รูปแบบการเรียนการสอน e-learning ในประเทศไทย


การเรียนการสอน e-learning

      สังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ IT (Information Technology) ได้มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ก็จะมีวิถีของการพั ฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากกว่ายุคใดๆที่ผ่านมา ซึ่งทั้งนี้ต้องระดมสมอง สรรพกำลังทั้งมวลเพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก
ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว โดยมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลต่อภาคธุรกิจการศึกษา สังคม ซึ่งเน้นการให้ความสะดวกในด้านการบริหารจัดการ และให้เกิดความคล่องตัวต่อการดำเนินงานไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จึงได้วางนโยบาย e-Thailand ขึ้น เพื่อเปิดประตูสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ได้เน้นนโยบายหลักทางด้านสังคมเพื่อลดช่องว่างทางสังคม เปิดเสรีทางการค้าอิเล็กทรอนิกส์ นโยบายระหว่างประเทศ ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ หนึ่งในนโยบายของ e-Thailand คือการส่งเสริมพัฒนาสังคม สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงก็คือ e-Education เป็นการให้การศึกษาแก่มนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำมาปรับใช้ในทุกส่วนงานในวงการไอทีซึ่งมีการนำหลักการ 2 ประเภทใหญ่ๆดังนี้คือ

  1. e-MIS ด้านการบริหารงาน เป็นการนำไปใช้ ด้านการบริหารงานและการจัดการศึกษา เน้นด้านการจัดพิมพ์เอกสาร ทำฐานข้อมูล การประมวลผล เพื่อจัดทำสารสนเทศทางการศึกษา สำหรับการประกอปการตัดสินใจของผู้บริหารในทุกระดับ

     

  2. e-Learning เป็นการนำไอทีไปใช้ในด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำมัลติมีเดียมาใช้เป็นสื่อการสอนของครู/อาจารย์ให้นักเรียนเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเอง ด้วยการเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม

    การนำไอทีมาใช้เพื่อการเรียนการสอนของ e-Learning ในยุคปัจจุบัน เป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งที่เป็นเครื่องเดียวเรียกว่า stand-alone หรือการเรียกผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงสู่อินเตอร์เน็ต เพื่อการค้นคว้าหาข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้บนเครือข่ายซึ่งที่ผ่านมาเราใช้สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบของสื่อประสม (Multimedia) ใช้ในการนำเสนอลงบนแผ่นซีดี-รอมโดยใช้ Authoring Tool ทั้งภาพและเสียงเพื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ให้กับผู้เรียนซึ่งสื่อเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่ประสบก็คือเนื้อหาที่มีอยู่ไม่ตรงตามหลักสูตรการศึกษานอกจากนี้ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถพัฒนาสื่อได้อย่างมีคุณภาพ

    ในระยะแรกๆเราได้มีการใช้สื่อในหลายประเภทเพื่อการติดต่อรับ-ส่งข้อมูลทางด้านการศึกษาที่เรียกว่า การเรียนทางไกล แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

    • การเรียนการสอนทางไปรษณีย์ถือว่าเป็นยุคแรกเริ่มของการเรียนการสอนทางไกล มีการับ-ส่งบทเรียนผ่านทางไปรษณีย์ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลามากในการติดต่อกันแต่ละครั้ง จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากในการเรียนรู้เพราะเอกสารอาจสูญหายระหว่างทางได้
    • การเรียนการสอนผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เรามีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือที่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคทั้งที่เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง
    • การเรียนการสอนผ่านทางโทรทัศน์และเครือข่ายดาวเทียมของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมสามัญศึกษาที่ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไทยคม สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นวิธีการของการเรียนการสอนที่เราเคยใช้กันมา จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้อยู่ แต่ด้วยปัจจุบันไอทีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เราสามารถติดต่อกับคนทั้งโลก สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นขุมความรู้อันมหาศาล ด้วยวิทยาการเพื่อใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ อันเป็นแหล่งทรัพยากรที่เปี่ยมด้วยคุณค่ามากมาย ดังนั้นการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning จึงเกิดขึ้น อีกทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติยังสนับสนุนการเรียนการสอนแบบนี้อีกด้วย

e-Learning

เป็นการเรียนการสอนผ่านทางคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตการศึกษาที่นิยมกันมากในขณะนี้คือ Web Base Learning การเรียนแบบนี้ ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ไม่มีข้อจำกัด

รูปแบบการเรียนการสอน

  1. การเรียนการสอนทางไกล (Distance Education) เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์เทคโนโลยีหลายๆอย่าง เช่น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประชุมทางไกลชนิดภาพและเสียง รวมถึงเอกสารต่างๆเพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล
  2. แบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ เรียกว่า Online University หรือ Virtual University เป็นระบบการเรียนการสอนที่อยู่บนเครือข่ายในรูปเว็บเพจ มีการสร้างกระดานถาม-ตอบ อิเล็กทรอนิกส์ (Web Board)
  3. การเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตและเว็บเพจ (Online Learning, Internet Web Base Education) เป็นการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยเน้นสื่อประสมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ประสานงานกัน ให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงฐานข้อมูลหลายชนิดได้ โดยผู้เรียนต้องควบคุมจังหวะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เป็น และเลือกเวลา สถานที่ในการเรียนรู้
  4. โครงข่ายการเรียนการสอนแบบอะซิงโครนัส (Asynchronous Learning Network: ALN) เป็นการเรียนการสอนที่ต้องมีการติดตามผลระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน โดยใช้การทดสอบบทเรียน เป็นตัวโต้ตอบ
Virtual หมายถึง เสมือน Virtual University คล้ายๆการเรียนการสอนแบบ e-Learning เหมือนกับการจำลองสถานที่เรียน โดยผ่านทางเครือข่าย ไม่เหมือนห้องเรียนแบบเก่าที่มีครู/อาจารย์มาสอนหน้าชั้นเรียน จึงดูเหมือนของปลอม ต่อมาจึงได้มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนคำว่า "เสมือน" คำนั้นก็คือ โทรสนเทศ หรือมหาวิทยาลัยโทรสนเทศ

เครื่องมือช่วยเหลือการเรียนการสอนแบบ e-Learning

เทคโนโลยีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้การเรียนการสอนแบบ e-Learning ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เราสามารถนำซอฟแวร์ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนเว็บเพจ การส่งอีเมล การใช้ Search Engine Newsgroup การใช้ http, ftp หรือ โปรแกรมทางด้าน Authoring Tool เช่น FrontPage, Macromedia Dreamweaver เป็นต้น การสร้าง Web Board ไว้ถาม-ตอบ

สิ่งที่ควรคำนึงถึงการเรียนการสอนแบบ e-Learning ในบ้านเราก็คือ คน องค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้รูปแบบพัฒนาไปในทิศทางใด จากกรณีศึกษาโรงเรียนจิตรลดา ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมศึกษา อาจารย์มีนา รอดคล้าย บอกว่า ระยะแรกๆต้องให้ความรู้ทางเทคโนโลยีแก่บุคลากร โดยเฉพาะผู้บริหาร ต้องให้ท่านเห็นความสำคัญและเข้าใจในเทคโนโลยีว่าไม่ได้ยาก อำนวยความสะดวกสบายให้เราอย่างไร เป็นต้น อันดับต่อมาก็คือ ผู้พัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาวิชา ผู้พัฒนาระบบ ผู้ช่วยสอนและที่ปรึกษาทางการเรียน

ประโยชน์ที่ได้รับ

  • เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน โดยใช้สื่ออุปกรณ์ และคลังความรู้ที่มีอยู่บนอินเตอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของครูและนักเรียน
  • เกิดเครือข่ายความรู้ ที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมซึ่งกันและกันบนอินเตอร์เน็ต ข้อมูลจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ สะดวกและรวดเร็ว
  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถสืบค้นวิชาความรู้ไดด้วยตนเอง โดยมีการให้คำปรึกษาและชี้แนะโดยครู/อาจารย์
  • ลดช่องว่างระหว่างการศึกษาในเมืองและชนบท สร้างความเท่าเทียมกันและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กชนบทได้รู้เท่าทัน เพื่อสนับสนุนนโยบายและการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อความสอดคล้องและสนับสนุน การปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ไดกำหนดการศึกษาพื้นฐานไว้ 9 ปี แต่ปัญหาที่เป็นอยู่คือ การศึกษายังไม่เข้าถึงทุกชุมชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ มากถึง 6 เท่าตัว และมีการไม่เท่าเทียมกันของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประกอบกับโครงส้รางทางสารสนเทศพื้นฐานก็ยังขาดแคลน ไม่รู้จะเลือกเทคโนโลยีอะไรมาใช้ให้เกิดความเหมาะสมหรือลงทุนแล้วจะคุ้มค่ากับทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่หรือไม่จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ กระบวนการทางความคิดของผู้สอนจะจัดการรูปแบบการบริหารให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้อย่างไร การเปรียบเทียบการเรียนการสอนแบบชั้นเรียนปกติ กับ e-Learning
ชั้นเรียนปกติ e-Learning
1. ผู้เรียนนั่งฟังการบรรยายในชั้นเรียน 1. ใช้ระบบวีดีโอออนดิมานด์ เรียนผ่านเว็บ
2. ผู้เรียนค้นคว้าจากตำราในห้องสมุดหรือสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ 2. ค้นคว้า หาข้อมูลผ่านทางเว็บ ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก Search Engine สะดวกรวดเร็วและทันสมัย
3. เรียนรู้การโต้ตอบจากการสนทนาในชั้นเรียน 3. ใช้กระดานถาม-ตอบช่วยให้ผู้เรียนกล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้เต็มที่ เหมาะกับผู้เรียนจำนวนมาก
4. ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ 4. จะเรียนเวลาไหนที่ใดก็ได้

ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย

  • การลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี (Digital Devide) ในปี 2541 เปิดให้บริการหมายเลขโทรศัพท์ในเขตนครหลวงถึง 4.3 ล้านเลขหมาย ในขณะที่เขตภูมิภาคเปิดให้บริการแก่ชุมชน 3.1 หมายเลข และเมื่อเทียบอัตราความหนาแน่นของผู้ใช้ต่อประชากร 100 คน คิดเป็นเขตนครหลวง 43:100 และภูมิภาค 6:100 ซึ่งจะเห็นได้ว่าความแตกต่างมากกว่ากันถึง 7 เท่าทีเดียว
  • สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนามหาวิทยาลัยโทรสนเทศ (Virtual University) เพื่อลดช่องว่างทางด้านคุณภาพการศึกษา (Quality Devide)
  • สร้างกลไกการให้มีส่วนร่วมของภาคเอกชนและองค์กรที่ไม่มุ่งหวังกำไรในการพัฒนามหาวิทยาลัยโทรสนเทศ
  • สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อลดการนำเข้า
  • จัดทำมาตรฐานและการรับรองคุณภาพ ให้ครอบคลุม 3 ระดับคือ คุณภาพและมาตรฐานของหลักสูตร มาตรฐานของกระบวนการให้บริการการศึกษา คุณภาพของผลผลิตหรือตัวบัณฑิต
  • สนับสนุนและจัดทำโครงการเพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาและกลไกลการขยายผลในอนาคต
มาตรการการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบ e-Learning
  1. จัดทำโครงสร้างโอกาสทางเทคโนโลยี (Digital Opportunity Program) โดยการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายการให้บริการการศึกษาครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งผู้พัฒนาและการให้บริการเนื้อหา
  2. จัดตั้งกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเนื้อหาและธนาคารความรู้ (Knowledge Depository)
  3. จัดทำโครงการระดับประเทศ เพื่อสร้างความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  4. สร้างมาตรการแรงจูงใจโดยมาตรการทางภาษี หรือการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ให้ภาคเอกชนจัดบริการการศึกษาออนไลน์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
  5. สร้างเกณฑ์เปรียบเทียบ (Benchmark) และมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Requirement) เพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการของผู้ให้บริการการศึกษาจากธุรกิจภาคเอกชน
  6. จัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อลดการนำเข้าและเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ นวัตกรรมทางการศึกษา
  7. ให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และต่างประเทศในการพัฒนาการเรียนรู้
  8. ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  9. สนับสนุนและลงทุนในโครงการนำร่องต่างๆที่เกี่ยวกับ Virtual University เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนและเกิดประสิทธิภาพที่ดีในระยะยาว

ที่มา

http://www.thaicai.com/articles/elearning6.html

จัดทำโดย

นางสาววัชรินทร์  ทรัพย์ทิม            48071651
นางสาวศุภรา   กาหลง                   48071705
นางสาวสโรชินทร์ ประสมศรี          48071828

หมายเลขบันทึก: 36407เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท