พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 6 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี เป็นหน้าที่ของใครมาแต่โบราณ


หมอทำขวัญจะต้องเป็นผู้เฒ่าที่ถือศีลกินเพล มีจริยวัตรงดงาม ได้รับการยอมรับนับถือจากปวงชนในละแวกบ้านนั้นให้เป็นผู้ประกอบพิธี

พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 6 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี

เป็นหน้าที่ของใคร มาแต่โบราณ

ชำเลือง มณีวงษ์ (เล่าเรื่อง)

        พิธีทำขวัญนาคได้กระทำกันอย่างถูกต้องตามระเบียบแบบแผนจารีต ประเพณีมาช้านานนับร้อยปี นับว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าผู้ที่อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาย่อมที่จะทราบได้ดีว่า ลูกผู้ชายไทยที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องบวชเป็นพระ การบวชมีความหมายและมีความสำคัญสำหนรับชาวพุทธมาก ในการบวชพระมักนิยมเรียกว่า “การบวชนาค” ทั้งนี้เป็นเพราะมีตำนานกล่าวขานกันต่อ ๆ มาว่า เมื่อครั้งพุทธกาล มีพญานาคตนหนึ่งมีความศรัทธาเลื่อมใสแปลงกายมาขอบวชเป็นภิกษุ อยู่ในพระพุทธศาสนา จนในเวลาต่อมาพระพุทธเจ้าทราบความว่า เป็นพญานาคแปลงกายมาบวช จึงห้ามมิให้พระเถระรับไว้เป็นภิกษุ พญานาคจึงต้องออกจากวัดไป แต่ก่อนที่พญานาคจะออกจากวัดไปนั้น  ได้ฝากชื่อเอาไว้ ถ้าบุคคลใดจะบวช ขอให้เรียกว่า “นาค” ใช้เป็นคำเรียกผู้ที่จะบวชติดปากกันมานาน คำว่านาคแปลว่า “ผู้ไม่ทำบาป” ดังนั้นผู้ที่จะบวชจึงต้องทำจิตใจให้ผ่องแผ้วแจ่มใส ละเว้นจากการกระทำที่ไม่บังควร ต้องสำรวมทั้งกายและใจ สละซึ่งความสุขส่วนตัว โกนผม โกนคิ้ว ชำระล้างร่างกายให้สะอาดแล้วนุ่งขาวห่มขาว เป็นผู้ที่บริสุทธิด้วยประการทั้งปวง
        คำว่า “ขวัญ” เป็นความเชื่อของบรรพบุรุษตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ นานมาแล้วว่า คนเราที่เกิดมาจะมีธรรมชาติอันลึกลับอย่างหนึ่งรักษาตัวของทุกคนเอาไว้ เรียกว่า “ขวัญ” ถ้าขวัญของใครอยู่กับตัวของผู้นั้นก็จะมีความสุข ความสำราญเป็นปกติ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบหนีไปจากตัวก็มักจะมีอันเป็นไป เช่น ขาดสติหรือกลายเป็นบ้า จึงจำเป็นที่จะต้องเชิญผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่รู้พิธีทำขวัญนาคมาเชิญขวัญให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเจ้าของ ดังจะเห็นได้จาก การที่ชาวอีสานต้อนรับผู้ใหญ่ที่มาเยือนด้วย “บายศรีสู่ขวัญ” การเชิญขวัญ เมื่อกระทำกับใครก็เรียกกันไปตามนั้น เช่น เมื่อกระทำพิธีเชิญขวัญให้กับเจ้านาค จึงเรียกว่า “ทำขวัญนาค”
        ประเพณีการทำขวัญนาค ได้เริ่มต้นเรียกขานคำว่า “นาค” จากการบวชนาคหลวง นาคหลวงองค์แรก มีกล่าวไว้ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้ทรงผนวชพร้อมกันเป็น ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา และพระเจ้าหลานเธอ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทรนเรศร์ พระเจ้าหลานเธอ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทรนเรศร์ สองพระองค์นี้ทรงเจริญพระพรรษา อายุ ๓๐ ปี เศษ แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ มีพระชนมายุอ่อนกว่า ก็ไม่ควรให้อยู่เบื้องหลัง ควรยกเป็นนาคเอกออกหน้า จึงจะต้องเยี่ยงอย่างซึ่งมีมาแต่โบราณ

       

        

        ชาวบ้านได้จัดให้มีพิธีบวชนาค ตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แต่ยังไม่มีพิธีกรรมใด ๆ เลย นอกจากบอกว่า เป็นฤดูฝนพระสงฆ์เข้าพรรษาเดือนแปด สืบเนื่องต่อมาจนยุคปลายกรุงศรีอยุธยา จนผ่านเข้ายุคกรุงธนบุรี ต่อเนื่องถึงยุครัตนโกสินทร์ งานบุญเข้าพรรษายังสืบทอดความสำคัญกันต่อ ๆ มา ในบันทึกท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ นอกเหนือจากแห่เทียนเข้าพรรษา ยังมีประเพณีบวชนาค การทำขวัญนาคด้วย
        จากประสบการณ์ที่คุณตาวัน มีชนะ ครูทำขวัญนาคของผมได้เล่าให้ฟังเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาว่า ท่านฝึกหัดทำขวัญนาคมาจากคนรุ่นอา ซึ่งก็มีอายุมากกว่าท่าน 30 ปีเศษ คุณตาวันถึงแก่กรรมไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2521 ในตอนนั้นท่านมีอายุ 85 ปี นับรวมอายุก่อนหน้านั้นของอา อีก 30 ปี ก็ได้ 115 ปี นับต่อมาจากปีที่ท่านถึงแก่กรรมไปก็ 30 ปีเศษ รวมแล้วก็ 145 ปี ทำให้ผมกล้าที่จะยืนยันได้ว่า พิธีทำขวัญนาคมีมาไม่น้อยกว่า  150 ปีแล้ว (คิดตามอายุของบุคคลที่เป็นหมอทำขวัญ)
        พิธีทำขวัญนาค แต่เดิมมีพราหมณ์ราชครู เป็นผู้ประกอบพิธีในการบวชนาคหลวงซึ่งท่านจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนตามแบบไสยศาสตร์จริง ๆ เป็นเรื่องราวของพิธีกรรมแห่งความศักด์สิทธิ์ ความเชื่อถือ ความเลื่อมใส ความศรัทธา เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ที่จะบวช
        เมื่อสมัย 100 กว่าปีที่ผ่านมา หมอทำขวัญจะต้องเป็นผู้ชาย อาจจะมีหมอเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่สำหรับคนที่นั่งอยู่ต้นหลักบายศรีนั้นเรียกว่า “โหราจารย์” และหมอทำขวัญจะต้องเป็นผู้เฒ่าที่ถือศีลกินเพล มีจริยวัตรงดงาม ได้รับการยอมรับนับถือจากปวงชนในละแวกบ้านนั้นให้เป็นผู้ประกอบพิธี และได้ยึดถือเป็นแบบอย่างกันต่อมา ดังนั้นผู้ที่กระทำขวัญนาคจึงมักเป็นพราหมณ์

                      

ติดตาม ตอนที่ 7 พิธีกรรมที่ต้องกระพิธี เป็นหน้าที่ของใครมาแต่โบราณ (ต่อ)
หมายเลขบันทึก: 364446เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยค่ะ

สวัสดี คุณยาย

  • ทำขวัญนาคเป็นขนบประเพณี วัฒนธรรมที่มีมานาน
  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้าเรียนรู้เรื่องราวเก่า ๆ (คุณพยาบาล)

การเตรียมของทำขวัญนาค เช่น เครื่องสังเวยสำหรับพิธีในการทำขวัญนาคมีอะไรบ้าง

การอุปสมบท จะมีเครื่องอัฐบริขาร และสังฆทานถวายพระ เราสามารถใช่กรวยใบตองถวายพระอุปชา พระคู่สวดได้หรือไม่

ตอบความเห็นที่ 3

  • เครื่องสังเวยสำหรับพิธีในการทำขวัญนาคมีอะไรบ้าง
  • หาคำตอบได้ในบล็อกนี้ ผมได้เขียนบอกเอาไว้หลายตอน ลองค้นหาดูนะครับ
  • หรือจะดูจากภาพ ในบทความบายศรีสดก็ได้ เรียกว่า "เครื่องกระยาบวช"

ตอบความเห็นที่ 4

  • เท่าที่ผมมีประสบการณ์ (ความจริงต้องถามพระหลวงพ่อ) คนรุ่นเก่าเขาถวายหมากพลู แก่ พระอุปัชฌาย์และคู่สวด นะครับ ส่วนที่ว่าสิ่งของในกรวยใบตองจะเป็นอย่างอื่นนั้น เช่น กรวยใส่ข้าว ขนมกรวย หรือสิ่งของใส่กระทงมีกรวยครอบ (คนเก่า ๆ จะทราบได้ดี)
  • การถวายสิ่งของ เป็นการกระทำในสิ่งที่ดี เรื่องของภาชนะไม่น่าที่จะต้องมีข้อห้ามนะ เท่าที่เห็นทำได้ ครับ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท