บันทึกไว้ที่นี่  และที่นี่   และสามารถดาวโหลดรายงานผลการดำเนินการได้ที่นี่ 

          ผู้เสนอวิธีการในที่ประชุมคือ รศ. ประภาภัทร นิยม ผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาวิธีการที่นักวิชาการเข้าไปเยียวยาสังคม โดยเน้นการไปรับฟัง ไม่ใช่เน้นไปช่วยเหลือ   ไม่เน้นการเอาสิ่งของหรือเงินไปให้

          จากการรับฟัง ได้สิ่งดีๆ ที่เป็นจุดเล็กๆ ที่มีค่าต่อสังคมหรือชุมชนของเขา   ที่จะต่อยอดโดยการรวมตัวหลายๆ จุดดี   เพื่อรวมตัวกันช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือกันเอง    สร้างชุมชนสร้างอนาคตที่ยั่งยืน   เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก    ไม่มุ่งพึ่งพิงคนอื่นหรือหน่วยงานภายนอกเป็นหลัก   ทีมเยียวยาทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ไม่ใช่ทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ   เน้นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน   ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเทวดามาโปรด

          ทีม “คุณอำนวย” เข้าไปรับฟัง จับเรื่องราวดีๆ เอามาสื่อสาร   เพื่อนำไปสู่จินตนาการร่วมของชุมชน   ว่าต้องการร่วมกันทำอะไรเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข   ให้ลูกหลานอยู่รอดอย่างมีความสุข   โดยไม่ต้องแบมือขอ (ความช่วยเหลือ) จากใคร   แล้วร่วมกันดำเนินการ 

          เป็นรูปแบบหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษาจะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายไปดำเนินการ    โดยใช้เงินงบประมาณน้อยมาก   ทำจากทีมเล็กๆ แล้วก่อตัวเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

          “คุณอำนวย” ผู้รับฟังและสื่อสาร ต้องมีทักษะในการเปิดฉากคุย รู้วิธีตั้งคำถาม   รู้วิธีสร้างความสนิทสนม และเปิดใจชาวบ้าน   จึงต้องมีการฝึก แล้วลงมือปฏิบัติจริง

          แต่ละมหาวิทยาลัยมีทีมประสานงานกลาง ๒ – ๓ คน    มีทีม “คุณอำนวย” หรือ “ผู้ประสานเครือข่ายชุมชน” ซึ่งอาจเรียกสั้นๆ ว่า “คุณประสาน” ในเบื้องต้นสัก ๑๐ คน   แยกย้ายกันไปทำงานและกลับมา AAR กันทุกๆ ๒ – ๓ วัน   เพื่อหาวิธีทำงานที่มีพลัง

          มีการกำหนดหน้าที่ วิธีทำงาน (และสิ่งที่ห้ามทำ) และคุณสมบัติ/ทักษะ ที่ต้องการ ในการทำหน้าที่ “คุณประสาน”   และจัด workshop อบรม

          ดำเนินการในทุกจังหวัด   จังหวัดไหนมีหลายมหาวิทยาลัยก็มาตกลงกันว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร

          หลายจังหวัดรวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาค   และเครือข่ายประเทศ   มีการนำเอาเรื่องราวดีๆ   ที่สะท้อนความสำเร็จของชุมชนในการรวมตัวกันพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ ธุรกิจ  หรือเอาชนะอุปสรรค/ปัญหา   ออกเผยแพร่ใน web 2.0 ด้วยชาวบ้านเอง หรือลูกหลานของชาวบ้าน   แล้วสื่อมวลชนเข้าไปเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจมาเผยแพร่ต่อ  

          อาจารย์มหาวิทยาลัย ออกไปใช้เวลาทำงานบริการสังคม ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาระงาน   และมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเป็นผลงานวิชาการ  

          นักศึกษาก็ออกไปเรียนรู้กับชาวบ้าน   นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาออกไปหาโจทย์วิจัยจากกิจกรรมเหล่านี้   เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหรือโท

          อุดมศึกษาจะกลับทิศ   เปลี่ยนจากเน้นต่อท่อดูดความรู้มาจากต่างประเทศเอามาสอน   กลายเป็นเน้นสร้างความรู้จากแผ่นดินแม่ จากกิจกรรมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน  

          เป็นโอกาสที่เกิดจากวิกฤตใหญ่   วิกฤตความแตกร้าวลึกในสังคม   ต้องการการเยียวยาที่เน้นยาเย็นยาประสานที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องและทำร่วมกันได้โดยไม่ถือสี ไม่ถือกลิ่น   ไม่มีการเข้าไปเอาหน้าแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง 

          เป็นโอกาสใหญ่ ของอุดมศึกษาไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช
๔ มิ.ย. ๕๓
                        

หมายเลขบันทึก: 364629เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

    กระผมได้อ่านข่าวนี้ก็รู้สึกชื่นใจครับผม หากสังคมช่วยกันต่อเติมไปทีละก้าว แม้ต้องใช้เวลาหน่อย เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นทางที่ประเสริฐ และยั่งยืน การศึกษาไกลจากวิถีชีวิตเกินไป สร้างผลเสียหายมากมาย จนสังคมแตกร้าวลึก ทรัพยากรพัง สภาพแวดล้อมแปรปรวน ต้องใช้วิกฤตนี้เรียนรู้ เพื่อหาโอกาสเลือกทางที่ดีและยั่งยืน กระผมได้อ่านข่าวนี้ก็อ่านด้วยความชื่นใจ สิ่งที่กระผมทำการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านกับครอบครัวและเครือญาติ ก็พร้อมจะช่วยกันดำเนินไปตามแนวทางนี้ครับผม  ที่ผ่านมาเราทำลายระบบทรัพยากรมากแล้ว หากทำไปมากกว่านี้ ทรัพยากรที่พึ่งตัวเองได้จะขาดแคลน และขาดการพึ่งตัวเองได้ อาจจะต้องเสียที่นา ที่ดิน ล้มหายตายจากไปจากระบบ เรียนอีกครั้งว่า เป็นข่าวที่ชื่นใจครับผม ก้าวแรกก็อาจจะยากหน่อย เอาหลักอิทธิบาท 4 กับความเมตตา ด้วยความรู้ที่ใช้ได้จริงการจัดการ ดิน น้ำ พืช (สมุนไพร พืชผัก ไม้ยืนต้น ไม่ใช้สอย ตามแหล่งนิเวศน์ แชร์ตลาดบ้าง) ใช้พลังจุลินทรียฺ์รวมด้วย เช่น เห็ดที่เพาะ หรือขึ้นเองตามธรรมชาติก็ขายได้ การจัดการในระดับไร่นา ให้เกื้อกูลกันเป็นเชิงนิเวศน์ ค่อยๆก้าว ผมเชื่อว่า สภาวะของความมีตนเป็นที่พึ่งจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นทางรอดของชาติ ด้วยครับผม

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

เริ่มจากเสริมพลังจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเท่าที่มี..

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท